ดีเลย์มาเป็นปี ในที่สุดวันนี้ชาวโลกก็ได้ชม No Time to Die หนังลำดับที่ 25 ของแฟรนไชส์ James Bond 007 นับตั้งแต่ปี 1962 และเป็นหนังลำดับที่ 5 และสุดท้ายของ Daniel Craig ในฐานะสายลับ James Bond หลังจากเดบิวต์ใน Casino Royale เมื่อ 15 ปีที่แล้ว โดยภาคนี้ค่อนข้างมีความต่อเนื่องจาก Spectre พอสมควร
แล้วเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เราบ่นว่า Spectre ยาวเกินความจำเป็นไว้ว่ายังไง ปีนี้ก็ยังคงต้องบ่นยิ่งกว่า เมื่อ No Time to Die ทุบสถิติ ปาไปถึง 2 ชั่วโมง 43 นาที โดยฉากเปิดก็เริ่มจากการปูพื้นหลังวัยเยาว์ของสาวบอนด์คนล่าสุด Madeleine Swann (Léa Seydoux จาก Mission: Impossible) แล้วก็ตัดมาที่ฉากฮันนีมูนของเธอกับ James Bond ในปี 2015 (น่าจะต่อจากเรื่องราวใน Spectre) แล้วไหนจะขึ้นเพลง No Time to Die ของ Billie Eilish แค่ทั้งหมดนี้ก็น่าจะเกินครึ่งชั่วโมงได้ กว่าจะมาถึงเรื่องราวในพาร์ทปัจจุบัน ซึ่งเป็นการใช้ชีวิตหลังเกษียณอันแสนสงบของ James Bond
Harder to tell the good from the bad, the villains from the heroes these days.
เรื่องราวมันเกิดขึ้นเมื่ออาวุธชีวภาพ “Heracles” กับนักวิทยาศาสตร์รัสเซีย Obruchev (David Dencik) ถูกลักออกไปจากห้องแล็บ โดยมี Lyutsifer Safin (Rami Malek จาก Bohemian Rhapsody) อยู่เบื้องหลัง ทาง CIA จึงส่ง Felix Leiter (Jeffrey Wright จาก The Hunger Games: Mockingjay) และ Logan Ash (Billy Magnussen จาก Into the Woods) มาตาม James Bond ให้ไปทำภารกิจคู่กับ Paloma (Ana de Armas สาวสวยที่เคยประกบ Craig มาแล้วใน Knives Out) ที่งานเลี้ยงของ Blofeld (Christoph Waltz จาก Django Unchained) ซึ่งเป็นหนึ่งในวายร้ายหลักของภาคที่แล้ว
ในขณะเดียวกัน M (Ralph Fiennes จาก Harry Potter) จากฝั่ง MI6 ก็ส่งสายลับ 007 คนใหม่ (Lashana Lynch จาก Captain Marvel) มาทำภารกิจเดียวกันเช่นกัน นอกจากนี้ Moneypenny (Naomie Harris จาก Moonlight) และหนุ่มไอที Q (Ben Whishaw จาก Cloud Atlas) ก็ยังคงกลับมารับบทบาทเดิมในภาคนี้ด้วย
จะเห็นได้ว่า ตัวละครหญิงมีบทบาทมากขึ้นใน No Time to Die ทั้งนี้เพราะ Daniel Craig ได้ขอให้นักเขียนหญิงดาวรุ่งอย่าง Phoebe Waller-Bridge มาร่วมทีมเขียนบทด้วย เพื่อปรับโฉม James Bond 007 ให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น โดยการชู racial diversity กับ feminist มากขึ้น ถึงแม้ว่ายังมีความรู้สึกขาด ๆ เกิน ๆ อยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของแฟรนไชส์ ซึ่งปกติแล้ว ขึ้นชื่อเรื่อง misogyny โดยเสมอมา และที่แน่ ๆ James Bond ในภาคนี้ ดูมีความเป็นมนุษย์และมีมิติมากขึ้นจากที่เรารู้จัก มีความเป็นหนังรักเบา ๆ และประเด็นครอบครัวหรือความสัมพันธ์ทางสายเลือด รวมถึงการ move on จากอดีต ก็ถูกนำมาเป็นแก่นหลักของเรื่อง
ถึงแม้หนังจะมีเรื่องราวมากมาย จนบางทีก็รู้สึกเล่าเยอะไปหรือซับซ้อนไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ฉากแอ็คชั่นของเขาก็ยังสุดยอดสมราคาสายลับนัมเบอร์วันในตำนาน โดยเฉพาะฉากขายรถ Aston Martin เอ้ย… ฉากซิ่งไล่ล่า และขายอาวุธไฮเทคที่ติดอยู่กับรถสุดคลาสสิกของ James Bond และฉากแอ็คชั่นสุดตราตรึงของน้องใหม่อย่าง Ana de Armas แต่ฉากไฟนอล เราค่อนข้างเฉย ๆ สำหรับพาร์ทแอ็คชั่น
History isn’t kind to men who play God.
อีกอย่าง เราแอบคาดหวังกับ Lyutsifer Safin (พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ตัวร้าย แต่จริง ๆ ก็ไม่ค่อยอยากใช้คำนี้ เพราะแม้แต่ James Bond เอง ก็ยัง get educated แล้วว่า ในยุคนี้มันบอกยากว่าใครคือฮีโร่ ใครคือตัวร้าย) เอาไว้มาก เพราะดูมีปม ดูมีเป้าหมาย ดูมีความ Thanos (ของ Marvel) และแสดงโดย Rami Malek นักแสดงออสการ์ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีซีนที่น่าจดจำอะไร ค่อนข้าง average
โดยสรุป No Time to Die เป็นงานเลี้ยงส่งท้าย James Bond เวอร์ชั่น Daniel Craig ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำให้ James Bond โมเดิร์นขึ้น มีมิติ มีความหลากหลาย และมีชีวิตมากขึ้น ฉากบู๊ยังคุ้มค่าแก่การชมบนจอยักษ์ แต่ถ้าอยากให้คนดูได้ชมในโรงภาพยนตร์ ก็ควรทำความยาวหนังให้เห็นใจกระเพาะปัสสาวะคนดูบ้าง และไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเวลาทั้งโลกเหมือน James Bond ถ้ากระชับได้อีกนิด จะสนุกกว่านี้มาก ความเห็นส่วนตัว
“WE HAVE ALL THE TIME IN THE WORLD.”