ถึงแม้จะเป็นค่ายหนังน้องใหม่ แต่หนัง 4 Kings ที่เล่าเรื่องราวเด็กช่างกลอาชีวะยุค 90s ได้สร้างปรากฏการณ์ฟื้นคืนชีพหนังไทยและโรงหนังในยุคโควิด ทำรายได้รวมกว่า 170 ล้านบาท จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ 2 ปีต่อมา 4 Kings 2 จะคลอดตามกันมาติด ๆ
หนังภาคแรกได้ปูไว้อยู่แล้วว่า ในยุคนั้น มีสถาบันอาชีวะที่เป็นอริกันอยู่ 4 แห่งด้วยกัน ได้แก่ อินทรอาชีวะ, เทคโนโลยีประชาชล, กนกอาชีวะ, และบุรณพนธ์ โดยภาคแรกเน้นที่คู่ของ อินทรอาชีวะ vs. เทคโนโลยีประชาชล ส่วนภาคสองเป็นเรื่องราวที่เกิดหลังจากภาคแรก แต่ก็เน้นที่คู่ของ กนกอาชีวะ vs. บุรณพนธ์ หรือไปโฟกัสที่ชีวิตของอีกกลุ่มตัวละคร ไม่ได้เล่าเรื่องของมวยคู่เอกจากภาคแรกต่อโดยตรง ดังนั้น คนที่ไม่เคยดูภาคแรกมาก่อนก็สามารถดูภาคนี้รู้เรื่องแน่นอน

เหตุการณ์ในภาคนี้เกิดจาก ทีมกนก นำโดย บ่าง (แหลม-สมพล หรือ แหลม 25 Hours), เค (เฟย-ภัทร), และ หนุ่ย (แม็ก-เจนมานะ) ต้องการจะล้างแค้นพวกบุรณพนธ์ แก๊งของรก (จี๋-สุทธิรักษ์) และเอก (ทู-สิราษฎร์) เพราะเข้าใจว่าเป็นคนทำร้าย ตุ้มเม้ง (ท็อป-ทศพล) เพื่อนของเขาปางตาย ทั้งที่จริงแล้ว คนทำคือ ยาท เด็กบ้าน (แรปเปอร์ บิ๊ก D Gerrard) เพื่อนบ้านของเขาเองที่เกลียดเด็กช่างเข้าไส้ ซึ่งยาทก็จะเป็นตัวละครที่เหมือนอยู่ตรงกลางของพวกเด็กช่างกล และเป็นตัวเดินเรื่องเลยก็ว่าได้
แน่นอนว่า เรื่องราวของพวกเขายังคงวนเวียนอยู่กับการยกพวกตีกัน เพื่อการแก้แค้น ศักดิ์ศรี ชื่อสถาบัน หรือเพื่ออะไร… พวกเด็กช่างในเรื่องเองก็ยังไม่รู้แน่ชัด… บางทีก็ตีกันอย่างไม่มีเหตุมีผล… คนดูก็จะได้สัมผัสความรู้สึกถึงความกลัว ความเบื่อ ความรำคาญ ความรู้สึกไม่ปลอดภัย เช่นเดียวกับตัวละครสมทบและตัวประกอบในเรื่องว่า มึงเอาอีกแล้วหรอ…
หนังภาคนี้เขาพาเราไปดำดิ่งกับตัวละครได้ลึกขึ้น ตัวละครต่าง ๆ มีมิติขึ้น ถึงแม้ตัวละครจะเยอะแยะแต่ว่าแต่ละคนก็มีคาแรกเตอร์ชัดเจน และหนังก็แจกจ่ายบทได้สมน้ำสมเนื้อ ไม่ใช่แค่ตัวเด็กช่างกลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงครอบครัวและสังคมรอบตัวของเหล่าเด็กช่างกล โดยเฉพาะ บทของบุ้ง พี่สาวของบ่าง (ทราย เจริญปุระ) และตาของยาท ผู้เคยโดนลูกหลงจากพวกเด็กช่างตีกัน ซึ่งต้องชื่นชมว่า นักแสดงล้วนแสดงดีหมด ไดนามิคของตัวละครรวม ๆ จึงค่อนไปทางดีมาก
ถ้าไม่นับ ทราย เจริญปุระ ซึ่งมีชั่วโมงบินสูง ในกลุ่มนักแสดงรุ่นน้อง เรายกให้ บิ๊ก D Gerrard ที่รับบท ยาท เด็กบ้าน เป็น MVP — เราชอบการแสดงพาร์ทที่เขายังมีความเป็นมนุษย์ มีมุมอ่อนโยน เป็นหลานของตา เป็นเพื่อนบ้านของบ่างกับบุ้ง เราว่าเขาถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้ดี พาร์ทที่เป็นคนบ้าคลั่ง คาดเดาไม่ได้ เรารู้สึกว่ามันล้นและพยายามเป็นโจ๊กเกอร์มากไปนิดนึง แต่โดยรวมก็ถือว่าเล่นได้จิตมาก เป็นตัวละครที่ทำให้คนดูรู้สึกกระอักกระอ่วนและต้องต่อสู้กับจิตใต้สำนึกของตัวเอง จะรักก็รักไม่ลง จะเกลียดก็เกลียดไม่ลง

สิ่งที่เราชอบมากกว่าภาคแรกก็คือ ภาคนี้นำเสนอประเด็นสังคมอย่างตรงไปตรงมา สะท้อนสังคมได้จริงใจ และทำให้เราเข้าใจในมุมอื่น ๆ ของเด็กช่างว่า ไม่มีใครอยากเกิดมาเป็นคนเลวร้ายหรือไม่เอาไหนมาแต่เกิด แต่หากเป็นสภาพสังคมต่างหากที่หล่อหลอมและบีบบังคับเขาให้เป็นแบบนี้…. สังคมที่ว่าไม่ใช่แค่สังคมเพื่อนพาไปเท่านั้น แต่หมายถึงสังคมทุนนิยมสีเทา ๆ ที่แสวงประโยชน์จากเด็กยากไร้ที่ไม่มีทางเลือก พูดได้ว่า เด็กพวกนี้ก็เหมือนเป็นเหยื่อของผู้ใหญ่เลว ๆ ในสังคมอีกที (เช่น เสี่ยค้ายาในเรื่อง)
แต่ทั้งนี้ หนังไม่ได้ romanticize หรือให้ความชอบธรรมกับการกระทำรุนแรงของเด็กช่าง แน่นอนว่า สิ่งที่พวกเขาทำมันก็ไม่ถูกต้อง สร้างความเสียหาย และทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หนังจึงมุ่งเน้นให้เรามองเห็นผลลัพธ์หรือผลกรรมที่พวกเขาและคนรอบตัวต้องเผชิญจากการกระทำนั้น ๆ และหวังว่ามันจะเป็นบทเรียนสำคัญ ให้ทุกคนมีสติ ไม่ใช้อารมณ์ชั่ววูบหรือความคึกคะนอง จนทำผิดพลาดพลั้ง ที่จะนำไปสู่ความเสียใจภายหลังหรือเป็นตราบาปไปตลอดชีวิตเหมือนอย่างพวกเด็กช่างในเรื่อง
โดยสรุป เราคิดว่าภาคนี้ดีกว่าภาคแรก ตั้งแต่โปรดักชั่นที่ดีขึ้น บทดีขึ้น ดราม่าเข้มข้นขึ้น ฉากแอ็คชั่นโหดขึ้น และทีมนักแสดงที่แน่นจอได้อีกทั้งปริมาณและคุณภาพ แต่ติดตรงหนังมืดไปหน่อย และก็คิดว่า หนังจะดีได้กว่านี้ถ้าเล่ากระชับอีกสักหน่อย แต่โดยรวม เราชอบ 4 Kings 2 มากกว่าภาคแรกในทุก ๆ องค์ประกอบ ถ้าภาคแรกคือหางม้า ภาคนี้ก็เป็นหัวม้าได้เลย
ป.ล. ตอนแรกมีแอบคิดขำ ๆ ว่า เอม-ภูมิภัทร เหมาะจะเล่นเป็นเด็กช่างในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไหน ๆ ก็มีเขาโผล่ไปอยู่ในหนังไทยดี ๆ ในช่วงนี้แทบทุกเรื่องอยู่แล้ว แล้วปรากฏว่า มาจริง แต่มาแบบรับเชิญเบา ๆ ในฉากที่จริง ๆ แล้วไม่ต้องใส่ในหนังก็ได้ แต่เหมือนอยากใส่ เพราะหนังอยากอินเทรนด์ อยากมีเอม-ภูมิภัทร อะไรประมาณนั้น