American Fiction เป็นเรื่องราวของ Thelonious “Monk” Ellison (Jeffrey Wright จาก What If…?) อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ถูกพักงานและนักเขียนที่หนังสือขายไม่ค่อยออก เขาได้กลับไปเยี่ยมครอบครัวที่บอสตัน และได้พบว่า Lisa พี่สาวของเขา (Tracee Ellis Ross จาก Black-ish) กำลังประสบปัญหาในการดูแลแม่ที่เริ่มมีอาการป่วยอัลไซเมอร์ (Leslie Uggams) ส่วน Clifford น้องชายของเขา (Sterling K. Brown จาก Black Panther) ก็กำลังเจอกับมรสุมชีวิตหลังหย่า โดยที่ Monk ไม่เคยรับรู้ปัญหาของพวกเขามาก่อนเลย
เพื่อหาเงินมาดูแลแม่และประชดตลาดที่ไม่ให้ค่างานเขียนของเขาในขณะที่งานเขียนที่เขามองว่า “ขยะ” อย่างของนักเขียนหญิง Sintara Golden (Issa Rae) ได้รับกระแสตอบรับที่ดีทั้งยอดขายและคำวิจารณ์… Monk เริ่มเขียนนิยาย “คนดำ” ที่ “ดำกว่าเดิม” แบบเล่น ๆ โดยใช้นามแฝง Stagg R Leigh และใส่ทุกอย่างที่เขาเกลียดแต่คนขาวรัก เช่น คนดำกับยาเสพติด คนดำกับอาชญากรรม คนดำที่ถูกพ่อทุบตี คนดำในสถานเสื่อมโทรม คนดำที่ถูกตำรวจยิงตาย ฯลฯ รวมถึงการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นภาพจำที่คนขาวอยากรับรู้หรือมองว่า “สมจริง” เกี่ยวกับคนดำ
ต่อมานิยาย “ขยะ” ที่ Monk เขียนเล่น ๆ กลับเป็นนิยายที่ขายได้มูลค่ามหาศาล และก็มีเรื่องตลกร้ายตามมามากมาย จนถึงขั้นฮอลลีวู้ดอยากนำไปสร้างหนังเพราะเห็น “คุณค่า” และศักยภาพที่จะเป็นหนังรางวัล
“The dumber I behave, the richer I get.”

Monk เป็นตัวละครที่เหมือนจะมีพฤติกรรมไม่น่ารัก แต่การแสดงของ Jeffrey Wright และบทที่เขียนมาอย่างแยบยลโดย Cord Jefferson (จาก Watchmen) ทำให้ตัวละครนี้ยังมีความน่ารัก มีความเป็นมนุษย์เทา ๆ เช่น บางมุมเราอาจจะมองว่า Monk เป็น ignorant ทั้งต่อครอบครัวและต่อประเด็น racism ทั้งที่เขาก็เป็นคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน เพียงแต่โตมาในครอบครัวหมอที่พอมีฐานะและการศึกษาที่ดี แต่อีกแง่นึงเราก็เห็นการที่เขามองว่า “I don’t believe in race.” ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ดีไม่ดีมันอาจจะเป็นเรื่องที่ถูกด้วยซ้ำ
เช่นเดียวกัน การที่นักเขียนคู่แข่งของเขาเลือกเขียนนิยายแนวที่ขายได้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรือไร้คุณค่าเหมือนกัน ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลือกทำงานที่อยากทำหรือการเลือกทำงานที่ทำเงิน (แต่อาจต้องสูญเสียอุดมการณ์และตัวตน)
“I don’t think there’s anything wrong with giving the market what it wants.”
ส่วนหนึ่งที่เรามองว่า American Fiction เป็นหนังที่ดี เพราะมันเป็นหนังที่ทำให้เราตั้งคำถาม ขบคิด ถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์สังคม (หรือถ้าพูดให้ถูกคือ “เสียดสี”) ความตระหนักรู้ประเด็น racism กับ African-American Culture ผ่านสายตาของคนขาว (White Gaze) ที่มองประเด็นนี้เพียงแค่ผิวเผิน เหมารวม ฉาบฉวย เพียงเพื่อให้ตัวเองรู้สึกผิดน้อยลง และนี่คือส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นหลายวงการ หลายอุตสากรรม อย่างวรรณกรรม ภาพยนตร์ และสื่อมากมายพยายามเพิ่ม diversity โดยการเพิ่มบทบาทและ representations ของคนผิวสีในช่วงหลังมานี้ แต่หลายครั้งมันก็เป็นเพียงแค่การผลิตซ้ำของภาพจำและ stereotypes เช่น คนดำได้แต่รับบทเป็นทาสหรือคนค้ายา เป็นต้น

สิ่งที่เราตกผลึกจาก American Fiction คือ การชัดเจนในจุดยืนหรืออุดมการณ์ของตัวเองเป็นเรื่องดี แต่เราไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ดังนั้นการพยายามคาดหวังและยัดเยียดให้คนอื่นมอง คิด เป็น หรือทำแบบเรานั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะไม่ควร
อีกอย่างที่เราชอบคือการเปรียบเทียบการสร้างสรรค์ผลงาน (เช่น งานเขียน หรืองานภาพยนตร์) กับเหล้าของ Johnnie Walker ที่มี 3 ระดับ 3 ราคา (Red, Black, Blue) มันทำให้เรามองเห็นความบาลานซ์ของการรักษาตัวตน คุณภาพ และความอยู่รอด บางครั้งการเป็นตัวเองมากไปหรือการวางตัวสูงเกินไปมันก็ไม่พอ เราจำเป็นต้องทำอะไรที่คนเข้าถึงง่าย เป็นที่รัก และขายได้ด้วย
“White people think they want the truth, but they don’t. They just want to feel absolved.”
โดยรวม American Fiction เป็นหนังเข้าชิงออสการ์ปีนี้ทั้งหมด 5 สาขา (รวมสาขาใหญ่สุดอย่าง Best Picture) ถือเป็นหนังรางวัลระดับ Blue ที่ดูง่ายและสามารถหาดูได้ง่ายระดับ Red
สตรีมและรับชมได้แล้ววันนี้ทาง Prime Video