ใช้เวลาเกือบ 8 ปี นับจาก Ant-Man หรือ Scott Lang (Paul Rudd จาก Clueless) เดบิวต์ภาคแรกเมื่อปี 2015 กว่าจะมาถึง Ant-Man ภาค 3 ในชื่อ Ant-Man and the Wasp: Quantumania ซึ่งในภาคนี้ Cassie Lang (Kathryn Newton จาก Freaky) โตเป็นสาววัยรุ่นวัยปฏิวัติพอดี (ตอนภาคแรก อายุ 6 ขวบ หนังห่างกัน 8 ปี บวกกับช่วงดีดนิ้วของ Thanos ที่กินเวลาไปอีก 5 ปี)
ในภาคนี้ ครอบครัวนักวิทย์ก็ครบองค์ประชุม และทรงพลังได้อีก เพราะนอกจาก Hope หรือ The Wasp (Evangeline Lilly จาก The Hobbit) กับ Dr. Hank Pym (Michael Douglas จาก Wall Street) แล้ว ขุ่นแม่ Janet van Dyne (Michelle Pfeiffer จาก Batman Returns) ยังกลับมาเต็มรูปแบบ เรียกว่าบทแทบจะเด่นกว่าพระเอกตัวจริงเสียอีก เพราะภาคนี้เป็นหนังเปิดเฟส 5 และเริ่มเข้าสู่ประเด็นมิติควอนตัม ซึ่งอย่างที่แฟน ๆ รู้กันอยู่แล้วว่า Janet เคยติดอยู่ในมิติควอนตัวตั้ง 30 ปีและเพิ่งกลับมาในภาคก่อน
ในภาคนี้ พอไม่มี Michael Peña กลับมาเป็นคู่หูดูโอ ก็รู้สึกขาดสีสันอะไรบางอย่างไป แต่หนังก็ยังมีมุกตลกที่ “น่าซื้อ” หลายมุกจากตัวละครเก่าใหม่หยอดมาตลอดเรื่อง นอกจากนี้ ยังมี M.O.D.O.K หรือ Darren Cross aka Yellowjacket (Corey Stoll) คู่ปรับของมนุษย์มดในภาคแรกกลับมา แถมกลับมาในสภาพที่โคตรอีหลักอีเหลื่อแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโคตรขโมยซีนและเรียกเสียงหัวเราะตั้งแต่ต้นจนจบ
(ขออนุญาตใช้ภาษาไทยคำว่า “ตัวร้าย” เพื่อความเข้าใจง่าย) ตัวร้ายหลักในภาคนี้และของเฟสนี้ (รวมถึง Avengers: The Kang Dynasty ที่มีกำหนดฉายในปี 2025) คือ Kang the Conqueror หรือ แคง ผู้พิชิต (Jonathan Majors) ซึ่ง nailed it มาก ๆ น่าเกรงขาม ทรงพลัง สมคำที่เขาร่ำลือว่า “โหดกว่า Thanos” แต่พอมาอยู่ในเรื่องนี้ ต้องสู้กับครอบครัวมนุษย์มด จึงเหมือนต้องออมแรงไปโดยปริยาย
โดยรวม ฉากแอ็คชั่นจึงค่อนข้างน่าเบื่อ และไม่น่าจดจำ แม้แต่ฉากที่ Ant-Man ขยายยักษ์เป็นไซส์อุลตร้าแมน ก็ไม่ได้ชวนตื่นเต้นตกใจหรือเห็นสเกลชัดเท่าตอนใน Civil War ประกอบกับ 90% ของเรื่องดำเนินอยู่ในมิติควอนตัม หนังเลยพึ่งพา CG หนักมาก และอย่างที่เห็น ๆ กันว่า CG ยุคหลัง ๆ ของ Marvel ก็ไม่ได้รับคำวิจารณ์ในเชิงบวกสักเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งก็เพราะความมืดของหนัง ซึ่งเป็นผลพวงของการประหยัดงบ CG ด้วยก็ส่วนหนึ่ง
หนังเรื่องนี้ของ Marvel มีความพยายามการเมืองแบบ Star Wars กล่าวคือ มีมนุษย์ต่างดาวรูปร่างหน้าตาต่าง ๆ มากมาย มีบงมีบาร์ที่ชนพื้นเมืองไปสังสรรค์ มีขับยงขับยาน มีการล่าอาณานิคม มีการสร้างกองทัพ Stormtroopers มีฝ่ายจักรวรรดิและฝ่ายกบฏ ฯลฯ (คำว่า กบฏ จริง ๆ แล้ว นี่ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองว่า ฝ่ายไหนเป็นคนเรียก) แต่หนังไม่ต้องกินเวลาหลายภาคกว่าฝ่ายกบฏจะชนะ เพราะทีม Ant-Man หลุดมามิติควอนตัมไม่ทันข้ามวันดี ก็ชนะ Kang (อย่างน้อยก็ราวนด์นี้ได้เลย)
อีกสิ่งที่น่าเบื่อคือเรื่องราว ประเด็นต่าง ๆ ค่อนข้างอ่อนมาก อย่างประเด็นสงครามการเมืองก็ไม่ได้ชัดเจน ปมพ่อลูกก็ไม่ได้แข็งแรงอะไร เพราะ Cassie ก็ไม่ได้ดูงอแงอะไร ดีไม่ดีทำตัวดีกว่าพ่ออีก ก็ดูรักพ่อดี ไม่ได้ตึงใส่พ่อจนต้องมาทำเล่นประเด็นว่าพ่อเสียดาย “เวลาที่หายไป” (หรือจะเล่นประเด็นจริง ๆ ก็ได้ แต่ก็ต้องเล่นจริง ๆ ไม่ใช่ใส่แบบเล่น ๆ บาง ๆ แบบนี้)
โดยสรุป Ant-Man and the Wasp: Quantumania เป็นหนังที่ดูฆ่าเวลาได้ แต่คุณภาพและความบันเทิง เราคิดว่ายังไม่มีอะไรน่าจดจำหรือน่าวนกลับไปดูซ้ำ (ยกเว้นว่า แอบหลับในโรงไปบางช่วง ก็อาจกลับไปดูซ้ำได้) ฉากท้ายเครดิตตัวสุดท้าย (Post-Credits) ยังเรียกเสียงฮือฮาและสร้างอารมณ์ร่วมได้มากกว่าตัวหนังทั้งเรื่อง 2 ชั่วโมงรวมกันเสียอีก