Barbie คือหนังที่เป็นพูดความในใจแทน "ผู้หญิงอย่างเรา" ที่ถูกสังคมปิตาฯ กดทับมาตลอดชีวิต
ฉากเปิดของหนัง Barbie ที่บรรยายโดยนักแสดงตัวแม่อย่าง Helen Mirren เป็นฉากที่หลายคนคงได้เห็นจากใน trailer ไปบ้างแล้วว่า เป็น parody ล้อฉากในหนังระดับตำนานเรื่อง 2001: A Space Odyssey (1968) โดยเปลี่ยนจากการมาเยือนของมนุษย์ลิงเป็นตุ๊กตาบาร์บี้พิมพ์นิยม (Stereotypical Barbie) ในร่างยักษ์ (Margot Robbie) และบอกเล่าว่า หลังจากบริษัท Mattel วางขายตุ๊กตาบาร์บี้ครั้งแรกในปี 1959 ตุ๊กตาบาร์บี้ก็มาแทนที่ตุ๊กตาเด็ก (baby dolls) ที่เดิมมีอยู่เพื่อปลูกฝังให้เด็กผู้หญิงรู้จักความเป็นมนุษย์แม่และแม่บ้านแต่เล็กแต่น้อย และสร้าง mindsets ใหม่ว่า “Women can be anything,”
ในขณะที่เหล่าบาร์บี้คิดว่าตัวเองได้ช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศและยกระดับแนวคิดสตรีนิยม (feminism) แต่ในโลกความเป็นจริง สำหรับผู้หญิงหลายคน บาร์บี้เป็นตุ๊กตาแห่งฝันร้าย เป็นเครื่องมือของบริโภคนิยม (consumerism) เป็นสัญลักษณ์ของ femininity เป็น beauty standard ที่ผิด ๆ หรือ unrealistic body image ว่าผู้หญิงต้องสูงและผอม ถึงแม้ในปี 2016 บริษัท Mattel ได้พยายามผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ที่มีความหลากหลายของรูปร่างหน้า สีผิว และสาขาอาชีพมากขึ้นก็ตาม
หนัง Barbie ของผู้กำกับหญิงมือทอง Greta Gerwig (จาก Lady Bird และ Little Women) จะเป็นอีกครั้งที่บาร์บี้จะเปลี่ยนโลกและมุมมองของคนทุกเพศที่มีต่อ feminism, patriarchy, และ gender roles โดยเธอเขียนบทหนังเรื่องนี้ร่วมกับคู่ชีวิตของเธอ Noah Baumbach (จาก Marriage Story) พวกเขามีความสามารถในการถ่ายทอดประเด็นหนัก ๆ และค่อนข้างเซนซิทีฟเหล่านั้นออกมาได้อย่างบันเทิง ย่อยง่าย ตรงไปตรงมา และถือว่าประนีประนอมออมมือให้กับพวก “ชายแท้” และ “นายทุน” พอสมควร
Gerwig สร้าง Barbie Land ที่สาว ๆ Barbies (Margot Robbie, Issa Rae, Alexandra Shipp, Emma Mackey, Sharon Rooney, Dua Lipa, Hari Nef ซึ่งเป็น transgender ฯลฯ) ได้มีชีวิตที่แสนเพอร์เฟ็กต์ อยู่ใน Dreamhouse, ได้ทำงานในหลากหลายอาชีพ รวมถึงประธานาธิบดีและนักบินอวกาศ, ได้เป็นผู้นำ, ได้รางวัลโนเบล ฯลฯ ในขณะที่ผู้ชายอย่าง Kens (Ryan Gosling, Simu Liu, Kingsley Ben-Adir, Ncuti Gatwa, John Cena, ฯลฯ) และ Allan (Michael Cera) เหมือนถูกสร้างมาเพื่อเป็นตัวประกอบ เป็นได้แค่ supporting roles ในสังคม และเติมเต็มโลกในจินตนาการของ Barbies
ในขณะเดียวกัน Gerwig ก็เตรียมนำเสนอโลกอีกใบไปพร้อม ๆ กัน เมื่อบาร์บี้พิมพ์นิยม (Margot Robbie) เริ่มคิดถึงความตาย เท้าแบน มีเซลลูไลต์ที่ต้นขา ประสบกับความไม่เพอร์เฟ็กต์ในชีวิตเหมือนเคย และตกอยู่ใน existential crisis จนต้องไปหา Weird Barbie (Kate McKinnon) ที่ต่อมาแนะนำให้เธอไป Real World เพื่อพบกับมนุษย์ที่เป็นผู้เล่นของเธอ ซึ่งนั่นก็คือ คู่แม่ลูก Gloria (America Ferrera) และ Sasha (Ariana Greenblatt)
Ken (Ryan Gosling) ก็ขอติดตาม Barbie ไปด้วย เพราะเขารู้สึกว่าชีวิตเขาไร้ความหมายเมื่อไม่มี Barbie เขาถูกออกแบบมาแค่เพื่อเป็นแฟนหนุ่มของ Barbie และมีอาชีพ “beach” (ใช่… แค่อาชีพ “ชายหาด” ไม่ใช่แม้กระทั่ง “ไลฟ์การ์ด”) ซึ่งจะเห็นได้ว่า Ken ก็กำลังประสบกัย existential crisis แต่เขาแค่อาจยังไม่รู้ตัว
ณ โลกแห่งความเป็นจริง หรือที่แอลเอ Barbie & Ken ค้นพบว่ามันคือโลกคู่ขนาน เพราะที่นี่… เป็นโลกที่ชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ผู้ชายได้ทำงานระดับบน ๆ ในณะที่ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ถูกมองเป็นวัตถุทางเพศ (sex objects) ถูก sexist ที่สำคัญ Barbie ได้ค้นพบว่า เธอไม่ได้ช่วย empower เด็กผู้หญิงอย่างที่เธอคิด ตรงกันข้าม เธอกลับทำให้เด็กผู้หญิงรู้สึกแย่มากกว่า
แม้แต่ที่ยานแม่อย่างบริษัท Mattel ที่ผลิตของเล่นเด็กผู้หญิง ก็ยังมี CEO (Will Ferrell) และบอร์ดบริหารเป็นชายล้วน มิหนำซ้ำตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา มีผู้บริหารเป็นผู้หญิงเพียงแค่ 1-2 คน หนึ่งในนั้นรวม Ruth Handler (Rhea Perlman) ผู้ก่อตั้งบริษัท ที่ต้องการจะผลิตตุ๊กตาให้เด็กหญิงทั่วโลก รวมถึง Barbara ลูกสาวของเธอ ได้เล่นแทน baby dolls หรือ paper dolls และหวังให้บาร์บี้เป็นตัวแทนของ “ความฝัน” หรือ “สิ่งที่เด็กสาวอยากเป็น”
แต่ความบรรลัยหลักของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อ Ken นำแนวคิด patriarchy ที่ค้นพบในโลกแห่งความเป็นจริง ไปเผยแพร่ลัทธิให้กับ Kens อื่น ๆ ใน Barbie Land และยังล้างสมอง Barbies ทุกคนให้เลิกทำงานและไปเป็นแค่แม่บ้านที่ว่านอนสอนง่ายของพวกเขา จนทุกคนสูญเสียความเป็นตัวเอง และยังไม่นับผลพวงจากการถูก “ความชายเป็นใหญ่” ครอบงำจนขาดสติ นำไปสู่ความรุนแรง การใช้กำลัง หรือสงครามไร้สาระต่าง ๆ ที่หนังเลือกนำเสนอการยกพวกตีกันเป็นสตรีทแดนซ์ที่ดูน่ารัก และ Ryan Gosling สมควรมงออสการ์สมทบชายยอดเยี่ยมจากบทนี้
บอร์ดชายล้วนของ Mattel และผู้ชายอีกหลายคนในโลกแห่งความเป็นจริง ทำให้เราตระหนักได้ว่า บางทีพวกเขาหลายคนก็ไม่ได้ทำเป็นยอมรับ feminism เพียงผิวเผิน ตัว Barbie เองก็ได้ตื่นรู้ว่า ที่ผ่านมามันก็เป็นแค่โลกสมมติ สุดท้าย มันยังมีทั้งมือที่มองเห็นและมือที่มองไม่เห็นพยายามควบคุมและจับผู้หญิงอย่างเธอยัดใส่กล่องอยู่เสมอ
Greta Gerwig เห็นในจุดนั้น และเธอก็ได้เล่นตลกร้าย แซะบริษัท Mattel ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้อย่างแนบเนียนและในแบบที่ Mattel ก็ยอมรับได้ว่า พวกเขายินดีซื้อขายคอนเซ็ปต์ ไม่ว่าจะเป็น diversity, self-discovery, existentialism หรืออะไรก็ตามตราบใดที่มัน “ทำเงิน” และดูดี
Greta Gerwig เลือกที่จะให้ตัวละครทุกตัว ไม่ว่าจะผู้ชายหรือผู้หญิง ได้พูดตรง ๆ ถึงสิ่งที่ตัวเองถูกกดทับและโดยสังคมปิตาฯ และส้นสูง เช่น คนเป็น working woman ก็ต้องสวยด้วยเก่งด้วย (สงสัยมีคนตีความ “Women can be anything,” เป็น “Women can be everything,”) หรือผู้หญิงจำต้องแกล้งโง่เพื่อให้ผู้ชายได้รู้สึกถึงอำนาจที่เหนือกว่า คนเป็นหัวหน้าก็ต้องขึงขังจริงจังตลอดเวลา ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ล้วนได้รับผลกระทบ ถูกจำกัดการแสดงออกและสูญเสียตัวตนภายใต้ระบอบชายเป็นใหญ่
สุดท้าย แก่นแท้สุดของหนัง Barbie จึงไม่ใช่แค่ประเด็น gender หรือมองหาทางลงว่า เพศไหนควร rule the world แต่เป็นประเด็น idendity อย่าง “what makes us human” และ existentialism หรือการหา life purpose ว่า “เราเกิดมาทำไม” ที่เราควรจะได้รับอิสระในการแสดงออก ค้นหา และเริ่มต้นอะไรสักอย่างจากจุดใดจุดหนึ่งโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศหรือเรื่องค่านิยม
การใช้ชีวิตวนลูปไปวัน ๆ อย่างไร้จุดหมายที่ชัดเจนอย่าง Barbie เราก็ไม่ต่างอะไรกับตุ๊กตา หุ่นยนต์ หรือของเล่นที่ถูกโปรแกรมมางั้น ๆ เป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ต่างหากที่ทำให้เรายัง “เป็นมนุษย์” และสร้างความหมายให้กับโลกใบนี้ไปจนถึงวันข้างหน้าถึงแม้ว่าเราจะไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว
การนำเสนอสารอย่างยิงตรงของ Greta Gerwig ไม่ได้แค่ช่วยพูดความในใจแทนคนหลายคนที่ไม่กล้าพูดประเด็นเหล่านี้ตรง ๆ มาทั้งชีวิตเพราะถูกสังคมปิตาฯ กดทับไว้เท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์นายทุนอย่าง Warner Bros. และ Mattel ที่อยากให้หนังมีความแมสฯ และมีไอเดียที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ว่า พวกเขาได้ร่วมสร้างคุณค่าและเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโลกยุคใหม่ไปกับคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ คนที่เคยชิน มีพริวิลเลจ หรือได้ผลประโยชน์จากปิตาฯ มาทั้งชีวิต เขาจะได้เข้าใจความรู้สึกและเห็นภาพสิ่งที่คนอื่นเขาต้องเจอได้อย่างง่ายขึ้น
ก็ไม่แน่ใจว่า ชายแท้หลายคนจะเก๊ต message ที่ตรงไปตรงมาเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน แต่ทั้งหมดที่เราเขียนมานี้ เป็นสิ่งที่เราได้จากหนังเรื่องนี้ ซึ่งสะท้อนสิ่งที่เราพบเจอบนโลกใบนี้มาตลอด… ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง… ที่เกิดและโตในสังคมปิตาธิปไตย