ปฏิเสธไม่ได้ว่า แฟรนไชส์ Black Panther และความรู้สึกตอนดูหนังในแฟรนไชส์นี้ ไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป นับตั้งแต่วินาทีที่โรคร้ายได้พราก Chadwick Boseman นักแสดงหนุ่มวัย 43 ปี ผู้รับบท King T’Challa หรือ Black Panther อันเป็นที่รักของคนดูและเสาหลักของประเทศ Wakanda ไปอย่างไม่ทันได้ตั้งตัวในปี 2020 ทำให้ทิศทางและอนาคตของแฟรนไชส์ตกอยู่ในห้วงแห่งความเคว้งคว้าง เมื่อบางสิ่งบางอย่าง (ที่สำคัญมาก) หายไป
Ryan Coogler ผู้กำกับผิวสี ประสบความสำเร็จกับการสร้าง Black Panther (2018) หนังฮีโร่ผิวสีที่โปรโมต Afrofuturism movement เพราะหนังไม่ใช่แค่แสดงโดยคนผิวสีเกือบ 100% แต่ยังสอดแทรกวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง ฯลฯ ของกลุ่มคนเชื้อสายแอฟริกันไว้อย่างน่าชื่นชม และในปีนี้ (2022) ทุกคนต้องสานต่อสารเหล่านั้นและ move forward โดยไม่มีฝ่าบาทคนเดิมอีกต่อไป
การทำหนังภาคต่อของหนังที่ประสบความสำเร็จที่ว่ายากแล้ว การทำหนังภาคต่อโดยปราศจากนักแสดงนำของเรื่องนั้นยากยิ่งกว่า เพราะมันไม่ใช่แค่ภาวะกดดันที่ต้องรับมือ แต่ทุกคน… ทั้งทีมงาน นักแสดง และผู้ชม… ต่างต้องรับมือกับความสูญเสียและความเศร้าโศกให้ได้ด้วย
Black Panther 2 หรือ Black Panther: Wakanda Forever จึงเป็นหนังที่ค่อนข้าง emotional หรือเต็มไปด้วยอารมณ์สำหรับเรา มันเหมือนเราทุกคนกำลังหลงทาง ตัวหนังเองก็หลงทางและสูญเสียตัวตนเสี้ยวหนึ่งไป ทำให้ความรู้สึกของเรา ณ ขณะดู มันเหมือนกำลังนั่งอยู่บนรถไฟเหาะแห่งอารมณ์
ถ้าพูดในเชิงบวก Black Panther: Wakanda Forever เป็นหนังที่ครบรส ทั้งดราม่า คอเมดี้ และแอ็คชั่น แต่ก็ต้องยอมรับว่า บางทีมันตัดสวิงอารมณ์เกินไป ปรับอารมณ์ไม่ทัน เข้าใจได้ว่าหนังก็อยากจะพาเราไว้ทุกข์ ไว้อาลัย และในขณะเดียวกัน ก็อยากจะพาทุกคน move on และสร้างความบันเทิงในแบบฉบับของ Marvel
แต่ถ้าหนังกล้าตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง เช่น ตัวละคร CIA คนขาวคนดีคนเดิม Ross (Martin Freeman) กับตัวละครใหม่อย่าง Riri Williams หรือ Ironheart (Dominique Thorne) มันไม่ใช่แค่ทำให้หนังมีความยาวที่พอดี (หนังจริงมีความยาว 2 ช.ม. 41 นาที ซึ่งถือว่ายาวไปหน่อย) แต่หนังจะสามารถทำงานกับความรู้สึกของคนดูได้ดีกว่านี้ เมื่อไม่มี Subplot มาตัดอารมณ์หรือ distract จากหัวใจสำคัญจริง ๆ ของเรื่อง ยกเว้นว่าจะทำเป็นซีรีส์บน Disney Plus แบบ Ms. Marvel ก็จะได้สำรวจจิตใจ ล่วงรู้แบ็คกราวนด์ และเติบโตพร้อมกับตัวเอกไปได้เลย
เนื้อเรื่องหลัก ๆ ของ Black Panther: Wakanda Forever คือ ทั้งโลกต่างหวังครอบครอง Vibranium ซึ่งเป็นแร่พิเศษที่มีแต่ที่ประเทศ Wakanda แต่ Wakanda ซึ่งตอนนี้นำโดย Queen Ramonda (Angela Bassett) เสด็จแม่ของอดีต King T’Challa ผู้ล่วงลับ ยืนกรานไม่ขาย ในขณะเดียวกัน อเมริกาก็พยายามหา Vibranium เองจากแหล่งอื่นด้วย
อเมริกากำลังจะจับสัญญาณของ Vibranium ได้ในมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ถูกชาว Talokan โจมตีเสียก่อน ซึ่งคนกลุ่มนี้มีตัวสีฟ้า (คล้ายชนเผ่า Na’vi ใน Avatar) ดำรงชีพในนครใต้บาดาลซึ่งมี Vibranium เช่นกัน ทำให้ Namor (Tenoch Huerta) มนุษย์กลายพันธุ์ ผู้ซึ่งเป็นเสมือนทั้งผู้นำและเทพเจ้าของชาวอาณาจักรลับแลนี้ รู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกคุกคาม เขาเลยต้องการกำจัดนักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นเครื่องค้นหา Vibranium นี้ขึ้น
เมื่อ Wakanda ทราบเรื่อง พวกเขาไม่ต้องการสร้างสงครามกับทั้งโลก และไม่อยากให้มีการเข่นฆ่าใคร โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ที่ยังเป็นเพียงแค่เด็กนักศึกษา Wakanda จึงส่ง Princess Shuri (Letitia Wright) กับนายพล Okoye (Danai Gurira) ไปชิงตัวเด็กคนนั้นมาก่อน ซึ่งเคมีของสองคนนี้จัดเป็นคู่หูโบ๊ะบ๊ะและสร้างสีสันได้ดีทีเดียว
แต่โจทย์ยากคือ หนังและตัวนักแสดงเองต้องพยายามดัน Princess Shuri ให้สามารถแบกหนังได้ เพราะ Princess Shuri ในภาคแรก ก็เสมือนเจ้าหญิงเจ้าชายที่เป็นลูกคนรองทั่วไป ที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากมายมาแต่แรก (เพราะถ้าลูกคนโตมีทายาท ลูกของลูกคนโตก็จะเป็นทายาทของบัลลังก์ลำดับต่อไป และลำดับของเขาหรือเธอก็ถูกลดหลั่นลง)
แทบตลอดเรื่อง เราต้องหลงทาง พยายาม move on และเติบโตไปพร้อม ๆ กับ Princess Shuri ผู้ที่ไม่เคยถูกคาดหวังว่าจะต้องเป็นผู้นำประเทศ และเธอก็สนใจแต่งานในห้องแล็บ แต่แล้ววันนึง เธอก็ต้องมาแบกรับหน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่เธอไม่เคยฝันถึง รับมือกับการเปลี่ยนแปลงโดยกะทันหัน และต้องพยายาม move on จากการสูญเสียครอบครัวพร้อม ๆ กัน
การ move on คือหนึ่งในธีมสำคัญของหนัง นอกจาก Shuri แล้ว Nakia (Lupita Nyong’o) คนรักของ T’Challa ก็ต้องพยายามก้าวข้ามผ่านและรับมือกับการสูญเสียในแบบของเธอ แม้แต่ควีนมัมหรือแม่ของ T’Challa ผู้สูญเสียทั้งสามีและลูกชายไปแทบไล่ ๆ กัน ก็ต้องพยายามเข้มแข็งเพื่อ Shuri และประเทศชาติ แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า Shuri ก็ถือว่ายังเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง และเธอก็มีความรู้สึกผิดที่ไม่อาจใช้ความรู้ความสามารถช่วยชีวิตพี่ชายไว้ได้ มันจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่า ซึ่งเราคิดว่านักแสดงทุกคนถ่ายทอดออกมาได้ยอดเยี่ยมยกเซต
นอกจากนี้ Black Panther ยังคงโดดเด่นในการสร้าง antagonist ที่มีเสน่ห์ น่าจดจำ มีปูมหลังที่น่าสนใจ ตั้งแต่ Killmonger (Michael B. Jordan) ในภาคแรก และ Namor (ซึ่งคล้าย Aquaman แต่แอดวานซ์กว่า เพราะบินได้) ในภาคนี้ อีกทั้งหนังยังเนรมิตนครใต้บาดาลของ Namor ได้อย่างงดงาม ติดแค่หนังค่อนข้างมืดไปเสียหน่อย และบางทีตัวละคร Namor ก็ค่อนข้างคุ้มดีคุ้มร้าย แต่ถ้าหนังตัด subplot และตัวละครที่ไม่จำเป็นออกไปตามที่เรากล่าวไปก่อนหน้า หนังอาจจะทำให้ Namor ดูมีมิติได้มากกว่านี้
อีกประเด็นที่หนังน่าจะชูเป็นอีกหนึ่งในธีมหลักได้ชัดเจนกว่านี้หากตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นข้างต้นออกไป นั่นก็คือ ความหัวก้าวหน้า เชื่อในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และไม่ค่อยเชื่อหรือสนใจในพิธีกรรมหรืออะไรโบราณ ๆ หรือกระทั่ง Okoye เอง ที่แอบยึดติดกับหอกซึ่งเป็นอาวุธที่สืบทอดต่อ ๆ กันมามากกว่าสนใจอาวุธหรือชุดอะไรใหม่ ๆ เพราะตั้งแต่ภาคแรกแล้ว เราจะรู้กันดีว่า Black Panther ค่อนข้างให้ความสำคัญกับรายละเอียดและการผสมผสานวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี การแต่งกาย พิธีกรรม ความเชื่อ ฯลฯ เอาเป็นว่า เราค่อนข้างสนใจว่าอนาคตของ Wakanda จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างภายใต้การนำของ Shuri
สำหรับฉากแอ็คชั่น ซึ่งเคยเป็นจุดขายสำคัญของหนังซูเปอร์ฮีโร่ เราต้องบอกว่า ซีนแอ็คชั่นของ Black Panther: Wakanda Forever ไม่ได้โดดเด่นขนาดนั้น ทั้งนี้ เช่นเดียวกับผลงานของ Marvel ยุคหลัง ๆ เช่น Ms. Marvel, She-Hulk, Hawkeye ที่ขายฉากต่อสู้น้อยลงและไปเน้นส่วนอื่นมากขึ้น นี่อาจเป็นทิศทางใหม่ของ Marvel ในอนาคต ซึ่งคนที่ชอบก็อาจจะชอบไปเลย คนที่ไม่ชอบก็อาจจะไม่ชอบไปเลย
อย่างเรา ที่ผ่านมาเราค่อนข้างเบื่อและเอียนกับหนังแอ็คชั่นหรือซูเปอร์ฮีโร่ที่เน้นโชว์พาวเวอร์ ทำลายล้าง วินาศสันตะโร ระเบิดภูเขาเผากระท่อม ฯลฯ ซึ่งบ้างก็ขาดที่มาที่ไปและสมเหตุสมผล ที่สำคัญ แต่ละการทำลายล้างหรือเข่นฆ่าก็นำไปสู่การต่อสู้หรือความเกลียดชังฝังลึกในภายภาคหน้าไม่จบไม่สิ้นเช่นกัน
แล้วใน Black Panther: Wakanda Forever นี้ แต่แต่ละซีนแอ็คชั่นก็พยายามโชว์ให้เห็นการใช้สมองและความเป็นมนุษย์ในการต่อสู้ โดยก็ยังพยายามเล่นสเกลใหญ่อยู่ อย่างไรก็ตาม เราคิดว่า หนังเขาทำพาร์ทพูดคุยหรือพาร์ทการเมืองออกมาได้น่าจดจำและประทับใจกว่าฉากต่อสู้ เขาใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปมากขึ้น รวมถึงความเป็นมนุษย์ในฉากสงครามหรือสนามรบ เป็นเหมือนการส่งสารสำคัญบางอย่างให้กับคนดูทั้งโลก จนเราอาจพูดว่า Black Panther: Wakanda Forever เป็นหนังที่สนับสนุน “Make Love, Not War” หรือ Anti-war movement ก็ว่าได้
สำหรับเรา Black Panther: Wakanda Forever ก็พยายามครบรสและสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่คนหลงทางคนหนึ่ง (หรือหลาย ๆ คน) จะทำได้ ถึงแม้หนังจะมีบาดแผลอยู่บ้าง (เช่นเดียวกับหนังส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรม) และเส้นเรื่องยิบย่อยมากมายก็ไม่อาจเติมเต็มช่องว่างที่หายไปได้ แต่ก็เป็นหนังที่เล่นอารมณ์คนดูได้พอสมควร ที่สำคัญ หนังยังไม่ลืมที่จะใส่วัตถุดิบที่หวังว่าวันนึงจะสามารถขับเคลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงโลกในอนาคต สุดท้าย เราจึงกล้าพูดได้เต็มปากว่า เราชอบ Black Panther: Wakanda Forever ซึ่งทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นพลังหญิงเลยแม้แต่น้อย (ไม่ได้ลงลึกประเด็นเรื่องผู้หญิงเป็นผู้นำหรือพลังหญิง เพราะคิดว่า มันไม่ใช่เรื่องใหม่ ก็เป็นเรื่องธรรมดามาก ๆ แล้ว ในปี 2022 ที่ใคร ๆ ก็เป็นผู้นำได้)
ป.ล. มี Mid Credit ให้ดูแค่ตัวเดียวเท่านั้น ถ้าใครหลอกว่ามีอีก อย่าไปเชื่อ