โดยปกติ เราถูกจริตกับหนังแนว Little Women, Emma., หรือเรื่องสไตล์ Jane Austen อยู่แล้ว การเปิดดูซีรีส์พีเรียดเรื่อง Bridgerton มันจึงเหมือนเป็นไปโดยสัญชาตญาณเมื่อเราเจอมันขึ้นแนะนำโชว์หราบนหน้าจอ Netflix แต่เหมือนจะไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่โดนตก เพราะล่าสุด Bridgerton ได้ขึ้นแท่นเป็น No. 1 และขึ้น Top 10 ของ Netflix ใน 76 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในแง่สถิติการเข้าชม เรื่องนี้ก็อาจจะโค่นแชมป์ The Queen’s Gambit ได้ในเร็ว ๆ นี้อีกด้วย
หากว่ากันด้วยเรื่องคุณภาพและความสนุก เรายกให้. The Queen’s Gambit อย่างไม่ลังเล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า Bridgerton บันเทิงกว่า เบาสมองกว่า และแมสกว่า โดย Bridgerton เล่าเรื่องสังคมผู้ดีอังกฤษชั้นสูงในยุค 1800s และมีสไตล์การเล่าเรื่องคล้ายอดีตซีรีส์ตัวท็อปอย่าง Gossip Girl ดังนั้น มันจึงไม่แปลกที่ Bridgerton จะฮิตเหมือนกัน เพราะถึงแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่คนมากมายก็ยังนิยมเสพดราม่า ข่าวฉาว ข่าวลือซุบซิบ เรื่องชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่องของคนรวย รวมถึงแฟชั่นเสื้อผ้าหน้าผมและไลฟ์สไตล์หรูหราหมาเห่าของไฮโซอยู่วันยังค่ำ
จริง ๆ แล้ว ถ้าเราพูดว่า Bridgerton เหมือน Gossip Girl ก็ไม่ถูกซะทีเดียวนัก เพราะตามหลักแล้ว นิยาย Bridgerton เล่มแรก (The Duke and I) ของนักเขียนชาวอเมริกัน Julia Quinn ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2000 ในขณะที่ Gossip Girl เล่มแรกของ Cecily von Ziegesar ตีพิมพ์หลังจากนั้น 2 ปี
นิยาย Bridgerton มีหลายเล่ม เล่าเรื่องของเด็ก ๆ ตระกูล Bridgerton ทั้ง 8 คนเป็นคนคนไปในแต่ละเล่ม เพราะบ้านนี้ลูกดกและตั้งชื่อลูกตามตัวอักษร ตั้งแต่ Anthony, Benedict, Colin, Daphne, Eloise, Francesca, Gregory, และ Hyacinth ตามลำดับ โดยเล่มแรกเล่าเรื่องของ Daphne (Phoebe Dynevor) ลูกสาวคนโตของแม่ม่ายไฮโซ Lady Violet (Ruth Gemmell) ซึ่งเป็นวัยแรกแย้มและถึงฤดูเข้าตลาดหาคู่ในปีนี้พอดี (สามคนโตเป็นลูกชาย จึงยังมีเวลาลั้ลล้าอีกหลายปีแล้วค่อยออกเรือน)
Daphne สวยและเพอร์เฟ็กต์สุดในสาว ๆ รุ่นเดียวกัน หนุ่ม ๆ หมายปองกันทั้งลอนดอน แม้แต่ Queen Charlotte (Golda Rosheuvel) ยังเอ่ยปากชมและหมายตาให้ได้แต่งกับหลานชายของเธอ Prince Friederich (Freddie Stroma) แต่ Daphne ผู้สวยเลือกได้ อยากแต่งงานด้วยความรัก และ Viscount Anthony (Jonathan Bailey) ก็ต้องช่วยสกรีนให้ ในฐานะพี่ชายคนโตและหัวหน้าครอบครัว เธอก็เลยขายออกช้ากว่าที่ใคร ๆ คาดหวัง
Daphne ได้พบกับ Simon Basset (Regé-Jean Page) ซึ่งมีศักดิ์เป็นถึง Duke of Hastings และเป็นเพื่อนร่วมรุ่น Oxford ของพี่ชายของเธอ แล้วพบว่าความต้องการของทั้งสองมันเอื้อต่อกัน นั่นคือ Simon ไม่อยากแต่งงาน และอยากไล่สาว ๆ ที่มารุมตอมเขาออกไปไกล ๆ เขาจึงเสนอที่จะควงกับ Daphne ซึ่ง Daphne ก็จะได้ดูน่าหมายปองมากขึ้นในสายตาหนุ่ม ๆ เพราะคนทั้งลอนดอนจะสนใจว่าทำไมคนระดับ Duke ถึงสนใจผู้หญิงคนนี้ หลังจากนั้น พล็อตก็คงเดากันได้ไม่ยาก ไป ๆ มา ๆ รักหลอก ๆ ของสองคนนี้ก็กลายเป็นรักจริงที่ชวนปวดหัว
แต่ถึงแม้ซีซันนี้จะเป็นเน้นเรื่องของ Daphne แต่พี่น้องคนอื่นในตระกูล Bridgerton ก็ได้รับการเปิดตัวและเล่าเรื่องพื้นฐานตามความเหมาะสม โดยเฉพาะ Viscount Anthony ที่มีความสัมพันธ์ลับอันลึกซึ้งกับนักร้องโอเปร่า Siena Rosso (Sabrina Bartlett), Eloise (Claudia Jessie) สาวห้าวหัวขบถประจำบ้าน (อารมณ์คล้าย.Jo March ใน Little Women แต่เด็กกะโหลกกะลากว่า)
บ้าน Featherington เป็นไฮโซเหมือนบ้าน Bridgerton แต่ใกล้จนตรอกกว่ามาก ทั้งชื่อเสียงทางสังคม ฐานะการเงิน และรูปร่างหน้าตาของลูกสาวทั้งสาม ได้แก่ Philipa, Prudence, และ Penelope (Harriet Cains, Bessie Carter, และ Nicola Coughlan ตามลำดับ) ที่ยากจะหาคู่ที่จะช่วยยกระดับฐานะทางสังคมของตระกูลได้ ทำให้ Portia (Polly Walker) ต้องไปหวังพึ่ง Marina Thompson (Ruby Barker) หลานห่าง ๆ ที่ Lord Featherington ผู้เป็นสามี (Ben Miller) ไปรับมาเลี้ยงแทน แต่นั่นก็ก่อนที่จะมารู้ภายหลังว่า Marina มีความลับและปัญหาใหญ่บางอย่างซ่อนไว้
ข่าวลือ ข่าวฉาว เรื่องซุบซิป หรือความลับ ดูเหมือนจะเป็น theme และ subplot ที่น่าติดตามที่สุดอย่างหนึ่งของเรื่อง Bridgerton เพราะนอกจากความสัมพันธ์และหน้าตาทางสังคมของตัวละครจะขึ้นอยู่กับคอลัมน์ที่นักเขียนนามปากกา Lady Whistledown เขียนแล้วนั้น คนดูยังได้สนุกกับการคาดเดาและตามหา identity ของ Lady Whistledown ตลอดเรื่อง (ให้เสียงบรรยายโดย Julie Andrews จาก The Princess Diaries) เหมือนตอนดู xoxo, Gossip Girl
ในความพีเรียดและความน้ำเน่านั้น ซีรีส์ Bridgerton ยังมีการดัดแปลงให้ร่วมสมัยในหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่การใช้เพลงสมัยใหม่ เช่น เพลง Thank U, Next ของ Ariana Grande ในฉากงานเลี้ยงเต้นรำ และการปรับคาแรกเตอร์หลายตัวละครสำคัญ เช่น พระเอกที่เป็น Duke, Lady Danbury (Adjoa Andoh) แม่เลี้ยงของพระเอก, และราชินี เป็นคนผิวสี ซึ่งถ้าอิงตามประวัติศาสตร์ความเป็นจริง มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะได้เห็นคนผิวสีเป็นคนชั้นสูงระดับนี้ได้ แต่บทเขาปรับให้เป็นไปได้ โดยให้ King George III (ตามเรื่องเล่าก็คือ คนเดียวกับคนที่เป็น The Mad King) รักและแต่งงานกับหญิงสาวเชื้อสายแอฟริกันนั่นเอง
ในสมัยนั้น ความรักและการแต่งงานเหมือนจะเป็นหนทางเดียวของผู้หญิง (และครอบครัวของเธอ) ที่จะเลื่อนฐานะทางสังคมได้ นอกจากควีนแล้ว ก็มีนางเอกนี่แหละที่ชัดเจนสุด ถ้าเธอแต่งกับเจ้าชายต่างเมืองที่เป็นหลานควีนแต่แรก เธอก็จะได้เป็นเจ้าหญิง แต่เธอแต่งกับดยุค เธอเลยได้เป็นดัชเชสแทน ซึ่งถึงแม้เธอจะได้เป็นแค่ดัชเชส แต่นี่ก็เปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอได้โขแล้ว เธอได้ค้นพบว่า เธอมีพลังอำนาจและมีอิทธิพลต่อคนอื่น ไม่ว่าเธอจะพูด ตัดสินใจ หรือทำอะไร มันตัดสินชะตาหรือเปลี่ยนทิศทางชีวิตคนอื่นได้
“Love, Your Grace, conquers all.”
ก็จริงอยู่ที่ปลายปากกาของ Lady Whistledown ก็มีพลังอำนาจในการเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนชีวิต และมีอิทธิพลต่อคนอื่นในสังคมเช่นกัน แต่เธอก็ทำได้แค่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ และไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าตัวตนจริง ๆ ของเธอเป็นผู้หญิงจริง ๆ อย่างที่แม่ของบ้าน Featherington บอกกับ Penelope (ลูกสาวที่มีความคิดที่สุดของบ้าน) ว่า “เป็นผู้หญิงน่ะ ไม่ต้องไปเขียนหรือไปอ่านหนังสือหรอก ฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ”
นอกจากนี้ พลังอำนาจของผู้หญิงยังถูกถ่ายทอดผ่านการมีเพศสัมพันธ์ สำหรับประเด็นนี้ ต้องบอกก่อนว่า ซีรีส์ควรจัดอยู่ในเรท 18+ เพราะมี sex scenes เยอะและค่อนข้างโจ๋งครึ่ม โดยเฉพาะ ep.6 ซึ่งเป็นช่วงฮันนีมูนของพระนาง อย่างไรก็ตาม ฉากเซ็กส์ในหนังไม่ได้มีมาเพื่อขายเนื้อหนังมังสาหรือเรียกเรตติ้งอย่างไร้ความจำเป็น ตรงกันข้าม ฉากเซ็กส์มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเส้นเรื่องทั้งเส้นหลัก-เส้นรองอย่างขาดมิได้ รวมถึงประเด็นที่ผู้หญิงในเรื่อง ขาดความรู้ความเข้าใจด้าน sex education หรือการคุมกำเนิด ต้องถูกเอาเปรียบทางอ้อม
โดยรวม Bridgerton เป็นอีกซีรีส์หนึ่งที่ช่วยตอกย้ำความสำเร็จของงาน Netflix Original ซึ่งตอบโจทย์ความบันเทิงในครัวเรือน (แต่ย้ำว่า เรื่องนี้ 18+ นะ คือดูเพลิน ๆ ที่บ้านได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนในบ้านจะดูได้ หรือเราจะนั่งดูพร้อมกับใครในบ้านก็ได้) และมาตรฐานโปรดักชั่นเรื่องนี้ก็ดูดีทีเดียว โดยส่วนตัว ดู 8 episodes จบในสองวัน (บางคนอาจดูวันเดียวจบก็ได้ แต่สำหรับเรา เราไม่ได้ชอบเท่า The Queen’s Gambit หรือ Emily in Paris) และถ้ามีซีซันอื่น ๆ ตามมา เราก็ดูแน่นอน เพราะชีวิตของพี่น้องคนอื่นแห่ง Bridgerton ก็ดูน่าสนใจและมีปมของใครของมันที่น่าขยายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
80 comments
Comments are closed.