หน้าหนังอาจชวนให้เชื่อว่า นี่ก็เป็นหนังรอมคอมอีกเรื่องที่เล่าเรื่องราวของ “ชายสอง หญิงหนึ่ง” หรือ “แม่ม่ายสาวใหญ่ กับไอ้ต้าวหมาเด็ก” แต่จริง ๆ แล้ว Bridget Jones: Mad About the Boy สะท้อนชีวิตได้ดีมาก ๆ โดยในภาคนี้มีธีมหลักเกี่ยวกับ “อายุ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “การเริ่มต้นใหม่ในวัยกลางคน” หรือ “วุฒิภาวะกับอายุ” จนไปถึง การรับมือและการอยู่กับ “ความสูญเสีย”
Bridget Jones’s Diary มักถูกมองเพียงผิวเผินว่าเป็นหนังความรักของสาวมโนหรือนางวันทองสองใจ มาตั้งแต่หนังภาคแรกเข้าฉายเมื่อปี 2001 เช่นเดียวกับที่บางคนอาจมองว่า การเขียนไดอารี่ ก็เป็นแค่การเขียนบันทึกประจำวันที่เพ้อเจ้อ แต่แท้จริงแล้ว ธีมหลักของทั้ง หนัง Bridget Jones’s Diary และ การเขียนไดอารี่ มันคือ “การเติบโต”
แฟนหนังหรือแฟนหนังสือนิยายที่เติบโตมากับ Bridget Jones’s Diary หลายคนจึงได้เรียนรู้ชีวิต ทั้งการงาน ความรัก การใช้ชีวิต และการค้นหาตัวตน ผ่านเรื่องราวอันยุ่งเหยิงของเธอมากว่ายี่สิบปี
“อายุปูนนี้แล้ว หาแฟนใหม่ยาก ถ้าเป็นผู้ชายก็ว่าไปอย่าง”
![](https://i2.wp.com/www.nbc.com/sites/nbcblog/files/styles/scale_862/public/2024/11/nup_206289_00003.jpg?w=1160&ssl=1)
ในขณะที่หนังรอมคอมเกือบทุกเรื่องมักจบแบบ happy ending เช่น พระนางจูบกัน แต่งงานกัน แต่ชีวิตจริงมันไม่ได้จบแค่นั้น และก็อาจจะไม่ได้ happy เสมอไป เช่นเดียวกับเรื่องราวของ Bridget Jones (Renée Zellweger) ที่ได้ลงเอยกับ Mark Darcy (Colin Firth) ไปแล้วในภาคก่อนหน้า แต่เรื่องราวของเธอก็ยังไม่จบ
Bridget Jones: Mad About the Boy หนังภาคที่ 4 ของ Bridget Jones’s Diary เล่าเรื่องของเธอใันวัย 50 ที่ต้องเป็นแม่ม่ายลูกติดกะทันหัน แล้วเธอต้องพยายามใช้ชีวิตต่อไป เริ่มต้นใหม่ในวัยกลางคน และมี role model ที่ดีของลูก ๆ ท่ามกลางคำแนะนำหรือคำวิจารณ์จากคนรอบข้างที่มีต่ออายุ รูปร่างหน้าตา และเซ็กส์ไลฟ์ของเธอ เช่น ความคิดเห็นที่เหยียดเพศอย่าง “อายุปูนนี้แล้ว หาแฟนใหม่ยาก ถ้าเป็นผู้ชายก็ว่าไปอย่าง”
ในภาคนี้ Bridget Jones มีหนุ่มหน้าใหม่สองคนสองวัยมาชวนให้ปวดเฮดกลุ้มฮาร์ต ตั้งแต่ คุณครูที่โรงเรียนของลูก ๆ อย่าง Scott Wallaker (Chiwetel Ejiofor) และต้าวหมาเด็กสุดฮอตอย่าง Roxster McDuff (Leo Woodall) แต่หนังก็ไม่ได้โฟกัสที่ความรักขนาดนั้น
Bridget Jones: Mad About the Boy มาเพื่อให้พวกเราทบทวนว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข” เช่น ตัวละครผู้ใหญ่บางคน เช่น ผู้ปกครองบางคนในโรงเรียน ก็ยังทำตัวเป็นเด็ก ในขณะที่เด็กบางคนก็มีความเป็นผู้ใหญ่ เช่น Chloe (Nico Parker) พี่เลี้ยงเด็กที่ Bridget Jones จ้างมาช่วยดูแลลูก ๆ ของเธอ ที่สำคัญ ไม่มีใครแก่เกินกว่าจะเริ่มต้นใหม่ ทุกคนมีค่าควรแก่การใช้ชีวิตและมีความสุข
ในแง่ของความรัก-ความสัมพันธ์ อายุก็ไม่สำคัญเช่นกัน เพียงแค่สุดท้าย ในระยะยาว เราต้องมองหาความสัมพันธ์ที่ “feel like home” หรือเป็นบ้านให้กับเรา ต้องหาคู่ชีวิตที่เข้าใจ เอาใจใส่ พึ่งพาได้ และมีความเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่หาแต่ความสนุกตื่นเต้นไปวัน ๆ เพราะมิเช่นนั้น สุดท้ายแล้ว ปลายทางชีวิตอาจโดดเดี่ยวหรือว่างเปล่าได้ อย่างเช่นชีวิตของเพลย์บอย Daniel Cleaver (Hugh Grant) กิ๊กเก่าของ Bridget Jones
นอกจากนี้ ในขณะที่หนังรอมคอมมักเล่าถึงแต่การหาหรือการเจอคู่รัก แต่ Bridget Jones: Mad About the Boy พูดถึงการใช้ชีวิตต่อไปในวันที่คนรักไม่อยู่แล้ว สอนให้รับมือกับความสูญเสียและความเจ็บปวด อยู่กับปัจจุบัน และโฟกัสกับสิ่งที่เหลืออยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ในทุก ๆ ความสัมพันธ์
ถ้าใครยังไม่เคยดู อยากให้ลองเปิดใจกับ Bridget Jones: Mad About the Boy ดู (โดยไม่จำเป็นต้องดูภาคก่อนหน้ามาก่อน) เพราะนี่เป็นหนังรอมคอมที่ไม่ใช่แค่สนุก ตลกทันยุคทันสมัยเท่านั้น แต่ยังสะท้อนชีวิต ทั้งผู้หญิงวัยกลางคน คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว และการเติบโตในแต่ละช่วงวัยได้อย่างดี อีกทั้งเตือนสติว่า “ถึงเวลาออกไปใช้ชีวิตแล้ว”
อย่าเชื่อใครก็ตามที่บอกว่า เราแก่เกินกว่าจะเริ่มต้นใหม่