ถึงแม้ Jane Austen นักเขียนหญิงชาวอังกฤษ (ค.ศ. 1775 – 1817) จะมีนิยายที่ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการเพียง 6 เรื่อง แต่ชื่อเสียงและผลงานสุดคลาสสิกของเธอก็ยังคงทรงคุณค่าเหนือกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งบทประพันธ์ยังถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์มาหลายฉบับแทบนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะผลงานขึ้นหิ้งชิ้นโบแดงอย่าง Sense and Sensibility (1811), Pride and Prejudice (1813), และ Emma (1815)
นิยาย Emma (1815) ก็ถูกนำมาสร้างเป็นหนังมาก่อน เราเองก็ยังไม่มีโอกาสได้หาฉบับก่อน ๆ มาดู แต่บล็อกนี้จะพูดถึง EMMA. ฉบับภาพยนตร์ 2020 ซึ่งเป็นเรื่องของ Emma Woodhouse (Anya Taylor-Joy ดาวรุ่งจาก The Witch และ Split) ไฮโซสาวสวยวัย 21 ปี ที่คิดเช่นเดียวกับผู้หญิงทั่วไปในยุคนั้นว่า การแต่งงานคือหนทางเดียวที่จะเปลี่ยนฐานะทางสังคมของหญิงสาว เธอมีนิสัยชอบจับคู่หรือเป็นแม่สื่อแม่ชัก ด้วยหวังดีอยากช่วยเพื่อนหญิงของเธอให้ได้มีสามีที่ดี (คำว่า “ดี” ณ ที่นี้ หมายถึง “รวย” เป็นส่วนใหญ่)
if a woman doubts whether she should accept a man or not, she certainly ought to refuse him.
เปิดเรื่องมา เธอก็ทำให้ติวเตอร์ประจำตัวของเธอ Miss Taylor (Gemma Whelan จาก Game of Thrones) แต่งงานกับ Mr. Weston (Rupert Graves จาก V for Vendetta) ซึ่งเป็นพ่อม่ายที่มีฐานะประมาณหนึ่ง นอกจากนี้ Emma ยังพยายามจับคู่ให้ Harriet Smith (Mia Goth จาก Suspiria) เพื่อนของเธอ ซึ่งเป็นเด็กกำพร้า ให้ได้กับบาทหลวงรูปงาม Mr Elton (Josh O’Connor จาก The Crown)
Mr. Knightley (Johnny Flynn นักดนตรี-นักแสดงดาวรุ่งที่กำลังจะรับบทเป็น David Bowie วัยหนุ่มในหนังเรื่อง Stardust) ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่เขย (brother-in-law หรือน้องชายสามีของพี่สาว) ของเธอนั้นไม่เห็นด้วย และต้องคอยเลคเชอร์เธอจนปากเปียกปากแฉะ เหตุผลหลัก ๆ ก็เพราะ Harriet กำลังชอบพอกับ Robert Martin (Connor Swindells จาก Sex Education) แต่ Emma มองว่าชีวิตชาวสวนชาวไร่ของ Martin ไม่สามารถทำให้เพื่อนของเธอสุขสบายได้
You Would Have Chosen For Him Better Than He Has Chosen For Himself.
ในส่วนของตัวเธอเอง เธอคิดว่าเธอเกิดมาเพียบพร้อมอยู่แล้ว ประกอบกับอยากอยู่ดูแลคุณพ่อ (Bill Nighy จาก About Time) เธอจึงไม่คิดเรื่องออกเหย้าออกเรือน แต่ลึก ๆ เธอก็แอบสนใจ Frank Churchill (Callum Turner จาก Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald) ซึ่งเธอคิดว่าเหมาะสมกับเธอทั้งหน้าตาและฐานะ
คู่แข่งคนสำคัญของ Emma คือ หลานสาวของ Miss Bates (Miranda Hart จาก Spy) ชื่อว่า Jane Fairfax (Amber Anderson จาก White Lie) ซึ่งเรียกว่าเป็นหญิงสาวที่มีเพียบพร้อมทุกอย่างที่ Emma มี ยกเว้นอย่างเดียวคือ Jane กับ Miss Bates มีฐานะยากจน และถ้าหาก Jane (ซึ่งถึงแม้ว่าเธอจะสวย ฉลาด มีความสามารถ) ไม่ได้สามีที่รวยหรือไม่มีสามีดูแล เธอก็จะลำบากไปจนยันแก่ยันเฒ่า เฉกเช่นเดียวกับ Miss Bates ป้าของเธอ เพราะนั่นคือชะตาชีวิตของผู้หญิงในยุคของ Jane Austen
I have none of the usual inducements of women to marry. Fortune I do not want. Employment I do not want. Consequence I do not want.
EMMA. เวอร์ชั่น Anya Taylor-Joy (2020) นี้ อาจถูกเปรียบเปรยกับ Emma (1996) เวอร์ชั่น Gwyneth Paltrow หรือเปรียบเทียบกับ Clueless (1995) เวอร์ชั่น Alicia Silverstone ซึ่งเป็นหนังวัยรุ่น coming-of-age ดัดแปลง Emma ให้มีความร่วมสมัยผนวกความอเมริกันสไตล์ Beverly Hills แต่สำหรับเรา มันเกิดการเปรียบเทียบระหว่าง EMMA. (2020) ของ Autumn de Wilde กับ Little Women (2020) ของ Greta Gerwig ซึ่งดัดแปลงจากนิยายคนละเรื่อง-คนละผู้แต่ง มากกว่าจะเปรียบเทียบกับ Emma (1996) หรือ Clueless (1995)
ทั้ง EMMA. (2020) และ Little Women (2020) สร้างจากวรรณกรรมคลาสสิกของนักเขียนหญิงชื่อดังจากฝั่งอังกฤษและอเมริกาตามลำดับ เล่าเรื่องชีวิต โดยเฉพาะประเด็นการแต่งงานและสถานะความเป็นอยู่ของผู้หญิงในช่วงปี 18xx เหมือนกัน โดยตัวละครเอกของเรื่อง อันได้แก่ Emma Woodhouse และ Jo March ต่างถูกเปิดตัวมาแต่ต้นเรื่องว่า “ไม่สนใจการแต่งงาน” แต่แตกต่างกันตรงที่ว่า Emma สวย เก่ง และรวยมาก (Jane Austen บรรยายไว้ว่า “handsome, clever and rich”) จนน่าหมั่นไส้ ในขณะที่ Jo March มีชีวิตอันดิ้นรนอย่างน่าเอาใจช่วยตั้งแต่ต้นจนจบ
I promise to make no Matches for myself, Papa, but I must indeed for other people. ‘Tis the greatest amusement in the world, and after such success you know…
หากว่ากันด้วยประเด็นการแต่งงานกับการยกระดับสถานะทางสังคมของผู้หญิงในสมัยนั้นแล้ว ต้องบอกว่า Greta Gerwig ทำออกมาได้ดีมาก ๆ จนเรายกให้ Little Women ติดอันดับหนัง Top 5 แห่งปี 2020 ในใจเราไปแล้วอย่างไม่ลังเลตั้งแต่ ม.ค. ดังนั้น พอเราได้มาดู EMMA. ทีหลัง เราจึงรู้สึกว่า EMMA. ดูดร็อปไปหน่อยสำหรับการเล่นประเด็นดังกล่าว แต่ก็ไม่แย่
หรือถึงแม้บางคนจะไม่อินกับประเด็น feminist โดยเฉพาะเรื่องราวของผู้หญิงเมื่อประมาณ 150-200 ปีที่แล้ว เพราะยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม แต่เรายังเชื่อว่า ทุกวันนี้ก็ยังมีผู้หญิงจำนวนหนึ่งและ/หรือคนที่ยังคิดว่าผู้หญิงต้องแต่งงานกับผู้ชายรวย ๆ เพื่อมีชีวิตที่ดีอยู่ ซึ่งหนังมันก็จะสอนเราได้ ทั้งการเลือกคู่ของผู้หญิง และการเป็นสุภาพบุรุษของผู้ชาย (คุณผู้ชายทั้งหลายโปรดจงมาดู Mr. Knightley เป็นเยี่ยงอย่าง) อีกทั้งหนังยังมีประเด็นสำคัญที่ยังคงร่วมสมัยไปอีกนานเท่านาน นั่นก็คือ อย่าตัดสินคนที่ภายนอก
There is one thing, Emma, which a man can always do if he chooses, and that is his duty.
อย่างไรก็ตาม EMMA. ก็ทำได้ดี ถูกจริตเราไม่น้อยทีเดียว ในแง่ของความรอมคอม และในแง่ความวิลิศมาหราของเสื้อผ้าหน้าผมกับโปรดักชั่นต่าง ๆ ซึ่งบ่งชี้ถึงความตั้งใจของผู้กำกับที่จะทำให้ EMMA. เวอร์ชั่นนี้เป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด ตามที่เขาได้อธิบายถึงเหตุผลที่เขาใส่เครื่องหมาย period หรือ full stop (.) ไว้ท้ายชื่อหนังไว้ว่า “It’s a period film.”
หลังจากที่เราไม่ได้ดูหนังในโรงภาพยนตร์มานาน (เรื่องล่าสุดคือ Jojo Rabbit เมื่อมี.ค.) และรอชม EMMA. มาตั้งแต่ก่อนปิดโควิด การได้ชม EMMA. เป็นหนังใหม่บนจอใหญ่ครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ก็ถือว่าไม่ผิดหวัง และมอบความบันเทิงในช่วงที่ชีวิตห่างหายสีสันไปนานได้เป็นอย่างดี แค่ได้ดูความรวยเว่อร์วังของตัวละครในยุคนั้น ประกอบกับหน้าเก๋ ๆ ของ Anya Taylor-Joy และผู้ชายบริติชงานดีอีกมากหน้าหลายตา (โดยเฉพาะความ gentleman ของ Mr. Knightley) นั่นก็คุ้มค่าตั๋วไปมากแล้ว
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8/10 (รวมคะแนนพิศวาสแล้ว)
1 comment
Comments are closed.