Multiverse ของ A24 โดยผู้กำกับจาก Marvel Universe
พหุภพ พหุจักรวาล หรือมัลติเวิร์ส อาจไม่ใช่เรื่องสดใหม่สำหรับคนดูหนังยุคใหม่ โดยเฉพาะหนังฮีโร่ Marvel อย่าง Spider-Man: No Way Home และล่าสุด Doctor Strange in the Multiverse of Madness แต่ Everything Everywhere All at Once จะสร้างบาร์ใหม่สำหรับมาตรฐานและคุณค่าของหนัง “มัลติเวิร์ส”
ก่อนจะมาเป็น Everything Everywhere All at Once (2022) สองผู้กำกับ Daniel Kwan และ Daniel Scheinert (จับมัดรวมกัน กลายเป็น Daniels หรือ Daniel เติม s) ได้ทำการรีเซิชเกี่ยวกับมัลติเวิร์สมาตั้งแต่ปี 2010 แล้ว โดยได้สองพี่น้องผู้กำกับคนดังจาก Avengers จักรวาล Marvel อย่าง Anthony Russo และ Joe Russo มาเป็นผู้อำนวยการสร้าง ภายใต้ชายคา A24 ค่ายหนังอินดี้ที่สร้างภาพยนตร์คุณภาพพลิกวงการมากมาย เช่น Ex Machina, Room, The Witch, The Lobster, Moonlight, Lady Bird, Hereditary, Midsommar, The Farewell, Minari, The Green Knight. ฯลฯ
The universe is so much bigger than you realize.
เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว: แอ็คชั่น ไซไฟ คอเมดี้ ดราม่า สะท้อนสังคม
Daniels ได้รับการยอมรับในด้านการเอามุกตลกที่ดูไร้สาระ (ที่ดูเผิน ๆ จะเป็นมุกเกรดเดียวกับ The Hangover) มานำเสนอไอเดียที่ซับซ้อนลึกล้ำมาตั้งแต่เรื่อง Swiss Army Man (จากค่าย A24 เช่นกัน) และใน Everything Everywhere All at Once พวกเขาก็ทำทำคนดูขำเป็นบ้าเป็นหลังกับมุกตลกอิหยังวะของพวกเขา พร้อมกับสอดแทรกปรัชญา ข้อคิด และปัญหาสังคมมากมายอย่างแยบยล ทั้งเรื่องปัญหาครอบครัว ปัญหาคนต่างวัย ปัญหาคนอพยพ (ณ ที่นี้คือ Chinese American) ปัญหาภาษี ปัญหาเพศสภาพ และวิกฤติวัยกลางคน ฯลฯ นอกจากนี้ยังสะท้อนการเลี้ยงดูบุตรหลานของคนจีน และค่านิยมการมีลูกของคนจีน เช่น การแสดงความเสียใจที่คุณได้ลูกสาวแทนที่จะเป็นลูกชาย
หนังเล่าเรื่องผ่านตัวละคร (ซึ่งชื่อออกเสียงละม้ายคล้าย “every”) Evelyn Wang (Michelle Yeoh จาก Shang-Chi, Crazy Rich Asians, 007: Tomorrow Never Dies ฯลฯ หญิงอเมริกันเชื้อสายจีน ที่ทำธุรกิจซักรีดและกำลังประสบปัญหาชีวิต ทั้งธุรกิจขาลง การยื่นภาษี การ(จะ)หย่าร้างกับสามีของเธอ Waymond (Ke Huy Quan เด็กน้อยจาก Indiana Jones and the Temple of Doom (1984)) ความไม่ลงรอยกับ Joy (Stephanie Hsu จาก The Marvelous Mrs. Maisel) ลูกสาวที่เป็นเกย์ และ Gong Gong (James Hong จาก Kung Fu Panda) พ่อบังเกิดเกล้าของตัวเอง ฯลฯ
ณ ขณะที่ Evelyn และครอบครัว (ยกเว้น Joy) กำลังไปเจรจาปัญหาภาษีกับเจ้าหน้าที่ Deirdre Beaubeirdra (Jamie Lee Curtis จาก Halloween) จู่ ๆ Waymond ก็ทำตัวแปลก ๆ พูดจาแปลก ๆ บอกว่า เขาไม่ใช่สามีของเธอ แต่ทว่าเป็น Waymond จากอีกจักรวาลหนึ่ง ชื่อ Alphaverse (จักรวาลแรกที่ค้นพบว่าโลกเรามีหลายจักรวาลและสร้างเทคโนโลยีในการสื่อสารจนถึงโดดข้ามจักรวาลได้) และเชื่อว่า “ซือเจ๊ Evelyn แห่งจักรวาลร้านซักรีด” นี่แหละ ที่จะช่วยกู้โลกได้ เพราะ Evelyn คนนี้เป็น Evelyn ที่เสมือนกระดาษเปล่า สกิลน้อยสุด สิ้นหวังที่สุด และล้มเหลวที่สุด ในทุก ๆ ด้านของชีวิต โดยเธอสามารถมองเห็นและยืมสกิลของตัวเองจากจักรวาลอื่น ๆ (เช่น จักรวาลที่เธอเรียนกังฟูขั้นเทพ, จักรวาลที่เธอทำอาหารเก่ง ฯลฯ) คล้าย ๆ กับการอัพโหลดสกิลอย่างใน The Matrix
I wanted to say, in another life, I would have really liked just doing laundry and taxes with you.
ซือเจ๊ ซูเปอร์มัม in the Multiverse of Madness
ถ้าใครรู้สึกว่า Doctor Strange in the Multiverse of Madness ไม่ได้พาไปเที่ยวหลายจักรวาล และไม่ได้ mad อย่างที่คาดหวัง (สงสัยดิสนีย์กลัวเด็กดูไม่รู้เรื่อง) คงต้องมาดู Everything Everywhere All at Once เพราะในเรื่องนี้ ซือเจ๊พาเราไปตะลอนหลายจักรวาล เยอะจริง จนแทบมึน และหนังก็มีความบ้าและความโกลาหลวุ่นวายแบบสาแก่ใจตั้งแต่ต้นจนจบ
หนังแบ่งเป็น 3 พาร์ท: (1) Everything (2) Everywhere และ (3) All at Once โดยพาร์ทแรก ก็ให้ความรู้สึก everything สมชื่อพาร์ท เพราะทุกอย่างดูถาโถม ประเดประดัง วุ่นวาย และ overwhelming ไปซะหมด จนอยากจะร้องว่า “โอ๊ย หัวจะปวด” แม้กระทั่งฉากแอ็คชั่นก็ยังอยากจะร้อง “เชี้ย” (ที่เป็นคำชม) ส่วนพาร์ทสอง ซือเจ๊จะเริ่มไปสถิตอยู่จักรวาลต่าง ๆ ในเวลาเดียวกัน รวมถึงจักรวาลร้านซักรีดที่จัดปาร์ตี้วันเกิดกงกง (ซึ่งเป็นจักรวาลที่แตกออกมาหาก Evelyn ไม่ได้เลือกโดดไปจักรวาลอื่นตอนที่อยู่ที่สำนักงานภาษี) พาร์ทนี้เริ่มมีปรัชญาชีวิตเข้ามาแทรกมากขึ้น แต่หนังเค้าเล่าสนุก บันเทิง คิดมุกเก่ง ตัดเก่ง ออกแบบจักรวาลเก่ง และนักแสดงก็แสดงเก่งมาก ดังนั้นคนดูจะไม่ค่อยสับสนในแต่ละจักรวาล แต่ถ้าใครสับสนหรือไม่เข้าใจในบางจุด ก็สามารถ “ช่างแม่ง” และยังจอยกับหนังได้อยู่
นอกจากนี้ ถ้า Doctor Strange in the Multiverse of Madness จะย่อเป็น MoM และแปลว่า “แม่” เพื่อตัวละคร Wanda เราคิดว่า Everything Everywhere All at Once มีความ MoM ที่แปลว่า “แม่” มากกว่าอีกด้วย เพราะความสัมพันธ์ของ Evelyn กับ Joy ถือเป็นกุญแจสำคัญของเรื่อง
Of all the places I could be, I just want to be here with you.
What if….? ถ้าวันนั้น ฉันทำ/ไม่ทำอย่างนี้
คอนเซ็ปต์หลักของการแตกแขนงเป็นหลาย ๆ ล้านจักรวาลของ Everything Everywhere All at Once ก็คล้าย ๆ What if…? แต่ลึกกว่าตรงที่เน้นที่ “การตัดสินใจ” หรือ “ทางเลือก” ของบุคคลเป็นหลัก คล้ายคอนเซ็ปต์การเล่นเกมประเภท branching narrative games (เช่น เกม The Walking Dead ของ Telltale Games)
กล่าวให้เห็นภาพก็คือ จักรวาล A สามารถแตกแขนงเป็นจักรวาล A1 และ A2 เมื่อมีการเลือกเส้นทางชีวิต เช่น จักรวาลนึงเป็นจักรวาลของ “Evelyn ที่ไม่เชื่อฟังพ่อ ตามผู้ชายที่ถังแตกมาตั้งตนชีวิตใหม่เปิดร้านซักรีดที่อเมริกา” กับอีกจักรวาลเป็นจักรวาลของ “Evelyn ที่เชื่อฟังพ่อ ไม่แต่งงานกับผู้ชายถังแตก และเธอก็ประสบความสำเร็จเป็นดาราสาวชื่อดังที่จีน” เป็นต้น
แนวคิดนี้มันตอกย้ำสิ่งที่วนเวียนอยู่ในใจเรามาตลอด “ถ้าวันนั้น ฉันทำ/ไม่ทำอย่างนี้ ตอนนี้ฉันจะเป็นอย่างไร” เช่น เส้นทางที่เราไม่เลือกเดิน ความฝันที่เราเลือกที่จะล้มเลิก ฯลฯ แน่นอนว่า แต่ละเส้นทางมันย่อมส่งผลต่อชีวิตของเราแตกต่างกันในฐานะมนุษย์ เราที่เป็นเราอยู่ทุกวันนี้ คือเราที่เกิดจากหล่อหลอมจากทุก ๆ การตัดสินใจที่เราเลือกเดิน แล้วเราในอีกเส้นทางหนึ่งล่ะ? ตอนนี้เขาจะเป็นอย่างไร? เราจึงคิดว่า มัลติเวิร์สของ Everything Everywhere All at Once เป็นจักรวาลที่มีอยู่จริงหรือใกล้ตัวมากกว่ามัลติเวิร์สของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่
Every rejection, every disappointment has led you here to this moment.
เมื่อทุกอย่างมันโอเวอร์โหลดเกินกว่าจะรับไหว
ในโลกของความเป็นจริง มัน (ยัง) เป็นไปไม่ได้ที่จะโดดเข้าไปในจักรวาลอื่น ไปเห็นตัวเองในโลกที่เราไม่ได้เลือก และยืมสกิลจากเราในจักรวาลนั้นมาใช้ เราทำได้แต่คิดถึงเส้นทางชีวิตที่เราไม่ได้เลือก แต่เราสามารถเห็นชีวิตคนต่าง ๆ มากมายในโลกโซเชียลฯ หรืออินเตอร์เน็ต และอาจมโนได้บ้างว่า “ถ้าวันนั้นฉันเอาเงินเก็บไปทำหน้าและเรียนการแสดง ฉันอาจได้เป็นซูเปอร์สตาร์แบบ ญาญ่า-อุรัสยา” หรือ “ถ้าวันนั้นฉันตัดสินใจไปเรียนเมืองนอก ตอนนี้ฉันอาจจะได้อยู่กินกับสามีที่หน้าเหมือน Timothée Chalamet อยู่ที่นิวยอร์กซิตี้”
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่คนยุคก่อนหรือ Gen X ขึ้นไป อย่าง Evelyn เต็มไปด้วย “เส้นทางที่ไม่ได้เลือก” ล้านแปดอย่าง และอาจอยากจะเป็น/อยู่/คือจักรวาลที่ตัวเองเพอร์เฟ็กต์หรือมีชีวิตเหมือนฝันมากที่สุด เช่น จักรวาลที่ได้เป็นซูเปอร์สตาร์ คนยุคหลัง ๆ ที่โตมากับโลกดิจิตัลและอาจยังผ่านการตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิตไม่มากครั้งมากนัก ได้เห็นทั้ง “เส้นทางที่เป็นไปได้” และ “เส้นทางที่เป็นไปไม่ได้” ล้านแปดเส้นทาง เพราะได้พบเห็นชีวิตผู้คนต่าง ๆ มากมายหลากหลายไลฟ์สไตล์และแนวคิด จนถึงข้อมูลข่าวสารมหาศาลล้านสิ่งในแต่ละวันบนหน้าฟีดส์หรือไทม์ไลน์
แล้วปัญหาคือคนบางคนในกลุ่มนี้ไม่สามารถรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ดีทั้งหมด บ้างอาจขาด self-esteem บ้างก็เอาชีวิตตนไปเปรียบกับชีวิตคนอื่น บ้างก็เป็น FOMO (Fear of Missing out) บ้างก็เป็น online narcissism หรือถูกครอบงำโดยความคิดเห็นของคนอื่น (ที่ไม่ได้สำคัญกับชีวิตเราเลย) มากเกินไป ฯลฯ นอกจากนี้พวกเขายังต้องทนรับความกดดันหรือความคาดหวังจากครอบครัว ที่อยากจะให้พวกเขาเป็น/ไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ (เช่น ไม่เป็นเกย์) ส่งผลให้ Joy ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของคนยุค millennial จนถึง Gen Z มีชีวิตที่ไม่ Joy สมชื่อ โดยเฉพาะ Joy ในจักรวาล Alphaverse ซึ่งถูก Evelyn เคี่ยวเข็ญมากเกินไป
“If nothing matters, then all the pain and guilt you feel for making nothing of your life goes away.”
เราไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล แต่เป็นเพียงสิ่งเล็ก ๆ ในพหุจักรวาล แล้วจะสำคัญตรงไหน?
เมื่อ Joy และ Evelyn ได้เห็นจักรวาลของตัวเองมากมายล้านแปด ที่เกิดจากการตัดสินใจที่แตกต่างกันล้านแปดครั้งในชีวิต โดยเฉพาะพวกเธอที่สามารถไปเป็น/อยู่/คือจักรวาลไหนก็ได้ในตอนนี้ (ใช่… ต้องแค่ปัจจุบัน ตอนนี้ ไม่ใช่อดีตหรืออนาคต) พวกเธอเริ่มคิดเห็นว่าตัวเองตัวเล็กนิดเดียวในมัลติเวิร์สที่กว้างใหญ่ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทุกการตัดสินใจที่เธอเลือก มันคือสิ่งเล็ก ๆ ที่โคตรไร้ความหมาย และไม่สำคัญอะไรเลย พวกเธอเลย “ช่างแม่ง กูจะทำอะไรก็ได้ที่กูพอใจ” โดยเฉพาะจักรวาลที่ชีวิตมันเละที่สุดไปแล้วก็ให้มันเละสุด ๆ ไปเลย “ไม่จ่ายภาษีแม่งแล้ว จะยึดอะไรก็ยึดไป จะลากเข้าคุกก็ลากไป ช่างแม่ง”
บางครั้งเรามักลืมตัว เผลอเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลทั้งที่ตัวเองตัวเล็กนิดเดียว เช่น ฉันไม่ทำซะอย่าง ใครจะเดือดร้อนก็ช่างแม่ง, ตัดสินคนที่แตกต่างจากตัวเอง, หรือจำกัดเส้นทางชีวิตของคนอื่น ฯลฯ บางครั้งแนวคิด “ช่างแม่ง” หรือการทำอะไรแบบโนสนโนแคร์ ไม่สนใจผลลัพธ์ที่ตามมา รวมถึงการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล (ซึ่งจักรวาลนี้ก็เป็นหนึ่งในล้านของเหล่าพหุจักรวาลอีกทีไปอีก) มันไม่ได้ทำลายแค่ชีวิตตัวเองในจักรวาลนั้น ๆ แต่มันกลับทำร้ายคนรอบตัวด้วยและส่งผลกระทบเป็นแรงกระเพื่อมไม่รู้จบไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
ยกตัวอย่าง ความสัมพันธ์ของ Evelyn กับสามี พวกเขาเหมือนคู่ชีวิตที่อยู่ในสนามรบเดียวกันแต่จับอาวุธกันคนละชิ้น กล่าวคือ Evelyn อาจจะเป็นสายบู๊ หรือสายตึง ไม่ยอมหักไม่ยอมงอ แทงได้แทง ตบได้ตบ แต่สามีจะเป็นสายเจรจา เอาน้ำเย็นเข้าลูบ ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา Evelyn มองว่าไร้สาระ ไร้ประโยชน์ อ่อนแอ โดยที่เธอไม่เคยเห็นความสำคัญของความใจดีของสามี ไม่เคยตระหนักเลยว่า สามีของเธอก็กำลังร่วมต่อสู้เคียงข้างเธอในแบบของเขาเอง จนเกือบสูญเสียคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตไป
ในจักรวาลที่ Evelyn ประสบความสำเร็จสูงสุด (อย่างน้อยก็ในความคิดของเธอ) เธอได้เป็นซูเปอร์สตาร์ที่มีชื่อเสียง เงินทอง และความสวยสะพรั่ง แต่ในจักรวาลนั้น เธอโดดเดี่ยว อ้างว้างเยี่ยงตัวเอกในหนังหว่องกาไว ไม่มีครอบครัวเคียงข้างเหมือนจักรวาลร้านซักรีด เพราะนั่นอาจเป็นราคาที่ต้องแลก สุดท้าย มันไม่มีจักรวาลไหนเลยที่มีความเพียบพร้อมที่สุด แต่ทุก ๆ จักรวาลจะมีสิ่งสำคัญ ข้อดีข้อเด่น หรือสิ่งให้รักเสมอ แม้แต่จักรวาลที่ผู้คนจะมีนิ้วมือเหมือนไส้กรอก พวกเขาก็ยังมีเท้าที่ใช้งานได้อย่างยอดเยี่ยม
Evelyn ค่อย ๆ มองเห็นและเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ ในชีวิตของเธอในจักรวาลซักรีดแห่งนี้ พึงพอใจกับสิ่งที่เธอมี เธอเป็น เธออยู่ และเธอเลือก โฟกัสกับการทำวันนี้ให้ดีที่สุด และคิดบวกถึงความน่าจะเป็นของทางเดินที่ยังไม่เกิดขึ้นในวันข้างหน้า แทนที่จะไปยึดติดหรือโหยหากับอดีตหรือเส้นทางที่ตัวเองไม่ได้เดิน
สุดท้าย เมื่อเราพอใจกับสิ่งที่เราเลือก และให้ความสำคัญกับความสุขเล็ก ๆ ในชีวิตมากกว่าปัญหาหรือความวุ่นวายทางโลก เราในจักรวาลอื่น…หรือเส้นทางที่เราไม่ได้เลือก…จะเป็นยังไง มันก็ไม่สำคัญ เพราะจักรวาลนี้นี่แหละ…ดีที่สุดแล้ว…
This is how I fight.
อ่านเพิ่มเติม https://screenrant.com/everything-everywhere-all-at-once-ending-explained-real-meaning/
1 comment
Comments are closed.