ด้วยอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทยเต็มด้วยไปข้อจำกัด ทั้งด้านงบประมาณ และความสร้างสรรค์ตัวบท เราจึงมิอาจมีหนังไทยที่โดดเด่น แตกต่าง หรือขับเคลื่อนวงการมาให้ชมกันบ่อย ๆ นัก แต่ คงเดช จาตุรันต์รัศมี เป็นผู้กำกับหนังไทยที่มีทั้งวิสัยทัศน์และความกล้าที่จะฉีกกรอบสังคม มาตั้งแต่ เฉิ่ม, ตั้งวง, Snap แค่…ได้คิดถึง, และ Where We Belong ฯลฯ
Faces of Annes ผลงานล่าสุดของ คงเดช มีหน้าหนังที่ดู “แมส” มากกว่าเรื่องก่อน ๆ ของเขา เพราะออกแนว Thriller ประกอบกับขนทัพนักแสดงดาวรุ่งหญิงทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ในวงการมาเป็นกุรุส แต่ก็ยังคงความอาร์ตในสไตล์ของผู้กำกับไว้ ทำให้ Faces of Annes เป็นหนังไทยระทึกขวัญที่ค่อนไปทางหนังของ Jordan Peele หรือหนังต่าง ๆ ของค่าย A24 มากกว่าหนังระทึกขวัญที่ย่อยง่ายในท้องตลาดทั่วไป ซึ่งถ้าเป็นคนดูที่ไม่มีภูมิคุ้มกันหรือตั้งตัวมาเจอกับหนังแนวนี้มาก่อน ก็อาจจะเหวอไปเลยก็ได้
Faces of Annes เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงที่ทุกคนล้วนชื่อ “แอน” ตื่นขึ้นมาในวอร์ดแห่งหนึ่ง จำอะไรไม่ได้ และต้องใช้ชีวิตวนลูปอยู่อย่างนั้น มิหนำซ้ำ “แอน” ยังเชื่อว่าตัวเองเปลี่ยนหน้าได้ แถมตกกลางคืน ยังต้องหนีจากการไล่ฆ่าของปิศาจกวางอำมหิตอีกต่างหาก
สำหรับเรา ที่เคยได้ดูหนังเหวอ ๆ จากค่าย A24 มาก่อนพอสมควร (เช่น หนังของ Ari Aster อย่าง Midsommar หรือ Hereditary กับหนังของ Jordan Peele ทั้งสามเรื่อง ตั้งแต่ Get Out, Us, และ Nope) เรื่อง Faces of Annes จึงไม่ได้เหวอหรือถือว่าดูยากนัก เพียงแต่ระหว่างทาง หนังมีสัญลักษณ์ที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสังคมและระบบการเมืองการปกครองไทยในการตีความ เช่น สีเสื้อของ “แอน” ฯลฯ ซึ่งตรงนี้เป็นพาร์ทที่สนุก คนดูจะได้คิดและตีความต่อตามพื้นฐานหรือแบคกราวนด์ของแต่ละคน
ส่วนธีมหลักของเรื่องในประเด็นของวัยรุ่นยุคโซเชียลมีเดีย เช่น การขาด self-esteem และความเป็นตัวเอง ด้วยเราทุกคนล้วนเป็น “แอน” ที่ถูกตีกรอบ หล่อหลวม และกดทับด้วย “อะไรบางอย่าง” จากสังคม (เช่น ค่านิยม, กระแสสังคม, ระบอบ ฯลฯ) หนังค่อนข้างเฉลยและอธิบายอย่างชัดเจนในช่วงบทสรุป ซึ่งตรงนี้ เราแอบเสียดายเล็กน้อยที่หนังเล่นบอกคนดูแทบหมดจนไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้ถกเถียงหรือคิดต่อกันอย่างเต็มที่ แบบที่หนังต่างประเทศเขาทำกัน (แต่ก็เข้าใจได้ว่า ถ้าหนังไม่เฉลยเลย คนดูกลุ่มใหญ่ในประเทศอาจสาปส่งหรือค่ายอาจตัดงบเอาเสียก็เป็นได้)
การเริ่มต้นดู Faces of Annes ง่าย ๆ คือ เราต้องปล่อยตัวปล่อยใจไปกับหนัง อย่าพยายามคิดว่าตัวเองเป็นคนดูประเภทฉันเป็นพระเจ้า… ฉันรู้ทุกเรื่อง… แต่ให้สมมติว่าตัวเราเองก็เป็น “แอน” ที่ติดอยู่ในนั้น ไม่เข้าใจอะไรทั้งสิ้น หรือพยายามเล่นเกม ลองผิดลองถูก และไปด้นสดเอาดาบหน้าแบบ “แอน” พร้อมกับดื่มด่ำงานภาพ งานศิลป์ และงานโปรดักชั่นต่าง ๆ ของหนัง แล้วเราจะเอ็นจอยกับหนังได้เอง ส่วนเรื่องงไม่งงกับเส้นเรื่องหลักนั้น อย่างท่ีบอกไป เดี๋ยวตอนจบ หนังจะเฉลยเราเอง
ส่วนใครที่คิดจะไปดูนักแสดงนั้น ต้องทำใจก่อนว่า แต่ละ “แอน” ได้ออกมาคนละไม่กี่นาทีเท่านั้น เพราะในหนังมีคนชื่อ “แอน” เยอะมาก ไม่ใช่แค่เท่าที่เห็นบนโปสเตอร์