เราเกิดไม่ทันและยังไม่เคยดู Ghostbusters สองภาคแรก ซึ่งเป็นฉบับยุค ’80 และเป็นเสมือน pop culture ที่เราพบเห็นในหนัง ซีรีส์ หรือคอสตูมงานฮาโลวีนบ่อย ๆ
แต่เราได้ดู Ghostbusters ฉบับปี 2016 ซึ่งเป็นหนังเราไม่ชอบเอาเสียเลย… ไม่เลยสักนิด… เพราะ Paul Feig (ผู้กำกับ Ghostbusters เวอร์ชั่น 2016) พยายามมากเกินไปที่จะทำให้หนัง misogynist น้อยลง ด้วยการปรับแผงให้แก๊งบริษัทกำจัดผีเป็นแก๊งหญิงล้วน แต่สุดท้ายความตื้นเขินของเขา ทำให้ได้แก๊งมนุษย์ป้าที่เละเทะมาเสียแทน
ในปี 2022 นี้ เราเปิดใจดู Ghostbusters: Afterlife เพราะตัวละครรุ่นเด็กอย่าง Finn Wolfhard (จาก Stranger Things และ It) ที่เติบโตมาอย่างดี กับเด็กหญิงมหัศจรรย์ Mckenna Grace (จาก Gifted, I, Tonya, The Haunting of Hill House) ล้วน ๆ ซึ่งถือว่าเป็นการแคสต์ที่ smart choice เพราะตีตลาดคนรุ่นใหม่ได้อย่างดี
อีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ Ghostbusters: Afterlife มีความน่าสนใจก็คือ มันเป็นหนังครอบครัวที่สร้างโดยครอบครัว กล่าวคือ ภาคนี้กำกับโดย Jason Reitman (จาก Juno, Up in the Air, Tully) ลูกชายแท้ ๆ ของ Ivan Reitman ผู้กำกับสองภาคแรกในตำนานนี่เอง
ที่สำคัญ Jason Reitman ทำให้แฟรนไชส์ของพ่อ sexist และ racist น้อยลงได้จริง ๆ โดยใน Ghostbusters: Afterlife เขาให้ตัวหลักคือครอบครัวหนึ่ง ซึ่งเป็นทายาทของ หนึ่งในสมาชิก Ghostbusters รุ่นบุกเบิก

ดาวเด่นของเรื่องคือ Phoebe (Mckenna Grace) เด็กหญิงสายเนิร์ด ไร้สังคม ที่ฉลาดและเก่งวิทย์ตามด้วย Callie (Carrie Coon จาก Gone Girl) แม่ของเธอ ซึ่งเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ติดหนี้ค่าเช่า จึงต้องพาลูก ๆ เดินทางไปบ้านนอกเพื่อรับมรดกหลังพ่อเสียชีวิต เธอมีปมเรื่องพ่อทอดทิ้ง จึงไม่ยอมบอกลูก ๆ มาก่อนว่าคุณตาของพวกเขาคือ Dr. Egon Spengler (Harold Ramis ผู้ล่วงลับไปเมื่อปี 2014) แห่ง Ghostbusters
ตัวละครชายเป็น supporter ที่ดี (ไม่ใช่แบบ Chris Hemsworth ในหนังเวอร์ชั่น 2016) ตั้งแต่ Trevor (Finn Wolfhard) ผู้เป็นพี่ชายคนโต วัยแตกหนุ่ม และรับบทเป็นขาซิ่ง ขับรถคาดิลแลกซิกเนเจอร์ของเรื่อง, Podcast (Logan Kim น้องใหม่จอมขโมยซีน) คู่หูสุด geek ของ Phoebe, และ Gary Grooberson (Paul Rudd จาก Ant-Man) คุณครู Phoebe และกิ๊กใหม่ของคุณแม่

สำหรับเรา ซึ่งไม่เคยดูสองภาคแรกมาก่อน เราคิดว่า Ghostbusters: Afterlife ปูเรื่องนานไปนิดนึง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเลยทีเดียวกว่าจะเริ่มจับผีตัวแรกหรือเริ่มเข้าเรื่อง และมีความไม่เมคเซนส์อยู่เยอะ เช่น ชุดจับผีของคุณตาที่เด็ก ๆ หยิบมาใส่ได้พอดีตัวทุกคน โดยรวมเลยค่อนข้างเบื่อ ๆ เฉย ๆ ไม่ได้ชอบ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ได้เกลียดอย่างเวอร์ชั่น 2016 ส่วนหนึ่งคือ ตัวละครสามแม่ลูกมีเคมีที่เข้ากันดีและมีเสน่ห์ทางการแสดงทุกคน (โดยเฉพาะ น้อง Finn Wolfhard ที่ยิ่งโตยิ่งน่ารัก) ตรงกันข้าม เราคิดว่าภาคนี้อาจช่วยฟื้นคืนชีพแฟรนไชส์ให้รีบู๊ทหรือฟื้นคืนชีพได้จริง ๆ เสียที
และภาคนี้ยังมีข้อดีสำหรับแฟน ๆ ของแฟรนไชส์ ที่น่าจะรู้สึกฟินมากกว่าใคร ๆ ตรงที่เหมือนได้ไปงาน reunion เพราะหนังมี easter eggs หรือจุดที่เชื่อมโยงกับภาคเก่ามากมาย เช่น เครื่องมือกำจัดผี และตัวบุคคล ตั้งแต่ต้นจนไปถึงฉากหลังเครดิตฉากสุดท้ายเลยทีเดียว