เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เป็นผู้กำกับและมือเขียนบทที่มีสไตล์หรือลายเซ็นของตัวเองชัดเจน โดยเขาสร้างสมประสบการณ์ บารมี และฐานแฟนคลับมาจากผลงานเล็ก ๆ จนค่อย ๆ ขยับขยายจากกลุ่มอินดี้มาเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนกระแสหลักมากขึ้น ตั้งแต่ Mary is happy, Mary is happy (2556) และเริ่มแมสยิ่งขึ้นจาก ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (2558) ซึ่งจัดจำหน่ายโดยค่ายใหญ่อย่างจีทีเอช (ตอนนั้นยังไม่ได้แยกมาเป็นจีดีเอช) ก่อนจะมาเป็น ฮาวทูทิ้ง ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ (2562)
เราคิดว่า ฮาวทูทิ้งฯ กับ ฟรีแลนซ์ฯ เหมือนกันหลายอย่าง (ก็นะ ก็มันคือหนังเต๋อ สไตล์เต๋อ) หลัก ๆ เลย เราคิดว่า คนดูจะอินกับหนังมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการที่เขาพบว่าตัวเอง relate กับหนังหรือตัวละครในหนังมากน้อยอย่างไร จึงไม่แปลกเลยที่ฟีดแบ็คของคนดู โดยเฉพาะเมื่อมีกลุ่มคนไปดูจำนวนมาก มันจะเสียงแตกไปคนละทิศคนละทาง
โดยส่วนตัว เราเคยอินกับ ฟรีแลนซ์ฯ มาก เพราะในช่วงปีที่หนังฉาย ชีวิตของเราเรียกได้ว่าเหมือนจะเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัวก็ว่าได้ เราจึงพบตัวเองเหมือนตัวละครยุ่น (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) ในหลาย ๆ อย่าง และอินกับหนังพอสมควร แต่ในวันนี้ ซึ่งเราไม่ได้เป็นฟรีแลนซ์เต็มตัวเหมือนตอนนั้นแล้ว เมื่อเราออกห่างจากวิถีฟรีแลนซ์ออกไป แล้วพอเรากลับไปดู ฟรีแลนซ์ฯ ซ้ำ เรากลับเฉย ๆ กับหนัง และบางทีก็หงุดหงิดที่ยุ่นบริหารจัดการชีวิตไม่ดี
แต่ถึงแม้เราจะไม่อินกับ ฟรีแลนซ์ฯ เท่าแต่ก่อน แต่เราก็ยังมองว่ามันเป็นหนังที่ดีอยู่เหมือนเดิมนะ เพราะหนังมันก็ทำหน้าที่ของมัน สะท้อนชีวิตของคนคนนึง (หรือกลุ่มนึง) ในช่วงเวลานึงของชีวิต และหนังก็สามารถกระตุ้นให้คนดู engage กับหนังได้ เช่น บ่นการกระทำของตัวละคร ออกมาคิด ถกเถียง หรือพูดถึงหนังอยู่บ้างหลังจากดูจบ

ล่าสุด ฮาวทูทิ้งฯ ก็เหมือน ฟรีแลนซ์ฯ ที่คนดูเสียงแตก โดยส่วนตัวเราเองก็อยู่ฝ่ายเฉย ๆ ไม่ได้อิน ไม่ได้ร้องไห้ แต่ชื่นชมตรงที่เห็นความตั้งใจในการทำหนังที่ยืดหยัดในความเป็นตัวของตัวเอง และยังทำให้คนดูต่างก็มีความคิดเห็นเกี่ยวกับหนัง ซึ่งมันช่วยให้คนดูได้คิด discuss และ broaden ความคิดของตนเองให้กว้างกว่าเดิมที่เป็นอยู่ ที่สำคัญมันเพิ่มความหลากหลายหรือทางเลือกให้กับคนดูและวงการภาพยนตร์ไทย
แต่ทั้งนี้ เราแอบเจอ จีดีเอช เขียนโปรโมทฮาวทูทิ้งฯ ว่าเป็น “หนังรักส่งท้ายปี” หรือ “ภาพยนตร์รักของคนอยากทิ้ง แต่ไม่อยากตัดใจ” ซึ่งอันนี้เราไม่เห็นด้วย มันไม่ใช่หนังรักแบบคิดถึงแฟนเก่า หรือหนังรักแบบแฟนเก่ามาเจอแฟนใหม่ ดังนั้นการใช้คำว่า “หนังรัก” มันดูพยายามทำให้หนังมันแมสและหลอกขายให้คนมาดูไม่ต่างกับการตีหัวลากเข้าถ้ำ
ฮาวทูทิ้งฯ เป็นหนังชีวิต บอกเล่าเรื่องราวของ จีน (ออกแบบ ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) ที่ต้องการเคลียร์บ้านรก ๆ เพื่อรีโนเวตเป็นโฮมออฟฟิศสไตล์มินิมอล โดยมีเจย์ พี่ชายของเธอ (ถิรวัฒน์ โงสว่าง) เป็นผู้ช่วยจัดเก็บบ้าน และมีพิงค์ เพื่อนของเธอ (พัดชา กิจชัยเจริญ) ช่วยดีไซน์ให้ โดยที่แม่ (อาภาศิริ จันทรัศมี) ไม่เห็นด้วย แต่ระหว่างที่เธอกำลังคัดแยกของทิ้ง ก็มาเจอของเก่าที่เป็นของเอ็ม แฟนเก่าของเธอ (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) เธอจึงเอาของไปคืน และได้พบว่าตอนนี้เอ็มอยู่กับ มี่ แฟนใหม่ของเขา (ฟ้า ษริกา สารทศิลป์ศุภา)

เนื่องจากในหนังมี mention ว่า มินิมอลก็คือพุทธ ๆ เหมือนการปล่อยวาง และเราเห็นมีคนยกพระพุทธเจ้าขึ้นมา mention หรือเทียบเคียงด้วย ทำให้เราได้มองถึงมุมพุทธ ๆ จริง ๆ อีกทางเหมือนกัน กล่าวคือ ถ้าย้อนไปดูพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะก็ออกจากกิเลสทางโลก สละราชสมบัติ ละทิ้งลูกเมียและราษฎร เพื่อไปแสวงหาหนทางในการหลุดพ้น แต่นั่นคือเรื่องเมื่อประมาณ 2500 ปีที่แล้ว เราไม่มีความเข้าใจในบริบททางสังคมสมัยนั้นเพียงพอที่จะตัดสินเจ้าชายเค้าได้ แต่แค่อยากโน้ตไว้ว่า หนังมันทำให้เรานึกถึงเคสพุทธ ๆ นี้เหมือนกัน
สำหรับหนังเรื่องนี้ ศูนย์กลางของเรื่องคือจีน ซึ่งเป็นคนที่มักเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว ไม่ว่าจะกับเพื่อน ครอบครัว หรือคนรักเก่า คือเป็นตัวละครที่คนดูจะเกลียดได้ไม่ยาก ถ้าพูดตรง ๆ คือ จีนเป็นคนเห็นแก่ตัว และพยายามทำให้ตัวเองไม่เป็นฝ่ายผิด (ซึ่งเธอก็ยังคง keep doing สิ่งนั้นไปจนถึงวินาทีสุดท้ายของหนัง)
คหสต จริง ๆ แล้วการเลือกทิ้งอะไรที่ทำให้ตัวเองดูแย่ และเลือกเก็บเฉพาะสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง มันไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีหรอกนะ แต่บางครั้งก็ควรจะดูด้วยว่ามันกระทบคนอื่นด้วยหรือเปล่า บางทีจะมาอ้างว่าคือการปล่อยวางหรือให้คนอื่นปล่อยวางกับคุณไม่ได้
อย่างในบ้านของเอ็ม (ซันนี่) ในเรื่อง ก็ไม่ได้มินิมอลอะไร ของเยอะ แต่ไม่ถึงกับเรียกว่ารก มันเป็นบ้านที่เรารู้สึกว่ามันเป็นบ้าน เพราะมันให้ความรู้สึกกับเราว่าที่นี่คือ home ที่มีคนอยู่อาศัยและใช้ชีวิตที่นี่จริง ๆ สำหรับเรา บ้านหลังนี้มันให้ฟีล alive มากกว่าโฮมออฟฟิศที่จีนกำลังจะทำ

หนังเล่นกับความรู้สึกอย่างมาก ทั้งภาพ เพลง ไดอะล็อก ฯลฯ และมันมีครบหมด ไม่ว่าจะเป็นคนเท คนถูกทิ้ง คนมูฟออน คนไม่มูฟออน ฯลฯ ซึ่งในโลกความเป็นจริงที่คนเราล้วนมีความสัมพันธ์และความทรงจำกับคน/สัตว์/สิ่งของ/สถานที่ต่าง ๆ มันไม่ยากเลยที่แต่ละคนจะเห็นตัวเองในตัวละครนั้น ๆ (โดยเฉพาะเป็นเอ็มหรือเป็นมี่) และรู้สึกอินกับหนัง จนบ้างก็อาจถึงขั้นฟูมฟายหรือดำดิ่งไปในหลุมดำชนิดหาทางออกจากโรงกันแทบไม่เจอ แต่ถ้าคนที่มูฟออนมาแล้ว (แบบว่ามูฟจริง ๆ ไม่ได้มโน) ก็อาจจะแข็งแกร่งพอที่จะไม่ถูกดูดเข้าไปถึงจุดนั้น
เราไม่มีปัญหากับความนิ่ง ๆ หน้าตาย หรือความฮิปสเตอร์ของตัวละคร เพราะหนังพาเราไปอยู่ในโลกของจีน จีนมันก็คงเลือกแล้วว่าคนใกล้ตัวจริง ๆ ของนางก็คงจะสไตล์ไม่ต่างกับนางมาก (แต่ตัวละครอื่นในหนัง เช่น ลุงรับซื้อของเก่า เขาก็ดูเป็นคนปกติทั่วไป ไม่ได้นิ่งหน้าตายนะ) และมันเป็นหนังเต๋อ ๆ ที่กำกับโดย นวพล เขียนบทโดย นวพล ก็ไม่ผิดที่ นวพล จะใส่ความเต๋อลงไปในตัวละครเอก เพียงแต่คนไทยทั่วไปเป็นคน playful ชอบเสวนาสังสรรค์ และชินกับการแสดงที่เล่นใหญ่ ก็ไม่แปลกที่จะอึดอัดหรือรำคาญกับตัวละครเหล่านี้
สิ่งที่เรารู้สึกขัดใจคือ หนังพยายามเรียลจนดูประดิษฐ์ และบางจุดก็ไม่ได้เรียลหรือเนียน เช่น การพ่นคำคมที่เหมือนเอามาจากทวิตเตอร์ หรือความบังเอิญต่าง ๆ ในหนังที่มันดูลงล็อคง่ายดาย ถ้าลดตรงนี้ไปได้ คนดูอาจจะรู้สึกถูกสอนหรือถูกยัดเยียดบทเรียนชีวิตน้อยลง และแฮปปี้กับสตอรี่ของหนังมากขึ้นก็ได้นะ

ภาพในหนังก็คุมโทนและคงความมินิมอล ซึ่งเราคิดว่าก็สวยงามแบบไม่น่าเซอร์ไพรส์อะไร แต่เราชอบที่ เวลาที่ฉากในหนังมันดูรก ๆ (เช่น บ้านจีนก่อนจัดของ) แล้วกล้องกำลังโฟกัสที่อะไรสักอย่าง สมมติว่าโฟกัสที่จีนเนี่ยแหละ ภาพมันโฟกัสที่จีนได้ไม่เต็มร้อย อาจมีเบลอ ๆ ที่ขอบหน้าหรือไรผมของจีนบ้าง เป็นต้น ในขณะที่ในฉากที่ค่อนข้างคลีน ๆ (เช่น ที่ออฟฟิศของคนที่จีนไปคุยงานด้วย หรือบ้านของจีนหลังจัดเสร็จแล้ว) เราสามารถโฟกัสได้ว่า เราจะเอาสายตาไปวางไว้ที่จุดไหนของเฟรมภาพ
ซึ่งมันทำให้เราระลึกถึงความสำคัญในการจัดการชีวิตขึ้นมาจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดบ้าน การจัดระเบียบไฟล์งานในคอมฯ หรืออะไรก็แล้วแต่ในชีวิต คือถ้าเรารู้จักคัดทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นและจัดเก็บสิ่งที่จำเป็นได้จริง ๆ เราจะสามารถให้ความสำคัญกับสิ่งที่สำคัญของเราหรือโฟกัสกับสิ่งสิ่งนั้นได้อย่างเต็มที่จริง ๆ
อยากบอกพี่เต๋อว่า ถึงแม้หนังจะไม่ได้ทำให้เราอินหรือร้องไห้อย่างที่หลายคนเสียน้ำตาในโรง แต่เราก็ขอบคุณที่หนังพาเราไปหวนคิดถึงอดีตบางอย่างและทำให้เราเชื่อว่าเราสามารถมูฟออนหรือก้าวข้ามผ่านมันมาได้แล้วจริง ๆ เหนือสิ่งอื่นใด หนังสร้างแรงบันดาลใจให้เราจัดเก็บไฟล์ในคอมฯ โทรศัพท์ รวมถึงจัดเก็บห้องนอนของเรา ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งนอกจากแม่แล้ว ไม่เคยมีใครทำแบบนี้กับเราได้ ต้องขอบคุณพี่เต๋อในเรื่องนี้มากจริง ๆ
คะแนนตามความชอบส่วนตัวที่มีต่อหนัง ฮาวทูทิ้งฯ หรือ Happy Old Year = 7.5/10
42 comments
Comments are closed.