ถึงแม้หนังจะถูกดราม่าโดยเหล่าเชฟและสายอาหารทั่วฟ้าเมืองไทย แต่สำหรับคนดูหนังอย่างเรา ๆ นั้น ต้องบอกว่า ถ้าเราสามารถลดอัตตา และแยกแยะให้ออกระหว่าง “ความจริงในโลกจริง” กับ “ความสมจริงในโลกเสมือนจริงหรือ fictional” แล้วมองย้อนกลับไปในวงการหนังไทยตลอดหลายสิบปีมานี้ เราต้องยอมรับว่า Hunger ผลงานกำกับของ สิทธิศิริ มงคลศิริ (จาก แสงกระสือ) และการเขียนบทของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี (จาก Faces of Anne) จัดเป็นหนังไทยออริจินัลของ Netflix เรื่องแรก ที่เป็นหน้าเป็นตาและเป็นความหวังของหนังไทยจริง ๆ
Hunger ไม่ได้เหมือนหนังเรื่องไหนเป็นพิเศษ ถึงแม้เส้นเรื่องจะมีความคล้าย The Menu x Whiplash x Triangle of Sadness หรือ Parasite แต่ก็มีการผสมผสาน บอกเล่าในบริบทสังคมไทยในเนื้อสารที่ชาวต่างชาติก็สามารถเข้าถึงได้อย่างเรื่อง socioeconomic class ซึ่งถ้าว่ากันตามจริง นอกจากคอนเทนต์ LGBTIQA+ แล้ว ทั้งอาหารและประเด็นชนชั้นมันน่าจะเป็น soft power ได้เช่นกัน เพราะค่อนข้างสากล ที่สำคัญอาหารไทยขึ้นชื่อว่าอร่อยไม่แพ้ชาติใดในโลกอยู่แล้ว และประเทศไทยก็ถูกจัดว่ามีความแตกต่างทางชนชั้นสูงอันดับต้น ๆ ในเอเชีย
(คลิก อ่านเพิ่มเติม Rural Thailand Faces the Largest Poverty Challenges with High Income Inequality ของ World Bank, Updated October 2022)
“Your social status is determined by what you eat.”
ธีมของหนังที่เล่าผ่านอาหารคือเรื่อง ชนชั้น ทุนนิยม และตัวตน โดยเล่นกับความหิว (Hunger) ตั้งแต่ความหิวเพราะไม่มีอันจะกินของคนจน กับความหิวกระหายความสำเร็จและการยอมรับทางสังคม หลัก ๆ หนังเล่นกับประเด็น You are what you eat หรืออาหารที่เรากินบ่งบอกสถานะทางสังคมของเรา และการสูญเสียตัวตนในระหว่างทางการทะเยอทะยานตะกายขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งของสังคม
ตัวละครหลักของเรื่องคือ ออย (ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จาก Bad Genius) ที่เติบโตมาอย่างชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างหรือชนชั้นไพร่กระฎุมพี ต้องสืบทอดราดหน้า-ผัดซีอิ๊ว (สไตล์เจ๊ไฝ ที่ชาวต่างชาติบางกลุ่มพอจะรู้จักมักคุ้นอยู่บ้าง) ต่อจากพ่อที่เริ่มแก่ชราและเลี้ยงดูน้องสาวที่ยังอยู่ในวัยเรียน ซึ่งสะท้อนให้เห็นบริบทสังคมไทยเชื้อสายจีน ทั้งในเรื่องของทายาทสืบทอดกิจการแทนที่จะได้ไปตามทางที่ตัวเองชอบ และลูกคนโตที่ต้องเสียสละ-ช่วยบุพการีแบกรับภาระของครอบครัว การทำอาหารของออยจึงเริ่มต้นและขับเคลื่อนด้วยความรักและความจำเป็นในการเอาตัวรอด
ในขณะที่ออยมาจาก local street food มีกลุ่มลูกค้าหลักคือชาวบ้านรากหญ้าฐานพีระมิด อีกฟากหนึ่งของตัวละครคือ ฝั่งของเชฟพอล (ปีเตอร์-นพชัย จาก Homestay) เป็นเชฟชื่อดังคิวทองค่าตัวแพงระดับประเทศ ทำอาหารเกรดพรีเมียมด้วยวัตถุดิบหรูหราราคาแพง มีกลุ่มลูกค้าคือเศรษฐี คนรวย เซเล็บ นักการเมือง หรืออภิสิทธิ์ชนคนชั้นสูง 1 % ของสังคมไทย เริ่มต้นเส้นทางสายอาชีพนี้และขับเคลื่อนทำด้วยความแค้น อคติ และเกลียดชังที่มีต่อกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก
ความแตกต่างระหว่างครัวของออยกับเชฟพอลเสมือนกระจกสะท้อนสังคมไทย ทั้งเรื่องชนชั้นวรรณะและการเมือง กล่าวคือ ทั้งออยและเชฟพอลต่างก็ทำอาหารให้คนกินเหมือนกัน แต่ออยถูกจัดอยู่ในวรรณะ “แม่ค้า” หรือ “แม่ครัว” ห่างไกลจากระดับของเชฟพอล ซึ่งถูกยกย่องให้อยู่ในวรรณะชั้นสูงหรือยอดพีระมิดของวงการอาหาร และพวกอภิชนก็พยายามสร้างกำแพงหรือขีดเส้นแบ่งทางชนชั้นว่า คนอย่างออยไม่มีทางเป็นเชฟได้
แต่ถ้ามองในความเป็นมนุษย์ ถึงแม้ครัวของออยอาจจะดูบ้าน ๆ และไม่ได้มีระบบระเบียบแบบโปรเฟสชันนัล แต่ก็ดูเข้าถึงง่ายและผ่อนคลายกว่าครัวของเชฟพอล ที่เหมือนระบอบเผด็จการทหารหรืออำนาจนิยม ที่บริหารโดยผู้นำที่หยาบคายและขาดความเห็นอกเห็นใจผู้ที่เขาเห็นว่าต่ำต้อยกว่า อย่างที่จะเห็นได้ตั้งแต่ซีนเปิดเรื่อง ที่ทีมของเชฟพอลตั้งหน้าตั้งตาทำอาหารแข่งกับเวลาอย่างขะมักเขม้น (Yes, sir!) ตัดสลับกับภาพของฝูงมดงานที่ต้องทำงานให้พญามด
“food represents social status, not love… food made with love doesn’t exist”.
หนทางสู่การเป็นเชฟของออยในโลกภาพยนตร์อาจไม่ถูกใจเชฟหลายคนในชีวิตจริงที่ต้องตรากตรำร่ำเรียนและขวนขวายมากมายหลายด่านเท่าไรนัก แต่ก็ต้องเข้าใจว่า เชฟพอล ซึ่งเป็นเชฟใหญ่และเป็นคนออดิชั่นออยในหนัง เป็นคาแรกเตอร์ที่ “พิเศษ” และมีความไม่เหมือนเชฟทั่วไปตั้งแต่แรก จึงไม่แปลกที่การคัดคนของเขาจึงแตกต่างจากแบบฉบับทั่วไป
เชฟพอลไม่ได้กำลังมองหาลูกทีมที่ทำอาหารหน้าตาหรูหราแฟนซีหรือประณีตบรรจงได้ และเขาก็ไม่ได้ต้องการลูกทีมที่จบมาจากสถาบันชื่อดัง แล้วเขาก็เห็นว่าออยมีความพิเศษที่ซ่อนเร้น มีสัญชาตญาณ แพชชั่น และพรสวรรค์ แต่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมทำให้เธอไม่เคยมีโอกาสได้เรียนคอร์สทำอาหารราคาแพง หรือกระทั่งเคยสัมผัสลิ้มรส fine dining ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นมื้ออาหารเชิงประสบการณ์ของคนมีอันจะกิน
ออยเบื่อวิถีชีวิตหาเช้ากินค่ำที่ทำอะไรซ้ำ ๆ วนลูปแบบเดิม ๆ และอยากเป็นคนพิเศษ ตอนแรกเธอก็คิดว่า แค่ได้ทำงานเป็นส่วนหนึ่งกับทีมเชฟพอลก็จะได้เป็นคนพิเศษแล้ว แถมได้ช่วยชาวบ้านชาวประมงที่ส่งวัตถุดิบให้เชฟได้มีแหล่งรายได้ที่สมน้ำสมเนื้อ แต่จริง ๆ แล้ว สุดท้ายแล้ว ต่อให้เธอทำดีแค่ไหน เธอก็เป็นได้แค่ตัวประกอบฉากและไม่มีใครสนใจเธอจริง ๆ เลย ยกเว้น ทศ (เป๋า-วฤธ หลานองค์โสมฯ) นักธุรกิจหนุ่มไฟแรงที่เห็นความพิเศษในตัวเธอและอยากสปอนเซอร์ลงทุนเปิดร้านอาหารให้เธอ
นอกจากนี้ ลูกค้าคนรวยหลายคนก็ไม่ได้สนใจอาหารจริง ๆ แต่แรก หากแต่ภูมิใจที่ตัวเองมีสิทธิพิเศษและสามารถ afford มื้ออาหารของเชฟคนดังมากกว่า จึงเกิดคำถามไก่กับไข่เรื่องความพิเศษของเชฟพอล ว่าดีจริงหรืออุปาทานหมู่ (mass hysteria) เช่นเดียวกับความพิเศษของกาแฟที่สกัดจากเมล็ดพันธุ์พิเศษ ว่าเพราะมันพิเศษมันจึงแพง หรือเพราะมันแพงมันจึงพิเศษ?
ในฐานะคนดูอย่างเรา เราคงตอบไม่ได้ว่า รสชาติอาหารของเชฟพอลแท้จริงเป็นอย่างไร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เชฟพอลมีความครีเอทีฟในการสร้างสรรค์เมนูต่าง ๆ ให้เข้ากับธีมงานหรือตัวลูกค้า เช่น ในงานปาร์ตี้วันเกิดนักการเมืองดัง “ป๋าเปรม” ก็ทำอาหารในธีม “กินเลือดกินเนื้อ” ซึ่งซึ่งสะท้อนและจิกกัดแวดวงนักการเมืองและนักธุรกิจนายทุนได้อย่างดี
“Everyone is hungry, but every individual’s hunger is different.”
เพื่อจะเป็นคนพิเศษ ออยพยายามอย่างหนักและเดินรอยตามเชฟพอลโดยไม่รู้ตัว รวมถึงนิสัยเกรี้ยวกราดและเผด็จการกับลูกน้อง เธอค่อย ๆ ออกห่างจากครอบครัว เพื่อน รวมถึงโตน (กรรณ พระเอก MV ซ่อนกลิ่น ของ ปาล์มมี่ และเป็นหลานหม่อมถนัดศรีกับคุณหมึกแดง อินฟลูเอนเซอร์สายอาหารยุคบุกเบิก) ที่เป็นเสมือนทั้งเมนเทอร์และคนรักของเธอ แล้วในที่สุดเธอได้รู้ว่า ความสำเร็จที่เธอเคยหิวกระหายนั้นต้องแลกมาซึ่งความเหงา ความโดดเดี่ยว และการสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ผ่านบทสนทนาของเธอกับอู๋ (เอม ภูมิภัทร จาก ขุนพันธ์ุ 3) เพื่อนแท้ที่อยู่ในเฟรนด์โซนของเธอ
เสียดายที่หนังเน้นเล่าช่วงที่ “ออยเปลี่ยนไป” อย่างเร่งรีบมากกว่าค่อย ๆ พาเราดำดิ่งไปกับความถลำลึกสู่ด้านมืดของเธอ เช่นเดียวกับการพยายามยัดเยียดไดอะล็อกสะท้อนโลกทุนนิยมอย่างบรีฟ ๆ และจงใจเกินไปในบางฉาก เช่น ฉากที่เพื่อน ๆ ของออยนั่งคุยถึงปัญหา first jobbers ในฉากแรก ๆ ของหนัง แทนที่จะค่อย ๆ เล่าหรือสอดแทรกเชิงสัญญะอย่างมีชั้นเชิง
อีกอย่างที่เสียดายคือ ในช่วงท้าย หนังพาเราลงไปในทางที่ค่อนข้างเพลย์เซฟและเดินทางสายกลางไปเสียหน่อย เราคิดว่า มันไม่ผิดและไม่แย่ ที่จะพาไปสู่บทสรุปว่า การรักษาตัวตนและไม่ลืมรากเหง้าเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าความสำเร็จที่ต้องโดดเดี่ยวและละทิ้งศีลธรรม-จรรยาบรรณ
แต่มันก็เป็นไปได้เช่นกัน ที่หนังจะลงเอยไปทางโลกสวยเช่นนั้น โดยที่ในขณะเดียวกัน ก็สามารถขยี้ประเด็นให้แหลกกว่านี้ได้อีก เพราะสุดท้ายแล้ว ต่อให้ออยจะกลับไปทำร้านอาหารข้างทางกับครอบครัวและเพื่อนรักของเธอ แต่เธอก็ไม่ได้เริ่มจากศูนย์อีกต่อไป เธอกลับไปพร้อมกับชื่อเสียงและบารมีที่สร้างสมมา และย่อมมีสาวกที่พร้อมจะสานต่ออุปาทานหมู่ แห่แหนไปเช็คอินที่ร้านเล็ก ๆ ของเธอเพื่อกินอาหารของอดีตเชฟสาวไฟแรงที่โค่นบัลลังก์เชฟพอลได้อีกมากมาย
หรือหนังจะพาคนดูแลนด์ดิ้งไปยังทิศทางประมาณว่า ออยกระโดดลงเข้าสู่ด้านมืดให้มันสุด ๆ แล้วกลายเป็นเชฟพอลคนต่อไป คนดูยุค Post-Parasite อย่างเรา ๆ ก็คงไม่ติดขัดกระไร