PIXAR เป็นค่ายแอนิเมชั่นที่ขึ้นชื่อเรื่อง storytelling อยู่แล้ว แต่เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ค่ายก็ยังอุตส่าห์ดันบาร์ของตัวเองให้สูงยิ่งขึ้นไปอีกกับการเล่าคอนเซ็ปต์ที่เป็นนามธรรมอย่างความคิดความรู้สึกให้เป็นภาพ เป็นตัวเป็นตนอย่างน่าอัศจรรย์ใน Inside Out
ในหนังภาคแรกโชว์ให้เห็นว่า คนเรามี Emotions’ Headquarters อันประกอบด้วยอารมณ์หลัก 5 อย่าง ได้แก่ Joy, Sadness, Anger, Fear, และ Disgust รวมถึงได้พาทัวร์ mindscape ส่วนที่เป็นความทรงจำ (Memory Orbs) ซึ่งถูกจัดเก็บเป็นลูกแก้วบนเชลฟ์ที่เปรียบเสมือนไลบรารี่, Personality Islands (เช่น Hockey Island และ Family Island) ที่ถูกกำหนดโดยพวก Core Memory, ความคิด (Train of Thought), ความคิดนามธรรม (Abstract Thought), จินตนาการ (Imagination Land), ความฝัน (Dream Productions), และจิตใต้สำนึก (Subconcious) ด้วย
ตัวละครเด็ก Riley ในหนังภาคต่อ Inside Out 2 เติบโตขึ้นเข้าสู่วัย “แตกเนื้อสาว” หนังก็มีขยาย mindscape ขึ้นมา ตั้งแต่การแนะนำอารมณ์ใหม่ที่ซับซ้อนขึ้นอย่าง Anxiety, Envy, Embarrassment, และ Ennui จนไปถึง Belief System หรือ Sense of Self (เช่น I’m a good person หรือ I’m not good enough) ที่จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมและตัวตนที่แท้จริงของเรา
เท่าที่เราจำความได้ เราได้รู้จักกับอารมณ์ “วิตกกังวล” หรือ Anxiety ครั้งแรกตอนที่กำลังจะจบ ป.6 และจะต้องขึ้นชั้น ม.1 ที่โรงเรียนแห่งใหม่ จนทุกวันนี้ เราอายุ 30 กว่าแล้ว เราก็ยังมี Anxiety กับ Sadness เป็นคู่หูเพื่อนรัก ในขณะที่ Joy ที่เคยเป็นเพื่อนรักในวัยเยาว์ กลับกลายเป็นแค่เพื่อนเก่า old school ที่เราได้พบปะพบเจอแต่ตามโอกาส เพราะอย่างที่เขาว่า ยิ่งเราโตขึ้น ความสุขก็ยิ่งน้อยลง
Do you know how hard it is to stay positive all the time?
แต่ถึงกระนั้น Anxiety ก็ไม่ใช่ตัวร้าย ทุก ๆ อารมณ์ล้วนมีข้อดีข้อเสีย มีหน้าที่และความจำเป็นในการมีอยู่ เช่น Anxiety ก็ช่วยไกด์เรา ช่วยปกป้องเราจากความผิดพลาดหรือสิ่งที่ยังมองไม่เห็น เพียงแต่ Anxiety ซึ่งคือความวิตกกังวลกับความไม่แน่นอนในอนาคต มักเป็นขั้วตรงข้ามกับ Joy ที่พยายามให้เรามองโลกในแง่ดีและอยู่กับปัจจุบัน
ความทรงจำก็เช่นกัน ไม่ว่าจะดีจะร้าย มันก็ล้วนมีข้อดีข้อเสีย และช่วยให้เราเป็นคนที่แข็งแกร่ง การเลือกจำแต่สิ่งดี ๆ ไม่ได้ช่วยให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ความสมบูรณ์มันย่อมเกิดจากความบาลานซ์ระหว่างความสุข-ความเศร้า หรือความสำเร็จ-ความล้มเหลว
ภาพรวมของ Inside Out 2 อาจจะยังไม่คมหรือสดใหม่เท่าภาคแรก แต่ PIXAR ก็ยังคงรักษามาตรฐาน เล่าเรื่องต่อยอดและขยายคอนเซ็ปต์ได้ดี และนำพาไปสัมผัสถึงความสวยงามและความลึกซึ้งของการเป็นมนุษย์ได้อย่างน่าทึ่งอีกครั้ง Inside Out 2 สำหรับเราจึงยังถือเป็นหนัง coming-of-age ที่ดูได้ทุกเพศทุกวัย สะท้อนความเป็นจริงของชีวิตที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและความซับซ้อนของอารมณ์ ช่วยให้เรารู้จัก เข้าใจ และรับมือกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ดีมากขึ้น พร้อมกับเปิดโอกาสให้เราได้โอบรับในทุก ๆ มิติความหลากหลายในตัวเองและรักในทุก ๆ อารมณ์ที่เรามี