เกือบ 9 ปีแล้ว ไวเหมือนโกหก นับตั้งแต่ Chad Stahelski อดีตสตันท์แมนจาก The Matrix (ไตรภาคปี 1999 – 2003) หนังในตำนานตลอดกาลของพระเอก Keanu Reeves ได้กู้หน้าหนังแนวแอ็คชั่นที่คนเริ่มเอียนและปลุกพระเอกคู่ใจที่เกือบถูกลืมอย่าง Keanu Reeves ให้ฟื้นคืนชีพมารับบทอดีตนักฆ่าพูดน้อยต่อยหนัก เป็นคนเหล็ก เป็นคนอึดตายยาก ที่คนทั่วโลกรู้จักกันในนาม John Wick
จุดเริ่มต้นของมหากาพย์นี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ลูกชายของหัวหน้าแก๊งมาเฟียใหญ่มาฆ่าหมาสุดรักและขโมยรถสุดหวงของเขา เขา… ซึ่งจริง ๆ วางมือจากการเป็นนักฆ่าไปแล้ว…. ต้องรีเทิร์น ออกมาแก้แค้น แต่ถึงแม้เขาคนเดียวจะฆ่าล้างบางทั้งแก๊งมาเฟียได้แล้ว ในภาคสอง ก็มีไฟล์ทบังคับให้เขาต้องไปฆ่าคนจากสภาสูงอีก แล้วมันก็ดันไปลงเอยที่เขาฆ่าคนใต้ชายคาโรงแรม The Continental ซึ่งถือว่าผิดกฎจักรวาลนักฆ่าอย่างร้ายแรง ส่งผลให้ถูกอเปหิจากวงการ และถูกสภาสูงหมายหัวด้วยค่าหัวสูงละลิ่ว ทำให้ในภาคสาม เขาต้องต่อสู้กับนักฆ่าล่าหัวและนักฆ่ามืออาชีพจากทั่วทุกสารทิศ
ในภาค 4 นี้ ซึ่งเล่าเรื่องประมาณครึ่งปีต่อมาจากหนังภาค 3 (เรื่องราวที่เกิดขึ้นหนังภาค 1-3 สโคปเวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น) ตัวละครใหม่หรือตัวร้ายในภาคนี้เป็นผู้มีอำนาจที่เป็นตัวแทนจากสภาสูงแบบจริง ๆ นั่นก็คือ Marquis de Gramont (Bill Skarsgård จาก It) ที่ตั้งใจจะสิ้นสุดวัฏจักร John Wick ให้มันจบ ๆ ไปเสียที โดยเริ่มต้นจากคนรอบตัวที่ช่วยหรือเป็นพันธมิตรของ John Wick เช่น Winston ผู้จัดการโรงแรมสาขานิวยอร์ก (Ian McShane จาก Pirates of the Caribbean), พ่อบ้าน Sharon (Lance Reddick ผู้ล่วงลับ), Bowery King (Laurence Fishburne จาก The Matrix), จนถึงล่าสุดคือ Shimazu โรงแรมสาขาโอซาก้า (Hiroyuki Sanada จาก The Wolverine) กับลูกสาวของเขา Akira (ป๊อปสตาร์ Rina Sawayama)
Marquis บีบบังคับให้ Caine (Donnie Yen จาก Rogue One: A Star Wars Story) อดีตนักฆ่าตาบอดมือดีและอดีตเพื่อนรักของ John Wick ไปตามฆ่า John Wick ในขณะเดียวกัน ก็พยายามใช้อำนาจสูงในการเพิ่มเงินรางวัล ทำให้นักฆ่ามากมายยังอยากกรูเข้าไปฆ่า John Wick รวมถึง Mr. Nobody (Shamier Anderson) ซึ่งเป็นนักแกะรอยกับน้องหมาคู่ใจของเขา
จะเห็นได้ว่า หนังเริ่ม สะท้อนระบอบการเมือง อำนาจหรือชนชั้นวรรณะ อย่างชัดเจนมากขึ้น จากที่ภาคแรก เหมือนหนังแอ็คชั่นล้างแค้นทั่วไป (แต่ฉากแอ็คชั่นไม่ทั่วไป) เต็มที่คือ สะท้อนสังคมทุนนิยมและมาเฟีย ที่มีเงินเท่ากับมีอำนาจ แต่ภาคนี้ชัดเจนเลยว่า สภาสูงก็เหมือนรัฐบาลหรือราชวงศ์ชั้นสูง ที่มีทั้งเงิน อำนาจ และพริวิลเลจ สามารถชี้ชะตาคนอื่นได้ และใช้ชีวิตอยู่บนความหรูหราฟุ้งเฟ้อ
นอกจากนี้ เราจะได้เห็นบันไดบ่อย ๆ มาตั้งแต่ภาคก่อน ๆ ซึ่งบันไดมักจะใช้ในการเปรียบเปรย ทั้งการขึ้นสวรรค์-ตกนรก สูงสุดสู่สามัญ การตะเกียกตะกายขวนขวายเพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้น ฯลฯ แต่จุดสูงสุดของบันไดมักเท่ากับอิสรภาพ (ใช่… จุดสูงสุดของชีวิตคืออิสรภาพ) โดยในแฟรนไชส์นี้ ก็มักจะมีฉากแอ็คชั่นที่ (เจ็บ) น่าจดจำหลายฉาก เพราะหนังเค้าเน้นถ่ายจากมุมไกล ให้คนดูรู้สึกว่าได้เป็นผู้เห็นเหตุการณ์จริง เห็นว่าคนตีกันจริง ตกจริง อ่วมจริง โดยเฉพาะในภาคสุดท้ายนี้ ที่จัดหนักขึ้น จนลืมไม่ลง กับฉากแอ็คชั่นบนบันไดสองร้อยกว่าขั้น และอุปสรรคอีกหลายสิบตัว แบบช้ำแล้วช้ำเล่า
ถึงแม้ในภาคสุดท้ายนี้ จะดำเนินมาเป็นภาคที่ 4 แล้ว และมีหลายสิ่งจากภาคแรกที่นำมาใช้ซ้ำจนกลายเป็นของคลาสสิกซิกเนเจอร์ เช่น บันได ดินสอ ฯลฯ แต่เขาก็ยังมอบความสดใหม่ไม่จำเจให้คนดูได้อ้าปากค้างและหัวใจสูบฉีดแรงมากได้ทั้งเรื่อง จุดเด่นของแฟรนไชส์นี้ที่ทำให้แตกต่างจากหนังแอ็คชั่นทั่วไปคือ เขาออกแบบฉากบู๊และคิวบู๊ออกมาได้อย่างมีศิลปะ ทั้งภาพ แสง สี และเสียง
แฟรนไชส์ John Wick ทำให้เรารู้สึกว่า การทำหนังแอ็คชั่นที่ไม่กลวงและไม่น่าเบื่อนั้นไม่ง่าย การเล่นฉากแอ็คชั่นหรือการจัดการจำคิวบู๊ของเหล่าสตั๊นท์และนักแสดงนั้นก็ไม่ง่าย ยิ่งแฟรนไชส์นี้ชอบเล่นลองเทค เราก็ยิ่งเห็นความยากมันอย่างชัดเจน และโคตรประทับใจ โดยเฉพาะฉากแอ็คชั่นในตึกร้างของภาคนี้ที่ถ่ายจากมุมบนหรือมุมมองเสมือนคนดูกำลังเล่นเกม ที่เรายกให้เป็นหนึ่งในซีนการถ่ายทำที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งปี รวมถึงฉากที่ต่อสู้กันกลางถนนวงเวียนใหญ่ ทุกอย่างมันว้าวมาก จนอยากจะลุกขึ้นปรบมือให้ทุก ๆ คนที่อยู่ทั้งในเบื้องหน้าและเบื้องหลังของฉากนั้น
John Wick ได้ยกมาตรฐานการทำหนังแอ็คชั่นไปอีกหนึ่งระดับ ทั้งสดใหม่และพรีเมียม ยากจะหาผู้ท้าดวลได้ในเร็ว ๆ นี้ อยากให้ทุกคนได้ลองไปสัมผัสประสบการณ์ในโรงภาพยนตร์ แต่ถ้าถามว่า เรื่องนี้ จำเป็นต้องดูบน IMAX ไหม โดยส่วนตัวคิดว่าไม่จำเป็น เพราะหนังไม่ได้ถ่ายด้วยกล้อง IMAX หรือถ้าใครอยากไปฟังเสียงกระหึ่ม ๆ ในโรง IMAX ก็ได้ แต่โดยส่วนตัว เราไม่ไหว ตีกันตุ้บตั้บและยิงกันหูดับตับไหม้แทบลืมหายใจ ฉันเหนื่อยเกินไป