Emma Thompson เป็นผู้หญิงมากความสามารถ นอกจากจะเป็นนักแสดงเจ้าบทบาทแล้ว ยังมีทักษะในการเขียนบทภาพยนตร์ โดยก่อนหน้านี้เธอก็เขียนมาหลายเรื่อง และเคยชนะออสการ์สาขาบทยอดเยี่ยมจากเรื่อง Sense and Sensibility (1995) ซึ่งเธอยังได้เข้าชิงสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน
หนังโรแมนติก-คอเมดี้ Last Christmas ภายใต้การกำกับโดย Paul Feig (จาก A Simple Favor, Spy, Ghostbusters) ก็เป็นผลงานเรื่องล่าสุดที่ Emma Thompson คิดสตอรี่และเขียนบทขึ้นมาเอง อีกทั้งยังร่วมแสดงในบทแม่นางเอกจอมดราม่าอีกด้วย ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ เราซื้อการแสดงของเธอได้เหมือนเดิมอยู่นะ แต่ถ้าในส่วนของบทเนี่ย เรื่องนี้ เราคงไม่ซื้อ…
Last Christmas, I gave you my heart. But the very next day you gave it away. This year, to save me from tears, I’ll give it to someone special.
– Wham!
เรื่องย่อ Last Christmas
Last Christmas ได้แรงบันดาลใจมาจากเนื้อเพลง Last Christmas ของ George Michael อย่างโต้ง ๆ ชัดเจน เริ่มตั้งแต่ Kate หรือ Katarina (แม่มังกร Emilia Clarke จาก Game of Thrones) นางเอกของเรื่องเนี่ย มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักร้อง และมี George Michael เป็นศาสดา
แล้วบรรยากาศในหนังคือช่วงใกล้เทศกาล และ Kate ก็ทำงานในร้านที่ขายของตกแต่งคริสต์มาส (ซึ่งเราสงสัยมากว่า ของมันขายได้ตลอดปีขนาดนั้นเลย?) ของบอสสาวใหญ่คนจีนแท้ ๆ ที่เธอเรียกว่า Santa (Michelle Yeoh จาก Crazy Rich Asians)
Kate เป็นคนเละเทะไม่เอาไหนตั้งแต่ป่วยหนัก และไม่ยอมกลับไปอยู่ที่บ้านพ่อแม่ เพราะเธอเบื่อแม่ของเธอ (Emma Thompson) ที่อีช่างดราม่า ขี้กังวลเกินเหตุ ซึ่งเป็นผลจากโรคซึมเศร้า
แต่แล้ว Kate ก็ค่อย ๆ ดีขึ้น หลังจากได้พบกับ Tom (Henry Golding จาก Crazy Rich Asians) อาสาสมัครในศูนย์ช่วยเหลือผู้ไร้บ้าน (homeless shelter) ซึ่งพาเธอไปทำอะไรใหม่ ๆ และช่วยเปลี่ยนมุมมองการมองโลกของเธอ
รีวิว/วิเคราะห์/วิจารณ์ LAST CHRISTMAS
ในแง่ของความเบาสมอง คลายเครียด ฟีลกู้ด หรือดูเพลิน ๆ ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี ก็ยอมรับว่า หนังทำได้โอเค ส่วนหนึ่ง (หรือส่วนใหญ่) ก็เพราะการแสดงของนักแสดงด้วย ตั้งแต่ Emilia Clarke ที่น่ารักสดใสและพลังล้นจอ, Michelle Yeoh ที่มีบทน่ารักครุคริขโมยซีน, และ Emma Thompson ที่ตรึงคนดูอยู่หมัดทุกซีนและเรียกเสียงหัวเราะได้เหมือนกัน
เรื่องนี้ ผู้ชายเป็นตัวประกอบ ขนาดพ่อของนางเอกที่นั่งหัวโด่อยู่ในบ้าน บางทีเราก็ไม่รู้ว่าจะมีมาทำไมเลย กล่าวคือ ในขณะที่ทุกคนในบ้านจะมีความไม่ปกติ เช่น นางเอกเป็นโรคและเหลวเป๋ว พี่สาวนางเอกเป็นเกย์ และแม่นางเอกเป็นโรคซึมเศร้า แต่พ่อคือไม่มีอะไรมาก หนังบอกแค่ว่าเคยเป็นทนายแต่ตอนนี้ต้องมาขับอูเบอร์ หรือผู้ชายที่คู่กับเจ๊ Santa ก็จู่ ๆ ก็โผล่มาแล้วก็ปิ๊งปั๊งกันกลางร้าน ก็ไม่มีที่มาที่ไป
ที่เราต้องการจะสื่อก็คือ เรารู้สึกว่า Emma Thompson เหมือนไม่ค่อยให้ความสำคัญอะไรเท่าไหร่กับตัวละครชาย ยกเว้นพระเอก ที่ต้องมีบทบาทหน่อย เพราะเป็นไฟล์ทบังคับของการทำหนังรัก แต่ถึงกระนั้น ดูจนจบแล้ว เราก็ยังรู้สึกอยู่ดีว่า การมาการไปของพระเอกก็ยังดูเลื่อนลอย ยังดูเบา ๆ ทื่อ ๆ และยากที่จะทำให้คนดูอย่างเราเชื่อได้ โดยเฉพาะในจุด climax หรือ twist ของเรื่อง ซึ่งตรงนี้แหละที่เราไม่ชอบ และเราไม่ซื้อ แล้วดันเป็นจุดสำคัญหรือจุดหลักของเรื่องเสียด้วยสิ
แล้วอีกอย่าง ปกติเราก็ไม่ค่อยมองว่า การพาคู่เดทบุกรุกไปสถานที่ของคนอื่น เช่น ลานไอซ์สเกต ในยามวิกาล ซึ่งผิดกฎหมายอย่างชัดเจนเนี่ย มันน่าเอามา romanticize ตรงไหนอยู่แล้วด้วย (ใครไม่เข้าใจเรา ลองดูหนังเรื่อง Isn’t It Romantic บน Netflix ดูด้วยก็ได้)
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ นี่เป็นหนังรอมคอมที่สอดแทรกการเมืองในเรื่องของ refugee และ Brexit โดยหนังเปิดเรื่องที่ปี 1997 สมัยครอบครัวนางเอกยังอยู่ยูโกสลาเวีย แล้วตัดมาในปี 2017 ที่ลอนดอน ซึ่งก็อย่างที่หลายคนคงทราบกันอยู่แล้วว่ายูโกสลาเวียล่มสลายไปแล้ว พวกเขาจึงจำต้องลี้ภัยสงครามมาอยู่ที่นี่ และอังกฤษก็เพิ่งมีประเด็น Brexit เมื่อปี 2016 หนังจึงเลือกเล่าในปี 2017 ไม่ใช่ปี 2019-2020 หรือปีปัจจุบัน
แต่โดยส่วนตัวคิดว่า ประเด็นการเมือง อย่าง Brexit, racist, หรือ xenophobia ก็ยังไม่กลมกล่อมเข้ากับบริบทรอมคอมผสมดราม่าของชีวิตรักและปัญหาชีวิตของนางเอกสักเท่าไหร่ นางเอกแค่เปลี่ยนชื่อจาก Katarina (ที่ฟังดูโซเวียต) เป็น Kate (ที่ดูบริติชกว่ามาก) และไม่ยอมให้คนในครอบครัวเรียกชื่อโดยกำเนิดของเธอนั้นอีก ส่วนตัวละครที่ถูกเขียนให้ขยี้ประเด็น refugee ที่สุด จะเป็นตัวละครของ Emma Thompson เอง หรือบทแม่ของนางเอกนั่นเอง
อาจจะด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากครอบครัวยูโกสลาเวียของนางเอกแล้ว เราจึงได้เห็นตัวละครอีกหลากเชื้อชาติ เช่น พระเอกที่หน้าอาเซียน, เจ้าของร้านที่เป็นคนจีน, นายหน้าและเพื่อนนางเอกที่มีเชื้อสายอินเดีย, แฟนของพี่สาวนางเอกที่น่าจะเชื้อสายแอฟริกัน ฯลฯ และนอกจากเรื่องเชื้อชาติแล้ว หนังยังพยายามใส่ความ inclusion หรือประเด็น diversity ให้มากขึ้น โดยการให้ตัวละครพี่สาวนางเอกเป็นเกย์ ตามที่ได้เกริ่นไปแล้วข้างต้น
ประเด็น Refugee ชัดเจนขึ้นอีกโดยการนำเสนอผ่านศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน ที่คนไร้บ้านต้องการที่พักหลับนอน เครื่องนุ่งห่ม และอาหารประทังชีพ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นส่วนที่เราดูแล้วรู้สึกดี รู้สึกได้แรงบันดาลใจที่จะเป็นคนที่ดีขึ้น อยากจะทำอะไรดี ๆ เพื่อคนอื่นหรือเพื่อสังคมบ้าง เพราะมันชัดเจนมาก เมื่อนางเอกเริ่มมองโลกเปลี่ยนไปและใส่ใจคนรอบข้างมากขึ้น มันเปลี่ยนโลกของคนรอบข้างของเธอด้วย และโลกมันสวยงามน่าอยู่มากขึ้นจริง ๆ
โดยสรุป Last Christmas เป็นหนังคริสต์มาสที่ดูได้เพลิน ๆ ฟีลกู้ด สร้างแรงบันดาลใจ ให้ข้อคิดชีวิต นางเอกน่ารัก นักแสดงรวม ๆ ดี ถึงแม้พาร์ทรอมคอมกับพาร์ทการเมืองยังขาด ๆ เกิน ๆ แต่ก็พอรับได้ จะมีก็บางจุด (ซึ่งเป็นจุดใหญ่) ที่เรายังไม่เชื่อและไม่ซื้อ อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้ก็ทำให้ความรู้สึกของเราตอนฟังเพลง Last Christmas เปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 7/10
90 comments
Comments are closed.