เราดูบุพเพสันนิวาส ๒ มาหลายอาทิตย์แล้ว ก็ชั่งใจอยู่นานว่าจะเขียนถึงหนังเรื่องนี้ดีหรือไม่ และก็ปล่อยทิ้งไว้โดยที่ไม่รีบเขียนอะไร เพราะยังไงหนังก็ขายได้ด้วยตัวมันเอง แต่เราก็จะบันทึกความรู้สึกส่วนตัวของเราจากมุมมองของเราไว้สักหน่อย เช่นเดียวกับที่เราเขียนถึงหนังเรื่องอื่น ๆ ที่ดูในโรง และเช่นเดียวกับที่นางเอกกล่าวสรุปในช่วงท้ายของภาพยนตร์เรื่องการจดบันทึกในมุมมองต่าง ๆ นั้นแล
สำหรับ บุพเพสันนิวาส ภาคแรก ที่เรื่องราวอยู่ในยุคสมเด็จพระนารายณ์ฯ แห่งกรุงอโยธยา เราค่อนข้างพึงพอใจ ในแง่การมอบความบันเทิงในครัวเรือนและการกระตุ้นซอฟต์พาวเวอร์ จนถือเป็นปรากฏการณ์ก็ว่าได้ แต่พอเอาละครขยับมาทำเป็นภาพยนตร์อย่าง บุพเพสันนิวาส ๒ เราไม่ค่อยซื้อสักเท่าไหร่ (เช่นเดียวกับนาคี 2) และก็คาดหวังว่ามาตรฐานมันจะขยับขึ้นตามและให้คุณค่าในแบบภาพยนตร์
บุพเพสันนิวาส ๒ ผลงานของผู้กำกับ ปิ๊ง อดิสรณ์ (ผู้กำกับ รถไฟฟ้า มาหานะเธอ) มีความยาวเกือบ 3 ชั่วโมง (อีกนิดจะเท่า Avengers) สำหรับเรา มันค่อนข้างยาวเกินความจำเป็น เพราะหนังอยากจะขายทั้งฉากเกี้ยวของคู่พระนาง และขายทั้งเรื่องประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นด้วย (ถ้าจะเรื่องเยอะแบบนี้ น่าจะเหมาะเป็นละครแบบภาคแรกมากกว่า)
สำหรับ บุพเพสันนิวาส ๒ คนดูไม่จำเป็นต้องดูภาคแรกมาก่อนก็สามารถดูรู้เรื่อง แต่ถ้าเคยดู ก็จะเข้าใจบริบทบางอย่างมากกว่า เช่น cameos และ มนต์กฤษณะกาลี อีกอย่างหนึ่ง หนังเรื่องนี้เหมือนเป็นเรื่องราวของหนุ่มตัวละครใหม่ แล้วพี่หมื่นกับแม่หญิงการะเกดที่กลับชาติมาเกิดนั้นมาเป็นตัวเสริมทัพของพ่อหนุ่มคนนั้นอีกทีเสียมากกว่า
ในชาตินี้ ภพ หรือขุนสมบัติบดี (โป๊ป ธนวรรธน์) เป็นผู้เชื่อในบุพเพสันนิวาสและตามจีบ แม่หญิงเกสร (เบลล่า ราณี) เพราะรูปร่างหน้าตาเหมือนกับนางในฝันที่เขาฝันถึงทุกคืน แต่เกสรไม่เชื่อในบุพเพสันนิวาส เป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้า ร่ำเรียนวิชากับบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ (โจนาธาน แซมซัน) รวมถึงภาษาอังกฤษ และพอเธอได้พบกับ เมธัส (ไอซ์ พาริส) เธอก็สนใจเขามากกว่า เพราะเมธัสหน้าฝรั่ง พูดภาษาอังกฤษได้ และใช้ภาษาแปลกเหมือนมาจากอนาคต
เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ไทยยุครัชกาลที่ 3 ที่ตัวละครเอกทั้งสามต้องเข้าไปพัวพัน คือ การมีบทบาทของนักธุรกิจชาวต่างชาติคนดังอย่าง นายหันแตร (แดเนียล เฟรเซอร์) เจ้าของห้างฯ แห่งแรกในประเทศไทย ที่เสมือนเป็นหนึ่งในตัวร้ายในหน้าตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทย เพราะมีความขัดแย้งทางการค้ากับราชสำนัก ซึ่งในหนังหมายถึง เสด็จในกรม (นนกุล ชานน) เกี่ยวกับเรือกลไฟ ‘เอ็กสเปรส’ ที่นำมาเสนอขายแก่สยามประเทศ นอกจากนี้ หนังยังมีบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทยยุคนั้นคนอื่น ๆ อีก เช่น สุนทรภู่ (นิมิตร ลักษมีพงศ์) และหมอบรัดเลย์
ในพาร์ทความรักหรือการจีบกันของพระนางเป็นพาร์ทที่เราไม่อินนัก (ถึงขั้นเบื่อและหาวเลยก็ว่าได้) รู้สึกมันไม่จำเป็นหลายฉาก เหมือนมีเพื่อเซอร์วิซแฟนคลับของคู่จิ้นหรือ ไอซ์ พาริส เสียมากกว่า ในส่วนของพาร์ทประวัติศาสตร์ ซึ่งได้ รอมแพง นักเขียนนิยายจากภาคแรก มาเป็นที่ปรึกษาด้วยนั้น เราค่อนข้างโอเค เพราะพยายามนำเสนอประวัติศาสตร์ในแง่มุมใหม่ และการตีความทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากตำราเรียน ถึงแม้ยังโลกสวยและติดราชาชาตินิยมอยู่มาก แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่หนังไทยเรื่องต่อ ๆ ไปสามารถนำจุดแข็งไปต่อยอดและพัฒนากันต่อไป
สุดท้าย ขอแนบแปะบทความเกี่ยวกับ บุพเพสันนิวาส ๒ กับราชาชาตินิยม ที่น่าสนใจ และเราค่อนข้างเห็นด้วยอย่างยิ่ง ไว้อ่านประกอบเพิ่มเติม มา ณ ที่นี้
– บุพเพสันนิวาส 2 = ทวิภพ-1 พิศวาส ราชาชาตินิยม การกล่อมประสาทด้วยมุมมองชนชั้นนำ
– “บุพเพสันนิวาส 2” นอสตัลเจียแสนหวานเคลือบราชาชาตินิยม