“The story is not quite as you were told,”
ตั้งแต่เล็ก เราจะเคยได้ฟัง/ได้อ่านนิทานก่อนนอนเรื่องเจ้าหญิงนิทราซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใจความประมาณว่า เจ้าหญิง Aurora ต้องคำสาปจาก Maleficent จนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา นอนรอจุมพิตจากรักแท้ที่จะมาปลุกเธอให้ฟื้นคืนมา แต่แล้วเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ดิสนีย์ได้ทำภาพยนตร์ live-action และเล่าเรื่องมุมมองใหม่ของเทพนิยายเรื่องนี้ โดยเน้นที่ด้านของ Maleficent ผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็นนางมารร้ายเสมอมา
ในภาคแรกนั้นก็ไม่มีอะไรมาก เริ่มต้นจาก Maleficent ก็เป็นเฟย์จิตใจดีปกติตนหนึ่ง จนกระทั่งถูกคนที่เธอรักและไว้ใจหักหลัง เธอจึงไปสาปเจ้าหญิงน้อยซึ่งเป็นพระราชธิดาของชายผู้นั้นให้เป็นเจ้าหญิงนิทราภายในอายุครบ 16 ปี แต่พอเจ้าหญิงน้อยค่อย ๆ เติบโตขึ้น นางมารร้ายก็ตกหลุมรักและเอ็นดูนาง อยากจะถอนคำสาปก็ทำไม่ได้ ฝากความหวังไว้กับจุมพิตของเจ้าชาย แต่ดันไม่เวิร์ก สุดท้ายรักแท้ที่แท้ทรูของ the Sleeping Beauty กลับเป็นจุมพิตจากแม่ทูนหัว Maleficent ผู้สาปเองนั่นเอง
Anyway, เราไม่จำเป็นต้องดูภาคแรกมาก่อนที่จะมาดูภาคสองก็ได้ เรื่องไม่ได้ต่อกันมากนัก ทราบแค่คร่าว ๆ ก็พอว่า ในเวอร์ชั่น live-action นี้ Maleficent (Angelina Jolie จาก Mr. & Mrs. Smith) เป็นแม่ทูนหัวของ Aurora (Elle Fanning จาก The Neon Demon) ซึ่งในภาคนี้เลื่อนขั้นเป็น the Queen of the Moors แล้ว พูดง่าย ๆ คือนางรักกันเสมือนแม่ลูกแฟมิลี่เดียวกัน
เรื่องย่อ Maleficent: Mistress of Evil
เรื่องราวในภาคนี้เริ่มต้นที่ Prince Phillip (Harris Dickinson จาก The Darkest Minds) ขอ Aurora แต่งงาน ซึ่งตอนแรก Maleficent ก็ไม่โอเค อารมณ์หวงและห่วงลูก เพราะเชื่อว่ารักแท้ไม่มีอยู่จริง กลัวลูกจะโดนหลอกเหมือนที่ตัวเองเคยโดน แต่ Aurora กับนายอีกา Diaval (Sam Riley จาก Pride and Prejudice and Zombies) ช่วยกันพูดจนนางยอมโอนอ่อนลงได้
ทางด้านครอบครัวของ Prince Phillip อันได้แก่ King John (Robert Lindsay จาก My Family) และ Queen Ingrith (Michelle Pfeiffer จาก Ant-Man and the Wasp) ก็เชื้อเชิญครอบครัวของ Aurora มาดินเนอร์ที่วัง แต่ทั้งหมดก็เป็นแผนของ Queen Ingrith ที่จะกำจัด Maleficent เพียงแต่ทำไม่สำเร็จ เพราะมีสิ่งมีชีวิตอีกตัวหนึ่งที่เหมือน Maleficent มาช่วยไว้ นั่นก็คือ Conall (Chiwetel Ejiofor จาก 12 Years a Slave)
ตอนนั้นนั่นเอง Maleficent เอง ก็เพิ่งได้ค้นพบเช่นกันว่า บนโลกนี้ ยังมีเผ่าพันธุ์เดียวกับเธอ สปีชีส์เดียวกับเธอ อยู่อีกหลายคน และมีกลุ่มเฟย์ที่อยากจะสร้างสงครามกับมนุษย์ นำโดย Borra (Ed Skrein จาก Alita: Battle Angel) ทำให้ขุ่นแม่ Maleficent ต้องเลือกว่าจะอยู่ข้างไหนต่อไป
รีวิว/วิเคราะห์/วิจารณ์ Maleficent: Mistress of Evil
Maleficent: Mistress of Evil เป็นหนังที่มีจริต มีความเฟียซ มีความฟาด และมีความปังในเสื้อผ้าหน้าผม รวมถึงในแง่ visual effects ที่ตระการตา ซึ่งเป็นข้อเด่นข้อดี เมื่อมารวมกับกองทัพนักแสดงตัวแม่อย่าง Angelina Jolie, Elle Fanning, และ Michelle Pfeiffer ทั้งหมดนี้มัดรวมกัน มันเลยช่วยกันพยุงให้หนัง “รอด”
เปลือกที่สวยงามนั้นก็เป็นเรื่องดี ดึงดูดให้คนเข้ามาชม และถูกต้องมนตร์ให้ถูกจริตถูกใจในตัวหนังได้ไม่ยาก แต่ถ้าพูดถึงเนื้อของหนังกันจริง ๆ จัง ๆ ก็ต้องพูดตามตรงว่า หนังยังมีเนื้อที่บางเบา เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ภาคแรก ถึงแม้ภาคสองจะดีขึ้นกว่าภาคแรกนิดหน่อย (อาจเพราะมีเวลาในการเล่าเยอะขึ้นประมาณครึ่งชั่วโมงด้วยส่วนหนึ่ง) แต่มันก็ยังไม่ได้ดีขนาดนั้น หากจะเป็นต้นแบบให้หนังแนวนี้ในเรื่องต่อ ๆ ไป ก็คิดว่า ควรมีการพัฒนาด้านบทให้ดีขึ้นกว่านี้
ในช่วงแรกของหนัง ดำเนินไปอย่างเรื่อย ๆ เอื่อย ๆ เพราะหนังเองก็ไม่มีอะไรจะเล่ามากอยู่แล้ว อีกทั้งยังคาดเดาได้ง่ายตามประสาหนังเด็กน้อยโลกสวย (มองจากดาวอังคารก็รู้ละว่าใครดีใครร้าย) ยังดีที่หนังก็พอมีความภาพสวยดูเพลิน เหมือนนิทานเด็กที่ช่วยดึงดูดได้บ้างเล็กน้อย และสิ่งที่ทำให้ไม่หลับ+ยิ้มให้กับหนังจริง ๆ ก็จะมีพวกมุกเล็ก ๆ น้อย ๆ ผ่านจริตของตัวละคร เช่น ฉาก Maleficent ซ้อมยิ้มและพูดขอบคุณก่อนไปวังพระเอก และก็ฉากสงครามเย็นบนโต๊ะดินเนอร์ระหว่าง Maleficent กับ Queen Ingrith ซึ่งต้องเรียกว่ากระดูกถูกเบอร์และสมน้ำสมเนื้อกันดี
ถึงแม้เราจะเฉย ๆ กับแทบทั้งเรื่องมาโดยตลอดอย่างไร แต่เราก็โอเคกับองก์สุดท้ายของหนัง ที่ Queen Ingrith ปะทะกับเหล่าเฟย์ทั้งหลาย หนังเค้าก็จัดเต็มพอสมควร เป็นพาร์ทที่สนุกที่สุดตั้งแต่ดูมาตั้งแต่ภาคหนึ่งจนถึงภาคนี้ แต่ก็ยังติดอยู่ที่ว่า บทสรุปของสงครามคลี่คลายง่ายไปหน่อย แต่ก็นะ… เค้าทำมาให้เด็กดูด้วย จะซับซ้อนกว่านี้ รุนแรงกว่านี้ หรือการเมืองกว่านี้ ก็คงผิิดคอนเซ็ปต์ สุดท้ายแล้ว เอาแบบ “แฟมิลี่” กับ “การอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง” นี่แหละ เอาให้ได้ ไปให้สุด
Maleficent: Mistress of Evil จึงเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งในยุคสมัยนี้ที่เล่าเรื่องครอบครัวในนิยามปัจจุบันว่า ไม่จำเป็นต้องเลือดเนื้อเชื้อไขหรือเชื้อชาติสีผิวเดียวกันเสมอไป ซึ่ง Angelina Jolie ก็ถ่ายทอดความ “แม่ก็คือแม่” ตรงนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะในชีวิตจริง เธอก็ adopt เด็ก ๆ หลากชาติพันธุ์มาเลี้ยงดูเหมือนกัน
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 7.5/10 (ชอบมากกว่าภาคแรก แต่ก็ยังไม่ได้ชอบขนาดนั้น)
103 comments
Comments are closed.