ดูเหมือนหนังประเภท “Screen Movie” จะมีอายุได้ยืนกว่าที่คาดไปอีกหลายปี… หลังจากที่เมื่อปี 2018 เราเคยเขียนไว้ว่า หนังเรื่อง Searching (2018) สนุกกว่าและดีกว่าเรื่อง Unfriended (2014) อยู่โข แล้วตอนนี้ พอเราได้ดู Missing (จากทีมสร้างเดียวกับ Searching) เราก็ขอพูดอีกว่า Missing คือขั้นกว่าของ Searching
ต้องบอกว่า ผู้สร้างเก่งมาก ที่หยิบคอนเซ็ปต์และจุดแข็งเดิมจาก Searching มาต่อยอดใน Missing ได้ โดยที่คนดูยังรู้สึกว่ามันสดใหม่ ไม่ได้ซ้ำซากจำเจแบบของรีไซเคิลแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำ ยังมีชั้นเชิงและทะเยอทะยานยิ่งกว่าเดิม มีการหักมุมแบบหลายตลบ และตอนจบที่ยังสุดปังแบบที่อยากจะปรบมือให้ ถูกใจวัยรุ่น
ใน Missing นี้ เราจะได้เกาะขอบจอของเด็กวัยรุ่น 18 ปี น้อง June (Storm Reid จาก Euphoria และ A Wrinkle in Time) กับการตามหาแม่ของเธอ (Nia Long) ที่หายตัวไปอย่างปริศนาระหว่างไปเที่ยวโคลอมเบียกับแฟน (Ken Leung)
เช่นเดิมกับภาคแรก (หนังทั้งสองภาคไม่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้องกัน) หนังเล่าผ่านหน้าจอตลอดทั้งเรื่อง ทั้งหน้าจอ MacBook, iPhone รวมถึงกล้องวงจรปิดที่บ้านและที่สาธารณะ ฯลฯ หลายจอ ซึ่งพอให้ตัวละครหลักที่ต้องใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเด็กวัยรุ่น เราก็รู้สึกเชื่อในสกิลการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่นิดนึง (โดยส่วนตัว เราไม่ค่อยได้เจอผู้ใหญ่ที่คล่องสิ่งเหล่านี้เท่าไหร่เองแหละ)
และเช่นเดียวกับภาคแรก หนังยังใช้ “ความน่าจะเป็นร้อยแปด” ได้อย่างคุ้มค่า เพราะในชีวิตจริง การที่คนคนนึงหายตัวไปมันมีสาเหตุความเป็นไปได้มากมายจริง ๆ ซึ่งหนังใช้จุดแข็งตรงนี้ได้ดี สามารถเล่าเรื่องให้คนดูอย่างเราคาดเดาไม่ได้ มีการพลิกแพลง มีอะไรใหม่ ๆ แทรกขึ้นมาเซอร์ไพรส์ตลอด เหมือนหนังสืบสวนสอบสวนชั้นดี แล้วมันไม่มีทางที่คนดูจะคาดเดาเรื่องราวทั้งหมดได้แต่แรก เพราะมันมีข้อมูลบางอย่างที่มันยัง “missing” อยู่ ณ ตอนแรก แล้วมันจะค่อย ๆ เมคเซนส์ขึ้นเองเมื่อตอนหลังได้ชิ้นส่วนที่หายไปนี้มาปะติดปะต่อกัน
ถ้าภาคแรกเล่นประเด็นความสัมพันธ์พ่อลูกที่จริง ๆ แทบไม่รู้จักกันเลย จนกระทั่งพ่อได้มาค่อย ๆ รู้จักลูกของตัวเองหลังจากหายตัวไปในโลกออนไลน์ ภาคนี้ก็คล้าย ๆ กัน แต่ไปในเชิงลูกได้รู้จักแม่มากขึ้นในมุมที่แม่ไม่อยากให้ลูกได้รู้ เพราะ “ความรัก” และ “ความปกป้อง” ของแม่ที่มีต่อลูก ซึ่งค่อนข้าง emotional หรือ sensitive สำหรับคนหมู่มาก
ร่องรอยบนโลกออนไลน์ที่แสดงตัวตนและแกะรอยคนคนนึง ภาคนี้ถือว่ายังใช้มันได้อย่างดีมาก และทำให้เราเห็นว่า ทุกสิ่งที่เราโพสต์ พิมพ์ ค้นหา หรือใช้บนออนไลน์ ล้วนเป็นดาบสองคมอย่างเลี่ยงไม่ได้ อย่างที่เห็นว่าตัวละครบางตัวก็ “เลือกใช้/เลือกไม่ใช้” โซเชียลมีเดีย เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและครอบครัว
คนที่ไม่ค่อยชินกับเทคโนโลยีเหล่านี้อาจตามหนังไม่ทันบ้าง ส่วนคนที่ใช้เทคโนโลยีอยู่บ้างงู ๆ ปลา ๆ ในชีวิตประจำวัน ก็อาจจะได้วิทยาทานจากหนังเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย แบบ… “โอ้! มันทำแบบนี้ได้ด้วยหรอ” ซึ่งความสนุกของหนังส่วนใหญ่มันก็อยู่ตรงนี้นี่แหละ เราได้ดูความฉลาดของเทคโนโลยีทั้งที่เราคาดถึงคาดไม่ถึง และความฉลาดของคนที่รู้จักใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์อันสูงสุดนั่นเอง