บางทีเราอาจจะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มแก่เมื่อมาย้อนดูว่าเราได้เริ่มเขียนบล็อกรีวิวหนังแฟรนไชส์ Mission: Impossible มาตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว (ปี 2015) แต่บางทีเราก็รู้สึกว่าตัวเองจะแก่ไม่ได้ เพราะ Tom Cruise เองก็เป็นสายลับ Ethan Hunt มาตั้ง 27 ปี (ตั้งแต่ปี 1996) และทุกวันนี้ Tom Cruise ในวัย 61 ยังคงวิ่งได้อย่างรวดเร็วแข็งขัน และเล่นฉากบู๊เสี่ยงตายด้วยตัวเองได้อย่าง(หัวใจ)แข็งแรง
27 Years of Mission: Impossible Mission: Impossible (1996) Mission: Impossible II (2000) Mission: Impossible III (2006) Mission: Impossible – Ghost Protocol (2011) Mission: Impossible – Rogue Nation (2015) Mission: Impossible – Fallout (2018) Mission: Impossible – Dead Reckoning Part One (2023)
ถึงแม้เส้นทางนักแสดงของ Tom Cruise จะไม่ได้เดินในหนังสายรางวัล แต่เขาก็ได้สร้างคุณค่าให้ตัวเขาเองในแบบฉบับของตัวเขาเอง และจะเป็นตำนานที่คนรุ่นหลังต้องกล่าวถึงไปอีกนาน แม้แต่พ่อมดแห่งฮอลีวู้ดอย่าง Steven Spielberg ยังยกย่องว่า “You saved Hollywood’s ass and you might have saved theatrical distribution.” เพราะ Top Gun: Maverick เป็นผู้ช่วยชีวิตโรงหนังและวงการภาพยนตร์ไม่ให้ล่มสลายจากการเติบโตของสตรีมมิ่งและโรคระบาดอย่าง COVID-19
Mission: Impossible – Dead Reckoning Part One หรือ MI7 ก็จะเป็นผลงานอีกเรื่องของ Tom Cruise ในปีนี้ที่มาช่วยต่อลมหายใจให้ Cinema และ Hollywood เพราะทุกฉากแอ็คชั่นเสี่ยงตายของเขา มันควรค่าแก่การรับชมและเข้าร่วมประสบการณ์ในจอยักษ์ใหญ่จริง ๆ อย่างเช่นฉากที่เขาขี่มอเตอร์ไซค์โดดลงจากหน้าผาอย่างที่หลายคนคงได้เห็น footage กันไปก่อนหน้านี้บ้างแล้ว
สำหรับเรา เรามองว่า Mission: Impossible ภาคแรก ๆ ไม่ได้น่าจดจำมากขนาดนั้น ซึ่งก็อาจเป็นเพราะ ณ ตอนนั้น เรายังเด็ก หรืออาจไม่ได้มีโอกาสได้ชมในโรงภาพยนตร์ก็ได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เราก็รู้สึกอยู่ดีว่า MI5 มันดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด และมันก็ยังดีขึ้นได้อีกใน MI6 แล้วมันก็ยังทะลุบาร์สูงของตัวเองไปได้อีกใน MI7 นี้ และสมควรแก่การชมในโรงภาพยนตร์ โดย MI5 – MI7 กำกับโดย Christopher McQuarrie ผู้ซึ่งเป็นผู้กำกับและนักเขียนบทคู่ใจของ Tom Cruise มาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่หนังพยายามให้คนดูร่วมระลึกถึงจุดเริ่มต้นของแฟรนไชส์ไปด้วยว่า อะไรที่นำพา Ethan Hunt มาจนถึงจุดนี้ MI7 ก็ดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นของปลายทางของ Tom Cruise ในบทบาทของ Ethan Hunt และเบิกทางไปให้คนกลุ่มใหม่เช่นกัน โดยเฉพาะผู้หญิงที่มักจะเป็นส่วนขาด ๆ เกิน ๆ ของแฟรนไชส์นี้ในยุคเริ่มแรก ได้ขึ้นมาเฉิดฉายและเป็นผู้นำของ IMF (Impossible Mission Force) แต่มันคงจะดีกว่านี้มาก ถ้าผู้หญิงสามารถขึ้นมามีบทบาทความสำคัญได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์เชิง love interest กับ Ethan Hunt หรือใครก็ตามในทีม
สิ่งที่เราชอบ MI5 – MI7 คือมันมีความเป็นมนุษย์มากขึ้นและดูมีความเป็นทีมเวิร์กมากขึ้น อย่างในภาคนี้เราได้เห็น Benji Dunn (Simon Pegg จาก Ready Player One) ออกภาคสนามมากขึ้น และ Luther Stickell (Ving Rhames จาก Dawn of the Dead) ก็ได้มีไดอะล็อกพูดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของ Ethan Hunt หรือทิศทางของหนังในครึ่งหลัง และที่เวนิซ Ethan Hunt ยังมีฉากแสดงความรักละมุนใจกับ Ilsa Faust (Rebecca Ferguson จาก Dune) ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกของเขาที่ได้มีบทบาทอย่างจริงจังและอยู่ในแฟรนไชส์มายาวนานที่สุด
ฉากแอ็คชั่นในกรุงโรมถือเป็นฉากซิ่งรถไล่ล่าที่ดีที่สุดในบรรดาหนังแอ็คชั่นหลาย ๆ เรื่องที่ได้ดูมา โดยในภาคนี้ เราได้เห็น Tom Cruise ยอมและไว้ใจให้เด็กใหม่ที่อ่อนประสบการณ์และขับรถไม่ได้เรื่องอย่าง Grace (Hayley Atwell หรือ Peggy Carter จาก Captain America) ได้กุมบังเหียนขับรถแทนเขา และเราได้เห็นว่าภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ของเขามันยังมีความสมจริง มีอุปสรรคและความทุลักทุเลที่ชวนขำเช่นเดียวกับปุถุชนคนธรรมดา แล้วหนังก็ยังตัดภาพให้เราได้เห็นสีหน้าของตัวละคร Paris (Pom Klementieff หรือ Mantis จาก Guardians of the Galaxy) ทำหน้าอิหยังวะใส่การขับรถของอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งมันก็คือสีหน้าของคนดู ณ ตอนนั้นจริง ๆ

อีกสิ่งที่ทำให้ MI7 ล้ำกว่าหนังแอ็คชั่นทั่วไป ไม่ใช่แค่ความเล่นใหญ่ของฉากแอ็คชั่นที่พยายามพึ่งพาสตั๊นท์และซีจีให้น้อยที่สุดเท่านั้น แต่การเขียนบทให้คนร้ายของภาคนี้ไม่ใช่คน แต่เป็น AI ที่ชื่อว่า The Entity และในขณะเดียวกัน ก็มีคนจริง ๆ อยู่เบื้องหลังและร่วมมือกับมัน เช่น Gabriel (Esai Morales จาก Ozark) แล้วก็คนอีกเช่นกันที่อยากจะควบคุม AI อีกทีเพื่อที่จะครอบครองโลก มันจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า ทีมของ Ethan Hunt จะสามารถเอาชนะปัญญาประดิษฐ์นี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะในเมื่อพวกเขาต้องพึ่งพา digital technology อย่างมากในการทำภารกิจต่าง ๆ … หรือพวกเขาต้องกลับไปในยุค analog อย่าง old school?
อีกเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เรารู้สึกว่า MI7 เหนือกว่าเรื่องอื่นคือ ความใส่ใจในความสมจริงเรื่องการเดินทาง กล่าวคือ ในขณะที่หนังแอ็คชั่นไล่ล่าหลายเรื่อง เช่น Fast & Furious ชอบพาไปในหลาย ๆ ประเทศหรือหลาย ๆ โลเกชั่น ในแบบที่เหมือนวาร์ปได้ ซึ่งก็เข้าใจได้ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลา แต่ Mission: Impossible มีความสามารถทำให้เรารู้สึกว่า transition ใน action sequences ของแต่ละ scenes หรือแต่ละ location มันมีความเชื่อมโยงกันได้อย่าง smooth กว่า ทั้งจากที่อาบูดาบีไปโรม หรือจากเวนิซไปอยู่บนรถด่วน Orient Express ซึ่งเป็นฉากไคลแมกซ์ของภาค
โดยสรุป Mission: Impossible – Dead Reckoning Part One หรือ MI7 เป็นอีกประสบการณ์การดูหนังที่ตอกย้ำว่า หนังแอ็คชั่นยังไม่ตายในเร็ววันแต่แค่กำลังจะยกระดับไปอีกขั้น และภาพยนตร์ยังจำเป็นต้องดูในโรงภาพยนตร์ เพียงแต่ภาพยนตร์นั้นต้องมีคุณภาพมากพอ ทั้งโปรดักชั่น บท และความทุ่มเทของนักแสดง ยิ่งหนังเล่นใหญ่หรือนักแสดงใจใหญ่เพื่อคนดูมากแค่ไหน คนดูอย่างเราก็ย่อมพร้อมเต็มใจที่จะตีตั๋วเข้าไปสานเจตนารมณ์และร่วมสัมผัสประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่กับเขาในจอใหญ่ ๆ เช่นกัน