ท่ามกลางดราม่า #boycottmulan เราก็ยังตัดสินใจไปดู MULAN (2020) ฉบับ live-action ของผู้กำกับหญิง Niki Caro (จาก The Zookeeper’s Wife) นี้อยู่ดี ในฐานะแฟน Mulan การ์ตูนดิสนีย์ (1998) มาตั้งแต่เด็ก และก็อยากจะไปดูนักแสดงคนอื่น ๆ ใน MULAN ด้วย เช่น Tzi Ma นักแสดงชาวฮ่องกงที่เล่นเป็นพ่อของมู่หลาน คนนี้นี่เราประทับใจการแสดงของเค้าใน MULAN มาก นึกถึงทีไรก็ยังตื้นตันตามน้ำตาไหล และที่สำคัญ MULAN ก็มี message ที่ดีงาม ที่ควรค่าแก่การดูอยู่ดี
เช่นเดียวกับหนังรีเมคจากแอนิเมชั่นแทบทุกเรื่อง มันคือความยากและความท้าทายเมื่อเวอร์ชั่นแอนิเมชั่นมันขึ้นหิ้ง และในแง่ความบันเทิง การ์ตูนมันมักจะเล่นอะไรได้มากกว่าเวอร์ชั่นคนแสดง ถ้าเอาตรง ๆ เราก็ไม่คุ้นว่าตัวเราเองชอบ live-action remakes ของการ์ตูนดิสนีย์เรื่องไหนมากกว่าออริจินัลบ้างนอกจาก Aladdin แม้แต่ MULAN เอง เราดูหนังเวอร์ชั่น Yifei Liu แล้ว เราก็ยังชอบเวอร์ชั่นแอนิเมชั่นมากกว่าอยู่ดี แต่สุดท้ายเราก็พยายามเปิดใจ และพยายามไม่เปรียบเทียบสองเวอร์ชั่นนี้ด้วยกัน แต่ละเวอร์ชั่นก็มีความสนุกในแบบของใครของมัน และเราก็ชอบมันคนละแบบ
“WE ARE GOING TO MAKE MEN OUT OF EVERY SINGLE ONE OF YOU.”
เรื่องย่อ MULAN (2020)
ในสังคมของ Mulan (Yifei Liu จาก The Forbidden Kingdom) เธอถูกคาดหวังให้เป็นแม่ศรีเรือน เรียบร้อย อ่อนโยน และออกเหย้าออกเรือนเพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงศ์ตระกูล เมื่อเธอโตขึ้น เธอต้องจำใจไปหาแม่สื่อประจำหมู่บ้านให้อบรมพื้นฐานการเป็นแม่ศรีเรือนและจัดหาคู่ที่เหมาะสมให้
ในขณะเดียวกัน เมืองจีนก็กำลังก้าวเข้าสู่สงคราม เมื่อ Böri Khan (Jason Scott Lee จาก Dragon: The Bruce Lee Story) นำทัพมุ่งหน้ามายึดเมืองหลวง โดยนอกจาก Böri Khan จะมีทหารในกองทัพจำนวนมากแล้ว ยังมีแม่มด Xianniang (Li Gong จาก Memoirs of a Geisha) เป็นสมุนมือขวาอีกด้วย Emperor (Jet Li จาก Fearless) จึงมีบัญชาให้ทุกครอบครัวต้องส่งผู้ชาย 1 คนไปร่วมรบ แต่ Zhou พ่อของ Mulan (Tzi Ma จาก The Farewell) มีแต่ลูกสาว เขาจึงต้องกลับไปรบอีกครั้ง แต่ Mulan เห็นว่าพ่อแก่แล้วและขาเสียมาตั้งแต่สงครามครั้งก่อน ถ้าต้องไปรบอีก ก็ไม่รอดแน่นอน เธอจึงแอบปลอมตัวเป็นผู้ชาย ขโมยดาบ ชุดเกราะ และหมายเรียกของพ่อ ขี่ม้ามุ่งหน้าไปเข้าค่ายทหารเอง
ที่ค่าย เธอได้อยู่ในหน่วยของ Commander Tung (Donnie Yen จาก Ip Man) และได้เป็นเพื่อนกับ. Honghui (Yoson An), Cricket (Jun Yu), ฯลฯ เธอไม่ได้รู้สึกเหนื่อยหรือยากลำบากกับการฝึกซ้อม หากแต่ประสบความยากลำบากในการปกปิดพลัง ความสามารถ และตัวตนของเธอท่ามกลางหมู่ชายล้วน เพราะถ้าถูกจับได้ว่าเป็นหญิง เธอคงถูกขับไล่. หรืออาจถูกลงโทษประหารชีวิตก็เป็นได้
“You will die pretending to be something you are not.”
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ MULAN (2020)
เราไม่เคยฟัง/อ่านตำนาน Mulan แบบดั้งเดิมของจีน แต่เคยดูเวอร์ชั่นแอนิเมชั่น (1998) จึงพอบอกได้ว่า เส้นเรื่องหลักของ MULAN (2020) ไม่ได้แตกต่างจากฉบับแอนิเมชั่นมากนัก แต่กระนั้นก็มีเส้นเรื่องย่อยหรือดีเทลที่ไม่เหมือนกันบ้าง
แน่นอนว่า การเพิ่มลดตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงภาพยนตร์ที่มีแฟนหลงรักทั่วโลกย่อมมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พอใจหรือไม่พอใจ อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่การเดินรอยตามต้นฉบับโดยไม่ปรับเปลี่ยนใดใดเลย ทั้งที่บริบททางสังคมและเวลาเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน ก็คงไม่ดีอีกเช่นกัน และเราว่าการปรับเปลี่ยนบทของ. MULAN มันก็ไม่ได้แย่และก็ตั้งอยู่บนความสมเหตุสมผล
Mulan (1998) ถือว่าล้ำมากแล้วสำหรับยุคนั้น กล่าวคือ ตัวเอกเป็นผู้หญิงเอเชียและไม่ใช่เจ้าหญิง ธีมของหนังก็สื่อประเด็น feminist อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี พอมา MULAN (2020) เราคิดว่า ประเด็น feminist ก็ยังคงคงอยู่อย่างเข้มข้น และเหมือนจะชัดเจนกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำเมื่อผ่านการแสดงทางสีหน้า แววตา และอวัจนภาษาต่าง ๆ ของนักแสดงที่สื่ออารมณ์ความรู้สึกอย่างยอดเยี่ยม
“IF YOU HAD SUCH A DAUGHTER, HER CHI, THE BOUNDLESS ENERGY OF LIFE ITSELF, SPEAKING THROUGH HER EVERY MOTION, COULD YOU TELL HER THAT ONLY A SON COULD WIELD CHI? THAT A DAUGHTER WOULD RISK SHAME, DISHONOR, EXILE? ANCESTORS, I COULD NOT.”
อย่างแรกเลย MULAN (2020) ปูความสัมพันธ์ครอบครัวหรือพ่อ-ลูกได้ลึกซึ้งกว่าเวอร์ชั่นแอนิเมชั่น โดยส่วนตัวเราน้ำตาไหลและจุกอกตั้งแต่ prologue 5 นาทีแรก (ช่วงอินโทรฯ ก่อนจะขึ้นชื่อหนัง) เราเห็นแววตาของพ่อของ Mulan (Tzi Ma) ที่แอบภูมิใจในตัวลูกสาวที่มีความกล้าหาญและมีลมปราณ (“chi” หรือ “force” ที่คล้าย ๆ พลังของ Jedi) แข็งกล้า แต่ต้องไม่แสดงออกและต้องบอกให้ลูกสาวเก็บซ่อนมันไว้ เพราะค่านิยมของคนในสังคมนั้นคือ ผู้ชายเท่านั้นที่จะมีและใช้ “chi” ได้ ผู้ชายเท่านั้นที่จะเป็นทหาร ไปรบ และนำเกียรติมาสู่วงศ์ตระกูลได้ ผู้ชายมี “chi”.จะได้เรียกว่า “นักรบ” หรือ “warrior” ส่วนผู้หญิง ถ้ามี “chi” จะถูกตราหน้าว่าเป็น “แม่มด” หรือ “witch” โดยหน้าที่ของลูกผู้หญิงคือเป็นแม่ศรีเรือนและออกเหย้าออกเรือนเท่านั้น
Antagonist ที่เพิ่มขึ้นมาจากฉบับการ์ตูนคือตัวละคร Xianniang (Li Gong) ซึ่งเหมือนเป็น reflection หรือด้านมืด หรือขั้วตรงข้ามของ Mulan (Yifei Liu) แต่เธอเป็นวายร้ายที่น่าสนใจ เธอไม่ได้อยากร้าย แต่เธอถูกขับไล่และถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดเพราะเธอมี “chi” กล้าแกร่ง จริง ๆ เธอจะฆ่าทั้ง Böri Khan และ Emperor เมื่อไหร่ก็ได้และได้ไม่ยาก แต่เธอก็ไม่ทำ เพราะถึงแม้เธอจะฆ่าผู้นำเหล่านั้นไปได้ คนในสังคมก็ยังมองเธอเป็น outcast ยังไม่ยอมรับผู้หญิงเป็นผู้นำหรืออยู่ร่วมกันในสังคมด้วยอยู่ดี ซึ่งพอยต์ของเธอไม่ใช่ความต้องการเป็นใหญ่ เธอแค่ต้องการมีที่ยืน และได้รับการยอมรับจากคนอื่น เธอจึงยอมทำงานให้ Böri Khan เพราะหวังว่าเมื่อ Böri Khan ได้เป็นจักรพรรดิ เขาจะให้เธอไม่ต้องเป็นหมาข้างถนนอีกต่อไปตามที่เขาสัญญา
“Quiet, composed, graceful, disciplined… these–are the qualities we see in a good wife.”
นอกจากนี้ MULAN (2020) ยังเพิ่มตัวละคร Xiu หรือน้องสาวของ Mulan (Xana Tang) เข้ามา และตัดย่าออกไป สำหรับการเพิ่มตัวละครนี้เข้ามา เราคิดว่ามันทำให้เรื่องของ Mulan มันเมคเซนส์มากขึ้น เพราะจุดประสงค์หลัก ๆ ที่ Mulan หนีไปรบคือ “ความกตัญญู” เธอรู้แต่เธอจะไปรบแทนพ่อ (ส่วนเรื่อง “ความรักชาติ” หรือ “ป้องกัน/กอบกู้ชาติ” เป็นเรื่องรองของเธออีกที) เธอไม่รู้หรอกว่าเธอจะได้กลับมาหรือไม่ จริง ๆ เธอน่าจะคิดด้วยซ้ำว่าโอกาสรอดกลับมาแทบเป็นศูนย์ ถ้าเธอเป็นลูกคนเดียว เธอก็ต้องห่วงอีกว่า ถ้าเธอไม่อยู่แล้วใครจะดูแลพ่อแม่ หรือใครจะทำหน้าที่นำเกียรตินำศรีมาสู่วงศ์ตระกูล (ณ ที่นี้ก็คือ “แต่งงาน” ตามค่านิยม) แต่ในหนังเวอร์ชั่นปัจจุบัน ก่อนเธอหนีออกมาจากบ้าน เธอได้เห็นว่า เธอยังมีน้องสาวอยู่ข้าง ๆ พ่อแม่ และจะทำหน้าที่ทุกอย่างที่ว่านั้นได้ถึงแม้เธอจะได้กลับมาหรือไม่ก็ตาม
ในส่วนของ love interest ของ Mulan นั้น หนังไม่ได้เน้นมากอยู่แล้ว แต่พอมีนิด ๆ หน่อย ๆ ให้พอจิกเบาะกันกรุบกริบ โดย MULAN (2020) นี้ ไม่มี Commander Li Shang เหมือนเวอร์ชั่นการ์ตูน เพราะตอนนี้กระแส #MeToo กำลังร้อนระอุ ถ้าบทยังให้ทหารระดับผู้บังคับบัญชากุ๊กกิ๊กกับทหารชั้นผู้น้อยในค่าย มันก็อารมณ์เหมือนเจ้านายกับลูกน้อง ก็คือดูไม่เหมาะสมนั่นเอง
Disney จึงฉีกตัวละคร Li Shang ทิ้ง แล้วเอาส่วนหนึ่งไปสร้างเป็นตัวละครใหม่ Commander Tung (Donnie Yen) ผู้เที่ยงตรง ซึ่งเปรียบเสมือน mentor รุ่นพ่อของ Mulan และส่วนกุ๊กกิ๊กก็เอาไปอยู่ในตัวละครใหม่อีกตัวคือ Honghui (Yoson An) ทหารเกณฑ์ในหน่วยเหมือนกันกับเธอแทน ซึ่ง Honghui ก็เป็น supporter ที่ดีและยินยอมเป็นผู้ตามของ Mulan ถึงแม้จะรู้แล้วก็ตามว่า Mulan เป็นผู้หญิง เพราะเขายอมรับในความคิดและความสามารถของเธอโดยไม่มีเรื่อง gender มาหยุดกั้น
“You would believe Hua Jun. Why do you not believe Hua Mulan?”
แต่เหมือนว่า ประเด็นที่ดราม่าหนักไม่แพ้ประเด็นนางเอกซัพพอร์ตความรุนแรงของตำรวจฮ่องกงก็คือ การตัดมังกร Mushu ซึ่งเป็นหนึ่งในสีสันหลักของเรื่องออกไปนั่นเอง แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ตำนานดั้งเดิมของจีนมันไม่มีมังกร Mushu มาแต่แรกแล้ว และหนังเองก็พยายามทำให้ใกล้เคียง reality มากที่สุด คิดว่าแค่มีจอมขมังเวทย์หรือกำลังภายในก็แฟนตาซีกันประมาณหนี่งแล้ว ถ้าจะให้มีสัตว์ในตำนานหรือสัตว์เลี้ยงใดใดมาเจื้อยแจ้วอยู่กับนางเอกตลอดเวลาด้วย ก็คงจะ surreal ไปหน่อย อีกอย่างคนจีนไม่โอเคที่เอามังกรอันเป็นสัญลักษณ์ของพลังและความแข็งแกร่ง (power & strength) ในวัฒนธรรมหรือตำนานของบ้านเขามาทำเป็นสัตว์เลี้ยงตลก ๆ หรือเป็น sidekick ของนางเอก ดังนั้น ถ้าพูดในแง่ “ความเคารพต้นฉบับ” หรือ “ความเคารพต้นกำเนิดของตำนาน” ดิสนีย์อาจทำถูกแล้วที่ตัด Mushu ออกไป
ถึงแม้ Mulan จะไร้ Mushu ข้างกาย แต่ดิสนีย์ก็มีนกฟีนิกซ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการตายแล้วเกิดใหม่ (death and rebirth) และความสวยสตรอง มาแทนให้ โดยพ่อนางเอกได้อธิบายความสำคัญของ (รูปปั้น) ฟีนิกซ์ตั้งแต่ช่วงเปิดเรื่อง จากนั้น Mulan และคนดูจะได้เห็นฟีนิกซ์โผล่ออกมาเป็นพัก ๆ ลอยไปลอยมา เสมือนผีบรรพบุรุษที่มาคอยปกปักรักษาในจินตนาการของนางเอกแทน หรือภายหลังอาจตีความได้ว่า Mulan ก็คือฟีนิกซ์ผู้พิทักษ์องค์จักรพรรดินั่นเอง
“Loyal, brave, and true… it is my duty to protect my family.”
หนังเวอร์ชั่นนี้เน้นย้ำ 3 คำบนดาบนักรบอยู่บ่อย ๆ “Loyal, brave, and true.” เสมือนเป็นคุณสมบัติสำคัญของชายชาตินักรบ แต่จริง ๆ แล้ว “true” คืออะไร? มันหมายถึง “Be true to yourself.” ด้วยหรือเปล่า? ถ้าใช่… Mulan ก็ไม่ควรถูกตีกรอบหรือตอกย้ำว่า “อย่าโชว์พลัง chi ออกมาให้โลกเห็น” ด้วยหรือเปล่า? และผู้ชายเองก็ต้องยอมรับความจริงด้วยหรือเปล่าว่า ผู้หญิงก็มี chi ได้ เป็นผู้นำได้ และก็อาจจะกล้าหาญกว่าผู้ชายแท้ ๆ หลายคนเสียอีกด้วยซ้ำ
ความกล้าหาญของ Mulan ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรักชาติ แต่ตั้งอยู่บนจิตที่ประสงค์จะปกป้องครอบครัวและเพื่อนของเธอ อีกทั้งทำให้พ่อแม่ภูมิใจและนำเกียรติสู่วงศ์ตระกูล พูดง่าย ๆ ก็คือ “ความกตัญญูต่อครอบครัว” ซึ่งยังถือเป็นคุณสมบัติที่คนจีนและคนเอเชียหลายบ้านยังยึดมั่นเป็น priority หลัก
“There is no courage without fear.”
ฉากแอ็คชั่นมีประรายในช่วงเทรนนิ่ง และมีอีกประมาณหนึ่งในสนามรบ พูดตรง ๆ เราก็รู้สึกว่ามันไม่สุด แต่ไม่ใช่เพราะว่ามันไม่โหดหรือมันไม่เลือดสาด เพราะเราเข้าใจดีว่า ด้วยความเป็นดิสนีย์ เป็นหนังครอบครัว และเผื่อมีเด็กน้อยมาดูด้วย มันย่อมประนีประนอมกับฉากสงครามระดับหนึ่ง คอหนังแอ็คชั่นอาจจะรู้สึกว่าห่างไกลจากคำว่ามัน(ส์)สะใจได้ แต่อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าความอลังการของฉากแอ็คชั่นและการครีเอทคิวบู๊ก็ทำได้สวยงามและชวนตื่นเต้นอย่างที่มันควรจะเป็น
เพียงแค่องก์สุดท้าย เราไม่ค่อยเห็นการใช้แผนการรบที่เป็นรูปธรรมอะไร (นี่แอบคาดหวังแผน เพราะนาง Mulan ดันเสนอหน้าพูดว่า คนน้อยก็ชนะศัตรูได้ถ้าวางแผนการรบดี) นอกจาก Mulan บุกเดี่ยวเข้าไปช่วยองค์จักรพรรดิและให้ผู้ชายทุกคนเป็นแบ็คให้นางอยู่ห่าง ๆ ทั้งที่ตามหลักแล้ว Commander Tung (Donnie Yen) นี่ควรจะไปช่วยจักรพรรดิเอง น่าจะชัวร์กว่า หรือวิ่งไปพร้อมกับ Mulan ก็ยังดี ไม่ใช่ให้ Mulan ฉายเดี่ยว แต่ก็เออ… นี่มันหนังมู่หลาน ไม่ใช่ยิปมัน… อย่าพูดมาก (บอกตัวเอง)
““I’M HUA MULAN. I WILL BRING HONOR TO US ALL.“
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8/10