การทำหนังอิงประวัติศาสตร์ในปี 2023 เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง คนดูหัวอนุรักษ์นิยมหรือนักประวัติศาสตร์หลายคนอาจจะส่ายหัวได้ถ้าเห็นว่า หนังไม่เป็นไปตามประวัติศาสตร์ในแบบฉบับที่เขาเชื่อหรือแบบที่เขาเข้าใจ ในขณะเดียวกัน คนดูหนังหลายคนก็อาจเบื่อที่หนังพยายามจะเลคเชอร์คนดูหรือเสนอแต่มุมมองที่หาอ่านเองได้ในตำหรับตำราหรืออินเตอร์เน็ต
เสด็จปู่ Ridley Scott ผู้กำกับรุ่นเก๋าจาก Gladiator พยายามบาลานซ์ระหว่างหนังแอ็คชั่นสงครามอิงประวัติศาสตร์แบบ old-school กับการตีความหรือนำเสนอมุมมองที่โลกอาจไม่เคยเห็นเกี่ยวกับจักรพรรดิ นโปเลียน (Napoleon Bonaparte) มหาบุรุษที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ซีซาร์แห่งฝรั่งเศส”
I found the crown of France in the gutter. I picked it up with the tip of my sword and cleaned it, and place it atop my own head.
หนัง Napoleon เล่าถึงชีวิตเกือบ 3 ทศวรรษของ Napoleon (Joaquin Phoenix นักแสดงออสการ์จาก Joker) ตั้งแต่ยังเป็นนายทหารธรรมดาที่ยืนดูพระนางมารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) ราชินีคนสุดท้ายของฝรั่งเศส ถูกกิโยตินในช่วงการปฏิวิติฝรั่งเศส (French Revolution) ปี 1789, นำทัพจนได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิฝรั่งเศสในปี 1804, จนถึงตอนถูกเนรเทศไปใช้บั้นปลายชีวิตที่เกาะ St. Helena ช่วงปี 1815-1821 ในหนังความยาว 2 ชั่วโมง 38 นาที (ฉบับ Director’s Cut มีความยาวถึง 4 ชั่วโมงครึ่ง)
โดยในหนัง Napoleon นี้ Ridley Scott ใส่ฉากสงคราม 6 ครั้งสำคัญจากทั้งหมด 61 ครั้งในชีวิตของ Napoleon พร้อมเน้นย้ำว่าเขาอาจเป็นผู้เก่งกาจด้านยุทธศาสตร์การรบ แต่ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ เรามิอาจมองข้ามความจริงที่ว่า ตลอดชีวิต 51 ปีของเขา เขานำทัพพาทหารของตัวเองไปตายรวมทั้งสิ้นกว่า 3,000,000+++ นาย เพื่อสนองความทะเยอทะยานและอีโก้ของตัวเอง
แล้ว Ridley Scott เป็นผู้กำกับที่ขึ้นชื่อเรื่องการสร้างฉากสงครามสู้รบได้ยิ่งใหญ่และสมจริง เช่น ฉากไคลแมกซ์ที่ Battle of Waterloo เราดูแล้วขนลุกเลย นักวิจารณ์อาชีพหลายคนก็ยกย่องว่า เขาเป็นผู้กำกับที่มีความสามารถในการใช้ location หรือ landscape ได้คุ้มค่า และทำให้มันเป็นเสมือนส่วนหนึ่งหรือเป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งใน scene ได้อย่างทรงพลัง เช่น ฉากการรบกลางแอ่งน้ำแข็ง ดังนั้น ถ้าใครได้เสพงานของเขาในโรง IMAX เรารับรองเลยว่า จะได้สัมผัสถึงคุณภาพความสมจริง ทั้งภาพและเสียง อย่างจัดเต็ม
ที่พิเศษมาก ๆ คือ ในหนังเรื่องนี้ Ridley Scott นำเสนอภาพความรุนแรงและความโหดร้ายของสงครามนองเลือดที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนแม้กระทั่งจากในหนังอภิมหาสงครามเรื่องใดใด อีกทั้งยังทำให้เห็นถึงความเกลียดชัง ข้อเสียของระบบกษัตริย์-ขุนนาง และผลพวงของสงครามที่ทำให้คนขาดความเป็นมนุษย์ เช่น ฉากชาวบ้านยืนหัวเราะสะใจที่เห็น มารี อ็องตัวแน็ต ถูกตัดคอ แถมยังนำเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นมุกตลกขบขันในการแสดงต่าง ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือฉากคนชั้นสูงใช้ชีวิตสุขสบายฟุ้งเฟ้อในขณะที่ส่งคนชั้นล่างกลุ่มหนึ่งไปตายและชาวบ้านอีกกลุ่มก็กำลังอดตาย หรือกระทั่งฉากทหารใช้ปืนใหญ่ยิงใส่ม็อบประชาชนที่ใครเห็นก็คงต้องสะเทือนใจ
You would be nothing without me.
นอกจากชื่อเสียงด้านการรบ Napoleon ยังถูกกล่าวขานอีกว่า “ตัวเล็ก” โดย Ridley Scott ไม่ได้นำเรื่อง “ความสูง” หรือ “ปมด้อย” นี้มาเป็นมุกตลกหรือ make fun แนว body shaming (เว้นแต่ฉากที่เขายืนอยู่หน้าโลงศพฟาร์โรห์ที่อียิปต์ที่ทำให้เราระลึกได้ว่าเขาเป็นคนตัวเล็ก) แต่ Ridley Scott และการแสดงของ Joaquin Phoenix เลือกเล่าถึง “ความเป็นมนุษย์” และ “ความตัวเล็ก” ของจักรพรรดิผู้ครั้งหนึ่งเคย “ยิ่งใหญ่” ในมิติอื่น ๆ เช่น การที่เขายอมให้แม่ของเขาชี้นำเรื่องการมีทายาท หรือการที่เขายอมให้ Joséphine (Vanessa Kirby จาก The Crown) เมียรักของเขามีชู้
ถึงแม้ “ความรัก-ความสัมพันธ์” ของ Napoleon กับ Joséphine อาจดูไม่ชัดเจนในสายตาของคนยุคปัจจุบันอย่างเรา ๆ แต่เราก็เชื่อว่า เราต่างมองเห็น “Passion หรือกิเลส ตัณหา ความหลงใหลลุ่มหลง” ที่ Napoleon มีต่อฝรั่งเศส และต่อ Joséphine อย่างชัดเจน โดยเฉพาะ Joséphine ที่เปรียบเสมือนโลกทั้งใบของเขา ทำให้เขากลายเป็น “คนตัวเล็ก” (not a physical way in this context) และ “ไร้ค่า” เมื่อขาดเธอ
หนังอาจทิ้งช่องว่างไว้มากมายให้คนดูคิดเอาเองว่า พวกเขาเสน่หากันจริงหรือไม่ ซึ่งยากจะตัดสินด้วยบริบทสังคมในปัจจุบัน — กล่าวคือ เราคงมิอาจเอา “ความคลั่งรัก” ของหนุ่มสาวหรือ fictional characters ในยุคปัจจุบันไปสวมทับให้ Napoleon ผู้มีชีวิตอยู่ในโลกยุคสมัย French Revolution — Ridley Scott อาจมองว่า “นิยามความรัก” ของ Napoleon ก็คงคล้าย ๆ กับ Sir Jean de Carrouges ตัวละครที่รับบทโดย Matt Damon ในหนังเรื่อง The Last Duel ผลงานกำกับชิ้นก่อนนี้ของเขา
‘Excuse me mate, were you there? No? Well, shut the f*** up then.’”
การเล่าเรื่องส่วนหนึ่งผ่านจดหมายระหว่าง Napoleon กับ Joséphine ก็เป็นเสมือนหัวใจของเรื่อง เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ เรามิอาจรู้ได้ 100% หรอกว่า ผู้เขียนหรือผู้บันทึกเขียนมันจากความจริง 100% หรือไม่ ซึ่งก็เช่นเดียวกับในหนังเรื่อง The Last Duel … ความจริง จริง ๆ คืออะไร อาจขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน และก็อาจจะเช่นเดียวกันกับการบันทึกภาพประวัติศาสตร์ในยุคที่ยังไม่มีกล้องถ่ายรูป แม้แต่จิตรกรที่อยู่ในงานปราบดาภิเษกจริง ณ เวลานั้นจริง ๆ ก็ยังทำได้แต่รีบร่างภาพเหตุการณ์นั้นขึ้นแบบหยาบ ๆ แล้วค่อยไปแต่งเติมเสริมแต่งหรือเติมเต็มภาพด้วยจินตนาการต่อทีหลัง ซึ่งยากจะตรงกับความจริง 100% เช่นกัน
ดังนั้น ถ้าใครจะมาชี้หน้าด่าหนัง Napoleon ว่า “บิดเบือนประวัติศาสตร์” เสด็จปู่ Ridley Scott ได้ใส่คำตอบตอกหน้าของเขาลงไปในหนังแล้วอย่างแยบยล ยังไม่นับที่เขาพูดตอนสัมภาษณ์อีกว่า ให้คนเหล่านั้น “หุบปาก” หากคุณก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ