ถ้า“ความเหลื่อมล้ำในสังคม” ถูกมองว่าเป็นแค่เรื่อง“เหล้าเก่าในขวดใหม่”
กฎหมายทรงพลังกับคนด้อยโอกาส แต่สนับสนุนคนที่มั่งมี…แล้วใครล่ะที่กล้าพอจะสางปมในใจของทุกคน???
สารภาพว่า แอบมีลังเลใจอยู่แว้บนึงว่าจะไปดู “คืนยุติ-ธรรม” รอบสื่อดีไหม… แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไป เพราะตัวเองเป็นหนึ่งในคนที่บ่นมาตลอดว่า อยากให้หนังไทยมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่มีแต่หนังรัก หนังผี และหนังตลก ดังนั้น เมื่อโปรดิวเซอร์เบอร์ใหญ่อย่าง อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร (ผู้กำกับนางนาก) ร่วมกับผู้กำกับหนุ่มไฟแรง โน้ต – กัณฑ์ปวิตร ภูวดลวิศิษฏ์ อุตส่าห์ทำหนังแนวดราม่าทริลเลอร์ที่หาดูได้ยากยิ่งสำหรับตลาดหนังไทย แถมเนื้อหายังสะท้อนสังคมไทยเกี่ยวกับ “คุกมีไว้ขังคนจน” เราก็ควรจะคว้าโอกาสนี้เข้าไปสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
“คืนยุติ-ธรรม” เล่าถึง “มานพ” (ก๊อต – จิรายุ ตันตระกูล) ชายหนุ่มผู้ถูกพิธีกรชื่อดังอย่าง “สิทธิชน” (ซูโม่กิ๊ก – เกียรติ กิจเจริญ) ยัดข้อหาเสพยาบ้าและฆ่าภรรยาตัวเองจนต้องติดคุก มานพได้พบกับ “หมอกานดา” (ปูเป้ – รามาวดี นาคฉัตรีย์) จิตแพทย์ที่ดูแลการรักษาอาการป่วยทางจิตของเขา มานพกับคุณหมอได้ค้นพบว่า มานพน่าจะป่วยเป็น Personality Disorder บางครั้งมานพผู้เรียบร้อยก็กลายเป็น “ศิวะ” หนุ่มเลือดร้อนที่ลุกขึ้นมาตามล่าทวงความยุติธรรมแก่ตัวเองและสังคมด้วยความรุนแรงในยามค่ำคืน และนำไปสู่การเปิดโปง “ความอยุติธรรม” ของระบบการศาลและกฎหมายของเรา
นอกจากประเด็นเจ้าของสื่อใหญ่ที่ใช้อิทธิพลทางชื่อเสียงและเงินทองข่มเหงผู้น้อยและโยนความผิดให้คนธรรมดาแล้ว ยังมีอีกประเด็นเผ็ดร้อนที่คนไทยทั้งประเทศต้องคุ้น ๆ หรืออินกันไม่มากก็น้อย นั่นก็คือ ข่าวลูกชายเศรษฐีใหญ่ขับรถหรูราคายี่สิบล้านชนลูกข้าราชการชั้นผู้น้อยตาย แล้วปัดความผิดให้คนสวนเป็นแพะรับบาป (แหม คุ้นราวกับซีร็อกซ์ออกมาจากข่าวหน้าหนึ่ง) ทั้งนี้ยังไม่รวมปมเล็กปมน้อยอีกมากมายในเรื่อง (มีเยอะกว่าในเทรลเลอร์) ที่สะท้อนความอยุติธรรมในสังคมเงินเป็นใหญ่นี้ได้อย่างชัดเจนตรงประเด็น
และนอกจากพระเอกจะตั้งตนเป็นศาลเตี้ยโดยการใช้ความรุนแรงแล้ว เราจะยังได้เห็น “ชาวเน็ต” ตั้งตนเป็นศาลเตี้ยด้วยเช่นกัน นั่นก็คือตัดสินว่า. คนนี้เลว คนนั้นสมควรโดน ผ่านตัวอักษรหรือแป้นคีย์บอร์ด ซึ่งบางทีก็ดูเหมือนจะเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง หรือเป็นบ่อเกิดของความรุนแรงอย่างหนึ่ง ในขณะเดียวกัน เราก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า พลังของโซเชียลฯ ก็ช่วยขับเคลื่อนสังคม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือกระทั่งอาจจะนำไปสู่บทลงโทษให้กับผู้กระทำผิดจริงได้จริง ๆ เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม หนังก็ไม่ได้มานำเสนอว่าความรุนแรงหรือการตั้งตนเป็นศาลเตี้ยคือทางออกหรือการแก้ไขปัญหาสังคมที่ดีที่สุด หนังยังสื่อให้เห็นว่า ไม่ช้าก็เร็ว ทุกการกระทำย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ถ้าทำไม่ถูกต้อง เขาก็ต้องได้รับผลกรรมเช่นเดียวกัน และในขณะเดียวกัน คนที่ไม่ทำอะไรเลย หรือพวกที่ ignorant ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการช่วยคนผิดทำผิดเช่นกัน

“สังคมเราไม่ได้ต้องการคนดีหรอก เราต้องการแค่คนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง”
หนังเล่าประเด็นที่หนักก็จริง แต่มีจังหวะผ่อนหนักผ่อนเบา มีฉากแอ็คชั่นที่ทำได้โอเค และมีสอดแทรกมุกตลกอยู่บ้างตลอดเรื่อง ในส่วนของโปรดักชั่น การตัดต่อ และการเล่าเรื่องค่อนข้างแตกต่างจากหนังไทยทั่วไป มีความอินเตอร์ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง รวมถึงตัวบทที่พยายามมีความซับซ้อน ปมซ้อนปม แล้วก็ทำออกมาได้โอเค อาจจะมีฝืน ๆ และไม่แยบยลเท่าหนังฮอลลีวู้ดหลายเรื่องที่เคยดู แต่ถ้าว่ากันด้วยมาตรฐานหนังไทย ต้องยอมรับว่า “คืนยุติ-ธรรม” คือความเกิดคาดของมาตรฐานหนังไทย และน่าสนับสนุนเพื่อการพัฒนาหนังแนวนี้ในเรื่องต่อ ๆ ไป
สิ่งที่โดดเด่นเกินตัวหนังและไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ก๊อต – จิรายุ พระเอกของเรื่อง ที่แสดงเป็นคนหลายบุคลิกได้ดีมาก การแสดงก็น่าสนใจ มีออร่าของความเป็นซูเปอร์สตาร์ เอาจริง ฝีมือและรูปร่างหน้าตาแบบเขาควรจะเป็นพระเอกมาตั้งนานแล้ว เพียงแต่เขาไม่ได้หน้าลูกครึ่งฝรั่งหรือขาวตี๋ตามค่านิยมหรือ beauty standard ของสังคมไทยก็เท่านั้น แต่หวังว่า วันหนึ่ง วงการภาพยนตร์และละครไทยจะแฟร์กับคนหน้าไทยและคนผลงานคุณภาพแบบ ก๊อต – จิรายุ มากขึ้น โดยในขณะเดียวกันก็หวังด้วยว่า ก๊อต – จิรายุ จะไปได้ไกลกว่าจะมาวนเวียนอยู่แค่วงการการแสดงในประเทศไทย
ร่วมทวงคืนความยุติธรรมได้ในภาพยนตร์ “คืนยุติ-ธรรม” วันที่ 12 สิงหาคม 2020 นี้ ในโรงภาพยนตร์