เพื่อน(ไม่)สนิท ถือว่า “สมมง” ตัวแทนหนังไทยเข้าชิงออสการ์ ครั้งที่ 96 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม แต่โดยส่วนตัวคิดว่า ปีนี้ก็คงยังไม่ใช่ปีของหนังไทยบนเวทีออสการ์ เพราะถึงแม้ เพื่อน(ไม่)สนิท จะดีกว่าหนังไทยหลาย ๆ เรื่องที่เป็นคู่แข่งจริง มีความพยายามสากลและเล่าเรื่อง deep deep ทั้งเพื่อน ความฝัน และภาพยนตร์ แต่หนังก็ยังติดความวัยรุ่นวัยใส เพลย์เซฟ และคอนเซ็ปต์ฟีลกู้ดตามสไตล์ค่ายหนังอารมณ์ดี GDH
เพื่อน(ไม่)สนิท บอกเล่าเรื่องราวของ เป้ (โทนี่ อันโทนี่ จาก เธอกับฉันกับฉัน) ที่ตั้งใจจะทำหนังสั้นส่งประกวด เพื่อชิงโควต้าเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เขาเลือกทำหนังเกี่ยวกับ โจ (จั๊มพ์ พิสิฐพล) เพื่อนร่วมชั้นที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เพราะคิดว่าการเล่าเรื่อิงเกี่ยวกับคนที่ตายไปแล้วมันซึ้งได้ใจ โดยได้รับความช่วยเหลือจาก โบเก้ (ใบปอ ธิติยา จาก เธอกับฉันกับฉัน) เพื่อนสนิทตัวจริงของโจ และแก๊งเด็กเนิร์ดประจำห้องโสต นำโดย ปิง (ฟลุ๊ค-ธนกร) ซึ่งทำให้พวกเขาเริ่มค่อย ๆ เข้าใจความหมายของคำว่าเพื่อนสนิท และในขณะเดียวกัน ก็ได้ล่วงรู้ความลับที่ไม่คาดคิดของโจด้วย
ประเด็นที่เป็นสากลคือ เพื่อน(ไม่)สนิท ตีแผ่ความเป็น “เพื่อน(ไม่)สนิท” ที่พบเห็นโดยทั่วไปในสังคม ตั้งแต่คนในโรงเรียนที่แสร้งทำเป็นอินกับการจากไปของโจอย่างสุดซึ้งทั้งที่จริง ๆ เขาไม่รู้จักโจเลยด้วยซ้ำ หรือคนแปลกหน้าที่ตอนแรกไม่ชอบหน้ากันอยู่ดี ๆ แต่ไป ๆ มา ๆ ก็กลายเป็นซี้กันเฉย หรือเพื่อนที่เคยสนิทกันมาก ๆ แต่ปัจจุบันไม่ได้คุยหรือเจอกันอีกต่อไปแล้ว ในขณะเดียวกัน ก็มีนิยามถึงเพื่อนสนิท เช่น คนที่เราบอกความลับให้แก่กัน เพื่อน(ไม่)สนิท จึงเป็นหนังที่อาจจะทำให้คนดูคิดถึงเพื่อน(ไม่)สนิท หรือเพื่อนสักคนในช่วงจังหวะหนึ่งของชีวิตได้

เช่นเดียวกับหนังหลาย ๆ เรื่อง ตัวเอกเต็มไปด้วยปม ตำหนิ บาดแผล ไม่ว่าจะเป็นความโง่ ความเลว ความเบียว ความเห็นแก่ตัว ฯลฯ ที่ทำให้เรามองเห็น “ความเป็นมนุษย์” หรือมองเห็นตัวเอง โดยเฉพาะในวันวานวัยไฮสคูล ว่าเราต่างเคยทำอะไรโง่ ๆ ชั่ว ๆ หรือเคยทำผิดพลาดเพียงเพราะอารมณ์ชั่ววูบหรือด้วยสถานการณ์บีบบังคับกันทั้งนั้น
ตลอดเรื่องราวมันจะมีจุด conflict หรือทางแยกมากมายที่เราคาดเดาไม่ได้ เพราะตัวละครมีความเป็นมนุษย์มากและจิตใจมนุษย์นั้นก็ล้วนยากแท้หยั่งถึง หนังมันจึงชวนติดตามตลอดว่าตัวละครจะตัดสินใจอย่างไร และเรามักจะเอาตัวเองไปใส่ในหนังว่า “ถ้าเราเป็นตัวละครนี้ เราจะทำอย่างไร” หนังสอนให้เราโอบรับผลลัพธ์ของความผิดพลาดและการตัดสินใจของเรา ชี้ให้เห็นว่า ทุกการกระทำ รวมถึงเรื่องโง่ ๆ ชั่ว ๆ ล้วนมีผลกระทบที่ตามมา แต่เราต้องยอมรับและอยู่กับมันให้ได้
จริง ๆ ประเด็นการตัดสินใจมันมักผูกติดอยู่กับ “ธีมมัลติเวิร์ส” อย่างเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เราเลยคิดว่า หนังฉลาดที่โยงเข้ากับธีมมัลติเวิร์สที่กำลังเป็นเทรนด์ของหนังในยุคนี้เข้าไปอย่างแนบเนียน หากแต่หนังไม่ได้พุ่งไปทางมัลติเวิร์สแบบไซไฟ แต่เน้นไปที่ความเป็นมนุษย์นี่แหละว่า สิ่งที่เราทำในวันนี้มันจะ define สิ่งที่เราเป็นในวันหน้า ดังนั้น หนังจึงพูดถึง “อัตตา” หรือ “ตัวตน” ที่เราอยากจะเป็น ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับชื่อผู้กำกับเรื่องนี้ที่ชื่อว่า “อัตตา เหมวดี“
มัธยมเป็นวัยที่กำลังค้นหาตัวเอง หรือบางคนเจอแล้วว่าตัวเองอยากเป็นอะไร ก็ถือว่าเป็นวัยที่กำลังเริ่มเดินตามความฝัน เช่น เป้ที่ดูเป็นเด็กหยิบหย่ง ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน รู้แต่ว่าไม่อยากสานต่อกิจการของที่บ้าน เลยจับพลัดจับผลูไปลองทำหนังสั้น ส่วนโบเก้เป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ เธอเกิดมาเพื่อถ่ายภาพ แต่บางครั้งความฝันหรือสิ่งที่อยากเป็นนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นอาชีพเสมอไปก็ได้ บางทีเราก็แค่อยากเป็นคนธรรมดา หรือเป็นเพื่อนของใครสักคน
ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ ก็ย่อมมีหลายมิติ บางทีเราอาจเลือกที่จะแสดงออกอย่างหนึ่งกับคนคนหนึ่งและแสดงออกอีกอย่างหนึ่งกับคนอีกคนหนึ่ง เราเลือกได้ว่าเราอยากจะให้โลกมองหรือจดจำเราในแบบไหน ซึ่งนั่นก็สอดคล้องกับการตัดสินใจเลือกหรือการทำหนังของตัวละครหลักในเรื่องเช่นกันว่า เขาอยากจะให้คนอื่นจดจำเขาแบบไหน จดจำโจแบบไหน

เพื่อน(ไม่)สนิท อาจไม่ใช่หนังที่สมบูรณ์พร้อม เราเองก็ไม่ได้ชอบตอนจบของหนังขนาดนั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นีเป็นหนังไทยที่มีสารและสาระที่ทรงคุณค่า มีความ cinematic และเล่าเรื่องถือว่าเก่งเลยสำหรับผู้กำกับหน้าใหม่ นอกจากนี้ เพื่อน(ไม่)สนิท ยังเป็นหนังไทยที่มาเข้าฉายในช่วงที่หนังไทยเรื่องอื่น ๆ กำลังไฮป์ เราจึงอาจพูดได้ว่าหนังเรื่องนี้อาจเป็นเพื่อนที่มาผิดที่ผิดเวลาไปเสียหน่อย แต่ถ้าเขาเลือกที่จะอยากส่งเพื่อนคนนี้ไปออสการ์ปีนี้ก่อนจะเลือกยอดขายหรือมาร์เก็ตแชร์ มันก็จำเป็นต้องรีบให้หนังเข้าฉายโรงภายในสัปดาห์นี้นี่แหละ เพราะตามกติกา หนังไทยที่จะส่งไปออสการ์ปีนี้ได้ ต้องเป็นหนังที่เข้าฉายโรงระหว่าง ธ.ค. 2565 – ต.ค. 2566 เท่านั้น
แต่ในส่วนของคนดู… คนไทยส่วนใหญ่… อาจไม่สามารถเลือกที่จะไปดูหนังไทยทุกเรื่องที่ฉายโรง ณ ขณะนี้โรงภาพยนตร์ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยหรือข้อจำกัดทางการเงินและเวลา เราคิดว่า มันถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยหรือผู้มีอำนาจจะใช้ช่วงโอกาสทองนี้ในการเข้ามาสนับสนุนหนังไทยอย่างแท้จริง เช่น งบเงินทุนสนับสนุนให้คนไทยไปเสพศิลปะหรือหนังไทย หรือการกำหนด screen quota ในการให้รอบฉายแก่หนังไทยอย่างต่อเนื่องหลาย ๆ สัปดาห์เช่นเดียวกับที่ต่างประเทศ ฯลฯ ไม่ใช่แค่เพียงการใส่ชุดผ้าไทยหรือนุ่งผ้าขาวม้าไปยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนังที่ฉายหนังไทยที่มีกระแสด้วยตัวเขาเองอยู่แล้ว