มนต์รักนักพากย์ เป็นจดหมายรักของ อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร (ผู้กำกับ นางนาก) และ Netflix แด่หนังไทยยุค ’70 และพระเอกในตำนานอย่าง มิตร ชัยบัญชา โดยเล่าเรื่องในปีพ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ทั้งเป็นปีที่เราสูญเสีย มิตร ชัยบัญชา และเป็นช่วงปลายของยุคหนังไทย 16 มม. หรือการถ่ายหนังแบบไม่บันทึกเสียง รวมถึงเป็นช่วงที่หนัง 35 มม. เสียงในฟิล์ม โทรทัศน์ และโรงภาพยนตร์เริ่มแพร่หลายมากขึ้น นั่นหมายความว่า บทบาทของนักพากย์ และบทบาทของหนังกลางแปลง ก็ย่อมค่อย ๆ ลดน้อยถอยลง
คล้ายกับที่ผู้กำกับออสการ์ Damien Chazelle ได้นำเสนอไปเมื่อต้นปีในหนังเรื่อง Babylon ที่เล่าถึงคนเบื้องหน้าและคนเบื้องหลังของวงการหนังเงียบในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างหนังเงียบกับหนังเสียงของฮอลลีวู้ด มนต์รักนักพากย์ เลือกนำเสนอเรื่องราวของการปรับตัวและเอาตัวรอดของ “หน่วยหนังเร่ขายยา” ที่ต้องต่อสู้กับคู่แข่งคนสำคัญอย่างหน่วยฉายหนังล้อมผ้า ซึ่งมีทุนทรัพย์ที่มากกว่า อุปกรณ์ที่ทันสมัยกว่า และทีมพากย์สดที่ครบเครื่องกว่า ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ล้าหลังของบริษัทขายยาของตนเอง อีกทั้งยังต้องเผชิญกับความท้าทายของเทคโนโลยีสมัยใหม่ (โทรทัศน์ และโรงภาพยนตร์) ที่กำลังจะเข้ามาแทนที่และเปลี่ยนเทรนด์ของโลก ซึ่งในส่วนของ cinematic และโปรดักชั่นงานย้อนยุค เราไว้วางใจมือ อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร ได้อยู่แล้ว

เราอาจไม่ได้เกิดทันในยุคของ “หน่วยหนังเร่ขายยา” และนักพากย์สด แต่เราเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ประสบกับการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่ส่งผลต่อความฝันและตัวตนของเรา เอาจริง เราเชื่อว่าหลายคนในยุคดิจิทัลน่าจะรู้สึกเหมือนกัน การปรับตัวตามเทคโนโลยีและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมันก็คือความท้าทายที่เราล้วนต้องเผชิญ หนังย้ำเตือนว่า เราไม่ได้เดินอยู่โดยลำพัง
เราเคยมีความฝันแต่เด็กที่อยากจะทำงานเกี่ยวกับการเขียนหรือทำงานในสำนักพิมพ์ เพราะ ณ วันที่เรายังเป็นเด็ก การเขียนและการอ่านหนังสือหรือนิตยสารที่เป็นเล่ม ๆ ยังเป็นที่นิยมอย่างมาก พอโตมาระดับหนึ่ง สิ่งที่เคยเป็นความฝันมันก็กลายเป็นความจริง แต่แค่ไม่ได้เป็นเหมือนที่ฝันไปเสียหมด เราต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนไปกับยุคดิจิตัล ซึ่งแรก ๆ เราก็ทำได้ เราเข้าใจว่า ความฝันในการเขียนของเรายังคงเหมือนเดิมแต่มันแค่ต้องเปลี่ยนรูปแบบหรือแพลตฟอร์ม เช่น การเขียนบล็อก และตามมาด้วยยุคการทำเพจเฟซบุ๊ค และเราก็เชื่อว่า สกิลและความรู้ต่าง ๆ ที่เราเรียนรู้และสะสมมาตลอดชีวิตมันยังคงอยู่ เราอาจจะต้องปรับตัวและพยายามนำมันไปใช้ในรูปแบบหรือแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ได้
แต่ปัญหาของเราตอนนี้คือ โลกมันเปลี่ยนเร็วกว่าสมัยก่อนมาก เทคโนโลยีสมัยใหม่เปลี่ยนโลกทุก ๆ วินาที จนทำให้สิ่งสิ่งหนึ่งสามารถตกยุค หมดกระแส ล้าหลัง หรือถูกด้อยค่าอย่างรวดเร็ว คนบางคนที่เคยชินกับยุคเก่าอาจเหนื่อยที่จะตาม ไม่สามารถปรับตัวหรือไปต่อได้ ทั้งที่ฝีมือของเขาก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลง รวมถึงอัลกอริธึมที่มีส่วนในการกำหนดเทรนด์คอนเทนต์ที่ฉาบฉวยมากกว่าให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ที่ทำให้เราเกือบหมดแพสชั่นที่จะเดินต่อไปในสิ่งที่เราเคยเรียกว่า “ความฝัน” ไปแล้วหลายครั้งหลายครา
แต่ มนต์รักนักพากย์ เน้นย้ำว่าความรักและความฝันเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เรายืนยงในยุคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หนังสอนให้เรา “ค้นหาสิ่งที่เรารักก่อนที่จะเริ่มฝัน” เพราะการรู้จักสิ่งที่ตัวเองรักจะเป็นเหมือนเข็มทิศนำทางไปสู่ความฝันและยังเป็นฟืนไฟหรือผลักดันให้เราผ่านพ้นไปได้ทั้งวันสุขและวันทุกข์ (พูดง่าย ๆ ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราย่อมเจอปัญหา แต่ถ้าเราปวดหัวหรือล้มกับสิ่งที่เรารัก มันก็ย่อมดีกว่าทนอยู่กับสิ่งที่เราไม่รัก)
อย่าง มานิตย์ นักพากย์ห้าเสียง (เวียร์-ศุกลวัฒน์) ที่ชัดเจนในความฝันของตนและทุ่มเททั้งกายใจเพื่อความฝันการเป็นนักพากย์ รวมถึงการคิดหรือทำอะไรนอกกรอบ ความรักและความฝันคือสองสิ่งที่ทรงพลังที่ทำให้เขาเลือกที่จะทำให้ดีที่สุดและไม่ยอมแพ้ในวันที่พบเจออุปสรรคที่หนักหนา ในขณะเดียวกัน เขาไม่ด้อยค่า เรืองแข (หนูนา-หนึ่งธิดา) ที่จะละทิ้งพรสวรรค์การเป็นนักพากย์ไปลองเรียนพิมพ์ดีดและทำงานเป็นเลขานุการตามเทรนด์สมัยใหม่ พอยต์คือ จะชอบหรือไม่ชอบยังไง อย่างน้อยเราได้ลองทำแล้ว
สุดท้าย สิ่งที่เราเรียกว่า “ความฝัน” มันอาจจะเปลี่ยนไป แต่จุดประสงค์หลักของมันยังคงอยู่ แต่เราต้องรู้จักความรักและความฝันของตัวเองอย่างดีเสียก่อน เพื่อที่จะได้พบว่าเรายังมีทางเลือกอีกมากมายที่เราสามารถทำได้ เพียงแต่เราอาจจะต้องลองผิดลองถูกหรือปรับตัวบ้างไม่มากก็น้อย

นอกจากนี้ หนังให้ความสำคัญกับธีม “มิตรภาพ” โดยผูกหรือเชื่อมโยงกับชื่อของ มิตร ชัยบัญชา พระเอกสามร้อยเรื่อง ที่เปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของหน่วยหนังเร่ขายยา ของมานิตย์ (เวียร์), เรืองแข (หนูนา), เก่า (เก้า-จิรายุ), และลุงหมาน (สามารถ พยัคฆ์อรุณ) ซึ่งเป็น “ดรีมทีม” ของการผสมผสานที่ลงตัวของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ และสื่อถึงคำว่ามิตรภาพของคนที่มีฝันร่วมกันไว้ได้อย่างดีเยี่ยม (และโดยส่วนตัว เราคิดว่ามันน่าจะดีกว่านี้ถ้าไม่มีการใส่ปมรักสามเส้าเข้ามาแทรกเลยแต่แรก) โดยมีการแสดงของนักแสดงทั้งสี่เป็นจุดแข็งที่ทำให้คนดูสมัครใจที่ลงเรือลำเดียวกับพวกเขาไปตลอดเส้นทางทั้งที่เราแทบไม่รู้ปูมหลังของพวกเขาเลย ซึ่งมันก็คงเหมือนกับที่สามหนุ่มรับสาวเรืองแข (หนูนา) เข้ามาร่วมทีมทั้งที่เธอปฏิเสธที่จะเล่าเรื่องราวในอดีตของเธอ เพราะสุดท้ายความสามารถและความตั้งใจของเธอในวันนี้ ความฝันและเป้าหมายที่สอดคล้องกัน รวมถึงความจำเป็นในการอยู่รอดของพวกเขา คือสิ่งที่สำคัญมากกว่านั่นเอง
“การอยู่รอด” หรือ “การเอาตัวรอด” ถือเป็นอีกธีมหนึ่งที่สำคัญที่สุดของเรื่อง ไม่ใช่แค่หน่วยหนังเร่ขายยาที่พยายามดิ้นรนเพื่ออาชีพและความฝันเท่านั้น แต่หนังยังสอดแทรกถึงการเอาตัวรอดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เรืองแข (หนูนา) ที่ต้องโกหกว่าเป็นซิฟิลิส เพื่อความปลอดภัยในการอยู่ร่วมชายคากับแก๊งชายล้วน หรือมานิตย์ (เวียร์) ที่จำเป็นต้องโกหกคนในค่ายทหารที่ดูสนใจในตัวเรืองแข (หนูนา) ว่าเธอเป็นภรรยาของเขา เพื่อความปลอดภัยของเธอเอง

เผิน ๆ อาจฟังดูย้อนแย้งนิดนึงเมื่อหนังไทย มนต์รักนักพากย์ ที่สร้างโดยสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มอย่าง Netflix และฉายเฉพาะบน Netflix จอใครจอมัน เป็นหนังที่ชวนรำลึกถึงการดูหนังแบบประสบการณ์ร่วม (Collective Experience) อย่างการดูหนังกลางแปลงหรือการดูหนังในโรงภาพยนตร์ แต่หากลองมองผ่านเลนส์ของ Netflix เอง เราอาจเข้าใจได้ว่า Netflix ก็แค่เป็นตัวแทนของคนรักหนังที่ชี้ให้ทุกคนเข้าใจธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงและอยากช่วยประคองให้ทุกคนผ่านพ้นยุคเปลี่ยนผ่านนี้ไปให้ได้ และการฉายบน Netflix ก็เป็นวิถีที่คนรุ่นใหม่จะสามารถดูหนังเรื่องนี้กับคุณตาคุณยายหรือญาติผู้ใหญ่ที่เติบโตมากับยุค มิตร ชัยบัญชา ได้โดยไม่ยาก
สุดท้าย การเปลี่ยนแปลงมันเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แก่นสำคัญที่ยังคงอยู่คือ การบอกเล่าเรื่องราวและการมอบความสุขผ่านภาพยนตร์ เช่นเดียวกับที่เราจะได้เห็นจากฉากที่หน่วยหนังเร่ขายยาไปฉายหนังให้ชนเผ่ากลุ่มน้อยในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารได้ดูว่า พวกเขามีความสุขกับการดูหนังมาก ๆ ถึงแม้ว่าสภาพแวดล้อมหรือสภาพอากาศจะไม่เอื้ออำนวยเลยก็ตาม ดังนั้น ต่อให้วันนึงแพลตฟอร์มจะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะแผ่นฟิล์มสู่ดิจิตัล หรือโรงหนังสู่สตรีมมิ่ง แต่ความรัก ความสุข และความฝันของทุกคนจะยังคงอยู่กับภาพยนตร์ไม่เปลี่ยนแปลง และหัวใจสำคัญคือ “การที่คนทุกคนจะสามารถเข้าถึงมันได้” นั่นต่างหาก
ไม่แน่ วันนึงเราอาจจะมีโอกาสได้ดูหนังในยุค มิตร ชัยบัญชา หลายเรื่องที่ถูกรีมาสเตอร์และมาอยู่บนสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มอย่าง Netflix ที่ใคร ๆ ต่างก็เข้าถึงได้กันมากขึ้นก็ได้