Oppenheimer เป็นผลงานเรื่องล่าสุดของเสด็จพ่อ Christopher Nolan เล่าเรื่องของ J. Robert Oppenheimer (Cillian Murphy จาก Inception) บิดาแห่งระเบิดปรมาณู (Father of the Atomic Bomb) และเขาก็ยังคงสไตล์ “ความชอบไม่เล่าเรื่องแบบ chronological” หรือความซับซ้อนของไทม์ไลน์แม้กระทั่งมันจะเป็นหนังเชิงอัตชีวประวัติก็ตาม
Oppenheimer มีศัพท์แสงฟิสิกส์ ประวัติศาสตร์ การเมือง (ซึ่งเราไม่ได้มีความรู้ด้านเหล่านั้นแน่นนัก) ไดอะล็อกยาว และตัวละครที่มากมาย ประกอบกับความยาวหนัง 3 ชั่วโมงเต็ม เราจึงแอบหลุดโฟกัสไปบ้าง แต่ยังดีที่หนัง Nolan เรื่องแรกที่เราได้ดูคือ Memento จากในคลาสเรียนวิชา Philosophy ที่คณะอักษรศาสตร์ เราจึงพอมีภูมิต้านทานอยู่บ้าง แต่ถ้าใครไม่ค่อยมีภูมิต้านทาน เราก็แนะนำให้ทำการบ้านก่อนไปดูหนังเรื่องนี้นิดนึง
เราไม่เคยเรียนฟิสิกส์ควอนตัม หรือแม้แต่ในวิชาประวัติศาสตร์ หลักสูตรก็เน้นแต่ให้ท่องจำว่า สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดเมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้หลังอเมริกาทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ตามคำสั่งของประธานาธิบดี Harry Truman (Gary Oldman จาก Darkest Hour) เมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม 1945 แต่ไม่ได้เน้นให้รู้หรือท่องจำว่าใครเป็นคนคิดค้นหรือสร้างระเบิด อย่างไรก็ตาม ในหนัง Oppenheimer นี้ Nolan ได้นำเสนอเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์คนนี้แบบรอบด้านและอย่างมีมิติ ไม่ได้บูชาเขาเป็นอัจฉริยะเปลี่ยนโลกอย่างเดียว แต่มองเขาเป็น “มนุษย์คนหนึ่ง” เหมือนกับพวกเรา
Oppenheimer เล่าสลับไทม์ไลน์ไปมาในหลายช่วงยุค ตั้งแต่สมัยที่ Oppenheimer ยังเรียนอยู่ที่ยุโรป, สมัยที่เขาสอนในมหา’ลัยที่อเมริกา ซึ่ง ณ ตอนนั้นยังแทบไม่มีใครสนใจฟิสิกส์ควอนตัมเลย, สมัยที่ทำการทดลองระเบิดปรมาณู A-Bomb หรือ The Manhattan Project ที่ Los Alamos, New Mexico, สมัยที่ถูกสอบสวนเรื่องการเป็น communist และความภักดีต่อประเทศชาติ หลังจากเขามีท่าทีต่อต้านการสร้าง H-Bomb หรือระเบิดนิวเคลียร์แบบใหม่ ที่คิดค้นโดย Edward Teller (Benny Safdie) The Father of the Hydrogen Bomb ซึ่งเช่นเดียวกับปุถุชนคนทั่วไป คนคนนึงในช่วงเวลาหนึ่งก็ทั้งเหมือนและไม่เหมือนกันกับตัวเองในอีกช่วงเวลาหนึ่ง โดย Nolan เลือกใช้นักแสดงคนเดิมคนเดียวเล่นเป็นตัวละครนั้น ๆ ในทุก ๆ ช่วงอายุ
ครั้งแรกที่เราได้รู้ว่า Nolan เรียนจบด้าน English literature มา เราค่อนข้างเซอร์ไพรส์ เพราะจากหลาย ๆ ผลงานภาพยนตร์ยุคหลัง ๆ ของเขา เช่น Interstellar กับ Inception เราคิดว่าเขาเรียนจบด้านฟิสิกส์หรือวิทยาศาสตร์มาด้วยซ้ำ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เราเข้าใจเช่นกันว่า ทำไมหนังของเขา ซึ่งถึงแม้จะเน้นหนักไปทางฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ อวกาศ หรือเวลา มันมักมีความซับซ้อนของมนุษย์ และการตั้งคำถามกับการมองโลก ตัวละครเอกของเขาก็มักมีปมในใจที่ขับเคลื่อนเรื่องราวอย่างชัดเจน
ถึงแม้จะเต็มไปด้วยศัพท์แสงฟิสิกส์และนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง (คำอธิบาย Fission กับ Fusion) แต่ Oppenheimer ก็ไม่ใช่หนังที่เน้นที่การสร้างระเบิดหรือการระเบิดนิวเคลียร์ แต่เป็นหนังที่พาเราไปสำรวจจิตใจของ Oppenheimer ผู้ทำระเบิดนิวเคลียร์ และผู้คนรอบข้างของเขา รวมถึงครอบครัวและคนรัก ที่ค่อย ๆ ถูกบีบเค้นจนพร้อมจะแตกหรือระเบิดตลอดเวลา และมันยังเป็นหนังเกี่ยวกับ power ที่ไม่ใช่แค่พลังของระเบิดปรมาณูที่มีอำนาจทำลายล้างโลกได้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงมนุษย์ที่ต้องการมีอำนาจในการควบคุมหรือครอบครองมัน
ดังนั้น ฉากการทดลองระเบิด Trinity ครั้งแรกที่ Los Alamos กลางเดือน ก.ค. ปี 1945 ที่เหมือนจะเป็นไคลแมกซ์และเป็นระเบิดลูกใหญ่ของเรื่อง (ซึ่ง Nolan ยืนกรานที่จะไม่ใช้ CGI ในหนังเลย) ก็ “ยังไม่ยิ่งใหญ่” เท่าผลลัพธ์ที่ตามมาที่ Oppenheimer ผู้สร้างระเบิดและหยิบยื่นให้คนอื่นไปแสวงหาอำนาจ ต้องเผชิญและแบกรับ ครึ่งหลังของหนังจึงขับเคลื่อนไปด้วยสนามอารมณ์และเข้มข้นในระดับที่ “ยิ่งใหญ่ ทรงพลัง และน่ากลัวกว่า” ระเบิดจริง ๆ นั้นเสียอีก ซึ่งนี่คือหัวใจสำคัญของหนังเรื่องนี้
ด้วยความที่หนังมีเนื้อหาที่อัดแน่นและตัวละครเยอะ ทั้งตัวใหญ่และตัวเล็ก แต่แต่ละคนก็เป็นเสมือนอะตอมหนึ่งอะตอม ที่พอไปชนกับอีกอะตอม ก็จะเกิดการถ่ายเทพลังงาน และ Nolan ฉลาดเลือกนักแสดงระดับท็อป ๆ มาเต็มแผ่นฟิล์ม ไม่ว่าจะบทเล็กบทใหญ่ และเลือกใช้กล้องเทคโนโลยี IMAX ในการถ่ายโคลสอัพหน้านักแสดง เพื่อมั่นใจได้ว่า ถึงแม้ตัวละครนี้จะมีแอร์ไทม์เพียงสั้น ๆ แต่มันจะต้องมีการถ่ายทอดอารมณ์และพลังทางการแสดงที่ทรงพลัง อิมแพค และน่าจดจำ โดยเฉพาะ Cillian Murphy นักแสดงคู่บุญของ Nolan ที่ไม่ใช่แค่แสดงได้อย่างยอดเยี่ยมมากเท่านั้น แต่ยังเหมือน Oppenheimer ตัวจริงเสียงจริงมากเสียด้วย
บทสมทบที่เด่นหน่อย ก็จะเป็น Lewis Strauss (Robert Downey Jr. จาก Iron Man) อดีตหัวหน้า Atomic Energy Commission ผู้โหยหาอำนาจทางการเมือง และเป็นคู่กรณีคนสำคัญของ Oppenheimer, Leslie Groves (Matt Damon จาก The Martian) นายทหารใหญ่ที่คุม The Manhattan Project, Kitty (Emily Blunt จาก A Quiet Place) ภรรยาผู้ร่วมทุกข์ร่วมยากของ Oppenheimer, Jean Tatlock (Florence Pugh จาก Little Women) สาวคอมมิวนิสต์และคนรักเก่าของ Oppenheimer ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยกันสักคน
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Oppenheimer เป็นหนังที่มี message ทางการเมืองและดำดิ่งถึงความเป็นมนุษย์อย่างสุดซึ้ง สร้างมาเพื่อประสบการณ์ในโรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะ IMAX เพราะถ่ายทำด้วยกล้อง IMAX และฟิล์ม IMAX ขาวดำครั้งแรกในโลก ผสมผสานกับ cinematic styles ของ Nolan ซึ่งเราคิดว่า Oppenheimer น่าจะเข้าชิงออสการ์หลายสาขา โดยเฉพาะเรื่องการตัดต่อ เรื่องภาพ และเรื่องเสียง ซาวนด์ ดนตรีประกอบ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ โดดเด่นล้ำหน้าผู้กำกับหลายคนในยุค จนสามารถพูดได้ว่า “นี่คือยุคของ Nolan อย่างแท้จริง”
อ่านเพิ่มเติม Who’s Who in ‘Oppenheimer’: A Guide to the Real People and Events by The New York Times