หุ่นไม้ Pinocchio เป็นที่จดจำในเรื่องของจมูกที่ยาวขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเขาโกหก และเป็นเรื่องที่มักนำมาเล่าเป็นนิทานก่อนนอนสอนใจเด็ก ๆ ว่า “อย่าโกหก” แต่ภาพยนตร์ Pinocchio (2019) ? ของ Matteo Garrone นี้ มีเรื่องราวให้เรียนรู้มากกว่าเท่าที่เราเคยจำได้ และอาจมีความดาร์กขึ้นมาเล็กน้อย เช่น มีฉากแขวนคอ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเหมาะสมสำหรับเด็กทุกบ้านหรือเปล่า
The Adventures of Pinocchio (1883) ของ Carlo Collodi เป็นวรรณกรรมคลาสสิกที่โลกไม่เคยลืม มีการนำมาสร้างและดัดแปลงเป็นแอนิเมชั่นและภาพยนตร์มาก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้ง เช่น แอนิเมชั่นฉบับปี 1940 ของ Disney ที่หลายคนหลงรัก หรือกระทั่ง Pinocchio (2002) ฉบับที่แป้ก ซึ่งกำกับ เขียนบท และแสดงนำโดย Roberto Benigni
Pinocchio (2002) มันไม่สมเหตุสมผลตั้งแต่ Roberto Benigni ซึ่ง ณ ขณะนั้น อายุ 49 ปี มาเล่นเป็นพิน็อคคิโอเองแต่แรกแล้ว แต่ Roberto Benigni ดูน่าจะอินกับวรรณกรรมเรื่องนี้มากจริง ๆ เพราะถึงแม้จะพังไม่เป็นท่ากับหนังเวอร์ชั่นนั้น แต่เขาก็ยังกลับมารับบทแสดงนำในหนัง Pinocchio (2019) ด้วยอีก โดยครั้งนี้ เขารับบทเป็นพ่อของพิน็อคคิโอ (ซึ่งมันก็ควรจะเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2002 นู่นแล้ว) และให้นักแสดงเด็ก 10 ขวบมาเล่นเป็นพิน็อคคิโอแทน
เรื่องย่อของคร่าว ๆ ของ Pinocchio (2019) ก็คือ Geppetto (Roberto Benigni) ช่างไม้ผู้ยากจนได้ทำหุ่นไม้ (puppet) ขึ้นมา และหุ่นนั้นกลับมีชีวิต เหมือนเด็กผู้ชายจริง ๆ เขาดีใจที่ได้เป็นพ่อคน และตั้งชื่อหุ่นไม้นี้ว่า Pinocchio (Federico Ielapi) แต่ Pinocchio หนีเรียนไปดูละครหุ่น จนถูกเจ้าของสำนักลักพาตัวไป การผจญภัยของเขาจึงเริ่มขึ้น ระหว่างการผจญภัยเขาได้เจอ Fox & Cat ที่นิสัยเจ้าเล่ห์เพทุบาย, เจอนางฟ้าใจดีและแม่บ้านหอยทาก, เจอลิงผู้พิพากษาที่ไร้ซึ่งความเป็นธรรม, เจอคนค้าลาและสำนักละครสัตว์ผู้กดขี่, เจอฉลามยักษ์กลางมหาสมุทร ฯลฯ ซึ่งเป็นในเรื่องของ coming-of-age นั่นเอง
“In this country, the innocent go to prison!”
ในช่วงเริ่มเรื่องของ Pinocchio (2019) เราคิดว่า ช่วงก่อนและช่วงที่พ่อเพิ่งสร้างพิน็อคคิโอขึ้นมาใหม่ ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่ Roberto Benigni ยังเป็นตัวเดินเรื่อง เป็นช่วงที่ยังดูเพลิน เพราะมันทำให้เรานึกถึงเขาในบทบาทคุณพ่อนักโกหก (ขาว) ผู้ไหลลื่นและแสนดีในค่ายกักกันยิวใน Life Is Beautiful ซึ่งเป็นบทบาทที่นำพาเขาไปสู่ออสการ์ในปีนั้น แต่หลังจากที่ Pinocchio พลัดจากบ้านและห่างจากพ่อไปแล้วนั้น หนังก็ค่อนข้างเรื่อย ๆ เอื่อย ๆ ไม่ค่อยมีอะไรน่าดึงดูดนัก
สิ่งที่น่าสนใจคือ Pinocchio (2019) ไม่ได้ให้เราโฟกัสแค่การโกหกของ Pinocchio แล้วจมูกยื่นยาวเท่านั้น แต่นำเสนอการโกหกในหลาย ๆ รูปแบบในสังคมของคนหลาย ๆ คน ตั้งแต่การโกหกสร้างเรื่องเพื่อปากท้อง, การพูดเกินจริงหรือประจบสอพลอเพื่อความอยู่รอด, คนละโมบโลภมากที่โกหกเพื่อให้ได้ของของคนอื่นมาเป็นของตน, คนบิดเบือนเรื่องเล่าเพื่อให้ตัวเองดูดีหรือไม่ดูแย่ในสายตาคนอื่น, การโกหกขาวเพื่อให้อีกฝ่ายสบายใจ, หรือกระทั่งความอยุติธรรมในชั้นศาลของชนชั้นปกครอง ฯลฯ จนพูดได้ว่าการโกหกเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสังคม
นอกจากการโกหก หนังยังสะท้อนให้เห็นถึงความรักของพ่อแม่หรือ parenthood รวมถึงการศึกษาและการเชื่อฟังผู้ใหญ่ เริ่มจากความรักของพ่อผู้ไม่มีอะไรเลยแม้แต่เงินสักสลึง แต่เขาเอาผ้าปูเตียงของเขามาตัดเป็นชุดของลูก และเอาเสื้อผ้าของเขาไปแลกกับตำราเรียน บ่งบอกว่าเขายอมสละสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อลูกของเขาอย่างเต็มใจ ในขณะที่ลูก ซึ่งก็อาจด้วยความยังเด็กเล็ก ยังติดเล่นและติดเพื่อนมากกว่า
หนังก็สะท้อนถึงความเชื่อของผู้ใหญ่ที่หวังจะให้ลูกเรียนหนังสือให้เก่ง ๆ หรือเชื่อว่าการศึกษาจะทำให้คนเป็นคน แต่ในขณะเดียวกัน หนังก็แสดงให้เห็นด้วยว่าสถาบันการศึกษาหรือคนเป็นครูผู้มีการศึกษาก็ใช่ว่าจะมีความเป็นคนเสมอไป ดังนั้น ต่อให้ Pinocchio จะเรียนเก่งที่สุดในชั้น นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะกลายเป็นคน หรือ become a (real) boy อย่างที่เขาปรารถนา
โดยสรุป Pinocchio (2019) ก็ยังเป็นเรื่องเล่าที่มีคติสอนใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่หนังไม่ได้โลกสวยเหมือนหนังดิสนีย์ อีกทั้งยังมีความแปลกประหลาดมากกว่าความเพลิดเพลิน ดังนั้น มันอาจจะไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน หนังเล่าเอื่อย ๆ จนรู้สึกว่าแอบยาว (สองชั่วโมง) และชวนแอบให้ลำไยในความง่าวถูกหลอกซ้ำซ้อนของเด็กน้อย แต่หนังก็ภาพสวย มีความละเมียดละไมพอประมาณ และมีมุมน่ารัก ๆ แฝงอยู่ตลอด
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 7/10
2 comments
Comments are closed.