ถ้าคุณจะเริ่มต้นดูหนังของ Yorgos Lanthimos เราแนะนำว่า Poor Things เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะถ้าเทียบกับผลงานก่อน ๆ ของผู้กำกับชาวกรีกคนนี้ อย่างเช่น Dogtooth, The Lobster, The Killing of a Sacred Deer, หรือ The Favourite แล้วล่ะก็ Poor Things จัดเป็นหนังที่ดูง่ายและเล่าเรื่องตรงไปตรงมาที่สุดแล้วของเขา อีกทั้งยังการันตีคุณภาพด้วยการเข้าชิงออสการ์ถึง 11 สาขาอีกต่างหาก
Main Themes: feminism, identity, patriarchy, and autonomy
Poor Things ยังมีกลิ่นอายและลายเซ็นของผู้กำกับอย่างชัดเจน และยังคงเล่นประเด็นความเป็นมนุษย์ เช่น ความเหงา ความโดดเดี่ยว อำนาจ การควบคุม ฯลฯ แต่ธีมหลักของเรื่องคือ female empowerment in a patriarchal society ได้แก่ การค้นหาตัวตน และการเลือกมีชีวิตของตัวเองในสังคมชายเป็นใหญ่ (feminism, identity, patriarchy, autonomy) ดังนั้น จะเรียกว่าเป็น “Barbie สายดาร์ก” ก็ว่าได้
Bella’s Journey and Character Development
Poor Things บอกเล่าเรื่องราวของ Bella Baxter (Emma Stone จาก La La Land) หญิงสาววัยสะพรั่งผู้มีสมองเด็กทารก เธออยู่ภายใต้การดูแลของด็อกเตอร์ Godwin Baxter หรือ “God” (Willem Dafoe จาก Spider-Man) ที่เลี้ยงดูเธอเหมือนลูกสาว แต่ในขณะเดียวกันก็คอนโทรลชีวิตเธอเหมือนการรักษาปัจจัยควบคุมในการทดลองวิทยาศาสตร์
วันหนึ่ง Bella เริ่มมีความรู้สึกและความต้องการทางเพศ Godwin คิดจะจับเธอแต่งงานกับ Max McCandles (Ramy Youssef จาก Mr. Robot) ลูกศิษย์และผู้ช่วยของเขาที่คอนโทรลได้ง่าย แต่ทนายเจ้าเล่ห์ Duncan Wedderburn (Mark Ruffalo จาก Avengers) มาหลอกล่อ Bella ไปท่องโลกกว้างด้วยกัน ด้วยมุ่งหวังให้เธอเป็นนางบำเรอและเชื่อว่าเขาจะสามารถควบคุมเธอได้ แต่ระหว่างการเดินทาง Bella ได้ค่อย ๆ พัฒนาทักษะ ความเข้าใจโลก และเรียนรู้ความจริงของมนุษย์ทีละเปลาะ ๆ จากประสบการณ์จริงโดยตรง ทั้งประสบการณ์ที่ดีและประสบการณ์ที่ร้าย
ตลอดเวลา 2 ชั่วโมง 21 นาทีในหนัง เราจะได้เฝ้าสังเกตพัฒนาการ เรียนรู้และเติบโตไปพร้อม ๆ กับ Bella เพื่อไปสู่ตัวตนที่เป็นเธอและสร้างเองโดยเธออย่างแท้จริง หลังจากที่ตลอดมา เธอพบเจอแต่ผู้ชายที่พยายามจะครอบครอง เอาเปรียบ แสวงหาผลประโยชน์ ควบคุมหรือจำกัดชีวิตเธอ ประหนึ่งเธอเป็น property ไม่ว่าจะด้วยข้อจำกัดทางการศึกษาหรือข้อบังคับจากการแต่งงาน ตั้งแต่ Godwin ผู้เปรียบเสมือนผู้สร้าง, Duncan ผู้เปรียบเสมือนคู่ครอง, อีกทั้งยังมีนายพล Alfie (Christopher Abbott) คนรักเก่าของเธอก่อนที่ Godwin จะมาเจอเธออีกคน ชีวิตของ Bella ไม่เคยได้เลือกหรือเป็นตัวเองได้เลย การฆ่าตัวตายเป็นเหมือนสิ่งเดียวที่เธอสามารถตัดสินใจหรือเลือกลิขิตชีวิตด้วยตัวเองได้
ทั้งนี้ เราต้องยกย่องความสามารถทางการแสดงของ Emma Stone ที่ทุ่มทั้งสุดตัวและจิตวิญญาณในการเข้าถึงบทบาท ถ่ายทอดพัฒนาการ และความซับซ้อนของตัวละคร Bella ได้อย่างยอดเยี่ยม
I have adventured it and found nothing but sugar and violence.
The Social Commentary on Gender and Power
ผู้ชาย โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้นหรือในสังคมชายเป็นใหญ่ ล้วนทำเฉกเช่นนั้นกับผู้หญิง ไม่ใช่เพื่อกดทับพัฒนาการหรืออิสรภาพของพวกเธอเท่านั้น หากแต่เพื่อปิดบังกลบเกลื่อนปมด้อยหรือความอ่อนแอของตัวเอง เช่น Godwin ที่หลอกตัวเองว่าพ่อใช้เขาเป็นหนูทดลองก็เพื่อการเปลี่ยนแปลงและการค้นพบอันยิ่งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์, Duncan ที่มักโอ้อวดศักยภาพเรื่องบนเตียง (Unfortunately, even I have my limits. Men cannot keep coming back for more.), หรือกระทั่งผู้ชายทั้งหลายที่เข้ามาในซ่องก็ล้วนแต่ดูหดหู่สิ้นหวัง
และเราก็จะเห็นด้วยว่า Bella ก็พยายามหาทางคอนโทรลชีวิตของเธอให้เป็นไปตามที่เธอต้องการมาตั้งแต่สมองยังไม่ค่อยมีพัฒนาการ เช่น การร้องไห้โวยวายหรือความรุนแรง (เหมือนเด็กอยากได้ของเล่น) จนกระทั่งเธอได้ไปเผชิญโลกที่กว้างใหญ่ขึ้น ที่เธอจะได้ค่อย ๆ รู้จักตัวตนว่าเธออยากเป็นใคร อยากทำอะไร จนไปถึงการเข้าถึงวรรณกรรมและการศึกษา ที่เธอค้นพบว่ามันมีอำนาจช่วยเปลี่ยนชีวิตของคนคนนึงและสามารถเปลี่ยนโลกได้ เธอจึงอยากเป็นหมอเหมือนกับ Godwin (ซึ่งในยุคสมัยนั้น ผู้หญิงก็ยังถูกจำกัดสิทธิทางการศึกษา)
We must work. We must make money. But more than that, we must experience everything. Not just the good, but degradation, horror, sadness. This makes us whole Bella, makes us people of substance. Not flighty, untouched children. Then we can know the world. And when we know the world, the world is ours.
Bella’s Emancipation and Discovery
หนังจึงตอกย้ำความสำคัญว่า ผู้หญิง และทุก ๆ คน ควรได้ออกไปเจอโลกกว้างและสัมผัสประสบการณ์ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง โดยใช้ “เซ็กส์” เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการถ่ายทอดว่า Bella ก็เรียนรู้ สังเกต ทดลอง เติบโต ค้นหาและค้นพบตัวเองผ่านสิ่งที่เธอเรียกว่า “hairy business” เช่นเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์ เรียนรู้ สังเกต ทดลอง และพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ให้กับโลก (หนังมีฉากนู้ด ฉากเซ็กส์ และความรุนแรง เหมาะกับผู้ชมอายุ 20+ ขึ้นไป)
ด้วย Bella ยังเป็นเสมือนเด็กทารกในร่างผู้ใหญ่ เธอจึงมีความอินโนเซนต์ จริงใจ ไม่เสแสร้ง ทำอะไรตามใจคิดโดยไม่สนใจ social norm สักเท่าไหร่ เช่น เธอไม่ลังเลที่จะขากถุยอาหารที่เธอไม่ชอบทิ้งทันที (Why keep it in my mouth if it is revolting?) เธอพร้อมจะบุกเข้าไปต่อยหน้าเด็กที่ร้องไห้หนวกหูในที่สาธารณะ
ที่สำคัญ เธอเป็นคนที่เปิดเผยความต้องการทางเพศของเธอแบบตรง ๆ โต้ง ๆ อย่างไม่เคอะเขิน ซึ่งมักจะถูกติงโดยผู้ชายรอบตัวเสมอว่า ไม่เหมาะสมและขัดต่อสมบัติผู้ดีหรือ “polite society” และเพื่อความอยู่รอด เธอไม่รู้สึกลังเลหรืออับอายแม้แต่น้อยที่จะขายบริการทางเพศเพื่อแลกกับเงิน เธอมองว่ามันเป็น a win-win situation สิ่งสำคัญคือ การยินยอม (consent) และสิทธิเสรีภาพในการเลือกทางเดินหรือใช้ร่างกายของตัวเอง ซึ่งเป็นแก่นสำคัญของ feminism
นอกจากนี้ หลังจากได้ออกไปเจอโลกภายนอก เหมือนเจ้าชายสิทธัตถะ เธอได้เห็นความจริงอันโหดร้ายว่า โลกทุนนิยมมันยังมีเส้นแบ่งทางชนชั้น เห็นคนเกิดแก่เจ็บตาย ซึ่งยิ่งทำให้เธอนึกเกลียดความไม่เท่าเทียม ในขณะที่เธอได้ใส่เสื้อผ้าสวย ๆ กินของหรูหรา และนอนอยู่บนเตียงนุ่ม ๆ โลกนี้ยังมีคนที่อดอยากปากแห้ง ทุกข์ทรมาน และไม่สามารถทำอะไรได้ตามใจชอบอีกมากมาย และเธอรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของเธอที่จะทำให้โลกใบนี้มันดีขึ้น ซึ่งการเห็นโลกในหลาย ๆ ด้านนี้เองที่นำไปสู่การตื่นรู้ เข้าใจความแตกต่างและความเป็นไปของโลก อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยเหลือและเปลี่ยนแปลงสังคมได้
Philosophical Debates and Socialism
บนเรือสำราญ เธอได้ถกประเด็นปรัชญากับผู้ชายคนหนึ่ง ในขณะที่ Bella มองว่า เราทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองและช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นสำหรับทุกคนได้ ซึ่งสอดคล้องกับ socialism ที่ว่า สภาพสังคมและระบบทุนนิยมมันหล่อหลอมพฤติกรรมมนุษย์ และเราต้องเปลี่ยนแปลงระบบดังกล่าว แต่ชายผู้นั้นมองว่า มนุษย์เราก็ล้วนเป็นสัตว์ที่โหดร้าย (ผู้กำกับชอบทำหนังที่มนุษย์เชื่อมโยงกับสัตว์อยู่แล้ว) และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เกิดยังไงตายยังงั้น และแน่นอนว่า สำหรับคนที่มีชีวิตที่ดีขึ้นได้จากการศึกษาอย่างเรา เราเลือกฝั่งอยู่ Bella
แต่ในขณะเดียวกัน การที่ Godwin สร้าง Felicity (Margaret Qualley จาก Once Upon a Time… in Hollywood) มาแทนที่ Bella และพยายามเลี้ยงดูภายใต้ปัจจัยควบคุมเดียวกัน แต่เด็กใหม่คนนี้ก็ไม่สามารถมีพัฒนาการได้เท่า Bella ดังนั้น จึงอาจมองได้ว่า ถึงแม้สิ่งแวดล้อม (environment) กับการเลี้ยงดู (nurture) จะมีส่วนมากในการ shape คนคนนึงก็จริง แต่พื้นฐานโดยธรรมชาติ (nature) ก็ยังมีส่วน แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถพูดได้เช่นกันว่า Godwin เลี้ยง Felicity เหมือนที่เลี้ยง Bella เพราะตอนที่เลี้ยง Bella นั้น เขาใส่ความรักความผูกพันลงไปด้วยนั่นเอง
Cinematic Techniques: Lenses, Color, and Symbolism
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของหนัง Poor Things คือการเลือกใช้เลนส์ต่าง ๆ ในการถ่ายภาพ โดยเฉพาะเลนส์ตาปลา (fisheye lens) ที่สะท้อนถึงโลกที่บิดเบี้ยวหรือความไม่สมเหตุสมผลของสังคมชายเป็นใหญ่ในยุคสมัยวิคตอเรียน
นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาพขาวดำในช่วงแรก ๆ หรือช่วงที่ Bella ยังไม่ได้ออกไปเจอโลกภายนอก ซึ่งเป็นช่วงที่ชีวิตของเธอยังมีแค่ขาวกับดำ จนกระทั่งเธอได้เริ่มออกไปผจญภัยโลกภายนอกกับ Duncan โลกของเธอก็เริ่มมีสีสัน แต่ทั้งนี้ ณ ตอนนั้น ก็ยังเป็นสีสันที่เหมือนภาพวาดสีน้ำมันอยู่ดี ซึ่งนอกจากจะให้ภาพที่สวยงามหรือบ่งบอกถึง artistic vision ของผู้กำกับแล้ว ยังช่วยให้เห็นภาพอีกว่า แม้แต่โลกภายนอกก็ยังมีทั้งความเหมือนฝันและความ surreal ก่อนที่ภาพสีจะดูใกล้เคียงความเป็นจริงหรือ realistic มากขึ้นในช่วงหลังอีกที ซึ่ง cinemotography หรือการเลือกใช้สีต่าง ๆ ตรงนี้ของหนังก็ช่วยเสริม storytelling และการนำเสนอธีม (thematic expression) ทำให้เราเข้าถึงโลกที่ Bella กำลังประสบพบเจอได้ดีมากขึ้น
Conclusion
โดยสรุป Poor Things เป็นอีกหนึ่งงานมาสเตอร์พีซของ Yorgos Lanthimos ที่ทรงคุณค่า สมฐานะผู้เข้าชิงออสการ์ 11 สาขา โดยเฉพาะการแสดงที่โดดเด่นของตังเต็งออสการ์นำหญิง Emma Stone นอกจากนี้ ถึงแม้หนังจะคงคอนเซ็ปต์ความ “แปลก” หรือความ “เฉพาะตัว” ของผู้กำกับ แต่หนังก็ยังเข้าถึงง่าย นำคนดูดำดิ่งไปสำรวจจิตใจและก้นบึ้งใต้จิตสำนึกของมนุษย์ พร้อมกับเห็นความสำคัญของเฟมินิสต์ ความเท่าเทียม การค้นพบและเป็นตัวเอง จนถึงการวิพากษ์วิจารณ์ระบบสังคมชายเป็นใหญ่ เหมาะกับผู้ชมที่ชอบดูหนังที่บริหารสมองและมีประเด็นให้ขบคิด ถกเถียง หรือต่อยอด
แต่ถ้าผู้ชมบางคนโฟกัสแต่ฉากเซ็กส์หรือฉาก 20+ จนละเลยสารสำคัญที่ผู้กำกับและนักแสดงต้องการจะถ่ายทอด คนผู้นั้นก็จัดเป็นบัวใต้ตมที่ยากจะตื่นรู้หรือช่วยให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้นได้ เราก็คงจะขอเรียกคนผู้นั้นว่า “โอ้ อนิจจา น่าวงวาน… Poor Things”