หากคุณชอบหนังเกี่ยวกับเบื้องหลังการแฉครั้งสำคัญสะเทือนโลกของสำนักข่าวระดับโลก และสร้างจากเรื่องจริง ข่าวจริง อย่างเรื่อง Spotlight หรือ The Post คุณอาจจะชอบ She Said กับภารกิจแฉข่าวคาวของ Harvey Weinstein อดีตเจ้าพ่อแห่ง Miramax และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดย New York Times (เป็นหนังเรื่องแรกที่ถ่ายจริงในตึกออฟฟิศ New York Times จริง ๆ)
She Said เน้นตามติดโปรเซสการขุดคุ้ยเขียนข่าวดังกล่าวและชีวิตส่วนตัว…ในบทบาทของมนุษย์แม่… ของสองนักข่าวสาวไฟแรง Megan Twohey (Carey Mulligan จาก Suffragette และ Promising Young Women) และ Jodi Kantor (Zoe Kazan จาก The Big Sick และ What If)
“He took my voice, just as I was about to start finding it.”
วงการบันเทิงหรือฮอลลีวู้ดคือความฝันของผู้หญิงหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะฝันอยากเป็นนักแสดง ผู้กำกับ หรือทำงานเบื้องหลังต่าง ๆ ในกองถ่าย แต่ในขณะเดียวกัน วงการที่เปลือกนอกดูสวยงามกลับกลายเป็นฝันร้ายของหญิงสาวหลายคนเพราะความเน่าเฟะของระบบทุนนิยมและชายเป็นใหญ่ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาแค่ในอุตสาหกรรมระดับโลกเช่นฮอลลีวู้ด หากแต่ Sexual Harassment ยังเป็นปัญหาในที่ทำงานในทุก ๆ วงการทั่วโลก
ที่ผ่านมาปัญหา Sexual Harassment โดยเฉพาะคดีข่มขืน เป็นปัญหาที่แก้ไขและพูดถึงได้ยาก ไม่ใช่เพราะความอับอายของหญิงสาวที่ถูกกดทับด้วยปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ระบบชายเป็นใหญ่ในที่ทำงานยังส่งผลทำให้เธอจำเป็นต้องปิดปากเงียบ เพื่อความมั่นคงและอยู่รอดในหน้าที่การงานหรือดำรงชีพ
ผลงานนี้ของสองสาวและทีมแห่ง New York Times จึงจุดประกาย #MeToo ให้ผู้หญิงทั่วโลกที่เคยถูกล่วงละเมิดหรือกดขี่ทางเพศได้กล้าออกมาเปิดเผยและแชร์ประสบการณ์อันเลวร้ายของพวกเธอ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสิทธิสตรีและระบบชายเป็นใหญ่ในสังคม
เราชอบสไตล์การเล่าเรื่องของ She Said ที่ไม่ได้เล่าอย่างตะโกนหรือเร่งรีบ จนกลายเป็นหนัง Thriller หรือหนังสืบสวนสอบสวนทั่วไป แต่หนังค่อย ๆ เล่าไปตามกระบวนการ ที่ทุกฝ่ายต้องใจเย็น ที่สำคัญคือต้องเห็นอกเห็นใจ เข้าใจ ให้เกียรติและเคารพการตัดสินใจของเหยื่อ ที่จะร่วมมือหรือไม่ร่วมมือมากน้อยแค่ไหน เพราะแต่ละคนก็มีข้อจำกัดหรือพื้นฐานชีวิตแตกต่างกัน รวมถึงการเล่าถึงบทบาทอื่น ๆ ของสองนักข่าว ในฐานะแม่และภรรยา ที่เหนื่อยไม่แพ้กัน แต่ยังต่อสู้เพื่อผู้หญิงคนอื่น ๆ และเพื่อลูกสาวของตัวเองจะได้ไม่เติบโตไปใน “สังคมที่คิดว่าการปกปิดการถูกล่วงละเมิดเป็นเรื่องปกติ”
อีกอย่างที่เราชอบคือภาษาหนัง (Cinematic Language) เราจะได้เห็นว่า ออฟฟิศของ New York Times รายล้อมไปด้วยกระจกใส ซึ่งไม่ได้แสดงแค่ความโปร่งใส หรือความพร้อมเปิดโปงเท่านั้น หากแต่สะท้อนถึงภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อของคนที่อยู่ในที่แจ้งอย่างพวกเขา ทุกครั้งที่พวกเขานัดคุยกันก็มักมีแก้วน้ำเป็นส่วนประกอบเด่นอยู่ในฉากอย่างตั้งใจ (ไม่ใช่จัดแค่เหมือนเป็นพร็อพบนโต๊ะอาหารดาษดื่นทั่วไป)
นอกจากนี้เรายังอนุมานล่วงหน้าได้คร่าว ๆ อีกว่า ผู้เกี่ยวข้องในฉากนั้น ๆ พร้อมจะเปิดเผยหรือร่วมมือหรือไม่ เช่น ถ้าฉากนั้น ตัวละครนัดคุยกันในร้านกาแฟที่แจ้งและเต็มไปด้วยกระจก นั่นเดาได้เลยว่า คนคนนี้พร้อมลุย 100%, ถ้าฉากนั้น ตัวละครเจอกันในที่ที่ดูปิด ๆ หน่อย หรือยังอยู่ในบ้านที่เปรียบเสมือนบังเกอร์หรือหลุมหลบภัย นั่นอาจเดาได้ว่า พวกเขายังไม่พร้อมที่จะร่วมมือ หรือถ้าอยู่ในบ้านแต่คุยในบริเวณที่เปิดกว้างหน่อย ก็อาจจะร่วมมือแบบไม่เต็มตัวหรือไม่เปิดเผยมากนัก เช่น ฉากที่บ้านของ Gwyneth Paltrow
ด้วยความที่หนังสร้างจากเรื่องจริง เล่าคล้ายกึ่งสารคดี ส่วนใหญ่มักเป็นฉากสนทนาของนักข่าวกับบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางโทรศัพท์ อีเมล และการนัดพบตัวต่อตัว ซึ่งโดยธรรมชาติ หนังไม่สามารถยัดรายละเอียดหรือบางสิ่งบางอย่างลงไปในไดอะล็อกหรือบทสนทนาได้อย่างโจ่งแจ้งทั้งหมด แต่ภาษาของหนังช่วยชี้ให้เราเข้าใจบริบทและสถานการณ์ของตัวละครได้มากขึ้นถึงแม้จะไม่มีใครเอื้อนเอ่ยมันออกมา
ทุก ๆ การเยี่ยมเยือนและการนัดพบของแต่ละตัวละคร เราจะได้เห็นว่า หนังมีความตั้งใจที่จะสื่อว่า ทุก ๆ คนล้วนมีครอบครัวอยู่ข้างหลัง เหยื่อทุกคนมีพ่อแม่หรือสามี และทุกครอบครัว ไม่ใช่แค่เหยื่อ ก็ล้วนมีหรือเคยมีผู้หญิงกันทั้งสิ้น ซึ่งมันยิ่งทำให้คนดูเข้าใจมากขึ้นว่าการล่วงละเมิดทางเพศคนคนนึง มันส่งผลกระทบต่อคนคนนั้นและคนรอบข้างของเขามากมายขนาดไหน
ทั้งเรื่องเราจะไม่ได้เห็นฉากที่เหยื่อถูกล่วงละเมิดเลย นับเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดของคนทำหนัง เพราะฉากเหล่านั้นอาจ trigger ความรู้สึกหรือสภาพจิตใจของเหยื่อและญาติได้ (ไม่ใช่แค่ในเคสของ Harvey Weinstein ซึ่งมีเป็นร้อย ๆ คนเท่านั้น แต่หมายถึงผู้ที่เคยตกอยู่ในเหตุการณ์เหล่านี้เช่นเดียวกัน)
การเลือกไม่ให้คนดูได้เห็นหน้าของ Harvey Weinstein ก็เป็นการตัดสินใจที่ดี ไม่ใช่แค่เพราะเราไม่อยากให้ค่าผู้ชายหรืออาชญากรคนนี้เท่านั้น แต่เราเชื่อว่า การปรากฏตัวของ Harvey Weinstein บนจอภาพยนตร์ในช่วงที่สถานการณ์ยังค่อนข้างสดใหม่อยู่แบบนี้ (ถึงแม้จะเป็นเพียงตัวแสดงแทน) ก็อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของเหยื่อหรือญาติของเหยื่อเช่นกัน นอกจากนี้ มันยังป้องกันให้คนดูไม่ stereotype ได้ว่า คนลักษณะแบบนี้คือนักข่มขืน เพราะในชีวิตจริง ไม่ว่าจะรูปร่างหน้าตาอย่างไร ก็อาจเป็นอาชญากรได้ทั้งสิ้น
“I can’t change what happened to you in the past, but together we may be able to use your experience to help protect other people.”
She Said มี Brad Pitt เป็นหนึ่งในผู้อำนวยการสร้าง เขาเคยคบหากับ Gwyneth Paltrow นักแสดงสาวที่ถูกกล่าวถึงบ่อยมากในหนังเรื่องนี้ในฐานะหนึ่งในเหยื่อของ Harvey Weinstein ซึ่ง Brad Pitt รู้มาตลอดว่าเธอถูกล่วงละเมิดในช่วงที่พวกเขาคบกับอยู่ ก่อนที่เขาจะแต่งงานกับ Angelina Jolie ซึ่งก็เคยถูก Harvey Weinstein ล่วงละเมิดตั้งแต่ก่อนเธอจะโด่งดังเช่นกัน แต่มีความย้อนแย้งอยู่ที่ว่า ก่อนหน้านี้ Brad Pitt ก็เคยขอให้ Harvey Weinstein มาช่วยอำนวยการสร้างหนังของเขา ทั้งที่เขารู้พฤติกรรมฉาว ๆ ของ Harvey Weinstein มาตลอดสิบ ๆ ปี จนเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เขาต้องมีปัญหากับ Angelina Jolie และเลิกรากันในที่สุด