จาก Jackie หม้ายหมายเลขหนึ่งแห่งอเมริกา สู่ Spencer หม้ายหมายเลขหนึ่งแห่งเวลส์
เราเชื่อว่า แทบทุกคนรู้จัก “เจ้าหญิง Diana” ไม่ว่าจะเกิดทันหรือไม่ทันวันสิ้นพระชนม์หรือไม่ก็ตาม เรื่องราวของเธอถูกบอกผ่านหนังและซีรีส์มาหลายครั้งต่อหลายครั้ง เช่น ล่าสุดก็ในซีรีส์ The Crown ที่ส่งให้ Emma Corrin ได้รับรางวัลมากมาย รวมถึงลูกโลกทองคำ จากบทเจ้าหญิงผู้อาภัพ
Spencer เป็นหนังเกี่ยวกับเจ้าหญิงไดอาน่าอีกเรื่องที่ถูกจับตามอง เพราะนอกจากจะเล่าเรื่องราวของเชื้อพระวงศ์ที่โด่งดัง เป็นที่รัก และเป็นแฟชั่นไอคอนที่สุดคนหนึ่งแห่งยุคแล้ว ผู้กำกับอย่าง Pablo Larraín เอง ก็เคยประสบสำเร็จจากการทำหนังถ่ายทอดชีวิตหม้ายหมายเลขหนึ่งของฝั่งอเมริกา เรื่อง Jackie มาเมื่อไม่กี่ปีก่อน
สำหรับเรา ทั้ง Jackie และ Spencer ต่างก็โดดเด่นเหมือนกัน ทั้งด้านการแสดงของตัวเอก คอสตูมดีไซน์ และเพลงประกอบ หาก Jackie ได้เข้าชิงออสการ์ 3 สาขาดังกล่าวมาแล้วเมื่อปี 2017 เราจึงคิดว่า ปีนี้ Spencer ก็น่าจะได้เข้าชิง 3 สาขาดังกล่าวอีกเช่นกัน เพราะทั้งสองเรื่องมีความคล้ายกันมาก

“BEAUTY IS USELESS. BEAUTY IS CLOTHING.”
เรื่องเล่าที่โลกไม่เคยรู้ของเจ้าหญิงไดอาน่า ผ่านการแสดงที่ดีที่สุดของคริสเตน สจ๊วร์ต
สำหรับคนที่เริ่มเบื่อหรือคิดว่ารู้เรื่องราวของเจ้าหญิงคนนี้ดีอยู่แล้ว เราต้องบอกก่อนเลยว่า Spencer ไม่ได้เน้นเล่าอัตชีวประวัติ อย่างที่เราก็น่าจะ Google ได้ หรือหาดูได้จากหนัง สารคดี หรือซีรีส์เรื่องอื่น ๆ หากแต่เป็น “a fable from a true tragedy” หรือเรื่องแต่งที่อิงจากเรื่องจริงอันแสนเศร้าก่อนจะเป็นหม้ายของ Diana ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
แต่คำเตือนคือ Spencer เป็นหนังที่เต็มด้วยอารมณ์และความอึดอัด เพราะหนังเน้นพาไปสำรวจจิตใจ หรือ “ข้างใน” ที่รอวันระเบิดของ Diana หนังต้องการให้เราเข้าใจว่า เธอรู้สึกถึงความลำบากทุกข์ยากที่ต้องมาทนใช้ชีวิตสามวันกับราชวงศ์ ตั้งแต่ Christmas Eve, Christmas Day, และ Boxing Day ในปี 1991 (ปีสุดท้ายก่อนการหย่าร้างอย่างเป็นทางการ)
แน่นอนว่า หนังที่เน้นตามติดตัวเอกขนาดนี้ แถมเป็นตัวละครที่มีอยู่จริงตามประวัติศาสตร์ ย่อมส่งให้ Kristen Stewart (จาก Twilight) ได้โชว์พลังทางการแสดงอย่างเต็มที่ เพราะนอกจากจะแสดงอารมณ์ สีหน้า และความรู้สึกแล้ว ยังต้องเลียนแบบท่าทาง น้ำเสียง และซิกเนเจอร์ของคนคนนั้นอีกด้วย จนเธอลบคำครหา “นางเอกหน้าตาย” ได้อย่างไร้มลทินมัวหมอง และรับการยกย่องว่า นี่คือการแสดงระดับมาสเตอร์พีซแห่งปี
“HALF MY WEIGHT’S IN JEWELRY, ANYWAY.”
ไดอาน่า เจ้าหญิงผู้หลงทาง
หนังเปิดตัว Diana ขณะที่เธอกำลังขับรถไปร่วมเฉลิมฉลองคริสต์มาสกับราชวงศ์เช่นทุกปี แต่เธอเลทเพราะหลงทาง ซึ่งเราสามารถตีความได้ว่า มันไม่ใช่แค่การหาทางมา Sandringham ไม่เจอ แต่ยังหมายถึงการหลงทาง หาทางออกไม่เจอ ไม่รู้ตัวเองอยู่ที่ไหน และมาทำอะไรที่นี่… ที่ราชวงศ์นี้… ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา
สิ่งที่เราชอบคือ หนังไม่ได้ต้องการให้คนดูมองเธอเป็น เจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์ หรือสตรีชั้นสูงที่ขบถ-นอกคอกแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เธอ misplaced หรือไม่ได้เข้ากับที่นี่เลยแม้แต่น้อย เราจะได้เห็นเธอเป็น “Spencer” (นามสกุลดั้งเดิมของเธอ) มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง แม่คนหนึ่ง และภรรยาคนหนึ่งที่กำลังถูกสามีนอกใจ

“NO ONE IS ABOVE TRADITION,”
ไดอาน่า เจ้าหญิงผู้โดดเดี่ยว
หนังตอกย้ำว่า ชีวิตของเธอช่างโดดเดี่ยว เหมือนตัวประกอบฉากในงานเลี้ยง ในวังที่ใหญ่โต แต่เธอรู้สึกตัวเองตัวเล็ก และต้องอยู่คนเดียวแทบตลอดเวลา หนังพยายามให้เรารู้สึกถึงความเหงาเช่นเดียวกับที่เธอรู้สึก ถึงแม้เราจะพอได้เห็นมุมน่ารักของเธอกับเจ้าชายน้อยทั้งสองอยู่บ้าง ซึ่งทำให้เราเข้าใจเลยว่า ลูกคือสิ่งยึดเหนี่ยวสิ่งเดียวที่ทำให้เธอยังยอมมางานคริสต์มาสที่บ้านหลังนี้จริง ๆ
ตลอดเรื่อง เราจะแทบไม่เห็นเธอได้มีปฏิสัมพันธ์กับราชวงศ์คนอื่นเลย แต่ละครั้งก็ไม่ได้ออกมาดี และยังมีระยะทางอย่างชัดเจน เราจะได้เห็นเธอคุยกับ Prince Charles (Jack Farthing จาก The Riot Club) นับครั้งได้ และคุยกับควีน (Stella Gonet) เพียงครั้งเดียว ซึ่งเป็นบทสนทนาที่ตอกย้ำถึงความไม่สำคัญของเธอถึงแม้เธอจะป็อปปูล่าร์สำหรับช่างภาพและประชาชนแค่ไหนก็ตาม
ส่วนใหญ่เธอจะมีปฏิสัมพันธ์กับข้าราชบริพารเสียมากกว่า โดยเฉพาะ Maggie (Sally Hawkins จาก The Shape of Water) ซึ่งเป็นคนสนิท และเปรียบเสมือนเพื่อนคนเดียวของเธอ แต่เนื่องจาก Maggie เป็นตัวละครสมมติ ไม่มีอยู่ในชีวิตจริง และในหนังก็เห็นเธอมีปฏิสัมพันธ์แค่กับ Diana คนเดียว แถมมา ๆ หาย ๆ จนนี่ก็แอบคิดว่า หรือ Maggie อาจจะเป็นแค่เพื่อนในจินตนาการมากกว่าเป็นนางข้าหลวงจริง ๆ ของ Diana? แล้วนอกจาก Maggie ก็มีหัวหน้าเชฟอย่าง Darren (Sean Harris จาก Mission Impossible) ที่เป็นเสมือนเพื่อนในวังที่จริงใจกับ DIana
อีกตัวละครสำคัญ คือ Major Alistar Gregory (Timothy Spall จาก Harry Potter) ซึ่งเป็นเสมือนผู้ดูแลความเรียบร้อย เป็นผู้สอดส่องความเป็นไปตลอดงาน และเป็นผู้ที่แอบเอาหนังสือชีวประวัติ Anne Boleyn ไปให้ Diana อ่าน ทำให้ระลึกได้ว่า ชีวิตของเธอช่างเหมือนอดีตราชินีคนนี้ โดยเฉพาะในส่วนที่ถูกสามีหรือ King Henry VIII สั่งตัดหัวในข้อหามีชู้ ทั้งที่คนที่มีชู้คือตัวคิงเองต่างหาก ดังนั้น Anne Boleyn จึงกลายเป็นเพื่อนในจินตนาการและผู้ช่วยชีวิตอีกคนหนึ่งของเธอในสามวันอันแสนยาวนานนี้

“The only portrait that matters is the one they put on the 10-pound note. When they take that one, my dear, you understand that all you really are is currency.”
ไดอาน่า เจ้าหญิงในกรงทอง
หนังมีความพยายามคมเยอะไปหน่อย (แต่ก็คมจริง ๆ แหละ ว่าไม่ได้) แต่ที่เราชอบมากคือไดอะล็อกนึงที่ Diana พูดไว้อย่างน่าสนใจว่า ที่นี่มีแค่ Tense เดียว ที่นี่ไม่มีอนาคต และอดีตกับปัจจุบันก็เหมือนเป็นอันเดียวกัน พูดง่าย ๆ คือ ทุกอย่างถูกสตาฟและถูกกำหนดเอาไว้หมดแล้ว ด้วยกรอบที่เรียกว่าขนบธรรมเนียมประเพณี
เราจะได้เห็นความน่าเบื่อและหดหู่ของชีวิตนกน้อยในกรงทอง นกน้อย Diana เองก็คิดว่าตัวเธอช่างเหมือนไก่ฟ้า ที่สวยแต่ไม่ฉลาด และมีชะตาชีวิตที่ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว (ในทางที่โหดร้าย) นั่นก็คือถูกเลี้ยงมาเพื่อเป็นเหยื่อให้พวกผู้ชายชั้นสูงได้ยิงเป้าตามประเพณีเท่านั้น
ที่นี่ ความคิด ความชอบ และความต้องการของเธอไม่สำคัญอะไรเลย เธอต้องทำตามบทบาทที่สืบทอดต่อกันมา และสิ่งที่ถูกวางไว้ ทั้งที่เธอจะไม่อยากทำ แม้แต่เสื้อผ้าที่สวมใส่ก็เลือกเองไม่ได้ สามีเองก็ได้แต่บอกว่า พวกเขาก็ต้องมีสองตัวตนเพื่อประเทศชาติและประชาชน เธอต้องทำในสิ่งที่ไม่ชอบทำให้ได้ อาหารที่ไม่อยากกิน ก็ต้องกิน (เธอเป็นโรค Bulimia หรือ eating disorder)
การยัดเยียดให้เธอทำสิ่งต่าง ๆ มันเหมือนการบังคับให้เธอกลืนเม็ดไข่มุกลงไปทั้งที่รู้ว่ามันจะทำร้ายเธอจากข้างใน สร้อยไข่มุกที่เธอสวมใส่ นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของพันธนาการที่คล้องคอเธออย่างเห็นได้ชัดแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของการอดทนแบกรับความจริงที่ว่า สามีของเธอนอกใจและซื้อสร้อยไข่มุกที่เหมือนกันเด๊ะให้เมียน้อยอีกด้วย

“Here, there is only one tense. There is no future. The past and the present are the same thing.”
ไดอาน่า สูงสุดสู่สามัญ
Diana เป็นเชื้อพระวงศ์ที่เป็นที่รักของประชาชนที่สุดคนหนึ่งในโลก แต่ภายในวัง เธอโหยหาความรัก และโหยหาอดีต… อดีตของเธอคือการใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา มีความสุขกับครอบครัวอย่างแท้จริง ทำในสิ่งที่เธออยากทำ มีความหวังและมีอนาคตที่เธอก็ยังไม่รู้หรอกว่าจะเป็นอย่างไร เพราะมันคือชีวิตที่ควรจะเป็น ชีวิตที่ต้องค้นหา ค้นพบ ไม่ใช่ชีวิตที่ต้องเดินตามเส้นที่ขีดไว้
มีสัญลักษณ์ในหนังที่ผูกกับอดีตของเธอ ที่สะท้อนว่าเธอพยายามหาทางหลุดพ้นจากชีวิตในวังตลอดเวลา เธอต้องการหาบ้านที่แท้จริงของเธอ และกลับไปเป็นตัวเธอเองอีกครั้ง เช่น การที่เธอพยายามจะเข้าไปใน Park House ซึ่งเป็นบ้านเก่าในวัยเยาว์ ที่เวลาใครถามว่าเธอจะไปไหน เธอก็จะเรียกบ้านร้างหลังนั้นว่า “บ้าน” หรือการที่เธอ… ในชุดจัดเต็ม… เดินข้ามสนาม เพื่อไปพยายามถอดเสื้อเก่าของพ่อเธอออกจากหุ่นไล่กากลางทุ่ง เพราะเสื้อของพ่อเสมือนความปลอดภัย ความอุ่นใจ

“I’m looking for somewhere. I have absolutely no idea where I am.”
สเปนเซอร์ กับเรื่องราวที่เราต้องพิสูจน์เอง
โดยสรุป Spencer เป็นเรื่องแต่งที่อิงจากเรื่องจริง โดยเน้นถ่ายทอดชีวิต #หญิงเองก็ลำบาก ช่วงใกล้หย่าของว่าที่หญิงหม้ายที่โลกจดจำอย่างเจ้าหญิงไดอาน่า ไม่ว่าจะเป็นความเหงาโดดเดี่ยว ความโหยหาชีวิตธรรมดาและการมีชีวิตเป็นของตัวเอง ความทุกข์ยากที่ต้องฝืนทนดูสามีนอกใจและทนทำในสิ่งที่ไม่ชอบ ฯลฯ หนังยังมีสัญลักษณฺ์และการตีความหลายอย่าง แต่ค่อนข้างตรงไปตรงมา ชัดเจน ไม่ซับซ้อน เช่น การหลงทาง หุ่นไล่กา บ้านเก่า สร้อยไข่มุก ไก่ฟ้า เสื้อผ้า ผ้าม่าน ฯลฯ และแน่นอน นี่ไม่ใช่แค่การแสดงที่ดีที่สุดของ Kristen Stewart แต่เป็นหนึ่งในการแสดงที่ดีที่สุดแห่งปีที่เราอยากให้คอหนังได้ไปพิสูจน์
1 comment
Comments are closed.