เมื่อปลายปี 2018-ต้นปี 2019 เราได้รู้จักกับมัลติเวิร์สของสไปเดอร์แมนอย่างแท้จริงใน Spider-Man: Into the Spider-Verse (หนังออสการ์สาขาแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมปี 2019) และในปี 2023 นี้ การเดินทางทะลุมัลติเวิร์สของ Spider-Miles (Shameik Moore จาก Dope) และ Spider-Gwen (Hailee Steinfeld จาก Hawkeye) ก็จะพาเราไปไกลเหนือขีดจำกัดยิ่งกว่าเดิมใน Spider-Man: Across the Spider-Verse
ทั้ง Spider-Man: Into the Spider-Verse และ Spider-Man: Across the Spider-Verse ทำให้คนดูเชื่อว่า ใคร ๆ ก็เป็นฮีโร่ได้ ใคร ๆ ก็สามารถเป็น Spider-Man ได้ ไม่ว่าจะเพศไหน วัยไหน สีผิวอะไร หรือสปีชีส์อะไร ฯลฯ จากภาคแรกที่ว่ามีหลากหลายสไปดี้แล้ว ภาคนี้หลากหลายได้อีกเป็นร้อย ๆ เท่า มีไปจนถึง Spider-Cat, Spider-Dinosaur, และ Spider-Baby แบบแบเบาะ มันจึงเป็นหนังรวมสไปเดอร์แมนที่ดีมาก ไม่ใช่แค่การจับเอาสไปเดอร์แมนหลายจักรวาลมารวมกันเพียงผิวเผินเพียงเพื่อ “แฟนเซอร์วิซ” อย่างเดียว
There’s a first time for everything,
ถึงแม้ในภาคแรก Miles จะก้าวข้ามผ่านปมในใจบางอย่างมาได้แล้วและเริ่มควบคุมพลังของตัวเองได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงหนึ่งก้าวเล็ก ๆ เท่านั้น ใน Spider-Man: Across the Spider-Verse นี้ เขายังมีความรู้สึกเหงา เพราะ Gwen, Peter (Jake Johnson จาก The Mummy), และเพื่อน ๆ สไปเดอร์คนอื่นกลับจักรวาลของใครของมันไปหมดแล้ว เขามีปัญหาโลกสองใบที่ไม่สามารถบอกหรือคุยกับใครได้แม้แต่พ่อแม่ (Brian Tyree Henry จาก Eternals และ Luna Lauren Velez จาก The First Purge ตามลำดับ) เขาต้องบาลานซ์ระหว่างชีวิตวัยรุ่นวัยเรียนกับชีวิตฮีโร่ที่ ณ ปัจจุบันต้องต่อกรกับวายร้ายลายจุด The Spot (Jason Schwartzman)
ในขณะที่ Gwen ได้รับการ recruit ไปเข้าร่วม Spider Society ที่ยิ่งใหญ่ นำโดย Spider-Man 2099 หรือ Miguel O’Hara (Oscar Isaac จาก Moon Knight) ทำให้เธอได้เพื่อนใหม่ เช่น Spider-Woman หรือ Jessica Drew (Issa Rae), Spider-Punk หรือ Hobie Brown (Daniel Kaluuya จาก Get Out), และ Spider-Man India แห่ง Mumbattan (เมืองไฮบริด Mumbai + Manhattan) หรือ Pavitr Prabhakar ผู้พิทักษ์ Chai Tea (Karan Soni จาก Deadpool) แต่เธอก็ยังรู้สึกว่ามันไม่ใช่ซะทีเดียว
Everyone keeps telling me how my story is supposed to go. Nah. I’m-a do my own thing.
ทั้ง Miles และ Gwen เป็นเสมือนตัวแทนวัยรุ่นหรือกระทั่งทุก ๆ คน ที่รู้สึกโดดเดี่ยว กำลังค้นหาตัวตน ค้นหาวงหรือทีมที่เข้ากับตน (a place where we belong) ในขณะเดียวกันก็พยายาม fit in กับจักรวาลที่พวกเขารู้สึกว่านี่ไม่ใช่ที่ของตน
นอกจากนี้ พวกเขายังต้องรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอนและมีความเป็นไปได้ล้านแปดเส้นทาง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีเส้นทางที่ผู้ใหญ่ช่วยลิขิตและปูทางไว้ให้รวมอยู่ด้วย แต่การเดินตามสูตรสำเร็จก็ใช่ว่าจะสำเร็จแบบคนก่อน ๆ หากมีปัจจัยบางอย่างแม้แต่ข้อเดียวที่แตกต่างกัน ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในพาร์ทที่ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ก็สามารถเรียนรู้และเข้าใจไปพร้อมกับเด็ก ๆ ได้
กระทั่งบ่อยครั้งที่เด็กอาจจะคิดว่า เราอยากจะได้/มี/เป็นทุก ๆ อย่างพร้อมกันได้ แต่สุดท้ายมันอาจไม่สามารถเป็นไปตามใจต้องการได้ทั้งหมด เช่น เราไม่สามารถได้เรียนสาขาที่อยากเรียนได้หากยังอยู่กับพ่อแม่ เราไม่สามารถเป็นสไปเดอร์แมนได้หากลุงหรือป้าไม่ตาย พวกเขาก็ต้องเรียนรู้และยอมรับมันให้ได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหา ความเจ็บปวด และความสูญเสีย ล้วนทำให้เติบโตขึ้น และทำให้เราเป็นเราอย่างทุกวันนี้
If not for Uncle Ben, most of us wouldn’t be here!
Spider-Man: Across the Spider-Verse จึงเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นที่เล่าเรื่องชีวิตที่โตและเป็นผู้ใหญ่ ในแบบฉบับที่บันเทิง ย่อยง่าย และเต็มไปด้วยสีสันกับความหลากหลาย ยกระดับบาร์แอนิเมชั่นไปอีกขั้น ซึ่งไม่ได้สอนหรือบอกแค่เด็กวัยรุ่นเกี่ยวกับ coming-of-age เท่านั้น แต่ยังสอนผู้ใหญ่ หรือ parents ในการรับมือหรือการช่วยซัพพอร์ตเด็ก ๆ ในส่วนนี้ด้วย
นอกเหนือจาก storyline ที่แข็งแกร่งแล้ว ต้องบอกว่า ภาพกราฟิกสวยมาก ๆ มันคือ “ศิลปะ” ชัด ๆ เช่น ฉากที่ Miles กับ Gwen นั่ง upside down ชมวิวเมือง มันงดงามมาก ๆ และต้องชมสเกลภาพนี้บนจอใหญ่ ๆ เท่านั้น มันจึงจะให้ฟีลว่าเราเป็นหนึ่งคนตัวเล็ก ๆ ที่ไปนั่งอยู่ ณ เมืองใหญ่นั้นด้วยตัวเองจริง ๆ ติดอยู่แค่ว่า เรื่องราวมันเยอะแยะไปหน่อยจนทำให้จบอย่างค้างคาสุด ๆ และต้องรอดูภาคต่อไป “Spider-Man: Beyond the Spider-Verse” ในปีหน้า ก็ต้องมาดูกันว่า มันจะ beyond หรือไปได้เหนือความคาดหมายได้ไกลกว่านี้ได้อีกอย่างไร