ปกติไม่ค่อยเขียนรีวิวถึงซีรีส์เท่าไหร่ เพราะเวลาดู เราไม่ค่อยโฟกัสกับมันเท่ากับการดูหนังโรง แต่ Squid Game ของ Netflix นี้ ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ขึ้นแท่นเป็นซีรีส์เกาหลีเรื่องแรกที่ติตชาร์ต Top 10 ของ Netflix อเมริกา และเป็น meme ไปทั่วโซเชียลมีเดีย โดยที่ไม่ใช่ซีรีส์ที่สร้างจากหนังสือ เกม หรือการ์ตูนเรื่องใดใดที่จะมีฐานคนดูเป็นทุนเดิม แต่ก็มีคอนเซ็ปต์ “survival game” คล้ายกับ The Hunger Games, Alice in Borderland, รวมถึงคล้ายการชนไก่ และการประกวดร้องเพลงหรือเล่นเกมปลดหนี้ที่เห็นได้ถมไปตามรายการทีวีบ้านเรา
Squid Game อาจจะมีส่วนที่คาดเดาได้ง่ายสำหรับคนดูหนังยุคหลัง ๆ เพราะ Hwang Dong-hyuk ผู้กำกับและคนเขียนบท เขาเขียนโครงไว้ตั้งแต่ปี 2008 (ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ The Hunger Games ตีพิมพ์) แต่ ณ ตอนนั้น ไม่มีนายทุนมาลงทุนสร้างให้ เพราะมีคอนเทนต์ที่ค่อนข้างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม แก่นสารของ Squid Game มินิซีรีส์ ของ Netflix ก็มีคุณค่าและรู้สึก related ได้ง่ายสำหรับคนดูทั่วโลก ประกอบกับ คอสตูมและโปรดักชั่นดีไซน์ต่าง ๆ ก็เป็นที่จดจำและมีความหมาย
ระบบสี CMYK ใน Squid Game
จากความเห็นหนึ่งที่น่าสนใจใน Reddit ทำให้เราย้อนกลับไปมอง แล้วสังเกตได้ว่า การคุมธีมของ ซีรีส์ ใช้ระบบสี CMYK และชื่อสีแต่ละสีขึ้นต้นด้วยตัวอักษรที่คล้ายสัญลักษณ์ △□○ ที่ปรากฏอยู่หลังนามบัตรขององค์กรและบนหน้ากากของผู้คุมเกม กล่าวคือ
- C = สี Cyan หรือสีฟ้า (ในภาษาเกาหลีคือสี 시안 ซึ่งขึ้นต้นด้วย ㅅ คล้ายสัญลักษณ์สามเหลี่ยม) หมายถึงคนธรรมดา
- M = สี Magenta หรือชมพูเข้ม (ในภาษาเกาหลีคือสี 마젠타 ซึ่งขึ้นต้นด้วยตัว ㅁ คล้ายสัญลักษณ์สี่เหลี่ยม) แทนถึงระบบ โดยเห็นได้ชัดเจนในจัมพ์สูทของผู้คุมเกม
- Y = สี Yellow หรือเหลือง (ในภาษาเกาหลีคือสี 옐로우 ซึ่งขึ้นต้นด้วย ㅇ คล้ายสัญลักษณ์วงกลม) เป็นตัวแทนของเงินที่อยู่ในลูกบอลสีทอง หรือหน้ากากของ VIPs
- K = สี Key หรือสีดำ (ในภาษาเกาหลีคือสี 검정 ซึ่งมีทั้งตัว ㅁ, ㅈ, และ ㅇ ที่คล้าย □△○ ตามลำดับ) ซึ่งเป็นการผสมกันของทุกสี อาจหมายถึง Front Man ผู้ที่เป็นทุกอย่างในชุดสีนั้น
- แล้วการผสมสี CMYK ก็ทำให้ได้สีต่าง ๆ ตามมา เช่น ชุดวอร์มของผู้เล่นเป็นสีเขียว ซึ่งมาจากสีฟ้าหรือคนธรรมดา ผสมกับสีเหลืองหรือเงินทอง หรือ ตำรวจชุดสีน้ำเงิน มาจากสีฟ้าหรือคนธรรมดา ผสมกับสีชมพูเข้มหรือระบบ เป็นต้น
- ทั้งนี้ ผู้กำกับเปิดเผยแล้วว่า แล้ว Ddakji (딱지) ซองสีฟ้ากับสีแดงของ Gong Yoo (recruiter) ที่พระเอกเลือกที่สถานีรถไฟ มาจากเรื่องเล่าผีในห้องน้ำเรื่องหนึ่งของเกาหลี ที่ให้เลือกระหว่างทิชชู่สองสี ไม่ได้มีนัยยะเกี่ยวข้องกับการที่จะได้เป็นผู้คุมหรือผู้เล่นแต่อย่างใด เพราะไม่ว่าคนนั้นจะเลือกสีไหน ก็ต้องมาเป็นผู้เล่นและตายในเกมอยู่ดี
เรื่องย่อ SQUID GAME
Squid Game มีความยาว 9 episodes (เฉลี่ยตอนละ 1 ช.ม. ยกเว้นมีตอนนึง 1/2 ช.ม.) เล่าเรื่องคน 456 คน ที่อาสามาเล่นเกม 6 เกม ซึ่งดัดแปลงมาจากการละเล่นพื้นบ้านของเด็กเกาหลี โดยชื่อหนัง Squid Game ก็มาจากชื่อเกมสุดท้าย ซึ่งเป็นเกมชิงแชมป์ และเป็นเกมโปรดในวัยเยาว์ของพระเอก (คล้าย ๆ เกม “ตี่จับ” หรือ “กระต่ายขาเดียว” ของไทย) ผู้ชนะ ซึ่งมีเพียงหนึ่งเดียว จะได้รับเงินรางวัลสูงถึง 45.6 ล้านวอน ซึ่งมากพอที่จะปลดหนี้และเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อย่างสวย ๆ
โดยผู้เล่นทุกคนเป็นคนที่จน หนี้ท่วมหัว สิ้นหวัง จนตรอก หรือไร้ทีไ่ปสุด ๆ เช่น ตัวละครเอกของเรื่องอย่าง Seong Gi-hun (Lee Jung-jae) ชายวัยกลางคนที่ติดพนัน ติดหนี้ แถมกำลังจะสูญเสียลูกสาวและแม่ของเขายกเว้นแต่เขาจะหาเงินก้อนโตได้, Sang-woo (Park Hae-soo) อัจฉริยะที่ถูกจับได้ว่าโกงเงินลูกค้ากองทุนจำนวนหลายล้านวอน, Kang Sae-byeok (Jung Hoyeon) ผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือ ที่ต้องหาเงินไปช่วยน้องชายคนเดียวของเธอ, Ali Abdul (Rama Vallury) แรงงานอพยพจากปากีสถาน ที่สูญเสียนิ้วจากการทำงานเครื่องจักรและถูกนายจ้างกดขี่ไม่จ่ายค่าจ้าง, Jang Deok-su (Heo Sung-tae) ลูกน้องมาเฟียตกอับที่ถูกบอสไล่ล่า, Han Mi-Nyeo (Kim Joo-Ryung) คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวผู้สู้ชีวิต (?), และ Oh Il-nam หรือ 001 (Oh Yeong-su) ผู้เล่นที่แก่ที่สุดในบรรดาผู้เล่นทั้งหมด
“You’ve Got A Reason To Get Out Of This Place, But I Don’t.”
สัญลักษณ์ ‘△□○’ ใน SQUID GAME
ผู้ที่จะได้รับเชิญมาร่วมเล่นเกมนี้จะได้รับนามบัตรที่มีสัญลักษณ์ ‘△□○’ ซึ่งสามสัญลักษณ์นี้ปรากฏบนหน้ากากของผู้คุมเกมแต่ละคนด้วย เป็นตัวแบ่งชนชั้นเหมือนการแบ่งวรรณะมด ด้านล่างนี้ เราจะพยายามอธิบายโดยมีภาษาเกาหลีประกอบให้เห็นภาพมากขึ้นไปด้วย แต่หากภาษาเกาหลีผิดพลาดตรงไหน ผู้รู้สามารถชี้แจงเพิ่มเติมได้ค่ะ
อ้างอิงจากที่ผู้กำกับอธิบาย เรียงตามลำดับชนชั้น ได้ความว่า
- ผู้คุมที่หน้ากากเป็นสัญลักษณ์วงกลมคือ พวก workers หรือ มดงาน (일개미 ขึ้นต้นด้วย ㅇ ซึ่งเป็นตัวอักษรเกาหลีที่คล้ายวงกลม)
- สามเหลี่ยมคือพวก soldiers หรือ major ant (군대개미 หรือ 주요개미 ซึ่งขึ้นต้นด้วย ㅈ ที่คล้าย ๆ สามเหลี่ยม) มีหน้าที่ยิงหรือฆ่าผู้เล่น
- และสี่เหลี่ยมคือ พวก manager (매니저 ขึ้นต้นด้วย ㅁ ซึ่งคล้ายสี่เหลี่ยม)
นอกจากนี้ สัญลักษณ์ทั้งสามยังหมายถึงชื่อเกม ตามที่ปรากฏบนโลโก้ของชื่อซีรีส์ ที่เขียนใน Hangul หรือระบบการเขียนของเกาหลี ดังนี้
- ตัวอักษร ㅇ (O หรือ อ อ่าง) เหมือนวงกลม
- ตัวอักษร ㅈ (J หรือ จ จาน) เหมือน สามเหลี่ยม
- และตัว ㅁ (M หรือ ม ม้า) เหมือน สี่เหลี่ยม
ทั้งสามตัวจับรวมกัน ได้เป็น OJM หรือ “오징어 게임” (อ่านว่า “โอจิงงอ เกอิม“) ในภาษาเกาหลี ซึ่งแปลว่า “Squid Game” หรือ “เกมปลาหมึก” นั่นเอง
“”You Won’t Be Caught If You Hide Behind Someone.””
ตีแผ่ปัญหาสังคมเกาหลีที่เข้าถึงได้ง่ายกับคนทั่วโลก
นอกจากพล็อตหลัก และพล็อตย่อยเกี่ยวกับปูมหลังที่แสนรันทดของชีวิตตัวละครแต่ละตัว ซึ่งสะท้อนสังคมชนชั้นและระบบทุนนิยมคล้าย Parasite, Okja, Snowpiercer ของ Bong Joon Ho ผู้กำกับออสการ์แล้วนั้น ยังมีพล็อตรองที่น่าติดตามไม่แพ้กันอย่าง คุณตำรวจ Hwang Jun-ho (Wi Ha-Joon) ที่แฝงตัวเข้ามาในองค์กร เพื่อสืบหาพี่ชายที่เคยมาเล่น Squid Game และหายตัวไปเมื่อหลายปีก่อน และการลักลอบค้าอวัยวะมนุษย์อีกด้วย
การเอาเกมการละเล่นของเด็กมาเป็นเกมปลดหนี้เป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจ เพราะผู้เล่นเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ที่อยากหลบหนีจากชีวิตที่ไม่เป็นไปตามหวัง หรือเหนื่อยล้าจากการแบกรับภาระในฐานะผู้ใหญ่ การได้เล่นเกมเด็ก ๆ ให้โอกาสพวกเขาได้หวนรำลึกความเป็นเด็กที่เล่นไปวัน ๆ อีกครั้ง และได้ออกจากโลกแห่งความเป็นจริง ถึงแม้เกมนี้จะโหดร้าย รุนแรง และมีโอกาสถูกฆ่าตายมากกว่าได้เงิน แต่มันก็ไม่ต่างจากโลกข้างนอก ที่จะอดตายหรือถูกเจ้าหนี้ยิงตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้
“Out there, I don’t stand a chance. I do in here.”
เกมชีวิต… ความเท่า…เทียม?
ทั้งนี้ ท่ามกลางการตีแผ่ปัญหาหนี้ครัวเรือน แรงงานต่างด้าว ผู้อพยพ ทุนนิยม ชนชั้น ฯลฯ Front Man (Lee Byung-hun) ก็พยายามคงไว้ซึ่งหลักการ “ความเท่าเทียม” เช่น ให้โอกาสผู้เล่นได้โหวตที่จะเล่นหรือไม่เล่นเกมต่อ และหากมีการจับได้ว่ามีผู้เล่นโกงหรือมีผู้คุ้มเกมแอบบอกเกมให้ผู้เล่นคนใดคนหนึ่งรู้ล่วงหน้า คนโกงก็จะถูกกำจัดทันที แต่ไม่ว่าเขาจะพยายามแค่ไหน สุดท้ายมันก็ตอกย้ำโลกแห่งความเป็นจริงว่า “ความเท่าคือความเทียม” หรือ “ความเท่าเทียม (ในนิยามของเขา) ไม่มีอยู่จริง”
ตั้งแต่เกมแรก “A-E-I-O-U-หยุด” หรือ “Red Light, Green Light” ที่ให้ผู้แข่งขันทุกคนสตาร์ทที่จุดเดียวกัน แต่ถ้าเกิดมาขาสั้นอย่างโดเรมอน (เวอร์ชั่นไม่มีกระเป๋าหน้าท้องและของวิเศษ) ก็เสียเปรียบคนอื่น, เกมแคะแผ่นน้ำตาล ก็ขึ้นอยู่กับดวง เหมือนชีวิตของเราที่เลือกผิดชีวิตเปลี่ยน, เกมชักกะเย่อ ที่ชายกำยำย่อมได้เปรียบ, เกมกันบู หรือเกมลูกแก้ว ซึ่งหลายคู่ก็ผ่านมาได้เพียงเพราะดวงดี, เกมกระจก ก็ดวง เป็นต้น
“Everyone Is Equal While They Play This Game. Here, The Players Get To Play A Fair Game Under The Same Conditions. Those People Suffered From Inequality And Discrimination Out In The World, And We’re Giving Them The Last Chance To Fight Fair And Win.”
ถ้าไม่นับข้อได้เปรียบ/เสียเปรียบกันในเชิงกายภาพ (ซึ่งผู้หญิงมักถูกเหยียดเรื่องนี้แทบตลอดเรื่อง… ไม่เซอร์ไพรส์สำหรับประเทศที่ชายเป็นใหญ่อย่างกล้าแกร่ง) และนอกจากแต้มบุญแล้ว ก็ต้องพึ่งสติปัญญา ไหวพริบ หรือมี strategy ซึ่งคนที่ฉลาดแต่เกิด หรือมีการศึกษาดี หรือมีประสบการณ์มาก่อน ก็ย่อมได้เปรียบจากสิ่งที่สะสมมา หรือมิเช่นนั้น ก็ต้องอาศัยความเห็นแก่ตัวหรือความอำมหิตพอสมควร แล้วคนที่จิตใจดีหรือคนซื่อก็กลายเป็นผู้ถูกเอาเปรียบ
พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เกมทุกเกมใน Squid Game ซึ่งเผิน ๆ เหมือนการละเล่นพื้นบ้านเฉย ๆ นั้น สะท้อน “เกมชีวิต” หรือการเอาตัวรอดของมนุษย์ในโลกทุนนิยมที่เต็มไปด้วยเงื่อนไข ความกดดัน และความโหดร้าย นั่นเอง จึงไม่แปลกที่ Squid Game จะเข้าถึงคนได้มากมายและกลายเป็น talk of the town ได้ขนาดนี้
“Life is like a game, there are many players. If you don’t play with them, they’ll play with you.”
Source: 오징어 게임, 숨은 뜻 찾아라”… 해외 팬들의 그럴듯한 가설
원색
Theory about the colors in the squid game
5 comments
Comments are closed.