Start-Up (หรือ Original title คือ Seutateueob) ep.1 ของ Netflix ออนแอร์ครั้งแรกตั้งแต่ 17 ต.ค. 2020 แต่เราเพิ่งได้ลองเปิดดูในคืนวันเสาร์ที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา และปรากฏว่า คืนนั้น เราก็ดู 5 ep. รวดเดียวจนถึงเช้า แล้วคืนวันอาทิตย์ที่ 1 พ.ย. ก็รีบเปิด ep.6 ดูต่อ และนับตั้งแต่วันนั้น ก็ตั้งหน้าตั้งตารอเวลา 3 ทุ่มของทุกคืนวันเสาร์-อาทิตย์ตลอดมา จนถึงตอนอวสานในคืนวันที่ 6 ธ.ค. 2020 เพราะซีรีส์มันสนุกจริง ๆ และเขาก็ทำให้เราอินกับตัวละครอย่างโงหัวแทบไม่ขึ้น เสมือนเรากำลังเดินทางและเริ่มดำเนินสตาร์ทอัพไปพร้อม ๆ กับตัวละครเอกอย่างไรอย่างนั้น
Start-Up ถือเป็นซีรีส์เกาหลีเรื่องแรกที่เราดูแล้วอยากเขียนเป็นบล็อก และเป็นซีรีส์เรื่องแรกที่เราจะเขียนบล็อกตั้งแต่ยังดูไม่จบทุก episodes เพราะทแต่ละตอน ๆ เราจะได้บทเรียนหรือข้อคิดต่าง ๆ จากมันเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องการทำธุรกิจ เป้าหมาย ความสัมพันธ์ ตลอดจนการใช้ชีวิต ฯลฯ
หลังจากดูจบ 16 episodes แล้ว เรากล้าสรุปได้เต็มปากอย่างมั่นใจแล้วว่า Start-Up เป็นซีรีส์เกาหลีที่เราชอบที่สุดและคิดว่าดีมาก ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบอย่างไม่มีแผ่ว บางคนอาจจะส่ายหน้า เบะปาก หรือบอกว่าไม่เห็นด้วย เราก็เข้าใจในความคิดเห็นส่วนตัวที่แตกต่าง (แต่ขอให้แยกแยะให้ได้ก่อนด้วยนะว่า อะไรคือพล็อตไม่ดี อะไรคือพล็อตไม่ถูกใจเรา) แต่ไม่ว่าฟีดแบ็กของคุณต่อซีรีส์เรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เราต่างปฏิเสธไม่ได้ว่า ซีรีส์เกาหลีก็ยนำหน้าละครไทยไปกว่า 400 ปีแล้วอยู่ดี มันจึงทำให้เราในฐานะคนไทยและคน Gen-Y ที่สนใจในเรื่องธุรกิจโหยหาคอนเทนต์อะไรแบบนี้บนจอทีวีเหลือเกิน
Start-Up เป็นซีรีส์เกาหลีของ Netflix เรื่องล่าสุดที่เล่าเกี่ยวกับวงการธุรกิจอีกเรื่อง ที่เพิ่งคลอดตาม Itaewon Class มาในช่วงท้ายปี ในขณะที่ Itaewon Class ซึ่งฉายเมื่อต้นปี เน้นไปที่การทำธุรกิจ SME ร้านอาหารในย่านทำเลทองและการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนระยะยาว Start-Up จะเน้นพูดถึงธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เน้นที่ไอเดียใหม่ ๆ การระดมทุนจากนายทุน และการเติบโตที่ไวกว่า SME (จึงมักใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน)
Start-Up เป็นเทรนด์ธุรกิจที่มีอิทธิพลต่อความฝันของคนรุ่นใหม่และวิถีชีวิตของผู้คนในยุค 4.0 เป็นอย่างยิ่ง อาจเพราะชื่อเรียกอันสวยหรู อาจเพราะเราต่างเติบโตมากับเทคโนโลยี อาจเพราะเราอยากจะเปลี่ยนแปลงโลก อาจเพราะผลตอบแทนที่ประเมินค่าไม่ได้ อาจเพราะมี Mark Zuckerberg กับ Steve Jobs เป็นไอดอล หรืออาจเพราะเบื่อระบบการทำงานในบริษัทแบบเก่า ๆ ฯลฯ แต่ทว่า เส้นทางนี้ โดยเฉพาะในช่วงตั้งไข่ มันไม่ง่าย ไม่ได้สวยหรู เช่นเดียวกับ Steve Jobs ที่ต้องเริ่มต้นในโรงเก็บรถเล็ก ๆ ดังนั้น ไม่แปลกเลยที่เปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่ของนักล่าฝันในแวดวงสตาร์ทอัพจึงมักประสบความล้มเหลวมากกว่าประสบความสำเร็จ
เรื่องย่อ Start-Up
ตัวละครหลักของเรื่อง Start-Up มี 4 คน ทั้งสี่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ต่างเดินตามความฝัน โดยเป้าหมายก้าวแรกของ (เกือบ) ทุกคนคือ “Sandbox” ซึ่งเป็นองค์กรที่สนุบสนุนด้านความรู้ เงินทุน สถานที่ และ facility ต่าง ๆ เพื่อให้เหล่าสตาร์ทอัพไปสู่เป้าหมายใหญ่ได้ง่ายขึ้น (น่าจะ inspired มาจาก Silicon Valley ซึ่งเป็น community ของเหล่าสตาร์ทอัพมืออาชีพ (ซึ่งก็น่าจะเลยจุดที่จะเรียกว่าสตาร์ทอัพไปแล้วนั่นแหละ) และเป็นหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของชาวสตาร์ทอัพทั่วโลก)
- Seo Dal-mi (Suzy Bae จาก Ashfall) เด็กสาวสู้ชีวิต เธอเลือกอยู่กับพ่อหลังจากพ่อแม่หย่ากัน แต่พอพ่อจากไป เธอก็มาอาศัยอยู่กับย่า (Hae-sook Kim จาก The Handmaiden) เธอฉลาดและมีความสามารถแต่ไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัย ทำให้เธอไม่ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำสักทีทั้งที่ตั้งใจทำงานหนักเพื่อองค์กรมาโดยตลอด เธอจึงลาออกและพยายามเข้าวงการสตาร์ทอัพ
- Won In-jae (Han-na Kang จาก Empire of Lust) พี่สาวแท้ ๆ ของ Seo Dal-mi แต่เธอเลือกไปอยู่กับแม่และครอบครัวใหม่ของแม่ที่เป็นนักธุรกิจมหาเศรษฐี เธอช่วยพ่อใหม่ขยายอาณาจักรธุรกิจจนใหญ่โต แต่สุดท้ายพ่อใหม่ก็เอาไปยกให้ทายาทในไส้ของเขาทำต่อ ทำให้ In-jae ออกมาทำสตาร์ทอัพเอง เพื่อลบล้างคำสบประมาทที่ว่า เธอมีทุกวันนี้ได้เพราะเงินและเส้นสายของพ่อใหม่
- Nam Do-san (Joo-Hyuk Nam จาก The Great Battle) นักคณิตศาสตร์โอลิมปิก เนิร์ดไอที ขอเงินพ่อแม่มาเริ่มลงทุนทำสตาร์ทอัพของตัวเองกับเพื่อนอีกสองคน “Samsan Tech” แต่จนแล้วจนเล่าก็ยังไม่มีนักลงทุนคนไหนสนใจที่จะมาลงทุนด้วย เขารู้สึกแย่ที่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง และการได้พบกับ Seo Dal-mi มันช่วยผลักดันเขาให้เขาปรับปรุงตัวเองและประสบความสำเร็จให้ได้
- Han Ji-pyeong (Sun-ho Kim จาก Catch the Ghost) เป็นเด็กกำพร้าที่คุณย่าของ Seo Dal-mi เคยช่วยเหลือไว้ เขาเก่งด้านการลงทุนทำให้เขามีเงินส่งตัวเองเข้ามหาวิทยาลัยโซล มีหน้าที่การงานดี ฐานะการเงินมั่นคง และมีชีวิตที่สุขสบาย แต่เขาต้องมาช่วย Seo Dal-mi และ Nam Do-san ทำสตาร์ทอัพให้สำเร็จ
แน่นอนว่า นอกจากพาร์ทของการทำธุรกิจแล้ว ซีรีส์ที่สนุกต้องมีสตอรี่หรือปมอื่น ๆ ด้วยเพื่อเพิ่มรสชาติและสีสัน หนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้คนดูอยากติดตามเอาใจช่วยและเวิร์กกับหนัง/ซีรีส์แทบทุกเรื่องคือ ปมรักสามเส้า ซึ่งสำหรับใน Start-Up ก็คือ…
สมัยที่ทุกคนยังเป็นวัยรุ่น คุณย่าเคยขอให้ Ji-pyeong เป็น pen pal ให้กับ Dal-mi เพราะสงสารที่เธอต้องแยกกับพี่สาวหลังพ่อแม่แยกทางกัน แต่ในจดหมายนั้น พวกเขาใช้ชื่อปลอมโดยแรนดอมจากหน้าสนพ. ได้ชื่อว่า Nam Do-san ซึ่งตอนนั้นเป็นแชมป์คณิตศาสตร์โอลิมปิก ทำให้ Do-san กลายเป็นรักแรกของ Dal-mi ทั้งที่ไม่เคยเจอกัน
15 ปีต่อมา Dal-mi อยากเอาชนะพี่สาว จึงไปรับคำท้าว่าจะพา Do-san มาเจอในงานปาร์ตี้ด้วย ย่าเลยต้องไปขอให้ Ji-pyeong ช่วยตามหา Do-san ตัวจริง ทาง Ji-pyeong ซึ่งยังไม่รู้ตัวว่าชอบ Dal-mi ไปแล้ว ก็ช่วยเต็มที่ เพราะอยากตอบแทนพระคุณคุณย่าและก็ไม่อยากให้ Seo Dal-mi ผิดหวัง แล้วพอ Do-san ตัวจริงกับ Dal-mi ได้เจอกัน พวกเขาก็สปาร์คกันขึ้นมาจริง ๆ แต่อุปสรรคก็คือ ทุกคนจะต้องช่วยกันปิดบังไม่ให้ Dal-mi รู้ความจริงว่า จริง ๆ แล้ว Ji-pyeong คือคนที่เขียนจดหมายนั้น และ Do-san ไม่ได้เป็นนักธุรกิจมือทองอย่างที่พวกเขาสร้างขึ้น
บทรีวิวและบทเรียนที่ได้จาก Start-Up
***มีสปอยล์เนื้อหาบางส่วน***
EP.1 – Start-Up
Ep. นี้ เล่าเรื่องราวสมัยตัวละครหลักทุกคนยังเป็นเด็กวัยรุ่น โดยเฉพาะ Ji-pyeong และครอบครัวของ Dal-mi โดยตัดสลับกับฉาก 15 ปีต่อมา ที่ทุกคนได้กลับมาพบเจอกันอีกครั้ง ยกเว้น Nam Do-san ที่มาเปิดตัวเต็ม ๆ ตอนท้าย ep. (ซึ่งทำให้เราต้องรีบเปิด ep.2 ดูต่อทันที)
ตามประสาซีรีส์ มันก็จะมีบ้างที่บางฉากไม่เมคเซนส์ เช่น ในช่วงต้นของ episode นี้ ก็รู้สึกว่าฉากที่นางเอกกับพี่สาวนางเอก (ในวัยเด็ก) ตามพ่อเข้าไปบริษัท มันไม่ค่อยสมเหตุสมผล แต่โดยรวมก็ไม่ได้ติดขัดอะไรมาก และเป็น ep เปิดที่ปูให้คนดูได้รู้จักกับพื้นหลังตัวละคร ซึ่งทำให้เราเห็นมิติและผูกพันกับตัวละครนั้นมากขึ้น จนอยากติดตามเอาใจช่วยพวกเขาต่อไป
นอกจากนี้ แค่ ep เปิด ตอนเดียว ถึงแม้ตัวละครยังเป็นเด็กน้อยกันอยู่ก็ตาม มันก็เปิดโลก มุมมอง และให้แนวคิดที่น่าสนใจแก่คนดูมาไม่น้อยเหมือนกัน
- ขยันผิดที่ ไม่มีวันเจริญ
บางบริษัท/องค์กร ใช้งานพนักงาน (เช่น พ่อนางเอก) เยี่ยงทาส และอย่างไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ ถึงแม้จะทำงานมา 20 ปี แต่ชีวิตก็ไม่ไปไหน ไม่ว่าจะทั้งตำแหน่งหน้าที่การงานและฐานะทางครอบครัว เพราะไปขยันอยู่ผิดที่ และเจอคนชั้นบนที่ไม่มีมนุษยธรรม - อย่าเสียใจกับช้อยส์ที่เราเลือกเอง
ในแต่ละช่วงชีวิต เราล้วนจำเป็นต้องเจอทางแยกหรือจังหวะที่ต้องเลือกว่าจะไปทางไหน ทุกครั้งที่เราตัดสินใจ ไม่ว่าจะเลือก Choice ใด มันล้วนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง อาจจะดีขึ้น หรือแย่ลง แต่เราจะต้องไม่เสียใจถ้ามันเป็นสิ่งที่เราเลือกเอง (แต่ในชีวิตจริง เราก็ยังถามตัวเองบ่อย ๆ เหมือนกันว่า เราเลือกผิดหรือเปล่า) - คนที่ต้นทุนชีวิตดี มักมีชีวิตที่ง่ายกว่า
ต้นทุนชีวิตคนเราไม่เท่ากัน นักธุรกิจคนรวยมี easy life ไม่ว่าจะกินอะไร ช้อปอะไร เที่ยวที่ไหน เรียนที่ไหน หรือเริ่มทำธุรกิจอะไรก็ตาม เขาสามารถทำมันได้ง่าย เพราะเขามีต้นทุนชีวิตที่ดี ทั้งการเงินและเส้นสาย ในขณะที่ สำหรับคนทั่วไป มื้อหรูที่สุดของเขาคือวันเงินเดือนออก ซึ่งอาจจะเป็นมื้อธรรมดา ๆ ของคนรวย - ธุรกิจที่หวังแต่ผลกำไรตั้งแต่แรกเริ่มอาจเป็นธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน
ในการเริ่มต้นทำธุรกิจ ควรสร้างฐานลูกค้าให้มั่นคงก่อนจะโฟกัสที่ profit เพราะมีหลายธุรกิจที่มัวแต่หวังผลกำไรตั้งแต่ early stage จนสูญเสีย users ไป เสมือนคนที่กำลังลอยคออยู่ในทะเล แล้วรีบดื่มน้ำทะเลเข้าไปแทนที่จะรอวันที่ฝนตก - อย่าจมกับความเสียใจในอดีตจนลืมมองความสุขในปัจจุบัน
ในชีวิต ไม่ว่าจะรวยหรือจน เราล้วนต้องพบกับความเศร้า เสียใจ สูญเสีย พ่ายแพ้ ผิดหวัง หรือกระทั่งไปอยู่ในจุดที่ตกต่ำ แต่เราต้องไม่จมอยู่กับความรู้สึกด้านลบนั้นนานเกินไป เพราะเราอาจพลาดโมเมนต์ดี ๆ ในปัจจุบันไป ประมาณว่า ถ้าชั่วโมงนั้น เรามัวแต่นั่งเสียใจกับเรื่องในอดีต ก็เท่ากับเราเสียโอกาสที่จะมีความสุขกับสิ่งตรงหน้าไปแล้ว 60 นาที
Pursuing profits in the early stage of business is like drinking seawater.
EP.2 – F F F (Family, Friends, Fools)
Ep. นี้ Dal-mi จะได้เจอกับ Do-san แล้ว เพราะต้องพาควงไปงานปาร์ตี้ตามที่รับคำท้าพี่สาวไว้ ทำให้คุณย่ากับ Ji-pyeong ต้องเร่งหา Do-san ให้เจอก่อน เพื่อที่จะได้เตี๊ยมเรื่องจดหมายที่พวกเขายืมชื่อ Do-san มาใช้เมื่อ 15 ปีก่อนได้ ความสนุกคือ เราได้ลุ้นว่าใครจะเจอ Do-san ก่อน แล้ว Do-san จะมางานเป็นเพื่อน Dal-mi มั้ย ฯลฯ
- ค่าความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
Won In-jae ซึ่งไปอยู่กับแม่และพ่อใหม่ วัดความสำเร็จที่เงินทองและหน้าที่การงาน ในขณะที่ Dal-mi ให้คุณค่าของความสำเร็จที่ความสุขของตัวเองและคนที่เธอรัก เธอคิดว่า ถึงแม้เธอจะไม่ร่ำรวยหรือยังไม่ประสบความสำเร็จถึงขั้นสูงสุดในด้านการเงิน แต่เธอก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองล้มเหลวหรือเลือกทางผิด - คนมักสร้างภาพให้คนอื่นเชื่อว่าเขามีชีวิตที่ดีและมีความสุขเพื่อเติมเต็มอะไรบางอย่าง
Won In-jae มีทุกอย่างเพียบพร้อม แต่เธอก็ยังไม่มีความสุข และไม่รู้สึกภาคภูมิใจที่ประสบความสำเร็จใต้เงาของพ่อใหม่ เธอจึงต้องลงรูปบน social media ว่าเธอมีชีวิตที่ดีเพื่อกลบเกลื่อนมันอยู่บ่อย ๆ ในขณะที่ Dal-mi ก็จำเป็นต้องสร้างตัวตนใหม่ขึ้น เพื่อให้พี่สาว ซึ่งวัดคนที่เงินทองและการงาน เชื่อว่าเธอก็มีชีวิตที่ดีเช่นกัน - นักธุรกิจที่ดีต้องมองบวก รู้จักพลิกวิกฤติเป็นโอกาส และสามารถจัดการคนได้
Dal-mi เป็นคนมองโลกในแง่ดี มีทัศนคติที่ดี ทุกครั้งที่เธอเจอปัญหา เธอจะมีสติและสู้ไม่ถอย มองวิกฤติให้เป็นโอกาส นอกจากนี้ เธอยังสามารถจัดการและรับมือกับคนได้ดี เธอสังเกตและสนใจว่าพวกเขาชอบอะไร คิดอย่างไร และต้องการอะไร นี่คือคุณสมบัติสำคัญของนักธุรกิจและ CEO - อย่าเอาคำพูดของคนอื่นมากำหนดชีวิตของเรา
Dal-mi ทำงานประจำมาหลายปีอย่างเต็มความสามารถ แต่บริษัทก็ยังเอาเปรียบ ไม่เลื่อนขั้นตามสัญญา ตั้งใจจะใช้งานเธอโดยจ่ายค่าจ้างที่ต่ำ เธอจึงเลิกหวังลม ๆ แล้ง ๆ กับคำสัญญาของ HR และเริ่มคิดถึงการทำธุรกิจที่เธอสามารถตั้งเป้าหมายได้เอง ก็คือถ้าเธอตั้งใจไปถึงเป้าหมายได้จริง เธอก็จะได้ผลลัพธ์ตามที่เธอสัญญากับตัวเองไว้ได้จริง ส่วน Do-san ก็อาจเจ็บและเสียกำลังใจจากคำพูดของ Ji-pyeong บ้าง แต่เพื่อนของเขาก็บอกว่า มันก็แค่ความคิดเห็นของคนคนหนึ่ง ไม่ได้แปลว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เสมอไป - เราทุกคนต่างรอเวลาที่จะเบ่งบานในวันของเรา
หลายคนไฟแรงหรือรีบ อยากสำเร็จไว ๆ และบ่อยครั้งก็เอาตัวเองไปเปรียบกับคนอื่นว่า ทำไมเราทำไม่ได้อย่างเขา แต่จริง ๆ แล้ว เราไม่ควรเอาก้าวแรกของเราไปวัดกับก้าวที่เท่าไรแล้วก็ไม่รู้ของคนอื่น วันนี้เรายังไม่สำเร็จ ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่มีวันสำเร็จได้เลย เราทุกคนล้วนมีฤดูกาลหรือวันเวลาเบ่งบานที่ไม่ตรงกัน - อย่ากลัวที่จะเปิดกล่องดนตรี
Dal-mi มีกล่องดนตรีของพ่อ ที่เธอไม่กล้าเปิด เพราะกลัวว่าจะไม่ชอบเพลงบ้างล่ะ หรือกลัวเพลงจะไม่เล่นเลยบ้างล่ะ มันคืออุปมา (methaphor) ว่า ถ้าเรามัวแต่กังวลในผลลัพธ์จนไม่กล้าที่จะเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ มันก็อาจทำให้เราเสียโอกาสอะไรดี ๆ ในชีวิตไป
Never let someone’s opinion become your reality- Les Brown
EP.3 – Angel
Ep. นี้ เริ่มมีการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่าง Dal-mi กับ Do-san ที่ทำให้เราเริ่มเทใจให้ Do-san อย่างเต็มตัว (ในขณะที่หลายคนก็คงอยู่ทีม Ji-pyeong) แล้วก็จะได้ลุ้นว่า แผนจะโป๊ะแตกมั้ย โดยมี Ji-pyeong คอยช่วยให้ Do-san เป็นผู้ชายที่เพอร์เฟ็กต์สำหรับ Dal-mi
- เดินเตร็ดเตร่บ้างก็ไม่เป็นไร
ในจดหมายที่ Dal-mi เขียนถึง Do-san (หรือ Ji-pyeong) เธอบอกว่า เธอเคยเดินตากฝนทั้งที่มีร่ม เธอเคยเดินเตร็ดเตร่ไปเรื่อย ๆ อย่างไร้จุดหมาย แล้วเธอก็พบกับสายรุ้งที่สวยงาม คีย์เวิร์ดก็คือ เราควรออกจาก comfort zone บ้าง ลองไปที่ที่ไม่เคยไป ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ทำสิ่งที่ไม่เคยอยู่ในแผนชีวิต หรือทำอะไรโดยสัญชาตญาณบ้าง เผื่อจะเจออะไรใหม่ ๆ ที่ดีมาก ๆ ก็ได้ เช่น โคลัมบัสก็ค้นพบทวีปอเมริกาจากการแล่นเรือที่ออกนอกเส้นทางแผนที่ - ขอแค่สักคนคนที่เชื่อมั่นในตัวเรา
Do-san ยังเป็นสตาร์ทอัพที่ไม่สำเร็จด้วยเหตุผลหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ เขาขาดความเชื่อมั่น พ่อแม่อาจให้เงินทุนสนับสนุนในการเริ่มต้นทำธุรกิจช่วงแรกก็จริง แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเงินทุนที่พ่อแม่ (โดยเฉพาะพ่อ) ไม่ได้ให้เขาก็คือ กำลังใจและความเชื่อมั่น แต่พอเขาได้เจอ Dal-mi ผู้เชื่อมั่นว่าเขาจะต้องทำได้และเห็นศักยภาพในตัวเขามากกว่าใคร มันก็ช่วยผลักดันให้เขาอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองและทำมันให้สำเร็จได้จริง ๆ - ถ้าขึ้นลิฟต์ผิดตัว ก็ไปไม่ถึงที่ที่อยากไป
ที่ออฟฟิศของ Dal-mi มีลิฟต์หลายตัว ลิฟต์ของพนง.ที่เธอใช้อยู่ทุกวัน พาไปได้สูงสุดแค่ชั้น 16 แต่ถ้าจะไปหา CEO ซึ่งอยู่ชั้น 32 ต้องขึ้นลิฟต์อีกตัวเท่านั้น มันเป็นอีก metaphor ที่สื่อได้ว่า ถ้าเธออยากเป็น CEO เธอต้องเปลี่ยนไปขึ้นลิฟต์อีกตัว
EP.4 – Sandbox
Ji-pyeong ยังคงคอยช่วยปกป้อง Dal-mi และคอยช่วยให้ Do-san เป็นคนที่สมบูรณ์แบบต่อไปในวันเกิดของ Ji-pyeong (ซึ่ง Dal-mi เข้าใจว่าเป็นวันเกิดของ Do-san ถ้าอิงตามจดหมาย) ในขณะเดียวกัน Dal-mi, Do-san, และ In-jae ต่างก็ไปเจอกันใน Sandbox รอบแรก ทำให้ Dal-mi ได้รู้ความจริงว่า Do-san เป็นแค่สตาร์ทอัพเล็ก ๆ ธรรมดา ๆ ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเลย
- การขายงานคือเราต้องรู้ว่าลูกค้าสนใจอะไรและนำเสนอให้ถูกจุด
Do-san และเพื่อนเสนองานให้นักลงทุนมานักต่อนัก แต่ไม่เคยมีใครสนใจร่วมลงทุนด้วยเลย เพราะที่ผ่านมาเขาเน้นพูดถึงแต่นวัตกรรมและเทคโนโลยีสุดล้ำที่เขาถนัด แต่เขาไม่เคยลงรายละเอียดหรือให้ความสำคัญกับเรื่องของโมเดลธุรกิจ เช่น การทำกำไร หรือการทำเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนสนใจที่สุดเลย - สิ่งที่ดูเหมือนไม่มีค่าสำหรับเราอาจมีค่ามากสำหรับคนอื่น
สำหรับคนทั่วไป การได้เล่นเกมกับคนในครอบครัวในช่วงเทศกาลวันหยุดอาจเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับ Ji-pyeong ซึ่งเป็นเด็กกำพร้า เขาไม่เคยมีโอกาสนั้น มันจึงเหมือนเป็นความฝันหรือสิ่งพิเศษสำหรับเขา พูดอีกอย่างก็คือ เรื่องธรรมดาสำหรับเราอาจเป็นเรื่องพิเศษของคนอื่นก็ได้ ไม้บรรทัดของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน - ความหลากหลายในองค์กรคือพื้นฐานสำคัญ
บริษัทควรมีคนที่หลากหลาย (diversity) เพื่อจะได้มุมมองที่แตกต่างหรือสกิลที่แตกต่างกันก็จะได้เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เช่น ถ้า founder & co-founders รวมถึงทุกคนในองค์กร. มีแต่ computer engineer หรือ developer มันก็ไม่สามารถไปไหนได้ไกล มันต้องมีคนที่เก่งด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะอยู่ด้วย เช่น คนที่เก่งด้านการตลาด คนที่เก่งด้านการสื่อสาร เป็นต้น - เลือกร่วมงานกับคนที่เห็นคุณค่าในตัวเรา
In-jae มองว่าเธอสูงกว่าผู้อื่น เธอพูดว่า “จะจ้าง Do-san มาเป็น developer” หมายความว่าเธอมอง Do-san เป็นแค่ลูกจ้างคนหนึ่ง และยังสำคัญตนอีกว่าพวกมือสมัครเล่นอย่าง Do-san ต้องเลือกอยู่กับเธอ เพราะเธอเป็นระดับมืออาชีพ แต่ในชีวิตจริง เราไม่ได้แค่ต้องการทำงานกับคนเก่ง ๆ แต่เราต้องการทำงานกับคนที่เราทำงานแล้วสบายใจมากกว่าหรือคนธรรมดาที่พร้อมจะจับมือและสร้างมันไปด้วยกัน
EP.5 – Hackathon
Ep.นี้ ทุกทีมที่เข้าแข่งขันที่ Sandbox จะต้องพรีเซนต์ไอเดียหรือโมเดลธุรกิจบนเวที เพื่อคัดเลือก 12 ทีมสุดท้ายที่จะได้เข้ามาอยู่ใน Sandbox ซึ่งทีมของ Dalmi x Samsan Tech ก็มีคู่แข่งคนสำคัญคือทีมของ In-jae ส่วน Ji-pyeong ก็เข้ามาแอบมาเป็นเมนเทอร์ช่วยทีม Dalmi x Samsan Tech ให้พรีเซนต์ผ่านไปด้วยดี
- วุฒิการศึกษาไม่ใช่คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของผู้นำ
เมื่อเพื่อนพระเอกได้รู้ว่า Dal-mi ไม่ได้เรียนป.ตรี เขาก็เริ่มกังขาในความสามารถของเธอ แต่ต่อมาเธอก็พิสูจน์ตัวเองว่าเธอทำได้ดีกว่าคนจบปริญญาเสียอีก แม้แต่ทางผู้จัด Sandbox เอง ก็ไม่ได้ใช้วุฒิการศึกษามาเป็นเกณฑ์การให้คะแนน ทั้งนี้เพราะวุฒิการศึกษาไม่ใช่สิ่งสำคัญเลยสำหรับผู้นำองค์กร - ไม่มีใครดูถูกใครได้เลวร้ายเท่าเราดูถูกตัวเอง/กันเอง
สืบเนื่องจากเพื่อนพระเอกเริ่มไม่มั่นใจที่จะให้ Dal-mi ซึ่งจบแค่ม.ปลาย มาเป็นผู้นำทีม เขาจึงหลุดพูดคำที่เสมือนการดูถูก Dal-mi ออกมาโดยไม่รู้ตัว ถึงแม้เขาจะอ้างว่ากลัวคนอื่นจะคิดลบกับองค์กร แต่จริง ๆ แล้ว มืออาชีพจริง ๆ เขาจะไม่ตัดสินคนที่ใบปริญญา หากแต่ดูที่การทำงานจริง ในขณะเดียวกัน ถ้าเราดูถูกตัวเอง หรือคนในทีมดูถูกกันเอง มันจะเป็นสิ่งที่มาทำร้ายเราเสียเอง - ถ้าคำตอบนี้มันไม่ใช่ ก็ต้องเปลี่ยนมุมมองและวิธีทำ
ทีมพระเอกมักจะจมปลักหรือฝืนทำต่ออยู่แต่กับวิธีการเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็นการโค้ดหรือการขายงาน ไม่เคยคิดที่จะลองเปลี่ยนมุมมองแนวคิดหรือวิธีทำ ที่ผ่านมาก็เลยไม่เคยประสบความสำเร็จ ในขณะที่ Dal-mi จะเปลี่ยนมุมมองหรือแนวทางการหาคำตอบทันทีที่วิธีเดิมมันไม่ใช่ ซึ่งนั่นทำให้เธอแตกต่างและมักจะเจอทางออกได้เร็วกว่าคนอื่น - ชีวิตต้องมีวันที่ฝน/หิมะตก จะได้มีพืชผลเจริญงอกงามไว้เก็บเกี่ยวกิน
Dal-mi (หรือจริง ๆ ก็ต้องบอกว่า คุณพ่อของ Dal-mi เค้าสอนมาอีกที) มีทัศนคติและการมองโลกในแง่ดีต่อปัญหาต่าง ๆ เธอคิดว่า เราจะมีแต่วันที่แดดออกอย่างเดียวไม่ได้ ชีวิตต้องเจออุปสรรคบ้าง (เจอฝนบ้าง) เพื่อที่เราจะได้เบ่งบานหรือพบกับความสวยงามบนโลกใบนี้
EP.6 – Key Man
หลังจาก Samsan Tech และ In-jae Company ได้เข้ามาอยู่ใน Sandbox แล้ว พวกเขาก็ต้องเสนอ proposal ต่าง ๆ รวมถึงรายการผู้ถือหุ้นให้เมนเทอร์ของ Sandbox ช่วยดูให้ ซึ่งการแบ่งหุ้นนี้เองที่อาจนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งหรือกระทั่งจุดแตกหักของคนในทีม
- แทนที่จะมัวงมหาคำตอบ จงสร้างทางเลือกให้ตัวเอง
บางคนพยายามตามหาคำตอบทุกวิถัทาง ทั้งปรึกษาจากคนอื่นบ้างล่ะ ทั้งหาอ่านจากตำราต่าง ๆ บ้างล่ะ แต่สุดท้ายก็หาคำตอบไม่เจอสักที เพราะเขาลืมไปว่า บางคำถามมันไม่มีคำตอบ บางคำถามมันไม่มีถูกผิด แต่ละคนสามารถมีคำตอบที่แตกต่างกันออกไป คำตอบของเราอาจไม่ใช่คำตอบของเขา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราตอบผิด. ดังนั้น อย่าตามหาคำตอบที่ไม่มีอยู่จริง - ผู้นำที่ดีต้องมีความเด็ดขาดและกล้าตัดสินใจ
หน้าที่หลักของผู้นำคือการตัดสินใจ แรก ๆ Dal-mi ยังคงคอนเซ็ปต์เป็นคนดี ไม่กล้าตัดสินใจหรือสั่งการ อาจด้วยเกรงใจหรือกลัวคนอื่นไม่พอใจ แล้วเมื่อเธอไม่หนักแน่น มันก็ทำให้ทีมเวิร์กอ่อนแอไปด้วย เพราะถ้าผู้นำมัวแต่ห่วงความรู้สึกคนนู้นทีคนนี้ที มันก็ไม่ได้ตัดสินใจสักที งานก็ไม่เดินสักที และไม่ว่าเราจะเลือกทางไหน มันก็ต้องมีคนวิจารณ์ทางที่เราเลือกอยู่ดี
Instead of looking for answers, make choices. Whatever you choose, you’ll be criticized. You can’t make any decisions if you’re afraid of criticism.
EP.7 – Burn Rate
จากการคำนวณ Burn Rate แล้ว Samsan Tech จะอยู่ได้แค่ 6 เดือน ดังนั้นพวกเขาจึงต้องรีบคิดบริการจากนวัตกรรมของพวกเขา และหานายทุนมาลงทุน เพื่อหาเงินมาต่อยอดธุรกิจต่อให้ได้ พวกเขาจึงจำเป็นต้องไปลองเสนองานกับพ่อเลี้ยงของ In-jae ในขณะที่ Ji-pyeong เริ่มรู้ตัวว่าชอบ Dal-mi เขาจึงพยายามทำตัวออกห่าง
- โชคชะตาไม่สำคัญเท่ากับการสร้างโอกาสและลงมือทำด้วยตัวเอง
หลังจากที่ In-jae ได้เงินทุนจากธนาคารเจ้าใหญ่ หลายคนอาจคิดว่าเธอได้งานนั้นเพราะเส้นสายพ่อเลี้ยงของเธอ แต่จริง ๆ แล้ว เธอเป็นคนเดินเข้าไปสร้างโอกาสนั้นด้วยตัวเธอเอง ในขณะที่หลายคน รวมถึง Dal-mi ก็อยู่ในที่เดียวกันกับเธอ ณ เวลานั้น แต่กลับปล่อยโอกาสนั้นผ่านไปเฉย ๆ ดังนั้น มันจึงจึงได้ให้บทเรียนว่า อย่าโทษแต่โชคชะตา ถ้าเรายังไขว่คว้าหาโอกาสหรือเดินหน้าลงมือทำไม่มากพอ - สร้างมิตรบวกร้อยล้าน สร้างศัตรูลบร้อยล้าน
Dal-mi เป็นคนคิดบวก พยายามเป็นพันธมิตรกับพ่อเลี้ยงของพี่สาว เพราะย่าของเธอสอนว่า สร้างมิตรดีกว่าสร้างศัตรู ดังนั้น บางเวลา เราต้องยอมถอยหนึ่งก้าว พักยก และประนีประนอมกันบ้าง ถ้าเราเอาแต่ทำตัวกร่างหรือสร้างศัตรูเพิ่ม วันนึงมันอาจจะมีผลเสียตีกลับมายังตัวเราเองหรือธุรกิจของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง - ควบคุมอารมณ์โกรธ โดยการจดจ่อกับสิ่งอื่น
ส่วนใหญ่ Do-san ไม่ค่อยแสดงออกในเชิงก้าวร้าวให้เห็น เพราะทุกครั้งที่เขาเครียด โกรธ หรือมีความรู้สึกในเชิงลบ เขาจะควบคุมอารมณ์ โดยการถักนิตติ้ง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์และต้องใช้สมาธิจดจ่อกับมัน เมื่อเราโฟกัสกับสิ่งอื่น อารมณ์โกรธ ซึ่งเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ ไม่ช้าก็เร็ว มันก็จะเบาลงเอง โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะทางกายภาพหรือทางวาจา กับคนรอบข้าง - ผลตอบแทนไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินเสมอไป
ท่ามกลางการแข่งขันบนโลกอันโหดร้าย ไม่แปลกที่นักธุรกิจและนักลงทุนทั้งหลายจะมุ่งหวังแต่ผลกำไร แต่สำหรับบางคนก็มองในระยะยาวกว่านั้นหรือมองหาผลตอบแทนที่แตกต่างออกไป เช่น ลูกพี่ลูกน้องของ Do-san ที่ทำงานให้ใครก็ตามก็จะขอส่วนแบ่งหุ้น 1% แทนการรับเงินค่าจ้าง (ซึ่งเป็นวิธีที่ฉลาดมาก และก็วินวินทั้งสองฝ่าย) หรือ Dal-mi เอง กำไรหลักของเธอก็คือการที่ได้เห็นคนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีของพวกเธอ ส่วนเรื่องเงินกำไรเป็นเรื่องรอง แต่เธอก็พยายามให้ทั้งสองอย่างมันไปด้วยกันได้
Gaining an enermy is like losing 100 million won, and gaining an ally is like earning that much money.
EP.8 – Back Up
Dal-mi กับ Do-san ปฏิเสธข้อตกลงที่พ่อเลี้ยงของ In-jae เสนอมา แล้วไปตั้งใจทำแอพฯ ช่วยคนพิการทางสายตาแทน ทำให้พ่อเลี้ยงต้องการให้บทเรียนกับพวกเขา
- อะไรก็เกิดขึ้นได้ อย่าใช้ชีวิตด้วยความประมาท
เราคิดว่า คีย์สำคัญของ ep นี้คือ การสอนให้เราไม่ประมาท เพราะชีวิตเต็มไปด้วยสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ เช่น เพื่อนจะกลายเป็นศัตรูเมื่อไรก็ได้ ไฟล์จะหายเมื่อไรก็ได้ ดังนั้น เราต้องรอบคอบ แผนสำรองหรือการเตรียมการล่วงหน้าเป็นสิ่งที่ควรทำ ดีกว่าวัวหายล้อมคอก สิ่งที่เราประทับใจที่สุดใน ep นี้และบทเรียนนี้ก็คือ Do-san ตั้งใจทำแอพฯ ช่วยคนพิการทางสายตาให้กับคุณย่า เพื่อที่คุณย่าจะได้ใช้เมื่อวันนั้นมาถึง - ความเท่าเทียมคือการทำเรื่องปกติของเราให้เป็นเรื่องปกติของเขาด้วย
แอพฯ ช่วยคนตาบอดของ Samsan Tech เป็นแอพฯ ที่เกิดจากพื้นฐานความคิดและจิตใจของ Dal-mi กับ Do-san ที่ใส่ใจผู้อื่นที่อาจจะมองได้ไม่เห็นเท่าที่คนทั่วไปมองเห็น พวกเขาอยากให้ทุกคนได้มี/ได้เป็น/ได้เข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ได้เท่า ๆ กันที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ถ้าเรากินไ่ก่ทอดได้ทุกวันโดยไม่รู้สึกว่าไก่ทอดเป็นอาหารที่แพงหรือฟุ่มเฟือย คนอื่นในสังคมก็ควรที่จะได้รู้สึกแบบนั้นและกินไก่ทอดได้ทุกวันที่เขาอยากกินได้เหมือนกัน
มันทำให้เราเข้าใจว่า ความเท่าเทียมมันไม่ใช่การแบ่งสิ่งสิ่งหนึ่ง ในปริมาณที่เท่า ๆ กันหรือเหมือนกันเสมอไป แต่เป็นการให้โอกาสคนทุกคนได้เข้าถึงสิ่งสิ่งหนึ่งได้เท่า ๆ กัน (เช่น ตอนที่. Dal-mi แบ่งปลาให้ทุกคนบนโต๊ะอาหาร เธอแบ่งปลา่ให้ Ji-pyeong น้อยกว่าคนอื่นบนโต๊ะ ทั้งที่ปากบอกจะแบ่งเท่า ๆ กัน นั่นอาจเพราะเธอคิดว่า Ji-pyeong มีโอกาสได้ทานอาหารดี ๆ แบบนี้เป็นปกติอยู่แล้วก็ได้ (ถึงแม้ความพิศวาสในตัว Do-san มากกว่าก็เป็นพื้นฐานของความลำเอียงด้วยส่วนหนึ่ง)) - Why สำคัญกว่า What และ How
การแก้ปัญหาเริ่มต้นที่การตั้งคำถาม ในบรรดา Wh- Questions ทั้งหมด เราเองก็สอนนักเรียนของเราเสมอว่า การตั้งคำถาม Why จะนำไปสู่คำตอบที่ดีที่สุด เช่นเดียวกับในซีรีส์ ท่านประธานเองก็บอกว่า แค่รู้ว่าเราทำทำไม นั่นก็เพียงพอแล้ว เพราะเมื่อเรารู้และยึดมั่นใน Why (เหตุผล) เดี๋ยว What กับ How (วิธีการ) มันก็จะตามมาเอง พูดอีกอย่างคือ เหตุผลจะเป็นตัวกำหนดการกระทำ - เหยียบเบรคเพื่อชะลอหรือหยุดดูข้างหลังหรือข้างทางบ้าง
เมื่อเรามีเป้าหมาย ไม่แปลกที่เราจะอยากไปให้ถึงโดยไว จนบางครั้งเราก็เหยียบคันเร่งเต็มสปีด จนลืมที่จะระวังข้างทางหรืออุบัติเหตุที่อาจคาดไม่ถึง คนที่ขับรถโดยไม่เหยียบเบรคเลยก็อาจจะชนกำแพงตายได้สักวัน ดังนั้น การขับรถ จะเหยียบแต่คันเร่งไม่ได้ เราต้องมีเบรคด้วย การทำธุรกิจก็เช่นกัน
You never know what might happen
EP.9 – Risk
Do-san กับ Ji-pyeong ต้องต่อสู้กับความรู้สึกตัวเองกับความคิดที่จะอยากบอกความจริงกับ Dal-mi ซึ่ง ณ ตอนนี้ Dal-mi เอง ก็เริ่มสงสัยใน identity ของทั้งสองหนุ่ม
- ยอมรับความจริงให้ได้ก่อนให้คนอื่นมายอมรับ ถ้าเขารักเราจริง เขาจะยอมรับเราได้
เราล้วนมีความลับหรือมีเรื่องไม่ดีที่ไม่อยากบอกใคร กลัวคนที่เรารักเขาจะรับไม่ได้ กลัวจะเสียเขาไป หรือกลัวทำให้เขาเสียความรู้สึก เช่นเดียวกับที่ Do-san ปิดบัง Dal-mi เรื่องจดหมาย และปิดบังครอบครัวเรื่องที่เขาไม่ได้เป็น CEO รวมถึงเรื่องที่ได้เหรียญทองคณิตศาสตร์โอลิมปิก ถึงแม้จะเป็นการโกหกขาว (White Lies) ซึ่งมีเจตนาที่ดีต่อคนคนนั้น แต่การเก็บซ่อนหรือปิดบังมันไว้ก็เหนี่ยวรั้งชีวิตและความสัมพันธ์ของเรากับเขาให้ไปไหนได้ไม่ไกลเช่นกัน มิหนำซ้ำ ถ้าเขารู้จากปากคนอื่น มันมีความเสี่ยงมากกว่าเราบอกเองหลายเท่า ดังนั้น ในเมื่อมันเป็นความจริง เราก็ต้องยอมรับมันให้ได้ก่อนที่จะคาดหวังให้คนอื่นมายอมรับและเข้าใจด้วย สุดท้าย ไม่ว่าจะดีจะร้าย ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เปิดอกคุยกันดีกว่าเก็บไว้คนเดียว ถ้าเขารักเราจริง ๆ เขาจะเข้าใจและค่อย ๆ ยอมรับมันได้เอง - ใช้เหตุผลและข้อมูลชี้แจง แทนที่จะใช้แต่อารมณ์ในการโต้แย้ง
Ji-pyeong แนะนำ Dal-mi เกี่ยวกับการตอบ Voice of Customers (VOC) ว่า “มือสมัครเล่นมักโต้ตอบความเห็นผู้ใช้ด้วยอารมณ์ มืออาชีพจะตอบกลับด้วยข้อมูล” เราคิดว่าเป็นข้อคิดที่ใช้ได้กับชีวิตประจำวันยุค 4.0 ได้ด้วยอย่างเห็นได้ชัด แทนที่เราจะคอมเมนต์กันด้วยอารมณ์หรือถ้อยคำรุนแรง เราน่าจะคุยกันด้วยข้อมูลและเหตุผลเพื่อแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันจะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายมากกว่า - “โอกาส” เป็นสิ่งที่ล้ำค่า หายาก และราคาแพง
ตั้งแต่ดูซีรีส์นี้มา เราเชื่อว่า “โอกาส” เป็นสิ่งที่ล้ำค่า หายาก และราคาแพง แพงถึงขนาดที่ว่ามีเงินก็ซื้อไม่ได้ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีสิทธิได้ และในบางครั้ง ถ้าพลาดครั้งนี้แล้ว ก็อาจจะไม่มีโอกาสมาอีกเลยก็ได้ เช่น ใน ep นี้ Dal-mi ได้อ่านฟีดแบ็กของ user คนนึงที่เล่าถึงความเสียใจที่ไม่เคยมีเวลาพาลูกสาวไปเที่ยวดูวิวสวย ๆ ก่อนที่เธอจะตาบอด แล้ว Do-san ก็พา Dal-mi กับคุณย่าไปทะเลด้วยกันในวันต่อมาเลย เพราะอยากให้คุณย่าได้เห็นวิวทะเลสวย ๆ ด้วยตาตัวเองก่อนที่วันนึงจะมองไม่เห็นแล้ว ดังนั้น เราควรทำทันทีตั้งแต่ยังมีโอกาสหรือเมื่อโอกาสมาถึง - เป็นตัวเอง ไม่ต้องเปรียบกับใคร
บ่อยครั้งที่เราอาจเอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วก็น้อยเนื้อต่ำใจที่เห็นเขาสำเร็จแล้วแต่เรายังไม่ไปไหน แต่จริง ๆ แล้ว คนเราเกิดมาแตกต่างกัน และอีกอย่าง สิ่งที่เห็นก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นเสมอไป ดวงจันทร์ที่เราเห็นว่าดวงใหญ่และมีแสงสุกสว่าง แท้จริงแล้ว มันดูใหญ่เพราะมันเป็นดาวบริวารอยู่ใกล้โลก และไม่มีแสงสว่างในตัวเองเลย ต้องพึ่งแสงจากดาวอื่นเสมอ ในขณะที่ดาวฤกษ์ ที่ดูเหมือนเป็นดาวเล็ก ๆ เหมือนเศษฝุ่นธุลีในสายตาเรา แท้จริงแล้วมันมีขนาดใหญ่ มีมวลมหาศาล และมีแสงสว่างในตัวเอง ดังนั้น อย่าหยุดที่จะเป็นตัวเอง แต่จงหยุดที่จะเป็นอะไรที่เราไม่ได้เป็น และหยุดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นดีกว่า
Does my dream have to be success? Can’t it be a person?
EP.10 – Demo Day
หลังจาก Dal-mi รู้ความจริง เธอก็โกรธและสับสนมาก Ji-pyeong ก็เปิดเผยความจริงทุกอย่างกับเธออย่างลูกผู้ชาย รวมถึงสารภาพรักกับเธอ ในขณะเดียวกัน Do-san ก็พิจารณาโอกาสที่จะไปติดปีกที่ซิลิคอนวัลเลย์ตามคำชวนของ Alex
- ความสำเร็จไม่ใช่ความฝันสำหรับทุกคน
โลกหนุ่มสาวมีคำว่า “สำเร็จ” เป็นลูกกวาดอาบยาพิษที่มีคนจับป้อนกึ่งยัดเยียดให้กลืนกินมาตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งสร้างความเครียดและความกดดันมหาศาล ในความเป็นจริง เรามีสิทธิที่จะฝันเป็นแค่คนธรรมดาที่มีความสุข และมีความสำเร็จในแบบฉบับของตนเอง ความสำเร็จหรือเป้าหมายไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของการสอบได้ที่หนึ่ง การมีเงินทองหลายร้อยล้าน การมีรถหรือบ้านหรู ๆ ฯลฯ เหมือนกันทุกคนเสมอไป - เอาใจเขามาใส่ใจเรา
การอยู่ร่วมกัน เราต้องมองรอบด้าน อย่ามองแต่มุมตัวเองหรือเข้าข้างคนกันเอง แต่ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เราชอบตัวอย่างที่เจ๊ดีไซเนอร์แสดงให้เพื่อน ๆ ของ Do-san เข้าใจความรู้สึกของการโดนหลอกของ Dal-mi เราคิดว่ามันเป็นกลวิธีที่ฉลาด เน้น show ไม่ใช่ tell ทำให้พวกนั้นเข้าใจลึกซึ้ง เพราะโดยปกติแล้ว คนส่วนใหญ่ ถ้าไม่โดนกับตัว ก็ไม่เข้าใจหรอก - เอาแรงกดดันมาเป็นแรงผลักดัน
ใน Demo day เหล่าสตาร์ทอัพจะต้องตอบคำถามล้านแปดที่แสนหนักหนาสาหัสของเหล่านักลงทุน สำหรับคนที่จิตใจไม่เข้มแข็งพอหรือมีทัศนคติที่ไม่ดีพอ อาจรู้สึกกดดันจนเครียด ถอดใจ หรือยอมแพ้ไปเลย ในขณะที่คนที่มีความเชื่อมั่น มีความสตรอง และมีทัศนคติที่ดี จะเข้าใจว่า มันคือหน้าที่ของเราที่จะต้องเตรียมตัวและทำให้ได้ การที่นักลงทุนจะจี้ถามเยอะมันก็ไม่แปลกเพราะเขากำลังจะลงทุนเงินก้อนใหญ่ จะเห็นได้ว่า ที่สำคัญ เราต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำก่อน เราจึงจะไป convince เขาได้ สุดท้ายแล้ว มันอยู่ที่มุมมองของเราว่าจะให้ความกดดันนั้นมาผลักดันเราหรือทำลายเรา - เป็นคนที่คนอื่นคาดหวังมันเหนื่อย
บางคน เช่น Do-san ต้องแบกรับความฝันของพ่อแม่จนสูญเสียความเป็นตัวเองเพราะมัวแต่พยายามทำให้พ่อแม่ภูมิใจหรือพยายามเป็นคนที่พ่อแม่คาดหวังทั้งที่มันไม่ใช่ตัวเองเลยสักนิด ในขณะเดียวกัน ทั้ง Do-san และ Ji-pyeong ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการแสร้งเป็นคนอื่น มันเหมือนค่อย ๆ กลืนกินความสุขในใจของพวกเขาไปทีละช้า ๆ แม้แต่ In-jae ที่ยืมสตอรี่ของ Dal-mi มาใช้เป็นตัวตนของตัวเองในการสมัครเข้า Sand Box และต้อง keep character เป็นเด็กบนชิงช้านั้น เธอก็รู้สึกแย่กับตัวเองไม่แพ้กัน สุดท้ายแล้ว ไม่มีใครเป็นคนอื่นได้ตลอด คนที่มีความสุขที่สุดก็คงจะเป็นคนที่เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มตัวมากกว่า
Once you obsess over the scale (global partners), you’ll feel pressured. Just look for investors who agree with your business philosophy.
EP.11 – Exit
Ji-pyeong ต้องทบทวนอดีตและความผิดพลาดในการเป็นเมนเทอร์ของตัวเอง ในขณะที่ บริษัทของ In-jae และ Dal-mi แข่งกันพรีเซนต์งานจากเทคโนโลยีเดียวกันในงานเดโมเดย์ เพื่อที่จะชนะใจกรรมการอย่าง Alex
- อย่าคิดถึงแต่ข้างหน้า จนลืมดูคนข้างหลัง
แต่ไหนแต่ไรมา เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตให้สะดวกสบายขึ้นและนำไปสู่โลกที่ดีกว่าเดิม คนหนุ่มสาวใน Sandbox ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่โตมากับมัน ก็พร้อมจะสร้างสรรค์และโอบรับสิ่งใหม่ ๆ เหล่านั้นเสมอ แต่เทคโนโลยีก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของทุกคนง่ายขึ้นเสมอไป การเปลี่ยนแปลงควรค่อยเป็นค่อยไป ถ้ามันเกิดขึ้นไวเกินไปอาจทำร้ายคนบางกลุ่มได้ ถ้าเราเหลียวหลังมองดู จะเห็นว่า โลกนี้ยังมีคนอีกมากมายที่ไม่สามารถปรับตัวหรือรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ทัน เช่น พ่อของ Do-san ที่ต้องตกงานอย่างไม่ทันตั้งตัวเพราะ AI ของ In-jae Company ซึ่งเรา ในฐานะมนุษย์ร่วมโลก ก็ไม่ควรทิ้งพวกเขาไว้อยู่ข้างหลัง ดังนั้น เทคโนโลยีไม่ควรมีเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าของโลกเท่านั้น แต่ควรมีอยู่เพื่อช่วยเหลือคนในสังคมด้วยเช่นกัน การทำธุรกิจก็เช่นเดียวกัน อย่าหวังแต่ผลกำไร แต่ต้องทำเพื่อคนอื่นด้วย - การโกหกเพียงเรื่องเดียว อาจทำให้เรื่องอื่น ๆ ดูไม่จริงไปด้วย
Do-san ปฏิเสธที่จะให้ Dal-mi ปลอมตัวเลขค่าความแม่นยำของอัลกอริทึมให้สูงกว่าทีมคู่แข่งตามข้อเสนอของเพื่อน ๆ ในทีม (เราชอบประโยคที่ Do-san พูดว่า “That little bit will make the 92.4 percent look fake.” มาก ๆ) เพราะเขาได้บทเรียนความเจ็บปวดมาจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง ทั้งการโกงข้อสอบโอลิมปิก 1 ข้อแล้วได้แชมป์ ทั้งการโกหก Dal-mi เรื่องจดหมายเมื่อ 15 ปีก่อน เขาเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การโกหกแม้แต่เพียงเรื่องเดียว มันทำให้ทุกเรื่องอื่น ๆ ที่ทำมามันไม่มีความหมายเลย ต่อให้คนอื่นไม่รู้ มันก็ยังทำให้รู้สึกว่าตัวเองดูแย่อยู่ดี - การเปรียบเทียบต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมเดียวกัน จึงจะบอกได้ว่าอะไรดีกว่าอะไร
ตัวละครมักจะมีการเปรียบเทียบกันเองมาตั้งแต่แรก เช่น Dal-mi ที่เอาตัวเองไปเปรียบกับพี่สาว ทั้งที่ต้นทุนชีวิต (หลังพ่อแม่แยกทางกัน) ก็ต่างกัน และอายุก็ต่างกันถึง 3 ปี หรือ Do-san กับ Ji-pyeong ที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกันนับครั้งไม่ถ้วน รวมถึง Ep.9 ที่เราเคยพูดถึงประเด็นการเปรียบเทียบดวงจันทร์กับดาวฤกษ์ไปบ้างแล้ว ใน Ep.11 นี้ Alex ยังให้บริษัทของ In-jae และ Dal-mi เอาเทคโนโลยีการรับรู้ภาพของทั้งคู่มาเปรียบเทียบกันจะ ๆ โดยใช้ตัวแปรควบคุมเดียวกัน เช่น คอมพิวเตอร์สเปคเดียวกันและแสงสว่างที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งถือเป็นการเปรียบเทียบที่แฟร์เกมที่สุด
“That little bit will make the 92.4 percent look fake.”
EP.12 – Acquire
Ji-pyeong ไม่สามารถห้ามการทำสัญญาระหว่าง Samsan Tech กับ 2STO ได้ทัน ทำให้ Samsan Tech ได้รับบทเรียนราคาแพง เมื่อ Alex จะพาแค่นักพัฒนา 3 คนไป Silicon Valley เท่านั้น และเท Dal-mi กับ Saha ไว้ข้างหลัง
- คำวิจารณ์หรือคำติชมที่ตรงไปตรงมาไม่จำเป็นต้องเป็นคำพูดที่รุนแรง
มันอาจจะจริงอยู่ที่คนเราจะเติบโตและพัฒนาได้จากคำวิจารณ์หรือคำตำหนิติเตียนมากกว่าคำชม แต่เราก็จะได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับ Ji-pyeong ด้วยว่า มันไม่ใช่ว่าทุกคนจะทนรับคำพูดตรง ๆ คำพูดแรง ๆ หรือสามารถเปลี่ยนคำดูถูกมาเป็นแรงผลักดันให้กับตัวเขาได้เสมอไป ดังนั้น การเลือกใช้คำพูดและน้ำเสียงจึงสำคัญมาก - ทุกปัญหามีทางออกเสมอ แต่แค่อาจไม่ใช่ทางที่เราคาดหวัง
ปัญหาที่ Samsan Tech เจอหลังเซ็นสัญญากับ 2STO อาจเป็นเรื่องที่หนักหนาสำหรับพวกเขาก็จริง แต่มันก็เหมือนกับปัญหาที่พวกเขาเคยเจอ เช่น ตอนพ่อของ Do-san จะถอนเงินทุนออกจากบริษัท กล่าวคือปัญหามันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต หรือมันอาจจะเป็นแค่เรื่องเรื่องหนึ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวัง ที่ไม่ช้าก็เร็ว เราก็จะผ่านมันไปได้ มันอาจไม่ใช่ในแบบที่เราคาดหวัง แต่ก็เป็นแบบที่เราจะสามารถไปต่อได้ ในช่วงแรก ๆ มันอาจจะพาเราไปเจอกับสิ่งที่ยากกว่า ลำบากกว่า หรือบีบให้เราต้องทำอะไรที่ไม่อยากทำในวันนี้ แต่มันไม่ได้แปลว่า ชีวิตของเราล้มเหลว เช่น ถ้ามองในแง่ดี ทุกคนก็ได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ อีก 3 ปี เมื่อเติบโตขึ้น แกร่งขึ้น ก็ค่อยกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ด้วย อาจจะปังกว่าเดิมก็ได้ ในทางกลับกัน ในกรณีนี้ ถ้าจะไปขึ้นโรงขึ้นศาลสู้กับ 2STO ยังไงก็ไม่มีทางชนะ และมีแต่เสียกับเสีย ดังนั้น ยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเองและไปอยู่กับเขา จะเป็นผลดีมากกว่า ในกรณีของ Dal-mi กับ In-jae ก็คล้ายกัน บางทีเธออาจไม่จำเป็นต้องชนะพี่สาวหรือไม่จำเป็นต้องแข่งกับพี่สาวตัวเองแต่แรกแล้วด้วยซ้ำ การที่เธอยอมมาทำงานกับพี่สาวจึงไม่ได้แปลว่าเธอแพ้เสมอไป - ทำตามความฝันของเรา ไม่ใช่ความฝันของคนอื่น
“Follow your dream” เป็นประโยคที่เห็นบ่อยที่สุดในเรื่อง เพราะอยู่ในลูกเบสบอลที่เป็นสื่อกลางระหว่าง Do-san กับ Dal-mi และพูดถึงความฝันของ Do-san ที่อยากทำธุรกิจกับเพื่อน ๆ และไป Silicon Valley แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ความมั่นใจที่จะเดินตามฝันของเขาถูกกดทับไว้ด้วยความฝันของพ่อแม่ แต่แล้ววันนึง พอมาถึงวันที่ความฝันเข้ามาอยู่ใกล้เพียงแค่เอื้อม Do-san กลับยังลังเลที่จะไปตามความฝันเพราะ Dal-mi ไม่ได้ไปด้วย ทำให้ Dal-mi ต้องยอมปล่อย Do-san ไป เพราะเธอจะไม่ยอมให้ Do-san ต้องละทิ้งความฝันของตัวเองเพราะต้องมาติดอยู่กับเธอ
If you can’t beat them, join them.
EP.13 – Comfort Zone
3 ปีผ่านไป หลังจาก Dal-mi มาทำงานกับ In-jae ก็ได้พัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติขึ้น แต่โดนแฮคก่อนถึงวันสำคัญเพียงไม่กี่วัน โชคดีที่ Do-san และผองเพื่อนกลับมาเกาหลีช่วงพักร้อนยาวพอดี
- ถ้าไม่กล้าออกจากคอมฟอร์ตโซน ก็ไม่มีการเติบโตหรือเปลี่ยนแปลง
ตามชื่อตอน คอมฟอร์ตโซนคือพื้นที่ที่คนคนนึงรู้สึกปลอดภัยและมีความสุขสบายดี ตัวละครต่าง ๆ ก็ต่างมีคอมฟอร์ตโซนเป็นของตัวเอง เช่น Ji-pyeong ที่ไม่เคยมีครอบครัวมาก่อน ก็รู้สึกสบายใจกับการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของ Dal-mi แบบนี้ไปเรื่อย ๆ และไม่ยอมทำอะไรที่เสี่ยงต่อการสูญเสียสิ่งนี้ไป, สำหรับ In-jae คอมฟอร์ตโซนของเธอไม่ใช่บ้าน แต่เป็นงาน เธอจึงทำตัวยุ่งตลอดเวลาและไม่เคยกลับไปหาครอบครัวเลย, ในขณะที่ Do-san และผองเพื่อน ซึ่งไปได้ดิบได้ดี มีชีวิตที่สุขสบายและหน้าที่การงานที่ดีที่ซานฟรานซิสโก เขากลับรู้สึกว่า คลื่นทะเลที่นี่มันสงบเกินไป ท้องฟ้าที่นี่ก็โปร่งใสไร้เมฆเกินไป พูดง่าย ๆ คือ ชีวิตดี๊ดี สำหรับเขา มันน่าเบื่อ มันไม่ท้าทาย มันไม่ทำให้เขาเติบโตในแบบที่เขาต้องการ - ถ้าลองทำ โอกาส 50-50 แต่ถ้าไม่ทำสักที โอกาสคือ 0
ตามที่ยองชิลพยากรณ์ กล่าวคือ Ji-pyeong ลังเลที่จะหวดไม้ (หรือเดินหน้าจีบ Dal-mi) ซึ่งมันจะทำให้เขาต้องแพ้แน่นอน 100% ถ้าเขากล้าที่จะเหวี่ยงไม้ โอกาสจะกลายเป็น 50-50 ก็คือเขาอาจจะตีโดนลูกหรือไม่โดนลูกก็ได้ และถ้าตีโดนลูก ลูกอาจจะแป้กหรืออาจจะโฮมรันก็ได้ แต่ไม่ว่าจะยังไง มันก็มีโอกาสมากกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ก็นั่นแหละ โดยพื้นฐานแล้ว ปกติ Ji-pyeong ก็ไม่ลงทุนกับสิ่งที่เขาเห็นว่าจะไม่ประสบความสำเร็จแต่แรกแล้ว เรื่องจีบ Dal-mi ก็เช่นกัน พอเขาคิดว่าตัวเองไม่มีความหวัง เขาก็แทบไม่ทำอะไรเลย ซึ่งต่างกับ Do-san ซึ่งเดี๋ยวนี้ กล้าลอง กล้าลุย กล้าแม้กระทั่งแล่นเรือโดยไม่ใช้แผนที่ - จุดเริ่มต้นอาจเป็นพรหมลิขิต แต่ปลายทาง เราต้องลิขิตเอง
ตั้งแต่ ep แรก ๆ แล้ว ที่เราได้เห็นความสัมพันธ์ของ Do-san กับ Dal-mi เราจะเห็นได้ว่า มันเริ่มต้นจากพรหมลิขิตชัด ๆ ตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว (มาถึง ep นี้ ต้องเรียกว่า 18 ปีแล้วสิ?) ที่คุณย่ากับ Ji-pyeong ไปบังเอิญเจอชื่อเขาในนสพ.แล้วเอามาใช้เป็นชื่อปลอมในจดหมาย แต่ถ้าวันที่เขาได้เจอกับ Dal-mi เองจริง ๆ แล้ว เขาตัดสินใจไม่ทำอะไร ความสัมพันธ์ของเขาทั้งสองก็คงจบลงที่ตรงนั้น โดยใน ep นี้ เราหมายถึงเรื่องของตัวโจ๊กของเรื่องอย่าง Lee Chul-san กับดีไซเนอร์ Jung Sa-ha ด้วย โดยดีไซเนอร์สาวลิขิตชีวิตเอง โดยตั้งใจตาม Chul-san มาที่หน้าร้านเนื้อหลังจากเห็นเขาโพสต์ลงโซเชียลฯ แต่ทำเป็นสร้างสถานการณ์ให้เหมือนบังเอิญเจอ
Afraid of being called out, you are unable to even swing your bat. But if you continue to hesitate, you will lose. Se be brave and swing your bat. You could be called out, but you also may hit a home run.
EP.14 – Elevation Speech
เมื่อผู้พัฒนาหลักของทีมมาลาออกกะทันหัน In-jae จึงสั่งให้ Dal-mi ไปทาบทามเหล่า Samsan Tech Founders ทั้งสามมาร่วมทีมให้ได้ Dal-mi จึงจำเป็นต้องบากหน้าไปหา Do-san แต่ Do-san ก็พยายามลืมและหนีเธอไปนอกเมือง
- ระยะทางกับระยะเวลา ไม่ได้ช่วยเยียวยาหรือทำให้ลืม
หลังจาก Do-san ถูก Dal-mi บอกเลิก เขาบินไปอีกซีกหนึ่งของโลกและไม่พูดถึงเธอเลยตลอดเวลา 3 ปี แต่เขาได้พบว่า Time doesn’t heal all wounds. แม้แต่จะลบสิ่งที่เคยเขียนด้วยกันก็ยังลบไม่ได้เลย เพราะหมึกมันติดอยู่บนกระดานมานานข้ามปี ครั้นจะทิ้งลูกเบสบอลซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งในสื่อรักระหว่างเขากับเธอ ก็ยังทิ้งไม่ได้ อย่าว่าแต่ในซีรีส์เลย ชีวิตจริงเรามันก็เป็นอย่างนี้นี่แหละ ไม่ว่าจะนานหรือไกลแค่ไหน เราไม่มีทางลืมหรือลบคนที่เคยมีความรู้สึกหรือความทรงจำมากมายออกจากใจของเราได้ แต่ถ้าวันนึงเราเกิดลืมเขาได้จริง ๆ นั่นก็คงเป็นเพราะอย่างอื่น หาใช่เพราะเวลาหรือระยะทางไม่ - นักลงทุนต้องศึกษาและเข้าใจในสิ่งที่จะลงทุนก่อนเสมอ
อย่างที่รู้กัน สิ่งที่ได้มาโดยง่ายมักสูญเสียไปได้ง่ายหรืออาจเป็นสิ่งที่ไม่มีค่า สำหรับกรณี Samsan Tech ก็อาจคล้ายกัน พอเขามีชื่อเสียงและมีดีกรี นักลงทุนพากันพุ่งเข้าหาพวกเขาและเสนอเงินลงทุนให้โดยไม่มีข้อแม้ เราชื่นชม Kim Yong-san ที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง นั่นก็คือ ปรึกษาผู้มีความรู้ในวงการก่อนตัดสินใจร่วมงานกับนักลงทุนใดใด และเราก็เห็นด้วยกับเจ๊ CEO ของ Sandbox ที่แนะนำให้พวกเขาเขี่ยนักลงทุนที่มีแต่เงินโง่ ๆ ลงทุนกับ “อะไรก็ได้” เหล่านี้ทิ้งไปให้หมด แล้วไปสร้างโอกาสขึ้นมาเอง ตามหาหรือเลือกนักลงทุนที่เหมาะสมด้วยตัวเองเองย่อมดีกว่าในระยะยาว นักลงทุนที่มีคุณภาพเขาจะไม่ลงทุนให้ “ใครหรืออะไรก็ได้” อยู่แล้ว เขาต้องศึกษาสิ่งที่เขาจะลงทุนด้วยก่อนเสมอ ถ้าเราไปเสนอแล้วเขาปฏิเสธเรา เราก็สามารถถามความคิดเห็นของเขาได้ว่าเรายังมีจุดด้อยตรงไหนที่ไม่ดึงดูดให้เขาลงทุน เราก็จะได้รู้จุดอ่อนของตัวเองและไปพัฒนาตัวเองได้อีกด้วย - ทำงานอะไรย่อมเจอปัญหา เราจึงควรเลือกทำสิ่งที่เรารัก
เราไม่ควรเลือกงานจากความฝันของคนอื่นหรือเลือกงานที่ทำเงินให้เรามากที่สุด เพราะไม่ว่าเราจะทำอะไร มันล้วนต้องเจอกับปัญหาหรือความยากลำบาก ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้เราอดทนสู้กับปัญหาและผ่านมันได้ก็คือความรักในสิ่งที่ทำ มันก็จริงที่ว่า เงินอาจเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตหรืออาจซื้อความสุขบางอย่างได้ แต่คนที่มีความสุขไม่ใช่คนที่มีเงินเยอะที่สุด ตัวเราเอง เราก็เชื่อเช่นนั้น และก็จะแนะนำนักเรียนของเราเสมอว่า “เลือกทำในสิ่งที่เรารัก และทำให้มันทำเงินให้กับเรา” - มืออาชีพจะต้องแยกแยะเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวได้
เราอาจจะไม่ใช่ทีม Ji-pyeong แต่สิ่งหนึ่งที่เราชื่นชมในตัวเขาคือ เขารู้จักแยกแยะเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว ซึ่งนั่นเป็นคุณสมบัติของโปรเฟสชันนัล ถึงแม้เขาจะไม่อยากให้ Do-san ได้เข้าใกล้ Dal-mi เลย แต่เขาก็ให้คำแนะนำกับ Yong-san อย่างมืออาชีพว่า Samsan Tech ควรร่วมงานกับบริษัทของ Dal-mi และพี่สาว ตรงกันข้ามกับ Do-san และ Dal-mi ซึ่งยังอ่อนกว่า ทั้งประสบการณ์ วุฒิภาวะ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ พวกเขายังเอาเรื่องส่วนตัวมาปะปนกับเรื่องงานอย่างไร้เหตุผล แต่เราก็เชื่อว่า พวกเขากำลังจะเริ่มเข้าใจและสามารถแยกแยะได้เหมือนกัน ป.ล. คนดูอย่างพวกเราเอง ก็อย่าอินเกิน ควรแยกแยะซีรีส์กับชีวิตจริงให้ออก อย่าคอมเมนต์อะไรที่ toxic ใส่กันและกันเลย - ถ้าเขาอยากอยู่ในชีวิตเรา เขาจะพยายามเข้ามาอยู่ในชีวิตเราเอง
ไม่อยากจะใจร้าย แต่ก็ต้องพูดตรง ๆ ว่า เรื่องมาถึงขนาดนี้แล้ว ยังไงเรือ Ji-pyeong น่าจะพายไม่ขึ้นแล้ว ไม่ต้องวัดเป็นตัวเลขหรือเปอร์เซ็นต์เหมือนกับเกณฑ์ของคุณแม่ Do-san ก็ได้ มองจากดาวอังคารก็รู้แล้วว่า Dal-mi รัก Do-san และไม่อยากเสียเขาไปมากขนาดไหน เพราะเธอยอมลำบากดั้นด้นไปตาม Do-san ถึงต่างจังหวัดตัวคนเดียวอย่างทุลักทุเล ไม่ว่าเธอจะทำเพราะเรื่องงานหรือเรื่องความรู้สึกส่วนตัวก็ตาม เราต่างปฏิเสธไม่ได้ว่า เธอพยายามทำถึงขนาดนั้นเพราะเธอยังอยากเป็นดาวดวงหนึ่งในโคจรวิถีของ Do-san หรืออยากให้ Do-san ยังอยู่ในโคจรชีวิตของเธอ ไม่ว่าจะฐานะใดก็ตาม - การจะเปลี่ยนใจใคร มันใช้เวลาแค่หนึ่งนาทีเท่านั้น
ชื่อตอนนี้คือ “Elevation Speech” ซึ่งเป็นอุปมาอุปไมยเกี่ยวกับการโน้มน้าวใจแบบพูดน้อยแต่มาก เหมือนกับในเหลาย ep ก่อน ที่ Dal-mi พยายามขายงานในลิฟต์ ซึ่งต้องดึงดูดกับนักลงทุนคนนั้นให้ได้ภายในไม่กี่วินาทีก่อนลิฟต์จะพาไปถึงชั้นปลายทาง มันอาจจะฟังดูยากหรือแทบไม่มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะคนเรามักเชื่อว่า เราจำเป็นต้องใช้เหตุผลล้านแปดหรือใช้เวลาสักหน่อยเพื่อที่จะโน้มน้าวหรือเปลี่ยนใจคนได้นั้นได้สำเร็จ แต่จริง ๆ แล้ว เราไม่ต้องใช้เหตุผลหรือเวลามากมาย เพื่อโน้มน้าวหรือเปลี่ยนใจใคร อย่างที่เรากล่าวไปข้อก่อนหน้า เรื่อง “เวลาไม่ช่วยอะไร” เวลาไม่ได้ทำให้ความรู้สึกที่ Do-san กับ Dal-mi มีต่อกันและกันเปลี่ยนแปลงไปได้ สำหรับกรณีอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน เราอาจจะใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีแรกพบในการตกหลุมรักคนคนหนึ่ง แต่ไม่อาจตกหลุมรักคนที่เห็นหน้ากันทุกวันมาตลอดหลายปีได้, In-jae ที่ร้อยวันพันปีไม่เคยจะกลับมาหาคุณย่า (ส่วนหนึ่งเพราะรู้สึกผิดกับชอยส์ที่เลือกตอนพ่อแม่แยกทางกัน) ใครชวนเท่าไหร่ก็ไม่ไป แต่พอเธอทราบว่าคุณย่ากำลังจะตาบอด คำนั้นคำเดียว มันก็เปลี่ยนความคิดและการกระทำของเธอได้ทันที, หรืออย่าง Do-san ที่สุดท้ายก็ยอมตัดสินใจกลับมาร่วมงานกับ Dal-mi เพราะเห็นในความตั้งใจจริงและแววตาที่จริงใจของเธอ ที่เขารับรู้ได้ว่ามันจริง โดยที่เธอไม่ต้องใช้คำพูดอะไรเลย
It doesn’t take long time to change a person’s mind. One minute is all it takes.
EP.15 – Minimum Viable Product (MVP)
Do-san ก็สนับสนุนให้ Dal-mi พาบริษัทเข้าร่วมประมูลระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติและขยายขีดจำกัดของ TARZAN ถึงแม้ Ji-pyeong จะไม่เห็นด้วย แต่เขาก็ต้องยอมปล่อยให้ Dal-mi ตัดสินใจเอง และยอมปล่อย Dal-mi ให้ Do-san อย่างลูกผู้ชาย
- ความไม่รอบคอบ อาจนำไปสู่ความล้มเหลว
Dal-mi ได้รับบทเรียนของความไม่รอบคอบครั้งที่ทำสัญญากับ 2STO จนต้องสูญเสียทีมไปแล้วครั้งหนึ่ง เธอเรียนรู้จากข้อผิดพลาดใหญ่หลวงนั้น เมื่อใดที่เธอต้องตัดสินใจหรือทำเรื่องสำคัญใดใดอีก เธอก็จะรอบคอบและพิจารณาปัจจัยรอบด้านอย่างถี่ด้วน แทนที่จะพุ่งเข้าหาโอกาสทุกโอกาสอย่างไม่ดูหน้าดูหลัง - ถ้าเขาจะรัก อยู่เฉย ๆ เขาก็รัก
Do-san เป็นมนุษย์สายวิทย์-คณิตโดยแท้ทรู เขาเน้นความสมเหตุสมผลหรือตรรกะอย่างสุดโต่ง เขาจึงยึดติดกับการหาเหตุผลว่าทำไม Dal-mi จึงรักเขา เขาไม่เข้าใจอุปมาอุปไมยที่ Dal-mi บอกว่ารักเขาเพราะ “มือ” และก็ยึดติดกับมันจนบางครั้งเขาก็สูญเสียความมั่นใจว่า คนที่ Dal-mi รักจริง ๆ คือ Ji-pyeong ไม่ใช่เขา จน Ji-pyeong ต้องบอกให้ Do-san ลองเปลี่ยนมุมมองและมอง Dal-mi ใหม่ แล้วจะได้รู้ว่าแท้จริงแล้ว คนที่เธอรักคือใคร ซึ่งมันก็จริง Dal-mi รัก Do-san ที่ Do-san เป็น Do-san อย่างไม่ต้องพยายาม แต่ถ้าใครมาเค้นให้เธอตอบว่า รักใคร เพราะอะไร เธอจะตอบมันด้วยความยากลำบาก เพราะความรักเป็นเรื่องของความรู้สึก ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล - ตั้งใจทำอย่างเต็มที่ จะไม่มีคำว่าเสียใจ
ตั้งแต่เริ่มเรื่อง ซีรีส์ปูปมเรื่องการเลือกเส้นทางเดิน เราได้สรุปบทเรียนไว้ตั้งแต่ ep.1 แล้วว่า อย่าเสียใจกับชอยส์ที่เราเลือกเอง มาถึง ep.15 นี้ ซีรีส์ก็ยังไม่ทิ้งประเด็นนี้ แถมยังตอกย้ำประเด็นนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าเราลองทำอย่างจริงจัง (ที่ไม่ใช่แค่ลองทำเล่น ๆ) ถ้าแพ้หรือล้มเหลวก็ไม่เป็นไร เพราะเราได้ทำอย่างสุดความสามารถ ถ้าเราพยายามและตั้งใจทำอย่างเต็มที่ ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร เราจะไม่มีวันเสียใจ และจะไม่มีวันขาดทุน เพราะอย่างน้อยที่สุด เราจะได้ความรู้ เราจะได้บทเรียน เราจะได้ประสบการณ์ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ล้ำค่าราคาแพงที่แม้แต่เงินก็อาจซื้อไม่ได้
I wanted to be your trophy, your pride, and your dream. I WANTED TO BE Your comfort and your wings as the real me.
EP.16 – Scale-Up
บทสรุปของความรัก ความสัมพันธ์ เป้าหมาย ความฝัน และความสำเร็จทางธุรกิจของสี่ตัวละครหลัก: Dal-mi, Do-san, Ji-pyeong, และ In-jae (รวมถึงผู้คนโดยรอบพวกเขา)
- การตอบแทนมีหลายรูปแบบ
ตั้งแต่เริ่มเรื่อง Ji-pyeong รู้สึกค้างคาในหนี้บุญคุณที่เขามีต่อคุณย่า และพยายามหาทางจ่ายคืนให้คุณย่ามาโดยตลอด แต่คุณย่าไม่ยอมรับเพราะไม่เคยหวังสิ่งตอบแทนแต่แรกแล้ว เขาจึงรู้สึกว่า เขาต้องดูแล Dal-mi เสมือนเป็นภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ ภารกิจ หรือเป้าหมายในชีวิตเขา แต่แล้ววันหนึ่ง เมื่อ Dal-mi ปีกกล้าขาแข็งในวงการธุรกิจ อีกทั้งยังมี Do-san และทีมงานอยู่ข้าง ๆ ทำให้เขารู้สึกว่าหน้าที่พี่เลี้ยงหรือ mentor ของเขาได้สิ้นสุดลงแล้ว เขาก็กลับมาพยายามหาทางตอบแทนคุณย่าอีกครั้ง แต่คุณย่าบอกว่า ชีวิตนี้คุณย่ามีทุกอย่างแล้ว ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว ขอให้เขาเอาไปให้คนอื่นที่จำเป็นมากกว่า จนในที่สุด เขาก็ได้พบคำตอบว่า เขาไม่จำเป็นต้องตอบแทนคืนให้ผู้ให้เสมอไป เขาสามารถส่งต่อสิ่งดี ๆ ที่เขาเคยได้รับไปยังคนอื่น ๆ ได้ ซึ่งอาจจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า (Pay it forward) นั่นก็คือ การช่วยเหลือเด็กกำพร้าที่ต้องประสบปัญหาเดียวกันกับที่เขาเคยเจอก่อนจะมาเจอคุณย่า นั่นเอง - ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้
เหตุผลหนึ่งเลยที่ว่า ถ้าเราเป็น Dal-mi เราก็เลือก Do-san นั่นก็คือ ในขณะที่ Ji-pyeong ติดอยู่กับคอมฟอร์ตโซน ตัดสินใจจะทำหรือไม่ทำอะไรแค่จากตัวเลขหรือการคำนวณความเป็นไปได้ และบอกว่าความฝันของ Dal-mi เป็นเรื่องเกินจริง ฝ่าย Do-san มีความพยายามที่จะก้าวข้ามผ่านคำว่า “เป็นไปไม่ได้” เหมือนที่ครั้งหนึ่งเพื่อนของเขาบอก (โดยยกจาก quote คนอื่นมาอีกที) ว่า “อย่าเอาความคิดเห็นของคนอื่นมาเป็นความจริงของเรา” และครั้งที่เขาสอบติดมหาวิทยาลัยได้ตั้งแต่เขายังเป็นเด็กประถม เขารู้ขีดจำกัดของตัวเอง (ไม่ใช่ขีดจำกัดที่สังคมกำหนดไว้) เขาไขว่คว้าเปลี่ยนฝันให้เป็นจริง เขาพยายามทำสิ่งที่คนอื่นคิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ และเขาเต็มที่เสมอที่จะซัพพอร์ตความฝันหรือไอเดียของ Dal-mi
Pray first and then make it happen
ติดตามบล็อก MANY REASONS WHY I LOVE “DO-SAN” เร็ว ๆ นี้
140 comments
Comments are closed.