TENET และหนังหลาย ๆ เรื่องของเสด็จพ่อ Christopher Nolan อาจไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าหนังเขาจะขาดทุนหรือได้เงินน้อยเสมอไป ตรงกันข้าม หนังเขาทำเงินและเป็นที่กล่าวถึงเสมอ ทั้งนี้เราเชื่อว่า คนที่ไปดูหนังของเค้าหลาย ๆ คน ต้องอยากดูซ้ำมากกว่า 1 รอบในโรงภาพยนตร์ เพื่อเก็บรายละเอียดหรือหาคำตอบบางประการที่ค้างคาใจ และก็หนัง Nolan นี่เองอีกเช่นกัน ที่กระตุ้นให้โรงหนังทั่วโลกกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังซบเซามานานจากพิษ COVID-19 (TENET เองก็เลื่อนฉายมาหลายเดือน) และตอกย้ำว่า การดูหนังในโรงนั้นได้อรรถรสและสนุกที่สุดแล้ว โดยเฉพาะหนังที่ทำมาเพื่อดูบนจอยักษ์ เช่น IMAX โดยเฉพาะอย่าง TENET
TENET แปลว่า "a principle or belief, especially one of the main principles of a religion or philosophy."
TENET ตอกย้ำว่า Nolan ยังคง obsessed กับทฤษฎีฟิสิกส์ และทะเยอทะยานกับการทำหนังเกี่ยวกับ “เวลา” อันซับซ้อน ที่คนดูต้องตีลังกาหรือพกพาราฯ เข้าไปดูด้วย ตั้งแต่ Memento (2000), Inception (2010), Interstellar (2014), Dunkirk (2017) ฯลฯ โดยเฉพาะ Interstellar กับ TENET เรื่องนี้ ที่ Nolan ได้ว่าจ้าง Kip Thorne นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล มาเป็นที่ปรึกษาในการเขียนบทหนังด้วย
โชคดีที่ภูมิคุ้มกันของเราต่อหนังแนวนี้ค่อนข้างแข็งแกร่งระดับหนึ่งมาตั้งแต่สมัยเรียนวิชาปรัชญา ที่คณะอักษรฯ ปี 1 (ถึงแม้ว่าเกรดจะมิได้โสภา) จึงพอดูหนัง Nolan เรื่องหลัง ๆ รวมถึง TENET รู้เรื่องอยู่บ้าง ทว่าแต่ละเรื่องก็จำเป็นต้องดูมากกว่า 1 รอบอยู่ดีเหมือนกัน โดย ณ ขณะที่กำลังเขียนบล็อกนี้อยู่นั้น เราเพิ่งได้ดู TENET ไปแค่รอบเดียว ก็จะเขียนตามความรู้สึกและตามเท่าที่เข้าใจ และก็คิดว่า ต่อให้ดูซ้ำมากรอบไปกว่านี้ก็คงไม่เก๊ตในส่วนที่ยังไม่เก๊ตไปมากกว่านี้ เช่น วิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่ทางของเราเอาเสียเลย แต่ก็หาอ่านจากเว็บฯ ต่างชาติจนเข้าใจมากขึ้นแบบพอสังเขป (ก่อนเข้าอักษรฯ เราเรียนสายวิทย์-คณิตมานะ แต่สอบตกฟิสิกส์และเคมีแทบทุกเทสต์)
“WHAT’S HAPPENED, HAPPENED.”
เรื่องย่อ TENET
TENET เล่าเรื่อง Protagonist หรือตัวเอกของเรื่อง (John David Washington จาก BlacKkKlansman และเป็นลูกชายของนักแสดงออสการ์ Denzel Washington) ได้รับมอบหมายภารกิจป้องกันการเกิดของสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งเกี่ยวกับ Time inversion (ไม่ใช่ Time travel) และสงครามเวลา (temporal war) โดยมี Neil (Robert Pattinson จาก Twilight) เป็นคู่หูตลอดภารกิจ, มีเจ๊ Priya (Dimple Kapadia นักแสดงอินเดียผู้ทรงอิทธิพล) ขาใหญ่แห่งมุมไบ อยู่เบื้องหลังด้านข้อมูล, และมีองค์กร Tenet / หน่วยทหารที่เหมือนจะดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว นำทีมโดย Ives (Aaron Taylor-Johnson จาก Avengers: Age of Ultron)
แผนภารกิจคร่าว ๆ คือ Protagonist (ในหนังไม่มีใครเรียกชื่อและตัวเอกก็ไม่ได้บอกชื่อตัวเองกับใคร) ต้องยับยั้งไม่ให้พ่อค้าอาวุธชาวรัสเซีย Andrei Sator (Kenneth Branagh จาก Murder on the Orient Express) รวบรวม algorithm ได้ครบ 9 ชิ้นส่วน เพราะเขาจะใช้เป็นอาวุธนิวเคลียร์ที่สามารถ invert เอ็นโทรปี (entropy) และทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ โดยเข้าทาง Kat (Elizabeth Debicki จาก The Great Gatsby) ภรรยาของ Sator ผู้ถูกสามี abuse และกีดกันเธอออกจาก Max ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน
นอกจากนี้ หนังมีเชื่อมโยงกับ climate change ด้วย กล่าวคือ Sator เหมือนจะร่วมมือกับกลุ่มคนในอนาคต ที่ต้องการทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ยุคปัจจุบันซึ่งเป็นต้นเหตุของโลกร้อน เพื่อรีเซตโลกใบใหม่ในอนาคต โดยพวกเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงอดีต หรือการฆ่าบรรพบุรุษของตัวเอง จะไม่ส่งผลต่อตัวตนของพวกเขาซึ่งอยู่ในโลกอนาคตของเหล่าบรรพบุรุษ
“You have to start looking at the world in a new way.”
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ TENET (มีสปอยล์)
TENET จากนิยามในดิคฯ แปลว่า “a principle or belief, especially one of the main principles of a religion or philosophy.” พูดง่าย ๆ คือมันเกี่ยวกับความเชื่อ เหมือนที่ตัวละครแต่ละตัวมีความเชื่อในอะไรบางอย่าง. แม้ว่าจะไม่ได้รู้ทั้งหมด แต่ก็เชื่อในสิ่งนั้นและทำมัน เช่น ตัวเอกที่มาทำภารกิจทั้งที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจว่าตัวเองกำลังหาอะไรเพื่ออะไร
ดังนั้น คำแนะนำในการดู TENET อย่างแรกเลย ก็ตามที่นักวิทยาศาสตร์ Barbara (Clémence Poésy จาก Harry Potter) บอกในหนังและในเทรลเลอร์ นั่นก็คือ “Don’t try to understand it. Feel it.” หรือพูดง่าย ๆ คือ อย่าคิดเยอะ อย่าใช้สมองเยอะ ใช้แค่ความเชื่อ/ความรู้สึก เพราะถ้า ณ ขณะรับชม เรามัวแต่คิดตามทุกอย่าง พยายามจับผิดหาช่องโหว่ หรือไปพยายามเข้าใจมันทุกดีเทล โดยเฉพาะหลักการฟิสิกส์ต่าง ๆ เพราะมันจะทำให้เรายิ่งหลุดจากเรื่องราวต่อ ๆ ไปของหนัง แล้วจะยิ่งงงไปกันใหญ่
เบื้องต้นอยากให้มองว่า TENET เป็นหนังแอ็คชั่นหรือหนังสายลับกู้โลกทั่วไป ทำหัวให้โล่ง ทำใจให้กว้าง แล้วจะพบว่ามันไม่ได้เข้าใจยากขนาดนั้น นึกภาพตามอีกอย่าง ถ้าเราต้องมาดูหนังและจริงจังกับหลักฟิสิกส์ทุกเรื่อง เราก็คงดู Fast & Furious และหนังแอ็คชั่นทุกเรื่องบนโลกไม่สนุกกันไปหมด จริงมั้ย?
Grandfather Paradox คือ a paradox of time travel in which inconsistencies emerge through changing the past.
DON’T TRY TO UNDERSTAND IT. FEEL IT.”
อีกอย่างคือ ต้องเข้าใจชัด ๆ ก่อนว่า นี่ไม่ใช่หนังย้อนเวลาหาอดีตหรือแก้ไขอดีต (Time Travel) แบบหนัง Back To The Future, Harry Potter ภาค 3, About Time, หรือไทม์แมชชีนของโดเรมอน ที่พวกเราคุ้นเคย เพราะสำหรับ Nolan และนักวิทยาศาสตร์บางท่านเค้าเชื่อว่า การที่ปัจจุบันเราย้อนเวลาไปฆ่าปู่ตัวเองในอดีต แล้วตัวเองจะไม่ได้เกิดมาในอนาคต มันคือ “Grandfather Paradox” พูดอีกอย่างคือ มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะย้อนเวลากลับไปฆ่าปู่ตัวเอง เพราะถ้าปู่ตาย เราก็ไม่ได้เกิดมาเพื่อย้อนเวลาไปฆ่าปู่ได้ตั้งแต่แรกแล้ว แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ในการสร้างจักรวาลใหม่หรือจักรวาลคู่ขนาน (multiverse) ที่แตกต่างจากจักรวาลเดิมออกไป อย่างที่กำลังเป็นเทรนด์ในการสร้างหนังหลายเรื่องในยุคนี้
อย่างไรก็ตาม TENET (โดยเฉพาะตัวละคร Neil) เชื่อว่า อะไรที่มันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นแล้ว แก้ไขไม่ได้. (“What’s happened, happened.”) มันคือ Time inversion คือแก้ไขไม่ได้ เออ…แล้ว invert ไปทำไม? แก้ไขไม่ได้แต่อาจจะสามารถช่วยซัพพอร์ตได้ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และได้ไปย้อนดูสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วในมุมมองที่แตกต่าง หรือได้ดู “ผลก่อนเหตุ”. แทน “เหตุก่อนผล” ทั้งนี้ เหมือน Nolan มองเวลาเป็น loop มากกว่าจะมองเป็น line เส้นตรงตามหลักสากลที่ว่า “ปัจจุบัน” อยู่ตรงกลาง ระหว่างอดีตกับอนาคต
แล้ว time loop ของหนังเรื่องนี้มี. 3 เหตุการณ์สำคัญที่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบวันเดียวกัน ได้แก่ เหตุการณ์ในโอเปร่าเฮ้าส์ที่ Kiev, เหตุการณ์บนเรือยอชต์ในทะเลเวียดนาม, และสนามรบในองก์สุดท้ายของหนัง ณ Stalask-12 ที่หน่วยของตัวเอกแบ่งเป็นทีมแดง-ทีมน้ำเงิน (ทั้งสองทีมก็คือคนเดียวกัน โดยทีมแดง move forward และทีมน้ำเงิน move backward (พร้อมใช้ข้อมูลหรือสิ่งที่ทีมแรกพบเจอในการรบ)) ส่วนฉากที่ Freeport และฉากไล่ล่าบนไฮเวย์ อยู่ตรงกลางของลูปดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ฉากจบในหนัง TENET ที่ Protagonist แยกทางกับ Neil ก็ยังไม่ใช่ตอนจบขององค์กร Tenet อยู่ดีเช่นกัน ตรงกันข้าม กลับเป็นจุดเริ่มต้นหรือจุดตรงกลางเสียด้วยซ้ำ ตามที่ Neil บอกก่อนลาว่า พบกันครึ่งทาง และไม่ว่าจะยังไง Neil ก็ต้องตายเพราะช่วย Protagonist อยู่ดี (เปิดล็อคและบังกระสุนให้พระเอกในฉากใต้ดิน) โดย Neil ได้เผยด้วยว่า Protagonist เป็นคน recruit เค้าให้มาอยู่ Tenet ซึ่งเห็นได้ว่า มันเหมือน “ไก่กับไข่” มันเป็นลูป พระเอกอาจจะเป็นคนเลือก Neil เพราะสิ่งที่ Neil ทำ (ตามที่เราได้เห็นด้วยกันในหนัง) อาจบันดาลใจให้เพระเอกทำ Tenet และเลือก Neil เข้าทีม หรือ Neil อาจจะเป็นคนเลือกพระเอกเองแต่แรกก็ได้ เรามิอาจรู้ได้
“[Tenet] deals with time and the different ways in which time can function. Not to get into a physics lesson, but inversion is this idea of material that has had its entropy inverted, so it’s running backwards through time, relative to us.”
นอกจากนี้ ถ้าเป็นไปได้ (หมายความว่า ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร) อย่ามัวแต่อ่าน subtitle ตลอดเวลา เพราะมันอาจจะทำให้หลุดโฟกัสหรือพลาดอะไรบนจอไป (แต่ก็เข้าใจแหละว่ามันก็ยากสำหรับหลายคน) ในบางอย่าง แค่อ่านอย่างเดียว มันไม่ได้ทำให้เก๊ต แต่ต้องดูภาพหรือบริบทประกอบ และ Nolan ก็มักแฝงอะไรเป็นเชิงสัญลักษณ์เข้ามาในภาพโดยไม่ใช้คำพูด
ยกตัวอย่างเช่น ในหนังจะมีภาพรถไฟที่วิ่งสวนกันสองรางฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของตัวเอก หรือภาพกังหันหมุนจำนวนมากกลางทะเล ซึ่งไม่อาจพูดได้เต็มปากว่า สิ่งเหล่านั้นกำลังมูฟไปข้างหน้าหรือถอยหลัง (forward or backward) ตั้งแต่ชื่อหนังเอง “TENET” ก็เป็น palindrome หมายความว่า คำสามารถเขียนและอ่านได้ทั้งจากข้างหน้าไปข้างหลังและจากข้างหลังไปข้างหน้าเช่นกัน (เช่น madam, civic, radar, refer, level ฯลฯ) นอกจากนี้ ยังมีการแฝง Sator Square อันประกอบด้วยคำ 5 คำ ได้แก่ SATOR, AREPO, TENET, OPERA, ROTAS มาไว้ในชื่อหรือสถานที่ต่าง ๆ ในหนังอีกด้วย
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวละครไหนกำลัง move forward หรือ move backward? หนังจะอธิบายประมาณกลางเรื่องแหละว่า ผู้ที่จะ invert และออกไปนอกพื้นที่ปิด จะต้องใส่ oxygen mask หรือกักตัวในพื้นที่ปิดสักระยะก่อน เพราะตัวเขา inverted ก็จริง แต่โลกหรืออากาศที่ใช้หายใจไม่ได้ inverted ไปกับเขาด้วย นอกจากนี้ก็มีกฎอีกข้อคือ เมื่อ invert ไปแล้ว ห้ามโดนตัวตัวเองโดยตรง ไม่งั้นจะบู้มทั้งคู่
(เกือบ) สุดท้าย ย่อหน้านี้อาจจะอ่านข้ามกันไปได้เลย เพราะเราไม่สามารถอธิบายดีเทลที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในหนังได้ แต่เราแค่จะขอจดบันทึกไว้ดูของเราเองว่า
algorithm แปลว่า "a process or set of rules to be followed in calculations or other problem-solving operations, especially by a computer."
entropy หมายถึง "a thermodynamic quantity that changes in a reversible process by an amount equal to the heat absorbed or emitted divided by the thermodynamic temperature." หรือ "lack of pattern or organization; disorder."
The second law of thermodynamics states that the total entropy of an isolated system can never decrease over time, and is constant if and only if all processes are reversible.
แน่นอนว่า คนโง่วิทย์อย่างเราไม่เข้าใจนิยามดังกล่าวหรืออะไรเกี่ยวกับกฎ thermodynamics นักหรอก ไม่ว่าจะในภาษาไทยหรืออังกฤษ และจะไม่ฝืน เพราะไม่ฉลาดพอจริง ๆ ยอมรับ แต่เราว่าเราพอจะใช้จินตนาการและความรู้สึกนึกภาพตามได้คร่าว ๆ มั่ว ๆ ประมาณว่า (ย้ำว่ามั่ว อย่าถือสา อ่านข้ามย่อหน้านี้ไปได้เลย แต่ถ้ามีผู้รู้ผ่านมา ถูกผิดอย่างไร มาเบิกเนตรเราด้วยจะขอบคุณมากจริง ๆ) เวลาที่เรา move forward หรือไม่ได้ invert เราจะเห็นว่า entropy จะคงอยู่อย่างนั้นหรือไม่ก็เพิ่มจำนวนขึ้น เช่น ไม้ที่เผาไฟจนกลายเป็นเถ้าผงธุลี หรือน้ำแข็งที่ละลายกลายเป็นน้ำในแก้ว หรือกระจกแตกกลายเป็นเศษแก้วหรือกระทั่งเม็ดทราย ซึ่งผงกับน้ำถือว่าเป็นสิ่งที่ disorder หรือไม่ได้เป็นก้อน ๆ เหมือนไม้หรือน้ำแข็ง แล้วถ้าเราเห็นอะไรที่ disorder แบบนี้ลดลง เช่น กระจกที่เป็นรูกระสุนค่อย ๆ คืนฟอร์มกลายเป็นกระจกปกติ อันนั้นคือการ move backward
“YOU ARE INVERTED, THE WORLD IS NOT.”
ถ้าเป็นการ invert สิ่งของ เราคิดว่าหนังสามารถใช้ CGI หรือ special effect ได้ไม่ยาก แต่ความยากยิ่งกว่าคือการกระทำหรือ action ของตัวละครที่เป็นคนต่างหาก ซึ่ง Nolan ก็ยังเลือกใช้ CGI น้อยมาก (แม้แต่ฉากระเบิดเครื่องบิน ก็คือซื้อเครื่องบินจริงมาระเบิดจริง ฉากนั้นจึงออกมาตระการตาและเรียลมาก ๆ นั่นเอง) โดยเขาให้นักแสดงถ่ายทำเหมือนเดิมสองรอบ รอบที่ตัวละครต้อง invert ก็คือต้องทำทุกอย่างอย่าง invert เองจริง ๆ เช่น Kenneth Branagh ที่ต้องฝึกซ้อมและพูดภาษาอังกฤษสำเนียงรัสเซียแบบย้อนกลับด้วยตัวเอง หาใช่การกรอเทปเสียงไม่
ดังนั้น TENET สำหรับเรา มันคือหนังที่ทะเยอทะยานแต่ก็ฉลาดล้ำมากในคราวเดียวกัน โดยส่วนตัว ชอบ TENET มากกว่า Interstellar และ Dunkirk แต่รู้สึกว่ายังไม่ขลังเท่า Memento (ก็เป็นเรื่องแรก ๆ นี่เนอะ) และถ้าให้เปรียบเทียบกับ Inception แล้วล่ะก็ เราชอบคนละแบบ เราคิดว่า Inception บันเทิงกว่า แมสกว่า และมีอะไรให้ถกกันข้ามปีข้ามชาติ (เช่น ตอนจบลูกข่างหยุดไหม พระเอกฝันไม่ฝัน) แต่ TENET จีเนียสกว่า ล้ำลึกกว่า เล่นท่ายากกว่า ถึงแม้จะไม่เพอร์เฟ็กต์ และไม่มีงานสกอร์ของ Hans Zimmer เหมือนเคย แต่เราก็ชอบเอามาก ๆ และตั้งใจจะไปดูซ้ำเพื่อเก็บรายละเอียดและตรวจเช็คความเข้าใจของตัวเองอีกสักหน่อย
ไม่รู้ว่า ถ้าไปดูรอบสองแล้วจะชอบมากขึ้นหรือน้อยลง แต่คร่าว ๆ ณ ตอนนี้ ที่แน่นอนคือชอบมากกว่า Dunkirk ดังนั้น คะแนนเกิน 8/10 แน่นอน (เพราะเคยให้ Dunkirk เค้าไว้ 8/10 (รวมคะแนนพิศวาสผู้ชายบริติช))
“See you in the beginning.”
4 comments
Comments are closed.