Oppenheimer for Architecture
ถ้า Oppenheimer คือหนัง epic แห่งสายวิทย์-ฟิสิกส์ The Brutalist ก็เป็นหนัง epic แห่งวงการสายศิลป์และสถาปนิก
The Brutalist เล่าเรื่องราวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของ László Tóth (Adrien Brody นักแสดงออสการ์จาก The Pianist) สถาปนิกอัจฉริยะที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันยิว และนั่งเรือมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อเมริกา ตามคำโฆษณาของ “American Dream” แรก ๆ เขาก็ได้ทำงานกรรมกรอย่างเลือกไม่ได้ จนกระทั่ง มหาเศรษฐีนายทุน Harrison Van Buren (Guy Pearce จาก Memento) มาจ้างงาน ที่เป็นจ๊อบที่จะมา “สร้าง” หรือ “ทำลาย” ชีวิตของเขาไปตลอดกาล
Brady Corbet อาจจะไม่ใช่เสด็จพ่อ Christopher Nolan แต่เขาก็กล้าหาญและทะเยอทะยานสร้าง The Brutalist หนังกึ่งอาร์ตกึ่งแมส ที่ยิ่งใหญ่ ทรงพลัง สมจริง จนนึกว่าสร้างมาจากเรื่องจริงของสถาปนิกที่มีตัวตนจริง ๆ ในประวัติศาสตร์
The Genius of the Title: “The Brutalist”
ความฉลาดคือ ชื่อหนัง The Brutalist สามารถโฟกัสได้ทั้งด้านสถาปัตยกรรมและด้านความเป็นมนุษย์ โดยในด้านศิลปะนั้น สื่อถึง Brutalist Architecture ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่เฟื่องฟูหลังสงครามโลก ช่วงยุค 1950s-1970s โดยคำว่า Brutalism มาจากภาษาฝรั่งเศส “Béton-brut” แปลว่า “Raw Concrete” ดีไซน์นี้จึงมักเป็นตึกอาคารใหญ่โตที่ใช้วัสดุประเภทคอนกรีตเปลือย เช่น ตึกราชการ อาคารพักอาศัยรวม อาคารสาธารณะ และมักมีการแสดงถึงนัยยะทางการเมืองหรือคล้ายอนุสาวรีย์ และในขณะเดียวกัน ชื่อหนัง The Brutalist ก็สามารถตีแผ่ประเด็น “Brutality” ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ แปลว่า “ความโหดร้ายทารุณ” ได้เช่นกัน
A 3-Hour Epic That Explores More Than Just Architecture
ด้วยความยาว 3 ชั่วโมง 34 นาที (มีพักครึ่ง 15 นาที) The Brutalist สามารถเสียดสีและตีแผ่ประเด็นได้มากมาย ตั้งแต่ด้านมือของอเมริกันดรีม คนอพยพ สงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การเอาตัวรอด การเอาเปรียบกดขี่ การเหยียดเชื้อชาติศาสนา การล่วงละเมิดทางเพศ ความเท่าเทียมทางเพศ ตัวตนและรากเหง้า ทุนนิยม ชนชั้น ศิลปะ สถาปัตยกรรม ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ เขาเล่าได้อย่างแยบยล บาลานซ์น้ำหนักและจังหวะในการเล่าได้ดี ไม่ยัดเยียดจนเกินไป

Adrien Brody’s Best Performance Since The Pianist
ถึงแม้ว่าหนังจะเน้น post-war โดยไม่มีแฟลชแบ็คหรือเล่าช่วงเวลาที่ตัวละครในภาวะสงครามเลย แต่การแสดงของ Adrien Brody ทำให้เราเห็นว่า เขาเจ็บปวดและแบกอะไรมาเยอะมาก ๆ ที่ไม่ใช่แค่สัมภาระ แต่เขาก็อดทนอดกลั้น เพื่อเอาตัวรอดและหาทางพา Erzsébet (Felicity Jones จาก The Theory of Everything) ภรรยาของเขากับหลาน ที่เพิ่งรอดชีวิตจากค่ายเหมือนกัน ได้ตามมาอยู่ด้วยกันที่อเมริกา โดยไม่ละทิ้งตัวตนและจิตวิญญาณของความเป็นศิลปิน
A Film in Two Distinct Halves: The Immigrant Struggle & The Battle of Egos
พาร์ทแรกของหนังเป็นพาร์ทที่เราชอบเป็นพาร์ทที่โฟกัสกับการที่คนอพยพ อย่างชาวยิวและคนผิวดำ ถูกเหยียด เอาเปรียบ และกดขี่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ไม่ว่า โลกภายนอกจะเหวี่ยง László ให้ต้องเหวี่ยงหรือไหลตามโลกไปอย่างไร แต่เขาก็ยังยึดมั่นกับเป้าหมาย รักษารากเหง้า และพยายาม express ตัวตนออกมากับผลงานเสมอ ในขณะที่คนทั่วไป เช่น ลูกพี่ลูกน้องของเขาพยายามหนักมากที่จะละทิ้งตัวตนเดิมจากบ้านเกิด ทั้งตั้งชื่อร้านเป็นอเมริกันและเปลี่ยนศาสนาเป็นคาธอลิก
“To lose one’s birth mother is to lose the very foundation on which we stand. The mind may not know its loss, but the heart does.”

ในพาร์ทสอง หนังจะเริ่มไต่ระดับไปตามอีโก้ของตัวละคร เช่น Harrison ที่มีอีโก้ในแบบฉบับนายทุน ไม่มีความสามารถ ไม่มีรสนิยม แต่มีเงิน และภาคภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของผลงานที่โลกให้ค่า เหมือนการตกแต่งห้องครัวเพียงเพื่อให้นิตยสารดังมาเขียนอวยรสนิยม สร้าง community center เพื่อทำเป็นอนุสรณ์สถานให้แม่ผู้ล่วงลับมากกว่า “เพื่อส่วนรวม เพื่อชุมชน” (ตลกร้ายตรงที่ พอถึงจุดที่ต้องตัดสินใจ เขาเลือกตัดงบห้องสมุดอย่างแรก และกลายแค่ที่นั่งอ่านหนังสือมากกว่าห้องสมุด) และต่อให้เขาชื่นชมความสามารถของ László เพียงใด เขาก็ไม่ได้มอง László เป็นเพื่อนหรือเป็นคนจริง ๆ
ส่วน László หลังจากที่เขาพาครอบครัวเข้าประเทศมาได้และโครงการเริ่มเดินหน้า เขาก็เริ่มแสดงออกถึงความศิลปินจ๋าและอีโก้จัดมากขึ้นอย่างชัดเจน เขาหัวดื้อ มุ่งมั่นที่จะแตกต่าง ถึงแม้จะเกินงบ แต่ก็ยอมควักเนื้อตัวเอง เพื่อให้แบบที่ดีไซน์ไว้ยังคงไปต่อได้ เขามีความทะเยอทะยานและแพสชั่นแรงกล้าที่จะถ่ายทอดตัวตนลงไปในเนื้องานและผลักดันให้งานของเขาประสบผลสำเร็จ ซึ่งเราจะได้เห็นในช่วงท้ายของหนังว่า ผลงานของเขามันพูดแทนเขา และสะท้อนเรื่องราวของคนอย่างพวกเขาจากรุ่นสู่รุ่นได้นานเท่านานจริง ๆ
A Future Oscar-Winning Masterpiece
The Brutalist จึงเป็นหนังคู่ควรแก่การเข้าชิง (หรือกระทั่งมง) ออสการ์อย่างไร้ข้อกังขา เพราะนี่จะเป็นอีกหนึ่งผลงานคลาสสิกขึ้นหิ้งระดับมาสเตอร์พีซ ทั้งในด้านการเขียนบท การแสดง และการกำกับภาพ ที่ทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา
“No matter what the others try and sell you, it is the destination, not the journey.”