Guy Ritchie’s the Covenant เล่าความสัมพันธ์ของทหารอเมริกา John Kinley (Jake Gyllenhaal จาก Nightcrawler) หัวหน้าทีมเสาะหาวัตถุระเบิดและอาวุธสงครามของตาลีบัน กับล่ามชาวอัฟกันของทีม Ahmed (Dar Salim จาก Game of Thrones) ที่เป็นหนึ่งในคนท้องถิ่นที่อาสามาช่วยเป็นล่ามให้กับกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งถึงแม้หนังจะไม่ได้ based on true stories แต่ก็ inspired by true events ที่หลังจากอเมริกาถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานเมื่อปี 2021 ตาลีบันก็ได้สังหารล่ามและครอบครัวกว่า 300 ชีวิตในฐานะกบฏ อีกทั้ง ยังมีล่ามและครอบครัวอีกหลายพันชีวิตที่ยังต้องใช้ชีวิตอย่างหลบซ่อนจากพวกตาลีบัน
ธีมของหนังคือ “covenant” ตามชื่อเรื่อง ซึ่งแปลว่า agreement หรือพันธะสัญญา ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่สัญญาที่อเมริกาบอกว่าจะให้วีซ่าพิเศษ (Special Immigrant Visas: SIVs) แก่ล่ามและครอบครัวได้ย้ายไปอยู่ในอเมริกา แต่สุดท้าย การทำวีซ่าพิเศษนี้กลับมีความยุ่งยากและโปรเซสที่ล่าช้ากินเวลามาก ล่ามและครอบครัวจึงต้องหลบซ่อนจากพวกตาลีบัน บ้างก็โดนสังหารก่อนที่กระบวนการการขอวีซ่าจะเดินหน้า นำไปสู่พันธะสัญญาทางใจที่ John Kinley รู้สึกว่า มันคือหน้าที่ความรับผิดชอบของเขาที่จะต้องช่วย Ahmed และครอบครัวให้ย้ายมาอเมริกาให้ได้เร็วที่สุด เพราะถ้าไม่ได้ Ahmed เขาก็คงไม่มีทางรอดกลับมารับเหรียญกล้าหาญและได้เจอหน้าลูกเมียอย่างนี้
หนังองก์แรกแค่ปูเรื่องราวความสัมพันธ์และภารกิจ จนกระทั่งทีมของ John Kinley ไปปะทะกับตาลีบันจนตายยกทีม เหลือแค่ John Kinley กับ Ahmed ที่หนีรอดไปได้ โดยองก์นี้รวม ๆ เหมือนหนังสงครามทั่วไป ในองก์สอง เราจะได้ร่วมลุ้นไปกับการหลบหนีการไล่ล่าและการเอาตัวรอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ John Kinley ได้รับบาดเจ็บสาหัส จน Ahmed ต้องหาบเขาข้ามเขาลูกแล้วลูกเล่ากว่าจะกลับไปเจอฐานทัพ ต่อมาองก์สาม John Kinley ซึ่งตัวกลับมาอยู่อเมริกาแล้ว ต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้ Ahmed ซึ่งกำลังถูกตาลีบันหมายหัวเป็นกบฏหมายเลขหนึ่งค่าหัวแพง ทั้งการโทรไปเร่งขอวีซ่าจากสถานทูตและบินกลับไปอัฟกานิสถานเพื่อช่วยพา Ahmed และครอบครัวมาอเมริกาด้วยตัวเอง (องก์สามนี้ ชัดเจนเลยว่าทำไมต้องเป็นพี่ Jake Gyllenhaal)
ถึงแม้แต่ละองก์จะเปลี่ยนผ่านกันอย่างไม่ค่อยสมูธเป็นเนื้อเดียวกันสักเท่าไหร่ แต่โดยรวม The Covenant จัดเป็นหนังของ Guy Ritchie ที่เราชอบมาก (ปกติหนังของ Guy Ritchie ไม่ใช่แนวของเราเท่าไหร่) แล้วตอนแรกเห็นว่า The Covenant ก็ออกไปทางแนวหนังสงครามที่เหมือนจะไม่ใช่แนวของเราอีก แต่พอได้ดู นี่คือหนังสงครามที่โคตรมีหัวใจ และบอกเล่าอีกด้านหนึ่งในสงครามหรือผลที่ตามมาของสงครามที่คนหลายคนอาจมองข้ามไป ดูแล้วก็ เออ… Guy Ritchie ก็จริงจังได้ดีเหมือนกัน
เราอาจจะเคยได้ดูหนังสงครามที่เล่าถึง PTSD ของพวกทหารที่ต้องประสบจากสิ่งที่ทำหรือสิ่งที่พบเจอในสมรภูมิ เช่น American Sniper แต่ The Covenant มันเป็น PTSD จากสิ่งที่ไม่ได้ทำ นั่นก็คือ การที่ตัวเองรอดมาคนเดียวและไม่พาเพื่อนร่วมทุกข์ยาก โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้ช่วยชีวิตตัวเอง ได้กลับบ้านมาด้วย อีกอย่างหนึ่ง ถึงแม้หนังจะบทพูดไม่เยอะเหมือนหนังของ Guy Ritchie เรื่องอื่น ๆ แต่ฉากบู๊แอ็คชั่นก็มันส์สมศักดิ์ศรี และในช่วงที่ตัวละครมีการสนทนากัน ไดอะล็อกก็แอบมีคารมคมคายตามสไตล์ผู้กำกับอยู่
ตอนที่ Ahmed อธิบายว่า งานของเขาไม่ใช่แค่ “แปล (translate)” แต่ช่วย “ตีความ (interpret)” ให้มากกว่า ในฐานะคนเคยเรียนวิชา Intro to Translation and Interpretion สมัยเรียนที่คณะอักษรฯ ก็ต้องบอกว่า ชอบมาก เพราะในชีวิตจรอง บางอย่างเราจะแปลตรงตัว (Literal translation) ไม่ได้ นอกจากความรู้ความสามารถทางภาษาและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมแล้ว ล่ามหรือนักแปลต้องมีปฏิภาณไหวพริบ ความเข้าใจภาษากาย คำใบ้ การพูดอ้อม การเล่นลิ้น หรือธรรมชาติของมนุษย์มาตีความประกอบกันด้วย
The Covenant เข้าฉายพร้อมกับ Operation Fortune: Ruse de Guerre ซึ่งก็เป็นผลงานกำกับของ Guy Ritchie เหมือนกัน และในสัปดาห์แรกที่หนังเข้าฉายนั้น มันมีเหตุจำเป็นที่ทำให้เราเลือกดูได้แค่เรื่องเดียว แต่โชคดีที่เมเจอร์ฯ จัดโปรฯ วันแรงงาน จึงได้มีโอกาสดู The Covenant ในโรง
ต้องบอกเลยว่า “เกือบพลาดดูหนังดีในโรงเสียแล้ว”