แดนสาป เล่าเรื่องราวของสองพ่อลูกชาวพุทธ (อนันดา และ เจนนิษฐ์ BNK48) ที่ย้ายบ้านมาอยู่ในชุมชนมุสลิมย่านหนองจอก และต้องเจอกับอาถรรพ์ลี้ลับในบ้านที่ศาสตร์พุทธ-พราหมณ์ที่พวกเขารู้จักก็ต้านไม่อยู่
สิ่งที่น่าชื่นชมของหนัง แดนสาป คือหนังมีแก่นที่ดี ถึงแม้จะมีดีเทลที่ชวนตะหงิดอยู่บ้าง และมี subplot ที่เยิ่นเย้อหรือไม่จำเป็นอยู่บ้าง (หนังจึงยาว 2 ช.ม. 11 นาที) แต่โดยรวม ยังชื่นชมว่าโครงสร้างบทแข็งแรง ทั้งประเด็นผีจิน มนต์ดำ ความเชื่อ วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชนมุสลิม จนถึงประเด็นเรื่อง “บ้าน” ฯลฯ
หนังเล่าเรื่องราวความเชื่อของคนพุทธและคนมุสลิมได้อย่างดี เราชอบไดอะล็อกที่ตัวละครเมย์ (เจนนิษฐ์ BNK48) คุยกับเพื่อนมุสลิมขณะเดินไปเรียนว่า ตอนอยู่แถวชุมชน เมย์รู้สึกตัวเองแปลกแยก เช่นเดียวกับ ยะ เพื่อนมุสลิมที่บอกว่า ก็เหมือนที่ตัวเองก็เป็นคนแปลกตอนอยู่ที่มหา’ลัย ซึ่งจริง ๆ มันไม่มีใคร “แปลก” แต่เราแค่ “แตกต่าง” และเมื่อโลกเรากว้างขึ้น บางทีเราก็เป็น “คนหมู่มาก” หรือ “คนปกติธรรมดา” ในที่แห่งหนึ่ง แต่ก็เป็น “คนกลุ่มน้อย” หรือ “คนแปลกแยก” หรือ “คนพิเศษ” ในอีกที่ที่หนึ่ง
อย่างตอนที่ มิตร พ่อของเมย์ (อนันดา) สบถประมาณว่า “คนแถวนี้แปลก” เราก็อยากจะทะลุจอเข้าไป educate ว่า “เขาแค่แตกต่างหรือไม่เหมือนกับคุณพ่อค่ะ เขาไม่ได้แปลก”
สิ่งที่เราชอบที่สุดในเรื่องนี้ก็คงเป็น การได้รู้จักกับมุสลิมในไทยมากขึ้น หรือการได้ knowledge or perspectives อะไรใหม่ ๆ นี่แหละ ซึ่งเราคิดมาเสมอว่า หนังไทยควรทำอะไรแบบนี้เยอะ ๆ เพื่อให้คนไทยได้เข้าใจชาวมุสลิมหรือได้เห็นความแตกต่างหลากหลายในประเทศ มากกว่าที่เห็นทั่วไปตามสื่อกระแสหลัก ที่นำเสนอแต่อัตลักษณ์หรือภาพสังคมแบบเดิม ๆ
อีกประเด็นที่เราชอบคือ ความแข็งแกร่งทางจิต กล่าวคือ ถ้าจิตเราอ่อนแอ จมปลักกับความทุกข์ เราจะถูกครอบงำได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นผี ซาตาน หรือกระทั่งแอลกอฮอล์กับอบายมุข แต่ถ้าเราจิตแข็ง คิดบวก มีสติ ผีร้าย ไม่ว่าจะศาสนาใด ก็แทบทำอะไรเราไม่ได้เลย
อย่างไรก็ตาม ผู้ชมทั่วไปควรทำความเข้าใจก่อนว่า แดนสาป ไม่ใช่หนังผีไทยแบบที่คนไทยคุ้นเคยนัก ภูติผีปิศาจหรือซาตานของมุสลิมและอาหรับคือ ญิน (جني หรือ dijinn คล้าย ๆ ยักษ์ “จินนี่จ๋า” ในตะเกียงวิเศษ) จะไม่ใช่วิญญาณของคนที่ตายไปแล้ว และหนังพูดถึงการเล่นของหรือมนต์ดำมากกว่า
หนังจะเล่าแบบสโลว์เบิร์นหน่อย ๆ เพราะช่วงแรก ๆ จะเน้นปูเรื่อง ปรับความเข้าใจให้คนต่างวัฒนธรรม (หรือคนนอกศาสนา) ได้เข้าใจ แล้วค่อยไปขายฉากปราบผีในช่วงองก์สุดท้าย รวม ๆ หนังไม่ได้เน้นขายความสยองขวัญหรือตุ้งแช่ แต่เน้นขายบรรยากาศความหลอนผ่านตัวบ้านเก่า (ที่ดูน่ากลัวน้อยลงเมื่อมันเคยเป็นบ้านในหนัง “อนงค์” มาแล้วก่อนหน้า) ซึ่งประเด็นเรื่อง “บ้าน (both house & home)” ก็เป็นหนึ่งในธีมดราม่าหลักของเรื่อง
จุดเด่นอีกอย่างคือโปรดักชั่นดี ดูลงทุน ภาพสวย เล่าเรื่องด้วยภาพดี บิลด์บรรยากาศเก่ง มีลูกเล่น มีหลายฉาก เช่น ฉากไล่ผี ที่ชวนนึกถึงหนังผีเกาหลี (เช่น Exhuma) และผีฝรั่ง หลายปีก่อน เราเองก็เคยดูหนังผีอิหร่านเรื่อง Under the Shadow ก็เน้นขายการบิลด์บรรยากาศและสตอรี่ที่เล่า cultural background เช่นกัน เราจึงคิดว่า แดนสาป เป็นหนังไทยที่น่าสนับสนุน ดูอินเตอร์และถือว่าแปลกใหม่สำหรับวงการอุตสาหกรรมหนังไทย