The Green Knight เป็นผลงานการกำกับและเขียนบทล่าสุดของ David Lowery (จาก A Ghost Story และ Pete’s Dragon) ผลิตโดยค่ายหนังอินดี้คุณภาพระดับออสการ์อย่าง A24 ผู้สร้าง The Witch, Moonlight, Midsomnar, Hereditary ฯลฯ ซึ่งชัดเจนว่า ไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน
นอกจากชื่อค่ายผู้สร้างแล้วนั้น ผู้ชมควรทราบด้วยว่า The Green Knight ดัดแปลงจาก “Sir Gawain and the Green Knight” บทกวีที่ประพันธ์โดยบุคคลนิรนามตั้งแต่สมัยศตรวรรษที่ 14 ซึ่งถูกนำมาตีความและถกกันมาอย่างยาวนานจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น ถ้าเราดูหนังแล้วไม่เข้าใจทั้งหมดหรือมีข้อสงสัยในบางประการ มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะมันค่อนข้าง complex แต่นั่นไม่ได้แปลว่า เราจะไม่ได้อะไรจากมันเลย
“Why greatness? Why is goodness not enough?”
เรื่องย่อ The Green Knight
The Green Knight เล่าเรื่องของ Gawain (Dev Patel จาก Slumdog Millionaire และ Lion) ผู้เป็นถึงหลานชายของ King Arthur ผู้ยิ่งใหญ่ในตำนานการดึงดาบและอัศวินโต๊ะกลม (Sean Harris จาก Mission: Impossible) แต่ตัวเขาเองกลับเป็นคนไม่เอาไหนและไม่มีเรื่องอะไรให้เล่าขาน
เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในงานปาร์ตี้คริสต์มาสของ King Arthur และราชินี (Kate Dickie จาก Game of Thrones) เมื่อแขกผู้ไม่ได้รับเชิญอย่างอัศวินเขียว (Ralph Ineson จาก The Witch) บุกเข้ามา และท้าให้ใครก็ได้ในห้องนั้นมาฟันคอเขา โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่า ในปีหน้าคนคนนั้นจะต้องเดินทางไปให้เขาตัดคอคืนที่วิหารเขียว และ Gawain เสนอตัวเป็นคนคนนั้น โดยหวังจะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้กล้าหาญและมีเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ให้คนจดจำ
หนึ่งปีต่อมา Gawain ต้องออกเดินทางไปวิหารเขียวตามคำสัญญา แม่ของเขา (Sarita Choudhury จาก The Hunger Games) ได้ให้เข็มขัดซึ่งเป็นเสมือนเครื่องรางของขลังไว้ให้เขาป้องกันตัว
ในการเดินทาง Gawain พบอุปสรรค บททดสอบ หรือสิ่งแปลก ๆ มากมาย ตั้งแต่โจรป่าโรคจิต (Barry Keoghan จาก Eternals), ผีไม่มีหัว Winifred (Erin Kellyman จาก Solo: A Star Wars Story), หมาป่าพูดได้, ยักษ์ไททัน, ลอร์ด (Joel Edgerton จาก The Gift) และเลดี้ที่หน้าเหมือน Essel (Alicia Vikander จาก The Danish Girl) คนรักหรือคู่นอนของเขาซึ่งเป็นหญิงชนชั้นล่าง
I fear I am not meant for greatness.
รีวิวและวิเคราะห์ THE GREEN KNIGHT
ถึงแม้ว่าหนังอาจจะเต็มไปด้วยความคลุมเครือหรือช่องว่างที่เปิดกว้างในการตีความมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าชัดเจนเลยก็คือ The Green Knight เป็นเรื่องราวของคนที่เกิดมาสูงศักดิ์ แต่ไม่เอาไหน ไร้ความดี-ความสามารถ แล้วยังใคร่เป็นใหญ่ อยากเป็นผู้นำ อยากมีเกียรติ อยากมีอำนาจ และอยากเป็นที่ยอมรับหรือเป็นที่พูดถึงในสังคม ซึ่งเป็นค่านิยมของคนสมัยนั้น (หรือกระทั่งสมัยนี้) อย่างที่เราจะเห็นได้จากตำนานหรือกระทั่งหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ ที่มักเน้นเล่าแต่ความยิ่งใหญ่และความสำเร็จของบุคคล มากกว่าจะให้ความสำคัญกับคุณงามความดีของบุคคลจริง ๆ
ตลอดเรื่อง Gawain ไม่เคยทำตัวให้คนดูรู้สึกอยากเอาใจช่วย ชื่นชม หรือควรค่าที่จะอวยยศให้เป็น “sir” เลยแม้แต่ครั้งเดียว (ในช่วงต้นเรื่องและตลอดการเดินทาง เขายังไม่ได้ยศเป็นอัศวิน) ตั้งแต่ออกเดินทาง ก็ไม่สนเด็กหรือประชาชน, ตอนเจอโจรป่า เขาตีเนียนว่าเป็นตัวเองเป็นอัศวิน พอถูกโจรป่าปล้นและทิ้งไว้กลางป่าเจียนตาย เขาก็คิดจะล้มเลิกและหนีกลับบ้าน, ตอนวิญญาณผู้หญิงขอให้ช่วยเหลือ เขาก็ถามนางว่า ถ้าช่วยแล้ว จะได้อะไรตอบแทน (ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่ต่างจากโจรป่าคนก่อนหน้า), ตอนอยู่ที่บ้านของลอร์ดกับเลดี้ เขาก็ไม่ทำตามข้อตกลงเรื่องการแลกเปลี่ยนที่ให้ไว้กับท่านลอร์ด ฯลฯ
นอกจากนี้ — พูดในแง่ what if situations — การที่เขาหนีคมขวานของอัศวินเขียวและวิ่งแจ้นกลับบ้าน ปล่อยให้คนแถวบ้านเข้าใจไปเองว่าเขาคือผู้กล้าหาญผู้ผ่านบททดสอบและต่อสู้กับอัศวินเขียว มันแสดงถึงความขี้ขลาด ไม่รักษาคำพูด และไม่ซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่อัศวินที่ดีหรือคนที่มีเกียรติเขาไม่ทำกัน นำไปสู่อนาคตที่มืดบอด ถึงแม้จะมีอำนาจแต่ก็ไม่มีความสุขและก็ถูกทำลายในที่สุด เพราะความยิ่งใหญ่ของเขาสร้างขึ้นจากความหลอกลวงและความไร้คุณธรรม ในทางกลับกัน ถ้าเขาต่อสู้ด้วยความกล้าหาญจริง ๆ และเป็นคนดีจริง ๆ เขาก็จะมีความสุข มีเกียรติ และได้รับความรักความเคารพจากผู้คนจริง ๆ ได้เป็นอัศวินโดยแท้จริง
Alicia Vikander นางเอกออสการ์ เล่นเป็นตัวละครสองตัวในเรื่อง ตราตรึงเราด้วยไดอะล็อกสำคัญที่เป็นธีมของเรื่องจากทั้งสองบทบาทของเธอ ตั้งแต่ตอนที่เธอเป็นหญิงชั้นต่ำที่ถามชายชั้นสูงว่า “ทำไมต้องยิ่งใหญ่ แค่เป็นคนดีไม่ได้หรอ?” และตอนที่เธอเป็นเลดี้เลือดสีน้ำเงิน ที่บรรยายถึง “สีเขียว” ว่าเป็นสีของชีวิต ธรรมชาติ และการเน่าสลาย ฯลฯ รวมถึงตอนที่ Barry Keoghan ผู้รับบทเป็นโจรป่า ที่ตอบ Gawain อย่างลึกซึ้งว่า “คุณก็อยู่ใจกลางของมันแล้วนี่ไง” เมื่อ Gawain ถามทางไปยังวิหารเขียว
สุดท้าย The Green Knight อาจไม่ใช่หนังที่บันเทิงสำหรับทุกคน แต่เป็นหนังที่ชวนให้คิดตามและจะดูสนุกถ้าได้ลองตีความสัญลักษณ์ต่าง ๆ สิ่งที่ชอบอีกอย่างก็คือเขามีงานถ่ายภาพที่มีลูกเล่นแพรวพราว การเล่าเรื่องที่งดงามดั่งบทกวี และโปรดักชั่นที่สวยล้ำเกินบรรยาย ถ้าปีนี้ The Green Knight จะได้เข้าชิงออสการ์หลายรางวัล หรือกระทั่งได้ออสการ์ ก็ไม่แปลกใจ เพราะของเขาดีจริง ๆ
1 comment
Comments are closed.