เราชอบ Kingsman ทั้งสองภาคมาก ๆ และทุกวันนี้ยังเฝ้าคอย Kingsman 3 ซึ่งยังไม่มาสักที แต่ Matthew Vaughn (ผู้กำกับของแฟรนไชส์) ก็พาเราย้อนอดีตไปร้อยปี ไปดูต้นกำเนิดขององค์กรสายลับ Kingsman กับ The King’s Man ซึ่งจะเป็น prequel ที่ใช้ทีมนักแสดงคนละชุดและโทนหนังคนละโทน (สังเกตว่าชื่อหนังสะกดไม่เหมือนสองภาคแรก)
The King’s Man มีความจริงจังมากขึ้นกว่าสองภาคแรก โดยการพยายามผูกเรื่องราวสมมตินี้เข้ากับเรื่องจริงและบุคคลจริงในประวัติศาสตร์โลก ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือช่วงที่สถาบันกษัตริย์ของสองประเทศใหญ่ต้องล่มสลาย ซึ่งตรงนี้เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของหนังในเวลาเดียวกัน เพราะความจริงจังทำให้ลูกเล่นและความกวนตีนที่เป็นเสน่ห์ของหนังสองภาคแรกมันหายไป ยังไม่รวมที่หนังมี subplots และปมเยอะแยะจนจัดการได้ไม่ดีนั่นก็อีกเรื่อง
หนังเริ่มเรื่องด้วยการแนะนำคนสำคัญในคฤหาสน์ Oxford ตั้งแต่ Duke Orlando (Ralph Fiennes หรือคนที่คุณก็รู้ว่าใครจาก Harry Potter) และลูกชายของเขา Conrad (Harris Dickinson หรือเจ้าชายจาก Maleficent) รวมถึงข้าราชบริพารคนสนิท อย่างคนขับรถ Shola (Djimon Hounsou จาก Guardians of the Galaxy) และแม่บ้าน Polly (Gemma Arterton จาก Prince of Persia)
โดยตระกูล Oxford เป็นชนชั้นสูง มีความสนิทชิดเชื้อกับ King George V แห่งอังกฤษ และ Oxfords ต้องช่วยคิงป้องกันไม่ให้อังกฤษเกิดสงครามกับผู้นำประเทศลูกพี่ลูกน้อง ได้แก่ Kaiser Wilhelm และ Tsar Nicholas กษัตริย์องค์สุดท้ายของเยอรมันและรัสเซียตามลำดับ (Tom Hollander จาก Pride & Prejudice คนเดียว เล่นเป็นกษัตริย์ทั้งสามประเทศ) ส่งให้สองพ่อลูกได้ไปทำภารกิจและปะทะกับ Rasputin ผู้โด่งดัง (Rhys Ifans จาก Spider-Man) นอกจากนี้ หนังยังมีอิงถึง Lenin กับ Hitler อีกด้วย
จะว่าไปแล้ว ไม่ใช่แค่หนังมีโทนที่แตกต่างจากสองภาคแรก แต่ละองก์ของหนังเรื่องนี้ก็แทบจะเหมือนหนังคนละเรื่องในตัวมันเองเสียด้วยซ้ำ กล่าวคือ มันมีปมอีกอย่างว่า สองพ่อลูก Oxford มีปัญหากันเรื่องอุดมการณ์ ลูกชายอยากไปรบเพื่อชาติ แต่พ่อยืนกรานไม่ให้ไป ซึ่งพ่อทำได้ซะด้วย เพราะมีอำนาจและเส้นสายศักดินา ทั้งสองก็ยื้อกันอยู่นาน จนในที่สุดลูกก็หนีไปเกณฑ์ทหารจนได้ ทำให้ช่วงกลางของหนังเหมือนเป็นเรื่อง 1917, Hacksaw Ridge, หรือหนังสงครามโลกใดใด
พอองก์สุดท้าย Orlando Oxford ก็นำทีมบินไปเขาสูงอันเป็นแหล่งกบดานของตัวร้ายหลักของเรื่อง เพื่อไปทำภารกิจสำคัญเกี่ยวกับประธานาธิบดี Wilson ของอเมริกา โดยโทนหนังช่วงนี้จะออกเป็น Mission Impossible แต่ไม่ได้น่าตื่นตาตื่นใจเท่า ก่อนที่ชัยชนะของพวกเขาจะนำไปสู่บทสรุปของการก่อตั้งองค์กร Kingsman ที่โลกรู้จักกันแล้วในที่สุด
ด้วยความพยายามที่จะเป็นหลายสิ่งมากเกินไป พร้อมกับสอดแทรกประเด็นความเท่าเทียมอย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ จึงทำให้หนังไม่กลมกล่อม ไม่สมูธ และไม่อิมแพคต่ออารมณ์คนดูเท่าที่ควร ฉากแอ็คชั่นไม่ได้แย่ แต่ไม่น่าจดจำเท่าภาคก่อน ๆ ถ้าไม่มีภาคก่อน ๆ มาให้เปรียบเทียบ ก็อาจจะรู้สึกสนุกก็ได้ แต่ว่ามันไม่ใช่ มันเลยลงเอยที่ความรู้สึกว่า “Prequel เนี่ย ไม่ต้องมีก็ได้” แต่ถ้าชอบแฟรนไชส์นี้อยู่แล้ว หรือชอบความบริติช มันก็เหมือนไฟลท์บังคับว่าต้องดู อะไรทำนองนั้น