หนังสร้างจากเรื่องจริง กำกับและเขียนบทโดยเจ้าของรางวัลออสการ์
เชื่อว่านักดูหนังทั้งยุคเก่าและยุคใหม่ทุกคนล้วนเคยดูหนังของ Ridley Scott ผู้กำกับวัย 83 ปี เจ้าของผลงานชื่อดังมากมาย เช่น Blade Runner, Gladiator, Hannibal, Kingdom of Heaven, Robin Hood, Prometheus, Exodus: Gods and Kings, The Martian, Alien: Covenant, All the Money in the World ฯลฯ แต่คิดว่า คนรุ่นหลัง ๆ หลายคน อาจจะไม่รู้ว่า คู่หูสองพระเอกดังอย่าง Matt Damon กับ Ben Affleck เป็นมือเขียนบทที่เก่งมากถึงขั้นได้ออสการ์บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเรื่อง Good Will Hunting (ปี 1997)
และในปี 2021 เราได้ชมผลงานการกำกับเรื่องล่าสุดของปู่ Ridley Scott เรื่อง The Last Duel ที่มีความ #MeToo ดัดแปลงจาก หนังสือ The Last Duel: A True Story of Trial By Combat in Medieval France (ปี 2004) ของ Eric Jager ซึ่งเล่าเรื่อง “The last judicial duel in France” — เหตุการณ์จริง “คดีสไควร์ข่มขืนเลดี้เมียอัศวิน” ช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ของฝรั่งเศส ในรัชสมัยของ King Charles VI หรือ Charles the Mad (รับบทโดย Alex Lawther จาก The End of the F***ing World) โดยฉบับภาพยนตร์นี้ Matt Damon กับ Ben Affleck ร่วมเขียนบทในพาร์ทผู้ชายหรือผู้กระทำ และได้ Nicole Holofcener (นักเขียนบทหญิงผู้เคยเข้าชิงออสการ์จากงานเขียนบทเรื่อง Can You Ever Forgive Me?) มาร่วมเขียนบทในพาร์ทผู้หญิงหรือผู้ถูกกระทำ
My father told me my life would be blessed with good fortune. I’m married. I was a good wife. And then I was judged and shammed by my country.
เรื่องย่อ The Last Duel
The Last Duel เล่าเรื่องเดียวกันจากมุมมองของตัวละครต่าง ๆ คล้าย Rashomon หรืออุโมงค์ผาเมือง โดยแบ่งการเล่าเรื่องเป็น 3 องก์ ก่อนจะไปผนวกจบที่ฉากประลองของ Jean และ Jacques ในเดือน ธ.ค. ปี 1386 ซึ่งถือเป็นฉากต่อสู้ที่ให้ความรู้สึกสด ดิบ และตื่นเต้นสมศักดิ์ศรี Ridley Scott จริง ๆ
- องก์แรก เล่าจากมุมมองของ Sir Jean de Carrouges (Matt Damon จาก Jason Bourne, The Martian ฯลฯ) ซึ่งเป็นอัศวินตกอับและเป็นสามีของเหยื่อ
- องก์สอง เล่าจากมุมมองของ Jacques Le Gris (Adam Driver จาก Star Wars, Marriage Story ฯลฯ) ซึ่งเป็นสไควร์หนุ่มหล่อ คนโปรดของ Count Pierre d’Alençon (Ben Affleck จาก Gone Girl, Batman v Superman, ฯลฯ) และเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนเมียเพื่อน
- และองก์สาม เล่าจากมุมมองของ Lady Marguerite (Jodie Comer จาก Free Guy) ซึ่งเป็นเหยื่อ
“One of us has lied. Let us let God decide.”
เพราะเป็นหญิง (ในยุคชายเป็นใหญ่) จึงเจ็บปวด
ยุคสมัยนั้นเป็นยุคแห่ง male privilege และผู้หญิงแทบไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรเลย ชีวิตขึ้นอยู่กับพ่อและของสามีล้วน ๆ ขนาดตัวเองถูกข่มขืน ก็ฟ้องร้องเอาความไม่ได้ถ้าสามีไม่ดำเนินเรื่อง เพราะตลกร้าย… กฎหมายในสมัยนั้นมองว่า การข่มขืนไม่นับเป็นอาชญากรรมที่ล่วงเกินผู้หญิง แต่อาจพิจารณาว่าเป็นอาชญากรรมล่วงเกินทรัพย์สมบัติและเกียรติยศของผู้ชายผู้เป็นสามีได้ นอกจากนี้ วิทยาศาสตร์ในสมัยนั้นยังกล่าวอีกว่า การข่มขืนไม่สามารถทำให้ตั้งครรภ์ได้ เพราะการตั้งครรภ์ต้องเกิดจากการสมยอมและการสำเร็จความใคร่ทั้งสองฝ่าย ดังนั้น พอ Marguerite ท้องทันทีหลังจากถูกข่มขืน และไม่เคยท้องมาก่อนเลยในระยะเวลาที่แต่งงานมา 5 ปี มันทำให้คนอื่นเชื่อว่า เรื่องระหว่างเธอกับ Jacques Le Gris มันคือ consent — ไม่ใช่การข่มขืน —
เมื่อกระบวนการพิสูจน์ทางกฎหมายและวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้ามากพอ ระบบความยุติธรรมซึ่งมีความเป็นธรรมอยู่น้อยนิดอยู่แล้วก็ยิ่งมีความหวังริบหรี่ลงไปอีกสำหรับผู้หญิง… ผู้ที่ความคิด ความรู้สึก และคำพูดไม่เคยได้รับความสำคัญ… เมื่อแต่ละฝ่ายให้การย้อนแย้งกัน พยานและหลักฐานก็ไม่มี พวกผู้ชายจึงเลือก “การดวล” โดยบอกว่า พระเจ้าจะตัดสินโทษผู้กระทำผิดเอง หมายความว่า ถ้าสามีของ Marguerite พ่ายจนถึงแก่ความตายในการประลอง ไม่ว่าจะเพราะเขาแก่ เขาไม่เก่ง หรือเขาอะไรก็ตามแต่ Marguerite ก็จะถูกตัดสินว่า “โกหกเรื่องถูกข่มขืน” โดยปริยาย แล้วก็ต้องรับโทษโดยการถูกจับเปลือยและเผาทั้งเป็นต่อหน้าสาธารณชน และ Jacques Le Gris ที่สู้ชนะ ก็กลายเป็นผู้ไร้มลทินมัวหมองโดยทันที (ใช่ค่ะ… คนยุคปัจจุบันดูแล้วอาจจะรู้สึกหงุดหงิดตลอดเรื่องกับกระบวนการและชุดความคิดต่าง ๆ ของคนในยุคสมัยนั้น)
มันเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ทั้งที่ผู้หญิงอย่าง Marguerite ก็มีความรู้ความสามารถ อ่านออกเขียนได้ (ในขณะที่สามีอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้) และช่วยบริหารจัดการธุรกิจในครัวเรือนได้ไร้ที่ติในยามที่สามีไปทำศึกสงคราม แต่สุดท้าย ก็ไม่มีใครมองเห็นความดีงามนั้น ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองสักอย่าง โลกทั้งใบยังคงหมุนรอบตัวสามี… เพราะสามี… เพื่อสามี… โดยสามี จึงไม่แปลกใจ ถ้าผู้หญิงสมัยนั้นจะอยากมีลูก โดยเฉพาะลูกชาย เสียเหลือเกิน เพราะอย่างน้อย เธอก็ได้รู้สึกว่ามีอะไรของตัวเองบ้าง (แม้กฎหมายจะเขียนว่าอย่างไรก็ตามแต่) และลูกอาจเป็นอำนาจวาสนาของเธอ… ตามที่หนังก็ขึ้นในตอนจบว่า หลังจากสามีตาย Marguerite ก็ไม่แต่งงานใหม่อีกเลย ก็อยู่กับลูกชายและทรัพย์สมบัติของสามี ซึ่งถ้าเป็นเรา เราก็คงอยู่อย่างนั้นเช่นกัน ไม่อยากแต่งงานใหม่ให้ชีวิตไร้อิสรภาพแถมยังถูกสามีกดขี่อีก
เหนือสิ่งอื่นใด ต้องคารวะ Jodie Comer ที่ถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของผู้หญิงในยุคชายเป็นใหญ่ได้อย่างยอดเยี่ยม เธอคือดาวเด่นของหนังเรื่องนี้ และควรค่าแก่การถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ ในขณะเดียวกัน ตัวละครหญิงตัวอื่น ๆ ก็มีบทบาทในการถ่ายทอด “คิด/รู้สึกแต่พูด/ทำ/หรือแสดงออกไม่ได้” โดยเฉพาะแม่สามีของ Marguerite ที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงส่วนใหญ่ในสังคมยุคนั้น ที่แม้ว่าจะถูกกระทำย่ำยีแค่ไหน ก็ยังเลือก “be silent” และบอกว่าตัวเอง “อยู่เป็น” เพื่อรักษาชีวิต รวมถึงหน้าตา ของตัวเองและของครอบครัวไว้
“The truth does not matter, there is only the power of men.”
ใครพูดความจริง?
ถ้าอ่านถึงตรงนี้… แล้วคุณรอดูความคิดเห็นของเราว่า “ใครพูดความจริง: Jean, Jacques, หรือ Marguerite“ เราต้องบอกก่อนว่า เราไม่มีทางรู้หรอกว่าอะไรคือความจริง เพราะขนาดคนที่อยู่ ณ เวลานั้น ณ ที่นั้นจริง ๆ เขายังไม่รู้เลย แล้วยิ่งพวกเรามาตามอ่านย้อนหลังหลายร้อยปี เรื่องราวก็ถูกเล่าต่อหรือบันทึกโดยผู้มีอำนาจเท่านั้นแหละ (พนันได้ว่าเป็นผู้ชาย) และเราก็เพิ่งได้รับสารจากแหล่งเดียว นั่นคือหนังเรื่องนี้
แต่ถ้าถามจริง ๆ ตอนนี้เราเลือกที่จะเชื่อว่า Marguerite ถูกข่มขืนจริง เพราะถ้ามันไม่เกิดขึ้นจริง เธอคงไม่กล้าพูดออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลายุคนั้น แม้แต่ตัวหนังเองก็ขึ้นตัวหนังสือตอนเปิดองก์ของ Marguerite แค่คำว่า “The Truth” (หลังจากขึ้นคำว่า “The Truth According to Marguerite de Carrouges” ไปแล้ว ก็ตัดคำอื่นออก เหลือแต่คำว่า “The Truth” เน้น ๆ) ในขณะที่องก์ก่อน ๆ ก็ขึ้นแค่คำว่า “The Truth According to คนนั้น…”, “The Truth According to คนนี้…” เท่านั้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่เราเลือกเชื่อ Marguerite มันไม่ได้หมายความว่า เราตัดสินว่าคนอื่นโกหก เราเข้าใจว่าแต่ละคนก็คงพูดความจริง “ในมุมมองหรือความคิดของเขา” นั่นแหละ เช่น Jean ก็คงคิดจริง ๆ แหละว่าเขาเป็นสามีที่ดี ทำทุกอย่างเพื่อเมีย หาใช่เพื่อตัวเองเลย รักและเทินทูนเมียมาก อย่างน้อยก็คือรักในแบบฉบับของเขา หรืออย่างน้อยก็บนบรรทัดฐานของผู้ชายทั่วไปในสมัยนั้น ส่วน Jacques เขาก็คงเชื่อจริง ๆ แหละว่า Marguerite มีใจให้เขา และยินยอมมี sex กับเขา แต่อาจจะเป็นเพราะความหลงตัวเองหรือคิดไปเอง หรืออย่างไรก็ตามแต่ มันก็คือความจริงตามความคิด ความรู้สึก และความเข้าใจของเขา
“I WILL NOT BE SILENT!”
สรุป
โดยสรุป The Last Duel เป็นหนังเฟมินิสต์ ยาว 2 ช.ม. ครึ่ง แต่เล่าเรื่องเดียวกันจาก 3 มุมมอง จึงไม่ได้รู้สึกยาวมาก ถือเป็นผลงานการกำกับที่ดีของผู้กำกับในตำนานอย่าง Ridley Scott (ไม่ใช่ว่าหนังทุกเรื่องของเขาจะดี เข้าใจมะ) ผลงานการเขียนบทที่เกิดจากการร่วมมือกันของ Matt Damon, Ben Affleck, และ Nicole Holofcener ก็จัดว่าดี ทำให้เราได้เข้าใจ “ความจริง” ลึกซึ้งมากขึ้น แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการแสดงของนักแสดงหญิงดาวรุ่ง Jodie Comer ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้หญิงผู้ถูกกระทำในสังคมชายเป็นใหญ่ได้อย่างยอดเยี่ยม ฉากประลองซึ่งเป็นไคลแมกซ์ก็เดือดสมการรอคอยและน่าจดจำ