หนังผีไทย-เกาหลี จากการร่วมมือกันของสองผู้กำกับคนดังสองชาติ
แว้บแรกที่ได้รู้จัก ร่างทรง ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง บ. Showbox ของเกาหลี และ บ. GDH 559 ของไทย กำกับโดย โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับชื่อดังของไทย (จาก ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, พี่มากพระโขนง ฯลฯ) และโปรดิวซ์โดย Na Hong-jin ยอดฝีมือจากฝั่งเกาหลี (ผู้กำกับ The Wailing) เรามีความรู้สึกยินดีและตื่นเต้นที่จะได้เห็นหนังแนวผีสิงของไทยโกอินเตอร์ไปท้าชิงกับภูติผีปิศาจและหมอผีจากจักรวาล The Conjuring เพราะโดยพื้นฐานแล้ว เราคิดว่าเรื่องผีของไทยน่ากลัวไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่แล้ว เมื่อได้ดูหนัง ร่างทรง เต็ม ๆ ในโรง เราก็เกิดความรู้สึกทั้งที่ดีและไม่ดีคละเคล้ากันไป
เรื่องย่อร่างทรง
ร่างทรง เริ่มจากกลุ่มนักทำสารคดีมาตามถ่ายทำชีวิตของ “นิ่ม” ร่างทรงของ “ย่าบาหยัน” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวิญญาณดี คอยปกปักรักษาชาวบ้านจากสิ่งที่มองไม่เห็นมาหลายชั่วอายุคน โดยร่างทรงของย่าบาหยันเป็นการสืบสายทางสายเลือดของผู้หญิงในตระกูลของนิ่มเท่านั้น ซึ่งแรกเริ่มเดิมที “น้อย” พี่สาวของนิ่ม ต้องได้เป็นร่างทรง แต่น้อยใช้ทริคหลบหลีก ทำให้นิ่มต้องมารับหน้าที่แทน แล้วทีนี้ “มิ้งค์” ลูกสาวของน้อย เริ่มมีพฤติกรรมและอาการแปลก ๆ เหมือนที่นิ่มกับน้อยเคยเป็นในช่วงใกล้เปลี่ยนถ่ายร่างทรง ทีมสารคดีจึงมาเน้นเกาะติดชีวิตของมิ้งค์ด้วย เพื่อทำสารคดีเรื่อง Shaman Bloodline แต่ต่อมา อาการของมิ้งค์กลับรุนแรงหนัก จนเกิดข้อสงสัยว่าผีที่จะมาสิงมิ้งค์นั้นไม่ใช่ผีย่าบาหยันหรือวิญญาณดี หากแต่เป็นวิญญาณร้ายที่เต็มไปด้วยความอาฆาตพยาบาท

สะท้อนความเชื่อไทยอีสานได้สมจริงและเปิดให้ตีความอย่างกว้างขวาง
ร่างทรง จึงไม่ใช่แค่ร่างทรง แต่ยังเป็นหนังกฎแห่งกรรม สะท้อนถึงทั้งเจ้ากรรมนายเวร และความเชื่อเรื่องกรรมของพ่อแม่หรือบรรพบุรุษสามารถตกทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้ โดยครอบครัวของมิ้งค์ทำบาปทำกรรมต่อผู้อื่นมานักต่อนัก ทั้งเผาโรงงานเพื่อหวังเอาเงินประกัน ทั้งฆ่าและขายเนื้อหมา ฯลฯ และเจ้ากรรมนายเวรเหล่านี้ก็มาลงที่มิ้งค์ ซึ่งจิตใจอ่อนแอ และเคยกระทำผิดผี
เราชอบที่ ร่างทรง สะท้อนความเชื่อเรื่องผีสิงและร่างทรง (ซึ่งมีความคล้ายกัน) ได้ดูเรียลมากและมีความเคารพต่อรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชาวไทยอีสาน ในขณะเดียวกัน ก็นำเสนอเรื่องราวอย่างค่อนข้างปลายเปิดและมี clue สอดแทรกอย่างแนบเนียน เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้คิด วิเคราะห์ จินตนาการ และตีความอย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งเฝ้าสังเกตติดตามชีวิตของครอบครัวร่างทรงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องแบบ “Mockumentary” (Mock + Documentary) ซึ่งคล้ายสารคดี แต่ก็ยังคงเป็น fiction คล้ายกับหนัง The Blair Witch Project และมีการใช้ภาพจากกล้องวงจรปิดมาเสริมความสะพรึง คล้ายกับหนัง Paranormal Activity
Mockumentary กับความเรียลที่ไม่เรียล
อย่างไรก็ตาม Mockumentary เป็นดาบสองคมของ ร่างทรง เพราะถึงแม้มันจะหลอกให้คนดูรู้สึก “จริง” ได้บ้าง แต่สุดท้าย “ปลอม” ก็คือ “ปลอม” อยู่ดี เหมือนการติดสติ๊กเกอร์ “รถคันนี้สีแดง” ไว้ท้ายรถที่ไม่ใช่สีแดง ทั้งนี้ ในหนัง เราจะเห็นบ่อยครั้งที่ตากล้อง (กลุ่มตัวละครที่ถือกล้องทำสารคดี) ทำให้ความเรียลมันไม่เรียล เมื่อตากล้องตามถ่ายฟุตเทจตลอดเวลาอย่างไร้ประโยชน์และไร้สัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ (เช่น จังหวะควรเผ่นก็ไม่เผ่น จังหวะควรช่วยก็ไม่ช่วย ถ่ายอยู่นั่น) กับมุมกล้องที่ตัดสลับจนงงว่าเหมือนไม่ได้ถ่ายจากมุมมองแบบ found footage
ส่วนพาร์ท 7 วันก่อนพิธีไล่ผี ที่หนังเน้นเล่าเรื่องผ่าน CCTVs ที่ติดอยู่ในบ้านของมิ้งค์เป็นหลัก เราคิดว่าหนังพยายามให้มีฉากน่ากลัวมาฮาร์ดเซลล์มากเกินไปจนไม่สนความสมเหตุสมผล ในความเป็นจริง ถ้าเรามีคนในครอบครัวที่มีอาการผีเข้าหนักหนาสาหัสขนาดนี้อยู่ เราต้องผูกมัดหรือขังเขาไว้อย่างแน่นหนา หรือไม่ ถ้าพามิ้งค์ในสภาพนั้นไปโรงพยาบาล ยังไงหมอก็น่าจะให้ไปอยู่โรงพยาบาลทางจิต หรือไม่ ก็พาไปหาพระหาเจ้าที่วัด ให้เขาสาดน้ำมนต์ หรือพาไปโบสถ์คริสต์ตามความเชื่อของน้อยก็ได้ ยังไงก็ได้ แต่ไม่ใช่ปล่อยให้เพ่นพ่านทั่วบ้านที่มีเด็กเล็กอยู่ได้ทุกคืน แถมหลุดออกไปนอกบ้านเมื่อไหร่ก็ได้ อีกอย่าง ถ้าเราเป็นลุงมานิตย์ เราพาลูกกับเมียไปอยู่ที่อื่นก่อนแล้ว ออกไปอยู่บ้านของนิ่มชั่วคราวก่อนก็ได้
ผีสิงแบบไทยกับกลิ่นอายซอมบี้เกาหลี
สำหรับฉากไคลแมกซ์ ซึ่งเป็นช่วงพิธีไล่ผี ถึงแม้จะไม่นับเรื่องตากล้องที่กล่าวไปข้างต้น เราก็คิดว่ามันเป็นช่วงที่เล่นใหญ่จนดูสุดโต่งและ surreal ไปมากอยู่ดี พูดได้ว่า เป็นพาร์ทที่เราไม่ชอบ แต่ก็ชื่นชมที่ผู้กำกับกล้าเล่นอะไรที่แตกต่าง ผสมผสานความไทยและความเกาหลี โดยเอาความเชื่อเรื่องวิญญาณสัตว์เดียรัจฉานมาสิงร่างมนุษย์จนได้ “สิ่ง” ที่เทียบเคียงกับ “ซอมบี้เกาหลี” ซึ่งกำลังเป็นเมนสตรีมทั่วโลกอยู่ ณ ขณะนี้

เส้นบาง ๆ ระหว่างความเชื่อกับความจริง
สำหรับคนนอกที่ไม่ได้เชื่อในเรื่องนี้ เรามองว่า ร่างทรง ไม่ได้หลอนและไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น มีแค่ฉาก 18+ ที่ทำให้สะเทือนใจ และฉาก jump scare หน้ากล้อง 1-2 ทีที่ทำให้ต๊กกะใจ แต่เราก็ชื่นชมที่เขาสามารถนำเสนอความเชื่อของคนกลุ่มเล็กให้คนนอกเข้าถึงและมีอารมณ์ร่วมได้ โดยไม่ได้ยัดเยียด หนังให้เราตัดสินเองจาก point of view และ backgrounds ของเรา เช่นเดียวกับที่หนังนำเสนอ ย่าบาหยันจะมีอยู่จริงก็ต่อเมื่อจิตของร่างทรงมีความเชื่อและความศรัทธาต่อย่าบาหยัน แต่เมื่อใดที่สูญเสียความเชื่อและความศรัทธา ย่าบาหยันก็อาจจากไป
สิ่งหนึ่งที่เราชอบใน ร่างทรง คือ หนังมีความอาร์ต และเสน่ห์ของ “ความเชื่อ”… ซึ่งหมายความว่า เขาต้องคงไว้ซึ่ง “ความกำกวม” กล่าวคือ ต้องไม่ชัดเจนชนิดที่ว่าบอกโต้งคนดู ๆ จนเหมือนยัดเยียดว่ามันคือ “ความจริง” ไม่ใช่ “ความเชื่อ” ซึ่งตรงจุดนี้ เรามองว่า ร่างทรง แตกต่างและทำได้ดีกว่า The Conjuring 3: The Devil Made Me Do It และหนังสยองขวัญอีกหลาย ๆ เรื่องจากทั้งในและต่างประเทศในยุคนี้
ทีมนักแสดงที่ทุ่มสุดตัวยิ่งกว่ามืออาชีพ
สุดท้าย ต้องชื่นชมทีมนักแสดง ทั้งตัวนำ ตัวสมทบ และตัวประกอบ ที่แสดงได้เป็นธรรมชาติและเข้าถึงบทบาทอย่างน่าขนลุก เราคิดว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ เขาไม่ได้ใช้นักแสดงที่เน้นขายหน้าตา และไม่ได้เน้นดาราที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว มันจึงออกมามีความสดใหม่ และนักแสดงทุกคนพยายามที่จะเค้นศักยภาพทางการแสดงอย่างเต็มที่และพร้อมทุ่มสุดตัวเพื่อภาพรวมของหนังอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งมันควรเป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรมีในอุตสาหกรรมหนังไทยมาตั้งนานแล้ว…
สัมผัสประสบการณ์ ร่างทรง ได้ในโรงภาพยนตร์ ตั้งแต่ 28 ต.ค. 2021 เป็นต้นไป
4 comments
Comments are closed.