ถ้าหากตอนนี้ใครกำลังรู้สึกสิ้นหวังในชีวิตหรือห่อเหี่ยวจากการกักตัว (quarantine) บล็อกนี้เรามาแนะนำหนังดีขึ้นหิ้งตลอดกาลอย่าง The Shawshank Redemption (1994) ที่สร้างความหวังและกำลังใจให้กับคนดูมานานกว่า 26 ปี
The Shawshank Redemption (1994) การันตีด้วยการเข้าชิงออสการ์ 7 สาขา รวมถึงรางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงชายยอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม, และบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ฯลฯ (แต่ไม่ได้รางวัลสักสาขา เพราะในปีนั้น Forrest Gump กวาดรางวัลไปแทบสิ้น) โดย Frank Darabont (ผู้กำกับและผู้เขียนบทภาพยนตร์) ดัดแปลงบทหนัง The Shawshank Redemption จาก Rita Hayworth and Shawshank Redemption (1982) เรื่องสั้นของเจ้าพ่อนิยายสยองขวัญอย่าง Stephen King ซึ่งถือว่าแหวกแนวจากผลงานเรื่องอื่น ๆ ของ King อย่างมาก
There are places in this world that aren’t made out of stone. That there’s something inside… that they can’t get to, that they can’t touch. That’s yours… HOPE.
The Shawshank Redemption จัดได้ว่าเป็นหนังชีวิต (drama) เกี่ยวกับชีวิตนักโทษชายในคุกชอว์แชงค์ เล่าจากมุมมองของ Ellis Boyd ‘Red’ Redding (Morgan Freeman) นักโทษที่ติดคุกมานาน และมีธุรกิจรับหาของจากข้างนอกให้ประชากรคุก จนกระทั่งในการติดคุกปีที่ 20 ของ Red มีนักโทษใหม่เข้ามาชื่อ Andy Dufresne (Tim Robbins) อดีตนายแบงค์ระดับสูงซึ่งต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตข้อหาฆาตกรรมภรรยาและชู้รักที่เขายืนกรานว่าเขาไม่ได้ทำ
ชีวิตในคุกจากมุมมองของ Red ดูไม่ได้เลวร้ายสักเท่าไหร่ แต่ผู้ร้ายในเรื่องของเขาคือ หัวหน้าผู้คุม Hadley (Clancy Brown) ผู้ชอบใช้ความรุนแรงกับนักโทษจนปางตาย และพัศดี Norton (Bob Gunton) ผู้เลือดเย็นและชอบใช้งาน Andy สารพัด โดยเฉพาะการทำบัญชีฟอกเงินสกปรก ๆ ของเขา
นอกจากนี้ ยังมีนักโทษชั้นดีที่ชรากว่าและอยู่ในคุกมานานกว่า Red นั่นคือลุง Brooks Hatlen (James Whitmore) ซึ่งอยู่มานานกว่า 50 ปี เรียกได้ว่าอยู่มาทั้งชีวิต จนยึดติดกับสถาบัน ไม่อยากออกจากคุก เพราะอยู่ในคุก เขาเป็นบรรณารักษ์ แต่ข้างนอก เขาเป็นเพียงชายแก่ขี้คุก และเขาก็ไม่รู้จักโลกข้างนอกนั้นอีกแล้ว
อีกหนึ่งนักโทษตัวแปรสำคัญของเรื่องคือ หนุ่มร็อกแอนด์โรล Tommy Williams (Gil Bellows) ที่ติดคุกมาหลายต่อหลายครั้งด้วยข้อหาลักทรัพย์ แต่ครั้งนี้เขาได้เจอกับ Andy ผู้ที่ทำให้เขามีความหวังในการเริ่มต้นชีวิตใหม่และเป็นคนที่ดีขึ้นหลังจากพ้นโทษจากคุกที่นี่
จริง ๆ แล้ว ต้องบอกว่า Andy เป็นตัวละครที่มาเติมเต็มและมอบความหวังให้กับเหล่าชาวคุก ตั้งแต่ทำให้เพื่อนร่วมงานได้ลิ้มรสชาติเบียร์เย็น ๆ อีกครั้ง ได้ฟังดนตรีคลาสสิก สอบเทียบวุฒิการศึกษา และฟื้นคืนชีพห้องสมุดในคุกให้เต็มไปด้วยหนังสือดี ๆ จากความพยายามในการเขียนจดหมายไปขอเงินทุนจากรัฐบาลทุกสัปดาห์ โดยคนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเขามากที่สุดก็คือ Red ผู้ที่เคยคิดว่าความหวังและอิสรภาพเป็นเรื่องน่ากลัวนั่นเอง
Remember Red, hope is a good thing, maybe the best of things, and no good thing ever dies.
ย้อนมองชีวิตจริง ถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช่นักโทษในเรือนจำ แต่เราทุกคนล้วนเป็นนักโทษที่ติดอยู่ในวังวนหรือในลูปของชีวิตที่จำเจ ใช้ชีวิตไปวัน ๆ คล้าย ๆ กับนักโทษในคุก หรือเหมือนลุงนักโทษที่ได้ออกจากคุกแล้วก็ต้องไปใช้ชีวิตวนเวียนระหว่างที่ทำงานและที่พักทุกวัน ๆ ซึ่งนั่นอาจไม่สามารถเรียกไดดว่า “ใช้ชีวิต”
ในภาวะ pandemic เช่นนี้ เราเข้าใจว่ามันยากที่จะคิดบวก มีความหวัง หรือตั้งเป้าหมายให้ชีวิต แต่หากเราลองเปลี่ยนมุมมอง อย่างเช่นตัวละครในหนังทำได้ในที่ที่แสนจะสิ้นหวังที่สุดขนาดนั้น พยายามมองว่าความหวังคือสิ่งที่ดี เชื่อว่าเราล้วนมีทางเลือกให้ชีวิตเสมอ หางานอดิเรกทำให้ตัวเองไม่ว่างจนฟุ้งซ่าน และหาเป้าหมายอะไรสักอย่างให้ตัวเองได้ไขว่คว้าหรือมุ่งไปหา เราจะรู้สึกมีพลัง และถึงแม้ต้องใช้เวลา แต่ไม่ช้าก็เร็วมันจะช่วยเปลี่ยนชีวิตและพาเราไปสู่อิสรภาพ ก่อนที่ระบบจะกลืนกินเราจนไม่เหลือความเป็นตัวเองหรือล้มตายด้วยความสิ้นหวัง
I guess it comes down to a simple choice, really. Get busy living, or get busy dying.
38 comments
Comments are closed.