นี่เป็นหนึ่งในประสบการณ์การดูหนังโรงที่เหนื่อยที่สุดเรื่องหนึ่งแห่งปี หนังทำถึง ทำเกินมาก คนใจไม่ถึง อย่าดู!!!
‘THE SUBSTANCE สวยสลับร่าง’ เป็นหนังรางวัลระดับโลกนำเข้าไทยโดยค่าย GDH ซึ่งหลังจากที่เราได้ไปดูหนังเรื่องนี้ในรอบสื่อมา ต้องยอมรับว่า สมเกียรติแล้วที่ได้รับการลุกขึ้นยืนปรบมือจากผู้ชมนานถึง 11 นาที และก็สมมงรางวัลบทยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ด้วย
แต่ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นหนังคานส์และหนังแอบคัลท์หรือเซอร์เรียลไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ดูยากอย่างที่คิด เพราะเรื่องราวค่อนข้างใกล้ตัวกับมนุษย์ปุถุชนอย่างเรา ๆ หนังเล่าถึงเรื่อง beauty standard โดยเฉพาะเรื่องความเยาว์วัย (youth-obsessed culture) ที่ทำให้คนเราต้องไปเสพติดกับการกินยา ศัลยกรรมความงาม หรืออะไรก็ตามที่จะช่วยทำให้เรายังดูหนุ่มสาวหรือเต่งตึง
“You were amazing!
หนังเล่าเรื่องผ่าน (อดีต) ซูเปอร์สตาร์สาว ดาวค้างฟ้า Elisabeth Sparkle (Demi Moore จาก G.I. Jane) ที่รายการของเธอถูกปลดกลางอากาศ เพราะช่องต้องการปลุกปั้นดาวดวงใหม่ที่สดใหม่กว่ามากอบกู้เรตติ้ง Elisabeth จึงไปใช้บริการ The Substance ที่อวดอ้างว่า จะทำให้เธอสาวกว่าเดิม สวยกว่าเดิม และเพอร์เฟ็กต์กว่าเคย หลังจากฉีดยา เธอก็ได้แตกร่างมาอีกหนึ่ง เป็น Sue (Margaret Qualley จาก Kinds of Kindness) หญิงสาวสวยเซ็กซี่ตามแบบพิมพ์นิยม และได้ก้าวขึ้นเป็นลูกรักของช่องอย่างรวดเร็ว แต่ทว่าการใช้ยา The Substance ย่อมมีกฎเกณฑ์ เงื่อนไขผลกระทบ และราคาที่ต้องแลกตามมา
THE SUBSTANCE ไม่ได้เล่าเรื่องแค่มุมมองที่ผู้หญิงมีต่อรูปร่างหน้าตาหรือความสาวของตัวเองเท่านั้น แต่ยังยังพูดถึงประเด็น “ถ้าคุณสวย โลกจะใจดีกับคุณ” โดยเล่าถึงสายตาของสังคม คนนอก โดยเฉพาะพวกผู้ชาย ที่มองมาและ gaslight ใส่พวกเธอ คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกแย่ ไม่มั่นใจ หรือไม่รักตัวเอง จนสูญเสียตัวตน
Elisabeth เติบโตมากับอุตสาหกรรมบันเทิง ที่ที่ไม่ใช่แค่ยึดติดกับ beauty standards กับ age discrimination เท่านั้น หากแต่ยังเป็นที่ที่ผู้หญิงมักถูกถ่ายทอดผ่าน male gaze เช่น รายการเต้นแอโรบิกที่ถ่ายซูมแต่ทรวดทรงสรีระของนักแสดงหญิง โดยหนังสร้างตัวละครบอส Harvey (Dennis Quaid จาก The Day After Tomorrow) มาเป็นตัวแทนชายแท้ผิวขาวสูงวัยที่รันวงการเหล่านี้
Pretty girls should always smile!
เข้าใจว่าโลกมันโหดร้ายกับผู้หญิงมาก แต่หนังก็ถ่ายภาพได้โหดร้ายกับคนดูอย่างเราเช่นกัน เพราะเขาทำแต่ละฉากให้เราเห็นถึงเลือด เนื้อ น้ำเหลือง ไขสันหลัง ฯลฯ ให้เราเข้าถึงความเจ็บปวดของผู้หญิงที่ต้องต่อสู้กับตัวเอง แบบทำถึง ทำเกิน ทั้งภาพและเสียง ดูแล้วเหนื่อยมาก แรก ๆ พอทน แต่พอดูไปสักพัก เริ่มไม่ไหวแล้ว อยากบอกให้ “พอเถอะ จบเถอะ“ (ในรอบสื่อ ค่ายถึงกับต้องแจกยาดมให้สื่อ คิดดู) ดูแล้ว อยากเดินออกจากโรง… แต่ไม่ใช่เพราะหนังมันไม่ดี แต่แค่หนังมันเซอร์เรียลจนเรียลเกินไป เก๊ตปะ? (ถ้าไม่เก๊ต ก็ลองไปดูเอง แต่เตือนแล้วนะว่า โหดมาก)
พอเห็น Elizabeth ต้องดิ้นรนขนาดนี้เพื่อกลับไปเป็นที่รักหรือได้รับการยอมรับอีกครั้งแล้ว เราก็ยิ่งรู้สึกรักตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองสวย และเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น เพราะสุดท้าย ความคิดเห็นต่อตัวเราที่สำคัญต่อตัวเรามากที่สุดและเราควรฟังมากที่สุด ก็คือความคิดเห็นของเราเอง
The one and only thing not to forget: You. Are. One. You can’t escape from yourself.