ตัวเต็งออสการ์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยมแห่งปี… The Wild Robot จากสตูดิโอ DreamWorks ผลงานของ Chris Sanders ผู้กำกับ How to Train Your Dragon
หนังเล่าเรื่องของหุ่นยนต์เอไอ Rozzum 7134 หรือ Roz (Lupita Nyong’o จาก Black Panther) ที่พลัดมาติดเกาะแห่งหนึ่ง ในขณะที่สัตว์ป่าทั้งหลายมองว่าเธอเป็นสัตว์ประหลาด เธอได้ Fink (Pedro Pascal จาก The Last of Us) สุนัขจิ้งจอกผู้เดียวดาย เป็นเพื่อนใหม่ และจับพลัดจับผลูกลายเป็นแม่ลูกอ่อนของ Brightbill (Kit Connor จาก Heartstopper) ลูกห่านเกิดใหม่ ที่กลายมาเป็นมิชชั่นหลักของเธอ… ซึ่งนั่นก็คือ ดูแลให้เจ้าห่านน้อยกินเป็น ว่ายน้ำเป็น และบินได้ก่อนหน้าหนาวจะมาเยือน
จุดเด่นของหนังไม่ใช่ความน่ารักของเหล่าสรรพสัตว์ หากแต่เป็นการถ่ายทอด big idea ที่ universal ลึกซึ้ง ซับซ้อนและต้องการการเน้นย้ำอีกมากในสังคมปัจจุบันที่มีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น ออกมาได้แบบ simple but powerful
Sometimes, to survive, you must become more than you were programmed to be.
ประเด็นที่น่าสนใจในหนังคือ การเชื่อมโยงระหว่างสัญชาตญาณของสัตว์ป่าและโปรแกรมของ AI กล่าวคือ AI เกิดมาใช้ชีวิตและมีหน้าที่ตามที่ถูกโปรแกรม คล้ายกับสัตว์ป่าที่มีสัญชาตญาณ (instincts) และความพิเศษเฉพาะสปีชีส์ในการดำรงชีวิตและเอาตัวรอดของตนในแบบของตน โดยคาแรกเตอร์ของสัตว์ต่าง ๆ ในหนังก็ชัดเจนมาก เช่น เจ้าลูกห่านที่มีพฤติกรรมฝังใจ (imprinting) กับสิ่งแรกที่เห็นเมื่อลืมตาดูโลก และต้องอพยพจากพื้นที่ในช่วงหน้าหนาว ซึ่งทำให้เราเห็นว่า คนทุกคน สัตว์ทุกตัว ก็ล้วน “แตกต่างเหมือนกัน” ส่วนเรื่อง parenting หรือการเป็นพ่อเป็นแม่ เราต่างไม่ได้ถูกโปรแกรมมาแต่แรก แต่เราก็จะสามารถ make it up กันไปได้เอง
อีกธีมที่เราชอบคือ การอยู่ร่วมกันในสังคมท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย และ การตามหาที่ของเรา (a place where we belong) ซึ่งนั่นอาจไม่ได้จำกัดนิยามของคำว่า “กลุ่ม” หรือคำว่า “ครอบครัว” ว่า เราจะต้องถูกจัดอยู่กับกลุ่มที่ภายนอกเหมือนเราเสมอไป บางทีเราก็ไม่ได้มีลักษณะนิสัย เป้าหมาย หรืออุดมการณ์ความคิดเหมือนกันต่อให้รูปลักษณ์ภายนอกหรือฟังก์ชั่นทางธรรมชาติโดยรวมเหมือนกัน
บางทีการจัดกรุ๊ปจากฟังก์ชั่นหรืออัตลักษณ์ภายนอกที่เหมือนกันแบบนี้นี่แหละ ที่เป็นแหล่งของการบูลลี่หรือแบ่งแยกชนชั้นวรรณะในฝูง เช่น ฉันเป็นห่านสมบูรณ์แบบตามพิมพ์นิยม ส่วนเธอมันห่านแคระไม่สมประกอบ
ในเรื่องของการปรับตัวเพื่ออยู่รอด หนังสื่อถึงพลังของการพึ่งพาอาศัย สังคมสัตว์ป่าหลากหลายสปีชีส์ในหนังทำให้เรามองเห็นภาพของการใช้ชีวิตแบบพึ่งพา หรือการใช้จุดเด่นจุดแข็งของแต่ละตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ร่วมกันหรือช่วยเหลือกันในสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งสำคัญต่อการเอาตัวรอดมากกว่าการต่างคนต่างอยู่ ไม่ว่าเราจะต่างกันแค่ไหน เราก็สามารถพึ่งพาและช่วยเหลือกันเพื่ออยู่รอดในสังคมได้
The Wild Robot ถือเป็นหนังแอนิเมชั่นที่น่าจับตามองในเวทีออสการ์ปีนี้ เพราะไม่ได้ให้ความใจฟู แต่ยังสามารถเล่าเมสเซจที่เป็นสากล ลึกซึ้งแต่ย่อยง่าย น้อยแต่มาก เหมาะสำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย