The Zone of Interest: วิมานนาซี ไม่ใช่แค่หนังนาซีหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว แต่นี่คือหนังเกี่ยวกับคนใหญ่คนโตเสวยสุขหรือมีชีวิตที่ดีอยู่บนความทุกข์ทรมานของผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่พวกเขามองว่า “ด้อยกว่า” ดังที่เราจะได้เห็นนักโทษยิวต้องนำเถ้ากระดูกของยิวด้วยกันที่ถูกเผา มาโรยเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้และดอกไม้ในสวนของทหารนาซีได้งามสะพรั่ง
ในหนังเรื่องนี้ เราจะแทบไม่ได้เข้าไปในแคมป์หรือเห็นภาพความโหดร้ายที่เกิดขึ้นข้างในแคมป์เลย เพราะตลอดทั้งเรื่อง เราจะได้อยู่ในบ้านและสวนอันสวยงามของ Rudolf Höss (Christian Friedel) ผู้บังคับบัญชาการ ค่าย Auschwitz (เป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ Holocaust ผู้สั่งรมควันชาวยิวกว่า 1.1 ล้านคน) กับภรรยาของเขา Hedwig (Sandra Hüller จาก Anatomy of a Fall) และลูก ๆ อีก 5 คน
The Zone of Interest เหมือนเป็นหนังสองม้วนในเรื่องเดียวกัน ม้วนแรกเป็นม้วนที่เน้นภาพสว่างสดใสและบรรยากาศของบ้านที่สวยงามน่าอยู่ตรงหน้า สมาชิกในบ้านใช้ชีวิตประจำวันกันอย่างปกติสุขเหมือนคนธรรมดา (ที่มีฐานะ) ทั่วไป และอีกม้วนเป็นม้วนที่เล่าเรื่องความโหดร้ายทารุณผ่านเสียงกรีดร้อง เสียงยิง หรือเสียงกรรโชกของทหาร ประกอบกับภาพปล่องควันไฟของเตาเผาเป็นแบคกราวนด์อยู่ไกล ๆ (คำเตือน หนังเน้นเล่าเรื่องด้วยภาพและซาวนด์มากกว่าไดอะล็อกหรือบทพูด หนังจึงอาจไม่เหมาะกับคนดูหนังบางกลุ่ม)
ตัวละครเอก โดยเฉพาะภรรยา รักและภูมิใจกับ “สวรรค์วิมาน” หลังนี้มาก เพราะนี่คือ “ชีวิตที่เธอฝันถึง” ถึงแม้มันจะต้องแลกมาด้วยการทำงานหนักของสามีเพื่อรับใช้เบื้องบนโดยปราศจากข้อกังขาหรืออารยะขัดขืน มันคือบ้านในฝันที่สร้างบนฝันร้ายของผู้อื่น
และในขณะที่เธอเชื่อว่าที่นี่คือ “สภาพแวดล้อมที่ดีของลูก ๆ” เธอก็กำลังหล่อหลอมลูก ๆ ของเธอให้กลายเป็นคนเลือดเย็นและอาจกลายเป็นปิศาจตนต่อไปโดยไม่รู้ตัว (หรือรู้แต่ก็ไม่แคร์) เช่น ลูกชายคนโตที่จับน้องชายไปขังไว้ในโรงเรือนแล้วแกล้งทำเสียงรมแก๊สใส่ และยังหมกมุ่นกับการนอนดูชิ้นส่วนฟันหรือกระดูกจากศพนักโทษยิวในยามค่ำคืน ยังดีที่หนังใส่ตัวละคร “ยาย” เข้ามา ให้เห็นว่า ไม่ใช่เยอรมันทุกคนจะเห็นด้วยหรือทนอยู่กับความโหดเหี้ยมแบบนี้ได้
หนังมักฉายภาพโถงทางเดิน หรือเส้นทางเดินที่อยู่ตรงกลางระหว่างเขตแดนซ้ายขวา รวมถึงประตู หน้าต่าง กำแพง และบันได ที่เป็นสัญลักษณ์มากมายอย่างมีนัยสำคัญ เราเห็นเส้นแบ่ง เราเห็นทางเลือก เราเห็นทางออก แต่ตัวละครเหล่านี้ก็ยังเลือกวิถีชีวิตแบบนี้ เลือกที่จะมองแค่สิ่งที่ตัวเองได้รับ และเลือกที่จะทำเป็นมองไม่เห็นกับความสูญเสียของใคร แม้กระทั่งการสูญเสียความเป็นมนุษย์ของตัวเอง จนในฉากสุดท้ายที่ Rudolf Höss อาเจียนและเดิน “ลง” บันไดไปชั้นล่างที่มืดมิดลงเรื่อย ๆ
ความตลกร้ายคือ พูดเรื่องความเป็นมนุษย์ไป คนเหล่านี้ก็อาจไม่เข้าใจ เพราะพวกเขาไม่มองคนยิวเป็นมนุษย์แต่แรกเสียด้วยซ้ำ ดั่งที่จะเห็นได้จากฉากที่ Rudolf รีบให้เด็ก ๆ ขึ้นจากแม่น้ำและไปชะล้างร่างกายเมื่อพบว่ามีชิ้นส่วนกระดูกของชาวยิวลอยมากับสายน้ำ และฉากที่ Rudolf รีบมาทำความสะอาด “ส่วนนั้น” หลังจากที่ให้หญิงชาวยิวเข้ามาช่วยสำเร็จความใคร่ให้ในออฟฟิศ
ดังนั้น ความน่าอึดอัด กระอักกระอ่วน และสะอิดสะเอียนในหนัง The Zone of Interest จึงไม่ใช่ภาพของการรมควัน ไล่ล่า ทรมาน กักขังหน่วงเหนี่ยว หรือสังหารชาวยิวอย่างในหนัง Holocaust เรื่องอื่น ๆ เช่น Schindler’s List, Life is Beautiful, The Pianist, The Boy in the Striped Pyjamas, Son of Saul ฯลฯ หากแต่เป็นความเพิกเฉยหรือความสุขสบายหน้าตาเฉยของพวกนาซีที่มีแต่อมนุษย์เท่านั้นที่จะกระทำได้ในเวลาและสถานที่เช่นนั้น
หนัง The Zone of Interest เป็นอีกเรื่องที่ตอกย้ำว่า เราเลิกทำหนังเกี่ยวกับ Holocaust ไม่ได้หรอก เพราะมันยังมีอีกหลายแง่มุมที่เราอาจยังไม่เคยมองเห็น และช่วยตอกย้ำว่า คนรุ่นหลังอย่างเรา ๆ ไม่สามารถลืมประวัติศาสตร์อันเลวร้ายนี้ไปได้หรอก เพราะไม่ว่ายังไง มันก็เป็นส่วนหนึ่งกับปัจจุบัน และอยู่กับเราในแทบทุก ๆ ที่ในปัจจุบัน
The Zone of Interest: วิมานนาซี เข้าชิงออสการ์ 5 สาขา รวมถึงสาขา Best Picture และเราคิดว่า นี่คือหนังออสการ์ที่ดูแล้ว “เหนื่อยที่สุด” ในปีนี้