เมื่อเธอต้องเลือกระหว่าง การใช้เวลา “6 เดือนที่เหลือให้มีคุณค่าและน่าจดจำที่สุด” vs. “1 ปีกับการรักษา ทำคีโม ซึ่งรับประกันผลลัพธ์ไม่ได้” เธอจึงเลือกใช้เวลานั้นไปกับ “สิ่งที่ควบคุมได้ชัวร์กว่า” ซึ่งนั่นก็คือ “ความสุข” และเธอก็เลือก “สิ่งที่สำคัญที่สุดจริง ๆ ในชีวิต” ซึ่งนั่นก็คือ “การสร้างความทรงจำและทำสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับเธอ”
We Live In Time เล่าเรื่องของคู่รัก Almut (Florence Pugh ผู้เข้าชิงออสการ์จาก Little Women) เชฟสาวแถวหน้า และ Tobias (Andrew Garfield ผู้เข้าชิงออสการ์จาก Hacksaw Ridge) พนักงานประจำบริษัทขายอาหารเช้า โดยเน้นเรื่องราวจากฝั่งฝ่ายหญิงที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีเป้าหมายทางอาชีพที่อยากทำชัดเจน และที่สำคัญ… เป็นมะเร็งรังไข่
พอพูดถึงมะเร็ง… เราก็อดไม่ได้ที่จะบอกว่า We Live In Time เป็น A Modern Nicholas Sparks ส่วนที่บอกว่าโมเดิร์นก็คือ หนังมันไม่ได้เน้นความรักหรือดราม่าฟูมฟาย แต่หนังพูดถึงดราม่าชีวิตของผู้หญิงที่อยู่ในโลกปัจจุบันที่ผู้หญิงก็มีหน้าที่การงาน แต่ก็ยังต้องอยู่กับ traditional gender role ซึ่งก็คือการเป็นแม่และภรรยา อีกทั้งยังมีเวลาอันจำกัด กล่าวคือ ถ้าอยากมีลูก ก็ต้องมีตั้งแต่อายุยังไม่มากเกินไป เพราะรังไข่มีวันหมดอายุ และถ้าอยากจะประสบความสำเร็จด้านอาชีพหรือสร้างคุณค่าให้โลกจำก่อนตาย ก็ต้องรีบทำตั้งแต่ตอนนี้ เพราะเธอเป็นมะเร็งระยะที่สาม
มันเศร้าจริง ๆ นะ… ผู้หญิงคนนึงทุ่มเทให้กับความฝัน แพสชั่น และความสำเร็จ แล้วมาเจอคนที่ใช่ตอนอายุสามสิบตอนกลาง แล้วเขาคนนั้นอยากมีลูก
ในขณะที่ เราได้รับรู้เรื่องราวในอดีตของ Almut และได้เห็นเธอในพาร์ทการทำงานที่จริงจังและเพียบพร้อม เป็นเชฟชื่อดัง มีร้านอาหารหรูของตัวเอง มีอพาร์ตเมนต์ มีรถ Mini Cooper พร้อม ๆ กับบทบาทของคนรัก คนท้อง และแม่ ซึ่งการแสดงของ Florence Pugh ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง บทไม่ได้มีเรื่องราวจากฝั่ง Tobias มากอะไร นอกจากเห็นว่าเป็นเพียงชายคนหนึ่ง เป็นพนักงานประจำ อยู่บ้านหลังเดียวกับพ่อ แต่ที่แน่นอนคือ เขาเป็น supportive partner ของ Almut และเขาอยากมีลูก (ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ได้แปลกอะไร เราก็เห็นแบบนี้ในมีเดียกันเป็นปกติ เพียงแค่สลับเพศ) แต่ Andrew Garfield ก็ใช้ทุกแอร์ไทม์ที่มีได้อย่างคุ้มค่าและไชน์มาก ๆ
ความผิดพลาดเดียวของ We Live In Time คือ ใช้ผู้กำกับและคนเขียนบทเป็น “ผู้ชาย” เราคิดว่า ถ้า We Live In Time ได้ผู้หญิงมากำกับและเขียนบท หนังก็ขยี้และพาคนดูเข้าถึงจิตใจของ Almut ได้มากกว่านี้ แต่ยังดีที่การแสดงของสองนักแสดงนำช่วยไว้เยอะมาก ต้องยอมรับว่า Garfield กับ Pugh เคมีเข้ากันมาก และเป็นนักแสดงที่แข็งแกร่งแห่งยุค แค่มองหน้าก็จะร้องไห้ตามแล้ว
ถึงแม้หนังจะยังสับสนไปบ้าง แต่หนังไม่ล้มเหลวในการเน้นย้ำความสำคัญของเวลาว่าทุกวินาทีมีค่า การสร้างคุณค่ากับสิ่งที่มีความหมายกับตัวเองจริง ๆ และการอยู่กับปัจจุบัน
ทุก ๆ ซีนในหนัง เราไม่เห็นสักวินาทีที่ตัวละครไม่โฟกัสกับสิ่งที่สำคัญที่สุดตรงหน้า ณ ขณะนั้น ถึงแม้พวกเขาอาจจะไม่สามารถเป็นหรือเลือกทำได้หมดทุกอย่างในเวลาเดียวกันแบบ Everything all at once แต่พวกเขาต่างเลือกอยู่กับปัจจุบัน และเมคชัวร์ว่า พวกเขาเลือกสิ่งที่สอดคล้องกับ values ของตัวเองอย่างแท้จริง และจะไม่เสียดายกับการตัดสินใจเลือกเมื่อมองย้อนกลับมา