“Can you just be a friendly neighborhood Spider-Man?”
หลังจากผลลัพธ์ของสไปดี้เวอร์ชั่น Andrew Garfield ไม่ค่อย amazing สมชื่อสักเท่าไหร่ Spider-Man เวอร์ชั่นนุ้ง Tom Holland จึงตามออกมาติด ๆ ตั้งแต่ศพของ Gwen Stacy (Emma Stone) ยังไม่ทันจะย่อยเป็นปุ๋ยดี
แต่ข้อดีคือ ใครเบื่อหรือลำไยความรักหรือ complicated relationship ระหว่าง Peter Parker & Gwen Stacy ใน The Amazing Spider-Man เหมือนเรา มาดู Spider-Man: Homecoming ล้างตาได้ เรื่องนี้จะเน้นความ coming-of-age หรือการก้าวข้ามผ่านวัยจาก Spider-Boy เป็น Spider-Man ดังนั้น Peter Parker เวอร์ชั่นนี้จะได้มีชีวิตที่ใกล้เคียงกับเด็กวัยรุ่นไฮสคูลจริง ๆ คือจะว้าวุ่น แต่ไม่เวิ่นเว้อ
โดยชื่อภาค (Homecoming) หมายถึงทั้งงานคืนสู่เหย้า (หรืองานเต้นรำ) ที่รร. และการ back to the basic ของการเป็นฮีโร่ฉบับดั้งเดิม ที่เน้น local friendly (คือเป็น a friendly neighborhood Spider-Man) ไม่ไฮเทคเว่อร์ ไม่ยกเมืองลอยฟ้า ไม่ออกนอกอวกาศ ไม่ระเบิดตึกรามบ้านช่องพังพินาศเหมือนหนังซูเปอร์ฮีโร่หลาย ๆ เรื่องช่วงหลัง (โดยเฉพาะของค่าย Marvel เอง) ฯลฯ
Tom Holland ในฐานะ Spider-Man คนใหม่ ได้รับ feedback ที่ดีจากการเปิดตัวใน Captain America: Civil War เมื่อปีที่แล้ว แล้วฉากเปิดเรื่องของ Spider-Man: Homecoming นี้ก็จะเชื่อม ๆ จาก Final Battle ของ War ดังกล่าวที่ Spider-Boy โผล่ไปแจมนั่นเลย โดยแทบไม่พร่ำพรรณนาถึงแบ็คกราวนด์ของ Peter Parker ให้เยิ่นเย้อ
เวอร์ชั่นนี้ไม่ mention ถึงลุง Ben แต่ Peter Parker ก็อยู่กับป้า May (Marisa Tomei สุดแซ่บ จาก The Wrestler) เช่นเคย โดยที่ป้า(ต้อง)ไม่รู้ว่าเขาเป็น ‘ไอ้แมงมุม’ แต่ยังดีที่เวอร์ชั่นนี้ Peter สามารถแชร์ความลับของเขากับ Ned (Jacob Batalon) เพื่อนรักของเขาได้ ทำให้เขามีคู่หูคู่คิดคอยช่วยเหลือ
ปมของ Peter Parker คนนี้จึงไม่ใช่เรื่องของ Uncle Ben หรือปูมหลังของพ่อแม่นาง ปัญหาของนางคือ 1. อยากได้รับการยอมรับจาก Tony Stark (Robert Downey Jr.) ให้เป็น Avengers เต็มตัว และ 2. อยากเดทกับ Liz (Laura Harrier) ซึ่งบางครั้งภารกิจสองอย่างนี้มันทำพร้อมกันไม่ได้ แต่เราก็ได้เห็นว่า เขาให้ priority กับ Tony Stark มากกว่าผู้หญิง
Peter ชอบความรู้สึกของการเป็นฮีโร่ ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร แต่ที่หนักคือเขาทำดีเพื่อเก็บแต้ม หวังจะได้เลื่อนขั้น มากกว่าทำดีเพราะอยากช่วยคนจริง ๆ เขาซีเรียสกับการเป็น Avengers เกินเหตุ จนยอมสละโอกาสที่จะใช้ชีวิตแบบเด็กทั่วไป แล้วบ่อยครั้งที่เขาต้องมาลงเอยกับความเสียใจที่เขาไม่ได้ไปแข่งขันวิชาการกับเพื่อนและพลาดเดทสำคัญกับผู้หญิงที่เขาชอบ
Stark ก็ไม่อยากให้ Peter รีบเป็นผู้ใหญ่เร็วเกินไป หรือต้องรับมือกับอะไรที่เกินตัวก่อนที่เขาจะเรียนรู้ที่จะใช้พลังของตัวเองและมีความรับผิดชอบที่มากขึ้น เขาจึงให้ Peter ต้องอยู่ในช่วงทดลองงานเหมือนฮีโร่ฝึกหัดไปก่อน (ก็นะ จริง ๆ Peter ก็ยังเป็นแค่เด็กธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ได้มีพลังวิเศษเว่อร์วังขั้นเทพหรือผ่านการเทรนนิ่งมาอย่างดีอย่างรุ่นพี่คนอื่นใน Avengers)
แต่ Peter กำลังฮอร์โมนส์พลุ่งพล่านและกำลังเห่อชุดใหม่ไฮเทค (ทั้งที่ยังใช้ไม่ค่อยจะเป็น) เขาจึงกระหายที่จะต่อสู้กับคนชั่วหรือทำการใหญ่ ๆ ทั้งที่ตัวเองแทบไม่มีความพร้อมอะไรเลย บ่อยครั้งที่ความไม่เชื่อฟังและความมั่นใจหรือ ego ของเด็กน้อยที่ว่า “ฉันทำได้” (“Yeah. I am the kid who can stop a bus with bare hands,”) ส่งผลให้เกิดความเสียหายมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น แล้วพอมันบานปลาย สุดท้ายผู้ใหญ่ (เช่น Iron Man ซึ่งเป็น mentor / babysitter) ต้องมาคอยเก็บล้างตามเช็ดแทบทุกครั้งไป
ดังนั้น ประเด็นหลัก ๆ ของหนังเรื่องนี้ที่คนดูจะได้เรียนรู้ไปกับ Peter Parker คือ “อย่าทำอะไรใหญ่เกินตัว” และ “อย่ารีบโต” ซึ่งบทเรียนราคาแพงที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้คือ ฉากที่ Peter พยายามจะจับคนร้ายและเซฟเรือเฟอร์รี่ที่กำลังจะขาดเป็นสองท่อนด้วยตัวเขาเองคนเดียว (อย่างที่เห็นในเทรลเลอร์)
อีกอย่างคือ เขานิยามคำว่าฮีโร่ผิดไป เหมือนเขาคิดว่า ตัวเองจะเป็นฮีโร่ไม่ได้หากไม่ได้อยู่ในทีม เช่นเดียวกับที่เขาโวยวายว่า “I’m nothing without the suit!” ทั้งที่จริง ๆ แล้ว เขาเองก็เป็นฮีโร่ได้ ช่วยคนอื่นได้ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ใน Avengers หรือใส่ยูนิฟอร์ม เพียงแต่เขาต้องรู้จักประมาณตน ถ้าอยากช่วยคนได้เยอะขึ้น หรือปราบผู้ร้ายได้เก่งขึ้น ก็ต้องค่อย ๆ ฝึกฝนและเรียนรู้ไปก่อน
พูดถึง villain แล้ว เราต้องบอกว่า เราชอบคู่ปรับของ Spider-Man ภาคนี้ เพราะ Adrian Toomes หรือ Vulture (Michael Keaton นักแสดงออสการ์จาก Birdman) เพราะเป็นตัวร้ายที่มีมิติ เป็นชนชั้นกลางทั่วไปที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐและสังคมทุนนิยมที่คนมีเงินเป็นใหญ่ เขาจึงขายอาวุธใต้ดินโดยเอาแบบอย่างจากพวก Starks ที่ร่ำรวยจากการค้าอาวุธ ซึ่งการแสดงของ Michael Keaton ทรงพลังมาก เขาทำให้มีทั้ง Batman, Birdman, และ Ray Kroc (McDonald’s) อยู่ใน Vulture คนเดียวกันพร้อม ๆ กัน
อีกอย่างที่เราชอบคือ racial diversity กล่าวคือตัวละครมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ในรร.นี่อย่างกับรร.นานาชาติ คือมาหมดแทบทุกสีผิว ทั้ง Zendaya (จาก Zapped), Tony Revolori (จาก The Grand Budapest Hotel), Abraham Attah (จาก Beasts of No Nation) ฯลฯ รวมถึง Thailand แดนสยามก็มี หลากหลายจนเห็นได้ชัดว่าตั้งใจ (หรือจงใจ…)
ส่วนฉากบู๊ ฉากแอ็คชั่น ก็อย่างที่บอก มันไม่ได้วินาศสันตะโรหรือระเบิดตู้มต้าม สไปดี้เองก็ไม่ได้เก่งหวือหวามากมาย ก็เป็นเด็กเกรียน ๆ คนหนึ่ง แต่มันมีความสนุกในแบบฉบับของมัน ที่สำคัญ Tom Holland เป็น Spider-Man ที่มีเสน่ห์ ตลก เกรียน คาแรกเตอร์ชัด แบกหนังทั้งเรื่องได้ เข้าฉากกับ Michael Keaton หรือ Robert Downey Jr. ก็ไม่ดร็อปเลย
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8/10
(จริง ๆ ก้ำกึ้งนะสำหรับเรา คือก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันควรได้ 8 ซะทีเดียว แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันควรได้ 7.5 ด้วย ครั้นจะให้ 7.75 เราก็ไม่เคยให้ มีแต่ 7.5 กับ 8 ไปเลย แต่ก็นั่นแหละ ถือซะว่าเราปัดขึ้นเป็น 8 ให้ Tom Holland ก็ละกัน)
45 comments
Comments are closed.