Still Alice สร้างจากนิยายขายดีติด The New York Times best seller ชื่อ Still Alice ที่เขียนโดยนักเขียน-นักประสาทวิทยา (neuroscientist) ชาวอเมริกัน ชื่อ Lisa Genova ตั้งแต่ปี 2007
นักแสดงนำของเรื่อง Julianne Moore คว้ารางวัลมาแล้วหลายเวทีในปีนี้ จากฝีมือการแสดงอันไร้ที่ติกับบทผู้ป่วยความจำเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) และล่าสุดบนเวทีออสการ์ เธอก็คว้าตุ๊กตาทองสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาเรียบร้อยอีก 1 รางวัล เป็นของขวัญและกำลังใจสำคัญให้ผู้กำกับฯ Richard Glatzer ที่กำลังต่อสู้กับโรค ALS
FYI: ล่าสุด Richard Glatzer เพิ่งถูกนำส่งโรงพยาบาลเพราะโรคแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจ และต้องชมงานประกาศผลออสการ์ผ่านโทรทัศน์ในโรงพยาบาลใน LA
เรื่องย่อ Still Alice
Alice Howland (Julianne Moore จาก The Lost World: Jurassic Park, Magnolia, Maps to the Stars, The Hunger Games: Mockingjay ฯลฯ ) ศาสตราจารย์สาขาวิชาภาษาศาสตร์ (linguistics) วัย 50 ปี แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งด้านวิชาชีพและครอบครัวที่แสนสุข โดยครอบครัวของเธออาศัยอยู่ในย่าน Upper East Side แห่ง New York City ซึ่งเป็นย่านที่จัดว่าร่ำรวยอันดับต้นๆ ของโลก
Alice อาศัยอยู่กับสามีสุดหล่อและแสนดีของเธอ John Howland (Alec Baldwin จาก The Departed) ศาสตราจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ (หรือสาขาประสาทวิทยา สักอย่าง) แห่งมหาวิทยาลัยเดียวกัน มีลูกๆ ด้วยกันทั้งสิ้นสามคน ได้แก่ Anna Howland-Jones (Kate Bosworth จาก Superman Returns และ 21) ทนายสาวที่สวยเริ่ดและเพียบพร้อม, Tom Howland (Hunter Parrish จาก 17 Again) นักเรียนแพทย์หนุ่มหล่ออนาคตไกล, และแกะดำของบ้าน Lydia Howland (Kristen Stewart จาก Twilight และ Snow White and the Huntsman) ที่มีความฝันอยากไต่เต้าเป็นนักแสดงที่ประสบความสำเร็จใน LA
แต่แล้ววันนึง ชิ้นส่วนต่างๆ ในชีวิตที่แสนเพอร์เฟ็กต์ของ Alice ก็ค่อยๆ หล่นหาย เธอเริ่มลืมนั่นลืมนี่ หลงทางระหว่างวิ่งจ๊อกกิ้งในเส้นทางที่เธอคุ้นเคย และสอนอย่างเบลอๆ ในคลาสเลคเชอร์ของเธอ เธอจึงตัดสินใจไปพบแพทย์ด้านประสาท และตรวจพบว่าเธอเป็นโรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็วตามกรรมพันธ์ุ (early onset Alzheimer’s) ซึ่งเธอกำลังจะค่อยๆ สูญเสียความทรงจำและศักยภาพในการจำทั้งหมดในอีกไม่ช้า
“The art of losing isn’t hard to master” (Elizabeth Bishop)
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ Still Alice
ถ้าใครอยากดูหนังรักในช่วงเดือนแห่งความรัก เราแนะนำว่า Still Alice เหมาะกว่า Fifty Shades of Grey ที่เข้าฉายวีคเดียวกัน (ในประเทศไทย) เป็นไหนๆ เพราะในหนังเรื่อง Still Alice นี้ เราจะได้เห็นการต่อสู้โรคร้ายของคู่รัก Howland รวมถึงความรักของครอบครัวระหว่างแม่กับลูกๆ ที่ลึกซึ้งกว่าความรักหรือเซ็กส์ของ “หนุ่มสีเทากับสาวขี้มโน” นั้นเป็นไหนๆ
ความพีคของ Still Alice คือหนังไม่ได้ถ่ายทอดแต่การเป็นอัลไซเมอร์โดยสมบูรณ์ของ Alice แต่หนังถ่ายทอดการ “ค่อยๆ” สูญเสียความจำของเธอจากระยะเริ่มแรกจนถึงระยะรุนแรง และถ่ายทอดมุมของครอบครัวของเธอที่ต้องต่อสู้รับมือกับปัญหานั้นในทุกๆ stage แล้วเราจะได้เห็นว่าโรคร้ายนี้บางทีก็โหดร้ายยิ่งกว่าโรคมะเร็ง การเป็นอัลไซเมอร์ก่อนวัยอันควรส่งผลต่อหน้าที่การงานและการดำรงชีวิตของคนคนนึง (และครอบครัวของคนคนนั้น) ขนาดไหน
แต่แน่นอน… ชีวิตของเธอ และคนรอบข้างของเธอ ก็ยังต้องดำเนินกันต่อไป…
ถึงแม้การทำงานของสมองในส่วนของความจำจะกำลังเลอะเลือน แต่ในขณะที่สมองของ Alice ยังคงทำงานด้านความคิดได้สมบูรณ์อยู่นั้น เธอพยายามจัดการทุกอย่างเผื่อไว้สำหรับอนาคตของเธอ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เป็นประโยชน์ เช่น การอัดคลิปวิดีโอ หรือการเทคโน้ตในไอโฟนเตือนความจำ เป็นต้น ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็เหมือนดูสารคดีเรียนรู้ชีวิตและการรับมือกับโรคอัลไซเมอร์ดีเหมือนกันนะ
Julianne Moore ถ่ายทอดการเป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ดีมาก เราสามารถสัมผัสความหวาดกลัว วิตกกังวล ความแพนิค ความสุข และความรู้สึกทุกอย่าง ผ่านการแสดงทางสายตาและเสียงของเธอ เธอทำให้คนดูอินได้ โดยที่เธอไม่จำเป็นต้องเล่นไลน์ใหญ่ ฉากที่เธอทำให้เราเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยมากที่สุดคือซีนที่เธอเปรียบเทียบให้สามีฟังว่า “อัลไซเมอร์เลวร้ายกว่าเป็นมะเร็ง” ฉากนั้นน้ำตาแตกเลยจริงๆ และก็ไปแตกอีกทีตอน Alice พูดสปีชในงานแห่งหนึ่ง สรุป Julianne Moore ทำเราเสียน้ำตาไปสามลิตรถ้วน ต้องชื่นชมจริงๆ ว่า เธอเป็นนักแสดงที่ “เล่นน้อยแต่มาก” และดีมากพอที่จะทำให้เธอกวาดรางวัลมาแล้วแทบทุกเวทีในปี 2015 (ปรบมือรัว)
ส่วนรางวัลบนเวทีออสการ์นั้น โดยปกติ บท heartbreaking หรือดราม่าหนักๆ อย่าง Alice ที่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ กับ Stephen Hawing ใน The Theory of Everything ย่อมโดนใจกรรมการออสการ์เขาอยู่แล้ว นอกจากนี้ นี่ยังมีครั้งที่ 5 แล้ว ที่เจ๊ Julianne Moore ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงเป็น nominee เวทีออสการ์ ครั้งนี้มันอาจจะถึงเวลาแล้วก็ได้ ที่เธอจะ “วิน”
อัปเดตล่าสุด (23 ก.พ. 2015) Julianne Moore ได้รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ไปเรียบร้อยไม่พลิกโผ
ส่วน Kristen Stewart หรือ Bella Swan จาก Twilight เราไม่เคยรู้สึกชอบการแสดงของนางเลย (เว้นก็แต่เรื่องที่นางจะได้รับบทเป็นเด็กเก็บกด เด็กมีปัญหา หรือผู้ป่วยติดยา) แต่สำหรับบท Lydia ลูกสาวคนเล็กของ Alice เรื่อง Still Alice นี้ เราขอยกนิ้วให้ว่าเป็นการแสดงที่ดีที่สุดตั้งแต่นางเล่นหนังมาหลายเรื่อง (แต่ก็ยังไม่ดีพอขนาดจะชิงรางวัล Best Supporting Role กับเขานะ) ถ้าไม่มีเธอ หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ลงตัวหรือถึงจุดสุดยอดขนาดนี้ก็ได้ เราว่าเธอกับ Julianne Moore รับส่งกันได้ดี ไม่ว่าจะเป็นฉากในจอ (skype) หรือนอกจอ ฉากที่เราอินมากระหว่างสองแม่ลูกนี้คือ ซีน “ไดอารี่ของลิเดีย” (ไม่สปอยล์นะ ไปดูเอง)
Still Alice หรือโรคความจำเสื่อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวเรา หลายครอบครัวมีปู่ย่าตายายหรือญาติผู้ใหญ่ที่กำลังป่วย (หรืออีกไม่ช้าก็เร็วก็คงป่วย) เป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่ถ้าคุณยังรู้สึกว่าอัลไซเมอร์ยังไกลตัวคุณมาก ในหนังก็คงมีหลายฉากที่คุณรู้สึกขำ เช่น ฉากที่อลิซปัสสาวะราดตัวเองเพราะลืมทางไปห้องน้ำในบ้านของตัวเอง ฉากที่อลิซหาโทรศัพท์ไม่เจอ ฉากที่อลิซถามสามีคำถามเดิมซ้ำๆ ฉากที่อลิซจำลูกสาวในไส้ตัวเองไม่ได้ ฯลฯ ในหนังมันอาจดูตลกหรือน่าสมเพช แต่ในชีวิตจริง ถ้าคุณได้ประสบพบเจอกับปัญหาลักษณะนี้จริงๆ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตัวคุณเองหรือคนใกล้ตัวคุณ คุณอาจจะขำไม่ออกเลยก็ได้
คุณย่าแท้ๆ ของเรา อายุย่าง 80 แล้ว ตอนนี้ท่านก็เป็นอัลไซเมอร์ จำอะไรไม่ได้เลยแม้แต่ลูกหลานของตัวเอง นอกจากนี้เรายังมีหมาแก่ที่บ้าน ที่ตอนนี้มันก็เริ่มเลอะๆ เลือนๆ แล้ว บางวันก็เหมือนจะจำเราได้ แต่บางวันมันก็ดูจำเราไม่ได้ ซึ่ง Alice ใน Still Alice ทำให้เรานึกถึงคุณย่าของเราและหมาที่บ้านของเรา
2-3 ปีก่อน เราเคยแอบหงุดหงิดหรือรำคาญใจ เวลาคุณย่าถามคำถามเดิมกับเราซ้ำๆ แบบว่า เพิ่งถามไปตะกี๊ เราก็ตอบไปแล้ว แล้ว 5 นาทีต่อมา ย่าก็วนลูปมาถามคำถามเดิมอีก แถมบางทีคุณย่าก็มีปัญหากับการขับถ่ายใช้ห้องน้ำ ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่ควรรู้สึกหงุดหงิดหรือรำคาญคนป่วยเลย ไม่มีใครอยากเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครอยากเป็นภาระใคร แต่ถ้าพูดให้ถูก บางทีที่เรารู้สึกหงุดหงิดหรือรำคาญใจนั้นเป็นเพราะเรากำลังพยายามปิดบังความเจ็บปวดในใจอยู่ก็เป็นได้
เราไม่รู้หรอกนะว่าจริงๆ แล้วคนป่วยอัลไซเมอร์เขารู้สึกยังไง เขาอาจจะทุกข์บ้างสุขบ้างอย่างที่ Alice เปรียบเทียบกับชีวิตของผีเสื้อให้ลูกฟังในหนังก็ได้ แต่ที่เราพอรู้ จากประสบการณ์ตรงของเราในฐานะที่เป็นคนใกล้ชิดคนหนึ่งของผู้ป่วย (หมายถึงคุณย่าและหมาของเรานั่นแหละ) เรารู้สึกเจ็บปวดนะ ที่เขาจำเราไม่ได้ ในขณะที่เรา… จำเขาได้อยู่ข้างเดียว
Lisa Genova ผู้เขียนนิยายเรื่อง Still Alice ฉลาดเลือกให้ Alice เป็นคนฉลาดและเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาศาสตร์ เพราะสำหรับคนระดับ Alice นั้น สมองเป็นเครื่องมือทำมาหากินที่สำคัญมาก มันทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองมีค่า แล้วเมื่อปัญหาด้านความจำส่งผลต่อความสามารถในการนึกหรือใช้คำด้วย อนาคตด้านหน้าที่การงานของ Alice จึงต้องพังครืน เธอรู้สึกว่าเธอกำลังสูญเสียความเป็นตัวเอง กำลังกลายเป็นคนไร้ค่า และเป็นภาระของคนที่เธอรัก (ต่างจาก Stephen Hawing ใน The Theory of Everything ที่โรคร้ายของเขาไม่กระทบกับการทำงานของระบบสมอง)
ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ เราเคยภูมิใจกับมันสมองและสติปัญญาของตัวเองอยู่พอตัว สมองคือสิ่งล้ำค่าที่สุดในชีวิตเรา ทำให้เรามีเงินใช้อยู่ดีกินดี แถมยังช่วยสั่งการให้เราดูหนังแล้วคิด วิเคราะห์ และขีดเขียนให้เป็นบล็อกได้อย่างทุกวันนี้ นอกจากนี้เรายังเคยมีความมั่นใจมาตลอดอีกว่า สมองท่ีเรามีนั้นย่อมจีรังกว่าความสวยความงามภายนอก เราจะไม่มีวันอดตายเพราะเรามีสติปัญญาและความสามารถ แต่พอเราได้รู้จักกับ Alice ใน Still Alice ความมั่นใจดังกล่าวนั้นก็ดูเหมือนจะเสียศูนย์ เราตระหนักได้ว่า “สมองที่ดีก็ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดชีวิต” (แต่แค่อยู่ยาวกว่ารูปร่างหน้าตาที่ดีหลายปีหน่อย)
แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคืออะไรกันแน่? ความรักหรือเปล่า?
โดยสรุป สำหรับเรา Still Alice เป็นหนังธรรมดาที่มีการแสดงที่ไม่ธรรมดาของ Julianne Moore เป็นทุกสิ่งของหนัง (เช่นเดียวกับ Eddie Redmayne ใน The Theory of Everything) การแสดงของเธอประกอบกับการถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่ทะลวงลึกถึงจิตใจของคนดูได้ทุกคนไม่มากก็น้อย ทำให้เรา “ลืม” จุดบกพร่องต่างๆ ของหนังไปเสียสิ้น สมแล้วที่ได้ออสการ์!
Still Alice เป็นหนังดราม่าครอบครัวที่เราอยากแนะนำให้ทุกคน “อย่าลืมไปดู” (8/10)
42 comments