The Age of Adaline เป็นหนังที่มีธีมที่น่าค้นหา เพราะเป็นหนังรักที่มีความแฟนตาซีซ่อนอยู่
เราเป็นคนหนึ่งที่อยากดู The Age of Adaline เพราะอยากดูความแฟนตาซีของมัน คืออยากรู้เงื่อนงำของสาวสะพรั่งนางหนึ่งที่จู่ๆ ก็มีปาฏิหาริย์มาหยุดอายุนางไว้ที่ 29 ปีนิจนิรันดร์ และการจัดการรับมือหรือใช้ชีวิตอันอมตะของนาง โดยไม่ได้สนใจประเด็นรักๆ ใคร่ๆ หรือการแสวงหารักแท้ของนางสักเท่าไหร่ แถมยังทำใจล่วงหน้าแล้วด้วยซ้ำว่า มันคงไม่พ้นความเป็นเทพนิยายน้ำเน่าเดาเรื่องง่ายอยู่แล้วเป็นแน่แท้
ซึ่งเอาเข้าจริง… มันก็น้ำเน่าใช้ได้จริงๆ ค่ะ
เรื่องย่อ The Age of Adaline
หลังจากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ในปี 1937 แม่ม่ายสาวสวย Adaline (Blake Lively หรือคุณหนู Serena van der Woodsen จากซีรีส์ดัง Gossip Girl) ก็ถูกธรรมชาติหยุดความโรยราไว้ที่อายุ 29 ปีโดยที่เธอก็ไม่เข้าใจในความพิศวงนั้น
เมื่อคนรอบข้างเริ่มสงสัยและเธอก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองผิดปกติ เธอจึงหลบหนีและเปลี่ยนแปลง identity ของตัวเองไปเรื่อยๆ ทุกๆ 10 ปี เธอพยายามไม่เอาตัวเองไปผูกมัดกับใคร ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหาย หรือในแง่ความสัมพันธ์เชิงชู้สาว เธอก็พยายามไม่จริงจังกับชายใด คนเดียวที่ล่วงรู้ความลับของเธอก็มีแต่ Flemming ลูกสาวคนเดียวของเธอ (Ellen Burstyn นักแสดงมือรางวัล และผู้แสดงเป็น Murph ตอนแก่ใน Interstellar)
ในวันปีใหม่ปี 2015 และวันครบรอบอายุครบ 107 ปีของ Adaline ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้น ใช้ชื่อปลอมว่า Jenny (Adaline เกิดปี 1908) เธอได้พบกับ Ellis Jones ชายหนุ่มรูปหล่อพ่อรวยและใจบุญ (Michiel Huisman จาก World War Z และ Game of Thrones) ทั้งสองเข้ากันได้ดีและตกหลุมรักกัน ถึงแม้ Jenny หรือ Adaline จะพยายามอย่างมากแล้วก็ตามที่จะไม่ใกล้ชิดกับเขา
Ellis ชวน Jenny (หรือ Adaline) ไปงานครบรอบการแต่งงาน 40 ปีของพ่อแม่เขาที่บ้าน ที่นั่นเอง Jenny (หรือ Adaline) ได้พบว่า William (Harrison Ford จาก Star Wars และ Indiana Jones) พ่อแท้ๆ ของคนรักคนปัจจุบันของเธอ คือคนรักเก่าฝังใจของเธอตั้งแต่ครั้งครึ่งศตวรรษก่อน!
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ The Age of Adaline
1. ความน้ำเน่าของหนังรัก กับเหตุผลทางวิทยาศาสตร์
อ่านเรื่องย่อจบแล้ว (หรือใครที่ไปดูมาแล้ว) ก็คงปฏิเสธกันไม่ค่อยได้สินะว่าพล็อต The Age of Adaline มันน้ำเน่าจริงๆ แต่ในความน้ำเน่าของมัน เราคิดว่ามันก็เป็นหนังรักโรแมนติกที่มีความน่ารักและเสน่ห์ของมัน โดยเฉพาะการพยายามจีบสาวของฝ่ายชาย ตลอดจนความพ่อแง่แม่งอนหรือการตามง้อกันและกันของคู่ชายหญิง
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความน้ำเน่าของหนัง เราเชื่อว่าขึ้นชื่อว่าเป็นหนังรัก คนดูส่วนใหญ่ทำใจล่วงหน้ากับความน้ำเน่ากันไว้อยู่แล้ว แต่ที่ดูขัดหูขัดตาและขัดใจก็เห็นจะเป็นความพยายามยัดเยียดหลักการและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ให้กับคนดู “มากเกินไป” อย่างจงใจ จนคนดูรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังถูกเลคเชอร์อยู่ยังไงยังงั้น
ส่วนรายละเอียดเรื่องการปลอมแปลงเอกสารและการบริหารเงินในบัญชีธนาคารนี่ใส่ใจใส่มาด้วย อันนี้เรายังรู้สึกโอเค สมเหตุสมผลที่จะเล่า ไม่ได้รู้สึกติดขัดอะไร
เท่าที่เราจำได้ หนังสลับร่าง หนังคนอมตะ หนังข้ามเวลา หรือหนังแฟนตาซีหลายๆ เรื่อง เขาก็ไม่ได้พยายามใส่หลักการหรือเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายคนดูอยู่ในเนื้อเรื่องขนาดนี้ แต่มันก็ไม่ได้ทำให้คนดูไม่เชื่อหรือทำให้หนังสนุกน้อยลงเลย
เอาจริงๆ เวลาดูหนังแนวนี้ คนดูส่วนใหญ่แทบไม่สนใจถึงประเด็นเหนือธรรมชาติเหล่านี้เสียด้วยซ้ำ คนดูจะเข้าใจของเขาเองว่ามันเป็นหนัง มันเป็นจินตนาการ ซึ่งพอ The Age of Adaline เล่นใส่ที่มาและเหตุผลเชิงวิชาการมาเต็มซะขนาดนั้น มันก็ทำให้อรรถรสในการชมของเราขาดตอน และความพิศวงของ Adaline ก็ขาดเสน่ห์ลงไปมากเสียตั้งแต่ต้นเรื่อง
2. ความรักเหนือกาลเวลา / กาลเวลาเหนือความรัก
จริงๆ แล้วธีมเรื่องประมาณนี้ก็ไม่ได้ใหม่อะไร เราเองก็จำไม่ได้ว่าเราเคยอ่านนิยายหรือดูหนังที่เกี่ยวกับ “เวลา ความรัก และความเป็นอมตะ” เรื่องไหนมาก่อน แต่ ณ ขณะที่นั่งดู The Age of Adaline อยู่นั้น เรานึกถึงหนังเรื่อง The Curious Case of Benjamin Button
ถึงแม้ Brad Pitt ใน The Curious Case of Benjamin Button จะไม่ได้เป็นอมตะแบบ Blake Lively ใน The Age of Adaline แต่เราก็คิดตามนะว่า… Adaline ที่ร่างกายภายนอกยังดูแข็งแรงปึ๋งปั๋งแบบสาว 29 หยกๆ แต่เห็นโลกมาแล้วกว่า 107 ปี เธอจะคิด รู้สึก และมองโลกรอบตัวเธออย่างไร สมองและจิตใจเธอจะหย่อนยานแปนผันตรงกับตามความยาวนานที่เธอดำรงชีวิตอยู่บนโลกหรือเปล่า
Adaline ที่เราเห็นในหนัง เราดูแล้วยังไม่ค่อยรู้สึกเชื่อเลยว่าผู้หญิงคนนี้จะอยู่บนโลกมาแล้วกว่า 107 ปี หนังไม่ได้ถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก ของมุมมองของสาวแก่แม่ปลาช่อน คือเราอยากเข้าถึงความรู้สึกของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีต่อ “โลกที่มีความทรงจำมากเกินไป” ของเธอให้มากกว่านี้
อย่างเรื่องความรัก หรือการตกหลุมรักหนุ่มน้อยวัยยี่สิบตอนปลาย-สามสิบตอนต้นเนี่ย เรายังไม่คล้อยตามเท่าไหร่นะว่า ผู้หญิงที่อายุปูนนั้น เจอผู้ชายมาขนาดนั้น เขาจะอินกับผู้ชายเด็กๆ อย่าง Ellis ได้จริงๆ หรอ (แต่บางคนก็บอกเรานะว่า ความรักไม่เกี่ยวกับอายุ อืม… เราจะพยายามคิดอย่างนั้นดูละกันนะ)
อย่างไรก็ตาม ตอนต้นเรื่อง หนังมีความพยายามมากที่จะทำให้คนดูเชื่อเหมือนกันนะว่า Adaline นางเจนโลก นางอยู่มานานแล้วจริงๆ เช่น การแสดงทักษะในการอ่านคน ทักษะในการสังเกตคน (โดยเฉพาะซีนเปิดตัวซีนแรกนี่นึกว่า Sherlock Holmes มาเอง) ความสามารถในการพูดได้หลายภาษา ความรู้รอบตัว หรือความสามารถในการใช้ถนนหนทางแต่ละตรอกซอกซอยใน SAN FRANCISCO
แต่สำหรับเราแล้ว ความสามาถทั้งหลายดังกล่าวนั้น มันไม่ได้พิเศษหรือเฉพาะตัวอะไร คนทั่วไปก็สามารถเชี่ยวขนาดนั้นได้โดยไม่ต้องรอตัวเองมีอายุเข้าวัย 3 หลัก
3. ใช้ชีวิตให้คุ้มค่าอย่างไร
ตัว Flemming หรือลูกสาววัยเกษียณแล้วของ Adaline นี่ตลกนะ คือ Flemming จะเป็นคนที่คอยพร่ำบอกแม่ตัวเองตลอดว่าแม่ควรหยุดวิ่งหนีความสัมพันธ์และเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตจริงๆ สักทีนะ ในขณะที่ตัว Flemming เอง (เท่าที่คนดูเห็นจากที่หนังเล่าเรื่องมาให้) ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัวหรือการใช้ชีวิตสักเท่าไหร่นัก
แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ฟีลกู้ดดีไม่น้อยที่หนังได้ถ่ายทอดให้เราเห็นความสัมพันธ์ของ Adaline กับ Flemming ที่ไม่ได้เป็นแค่แม่ลูกกันเท่านั้น แต่ยังเป็นเพื่อนที่ดีของกันและกันอีกด้วย น่ารักดี
นอกจากนี้ ไหนๆ หนังก็อุตส่าห์ใส่ความสามารถพิเศษให้ Adaline (ตามที่เรากล่าวในข้อ 2.) ซะขนาดนั้นแล้ว เราจะขอยกเรื่องความสามารถทางภาษาของ Adaline ขึ้นมาพูดต่ออีกสักหน่อยก็แล้วกัน เพราะเราชอบที่ Adaline ใช้ความอมตะให้เป็นประโยชน์ โดยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา
อย่างปีที่ Adaline เจอ William ที่ต่างประเทศ ก็เหมือนว่าเธอกำลังเรียนภาษาฝรั่งเศส และเธอก็ยังทำให้ William คิดได้อีกว่าเขาควรจะเรียนต่อในสิ่งที่เขาไม่ชอบ หรือยอมเลิกเสียดายเวลา แล้วไปเริ่มเรียนสาขาที่เขาสนใจจริงๆ แทน หรืออย่างตอนที่ Ellis เจอ Adaline ครั้งแรก เธอก็กำลังฝึกอ่านอักษรเบรลล์ (Braille) ซึ่งเราว่ามันน่าสนใจดี มันทำให้เราคิดว่า “ถ้าสมมติตัวเองสามารถ Live Forever ได้แบบ Adaline เราจะใช้ชีวิตตรงนั้นทำอะไรบ้าง”
แต่นอกเหนือจากนั้น เราก็ไม่ค่อยได้เห็นว่า Adaline จะใช้ชีวิตที่มีเวลาอันเหลือแหล่นั้นทำอะไรนอกจากทำงานในห้องสมุดและการเลี้ยงหมา ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า ถึงแม้ชีวิตเธอจะมีเวลาไม่จำกัด แต่เธอก็ยังมีเงินทองที่จำกัดอยู่ (แต่หลังจากได้ Ellis เป็นสามีแล้ว คิดว่าก็คงมีเงินทองไม่จำกัดแล้วแหละ อิอิ)
4. การสูญเสีย
เราจำได้ว่าตอนดู The Curious Case of Benjamin Button เรารู้สึกว่ามันอิมแพคจิตใจเรามากกว่านี้ เพราะเราได้มีอารมณ์ร่วมไปกับการสูญเสียคนรักของตัวละคร แน่นอนว่า ถ้าเราเขียนนิยายหรือบทหนังสักเรื่องที่เล่นกับความเป็นอมตะของตัวเอก การสูญเสียคนรักเป็นประเด็นที่ไม่ควรพลาดที่จะหยิบมาเล่นกับความรู้สึกของคนดู
ลองจินตนาการตัวเองที่แก่ตัวลงทุกวัน (โดยไม่จำเป็นต้องอมตะก็ได้แต่แค่หนังเหนียวไม่ตายสักทีไรงี้) ในขณะที่คนรอบข้างค่อยๆ เจ็บป่วยล้มตายไปทีละคนสองคน มันคงเป็นอะไรที่ทำใจยากน่าดูถึงแม้เราจะเตรียมใจกับมันมาแล้วทั้งชีวิตก็ตาม
ถึงแม้ Adaline ใน The Age of Adaline จะอายุคงที่มากว่า 78 ปีดีดัก แต่เราจะไม่ได้เห็นคนรอบตัวนางล้มหายตายจากไปเลยสักคน ซึ่งอาจเป็นเพราะเธอพยายามไม่เอาตัวเองไปผูกพันกับใครมากก็เท่านั้นแหละ (ทั้งนี้ไม่นับสามีของนางที่ตายไปก่อนที่นางจะเป็นอมตะ และไม่นับพ่อแม่ของนางที่หนังแทบไม่ได้เอ่ยถึง) แต่ตอนแรกก็คิดว่าหนังจะเล่นให้ลูกสาวของนางแก่ตายหรือเป็นโรคตายไปก่อนหน้าจะ happy ending สักหน่อยนะ แต่ปรากฏสุดท้ายก็ไม่ได้ทำอะไรกับ Flemming นอกเสียไปจาก happy ending
ทั้งเรื่องก็เห็นจะมีแต่หมาพันธุ์ Cavalier ของ Adaline ที่ตายแล้วตายอีกไม่รู้กี่ตัวต่อกี่ตัว (เพราะหมาตัวนึงก็อยู่ได้แค่สิบกว่าปีนี่เนาะ) แต่อย่างน้อยหนังก็มีความพยายามแล้ว และซีนน้องหมาก็ถือว่าทำได้ไม่เลว เราเองก็อิน แอบน้ำตาคลอตาม เอาเป็นว่าเราให้อภัย
5. รักแท้ที่ตามหา
เราก็คิดนะว่า ทำไมหนังรักเรื่องนี้ต้องให้อายุของ Adaline หยุดที่ 29 ปี อืม… หรือบางที 29 นี่จะเป็นช่วงอายุก่อนย่างเข้าเลขสาม เป็นช่วงยุคทองของผู้หญิงในการหาคู่หรือยังสวยพอที่จะดึงดูดเพศตรงข้ามให้มาหมายปอง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ตัวคนเขียนบล็อกเองก็คงต้องรีบเร่งทำเวลาซะแล้ว เพราะไม่ได้เกิดมามีชีวิตที่อายุ 29 ตลอดกาลแบบนาง Adaline
เออ จะว่าไปแล้ว เราเห็นที่ไหนก็ไม่รู้เขียนคำโปรยของ The Age of Adaline ไว้ประมาณว่า Adaline เป็นผู้หญิงที่ “รอและตามหารักแท้” แต่เราดูจบแล้ว เรากลับคิดว่า Adaline ไม่ได้รอและตามหารักแท้เลยนะ ตรงกันข้าม ที่ผ่านมาเธอเอาแต่ “วิ่งหนีความรัก” เสียมากกว่า (แต่ก็ไม่ได้ทิ้งความสนุกในการกุ๊กกิ๊กตามโอกาสของสาวสวย)
หนังโชว์ให้เราเห็นความรักของ Adaline ทั้งหมด 3 ครั้งถ้วนในช่วงอายุ 107 ปีของเธอ ได้แก่ ครั้งแรกคือกับวิศวกรหนุ่มที่เป็นพ่อของ Flemming, ครั้งที่สองคือกับ William (หรือที่แก่มาเป็นป๋า Harrison Ford), และครั้งที่สามคือกับ Ellis พระเอกของเรื่อง
เราไม่มีทางรู้ว่าความรักครั้งไหนคือรักแท้ ทั้งๆ ที่หนังก็พยายามให้เราสรุปตามท้องเรื่องนะว่า Ellis คือรักแท้ (เพราะสุดท้ายแล้ว Adaline เลือกใช้ชีวิตกับ Ellis) แต่คำถามคือ แล้วระหว่าง Adaline กับ William ล่ะ ตอนนั้นคือรักแท้หรือเปล่า?
ถ้าใช่… แปลว่าคนเรามีสิทธิเจอรักแท้หรือรักใครจริงๆ ได้มากกว่า 1 ครั้งใช่หรือไม่ แต่แต่ละคนก็แค่ “ใช่” / “ไม่ใช่” ในช่วงเวลาที่ต่างกัน และรักแท้นั้นก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องลงเอยอยู่ด้วยกันเสมอไป ใช่หรือไม่?
อืม แทนที่หนังจะเอาวิทยาศาสตร์ไปอธิบายว่าทำไม Adaline ถึงเป็นอมตะ หนังควรเอาวิทยาศาสตร์มาช่วยอธิบายความพิศวงของความรักนะ พูดก็พูดเถอะ
ป.ล. Blake Lively เป็นไม้แขวนเสื้อที่สวยมาก ใครเป็นแฟนนาง ไปดูเถอะ ไม่ผิดหวังหรอก
แต่ส่วนที่ดีที่สุดของหนังคือ Harrison Ford นะรู้ยัง
84 comments